นิทานเปรียบเทียบ / คำอุปมา (Parable)
นิทานเปรียบเทียบเรื่องหนึ่งๆเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ได้ถูกบอกเล่าหรือประพันธ์ขึ้นเหมือนเป็นจริง เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงหรือความจริงหนึ่ง (cf. allegory) คำสอนส่วนใหญ่ของพระเยซูเจ้าที่มีอยู่ในพระวรสารจะมีลักษณะเป็นนิทานเปรียบเทียบ และพระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการนำเสนอคำสอนโดยวิธีการยกอุทาหรณ์ที่ให้ความสุขซึ่งนำมาจากชีวิต นิทานเปรียบเทียบที่พรรณนาเรื่องราวต่างๆ จึงเป็นวิธีการสอนแบบหนึ่งที่ให้ความชัดเจนแก่ผู้ฟัง ในพระวรสารมีการบันทึกนิทานเปรียบเทียบไว้มากกว่า 32 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่บอกเล่าถึงลักษณะของ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” “พระอาณาจักรสวรรค์” โดยทางอ้อม (มธ. 13:24-30; 22:1-14; มก. 4:23-27)
เหตุผลที่พระเยซูเจ้าตรัสเป็นเรื่องอุปมาเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์ “เพราะผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้นจนเหลือเฟือ ส่วนผู้ที่มีน้อยจะถูกริบสิ่งเล็กน้อยที่มีไปด้วย”( มธ. 13.12) นั่นคือ คนที่มีเจตนาดี ความรู้ที่เขาได้เรียนรู้จากพันธสัญญาเดิม จะเพิ่มพูนและสมบูรณ์ขึ้นในพันธสัญญาใหม่ (มธ. 5.17,20) ส่วนคนที่มีเจตนาร้ายจะสูญเสียแม้สิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ธรรมบัญญัติ (พระบัญญัติ 10 ประการ) ของโมเสส ถ้าธรรมบัญญัตินี้ไม่ได้รับความสมบูรณ์จากพระเยซูเจ้า ก็มีแต่จะล้าสมัยไป
เพราะฉะนั้น ตรงกับคำทำนายของประกาศอิสยาห์ที่ว่า “เขาทำหูทวนลมและปิดตาเสียเพื่อไม่ต้องมอง..เรา (พระเจ้า) จะได้ไม่ต้องรักษาเขา” (มธ. 13.10-16) หมาย ถึงการไม่ยอมฟังโดยเจตนาจึงมีความผิด ซึ่งเป็นทั้งสาเหตุและคำอธิบายว่า ทำไมพระเจ้าไม่ประทานพระหรรษทานให้ “คนดื้อรั้น” (มธ. 11.16-19, 20-24) พระเยซูเจ้าทรงใช้สัญลักษณ์และเรื่องอุปมา เพื่อทรงท้าทายผู้ฟังให้พิจารณาและเข้าใจธรรมล้ำลึกของ
“พระอาณาจักรสวรรค์” ยิ่งขึ้น