แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความรัก (Love, Mercy)

ความรักเป็นคุณธรรมอันดับแรก และเป็นคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคุณธรรมทางเทววิทยา คือ ความเชื่อ ความไว้ใจและความรัก ซึ่งมีคุณลักษณะหลายประการดังที่นักบุญเปาโลอธิบายไว้ (เทียบ 1 คร. 13:13) และโดยปกติเรามักใช้คำว่า “เมตตาธรรม”(เมตตาจิต-charity) บ่งบอกถึงความรัก หมายถึง นิสัยอันมีคุณธรรมเหมือนพระเจ้า ด้วยการซึมซาบความดีจากพระองค์ โน้มนำเจตนาของมนุษย์ให้ยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าเพื่อประโยชน์ของพระองค์เหนือสิ่งใด และให้รักมนุษย์เพื่อเห็นแก่พระเจ้า

    ความรักเป็นเอกลักษณ์ของศาสนาคริสต์ เพราะพระเจ้าทรงเป็นองค์แห่งความรัก ทรงสร้างมนุษย์ด้วยความรัก ทรงเรียกมนุษย์ไปสู่ความรัก  ความรักมีประเภทต่างๆ
    1. ความรักในการสมรส   ในศาสนาคริสต์มีการรับรองความรักนี้อย่างเป็นทางการโดยคู่สมรสเข้าพิธีศีลสมรส  อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนิทสัมพันธ์และความดีของคู่สมรส  เพื่อให้กำเนิดบุตรและการให้การศึกษาอบรมแก่บุตร  ตามแผนการดั้งเดิมของพระเจ้านั้น ความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสแยกออกจากกันไม่ได้ (มก. 10.9) (ประมวลคำสอนพระศาสนจักร ข้อ 337 และ 330
    2. ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ พระคริสตเจ้าได้ประกาศพระบัญญัติแห่งความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ และให้รักผู้อื่นเหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงรักเรา เป็นความจริงภายในของมนุษย์ด้วย นั่นคือ พระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่ทำให้เราสามารถรักแบบนั้นได้ เป็น “บัญญัติแห่งอิสรภาพ” (ยก. 1.25) เพราะนำไปสู่การกระทำแบบธรรมชาติภายใต้แรงผลักดันของความรัก (ประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 420)
    ความรักเป็นมาตรการชี้วัดความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ด้วยการแบ่งเบาความทุกข์ทรมานของกันและกัน รับเอาความทุกข์ของผู้อื่นเข้ามาภายในจิตใจ "มีความเห็นอกเห็นใจ" (com - passion) ต่อกัน "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"   ความรักต้องขยายออกไปสู่ผู้อื่น ยอมรับสมาชิกที่ต้องทนทุกข์ ช่วยค้ำจุนพวกเขาในยามทุกข์ยาก ("รอดพ้นด้วยความหวัง" – สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16)
    การทนทุกข์ร่วมกับผู้อื่นและเพื่อผู้อื่น เพื่อเห็นแก่ความจริงและความยุติธรรม การทนทุกข์ด้วยความรัก และเพื่อที่จะกลายเป็นบุคคลผู้รักอย่างแท้จริง ล้วนเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของความเป็นมนุษย์  … ความเชื่อของคริสตชนแสดงให้เราเห็นว่า ความจริง ความยุติธรรมและความรักคือความเป็นจริง เราเห็นว่า พระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์แห่งความจริงและองค์แห่งความรักทรงปรารถนาที่จะทนทุกข์เพื่อเราและทนทุกข์ร่วมกับเราด้วย…การปลอบใจ (Consolatio) มีอยู่ในความทุกข์ทรมาน เป็นการปลอบใจที่มาจากความรักเมตตาของพระเจ้า ("รอดพ้นด้วยความหวัง" – สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ที่ 16)
    “นักบุญเอากุสตินกล่าวถึงจุดประสงค์ของ “ชีวิตที่เป็นสุขแท้”  (blessed life) ว่า “ความรักที่มาจากใจบริสุทธิ์มาจากมโนธรรมที่ถูกต้อง และมาจากความเชื่อแท้จริง” (1 ทธ. 1.5) ชีวิตแท้จริงนี้บรรลุถึงได้ภายใน “พวกเรา” นี้เท่านั้น   บ่งบอกล่วงหน้าว่า เราหลบหนีจากที่คุมขังแห่งความเป็น “ตนเอง” ของเรา เพราะการที่ตัวตนสากลเปิดรับความรัก คือ องค์พระเจ้านี้เองทรงทำให้เรามองเห็นบ่อเกิดความยินดีของเรา (สดด. 144.15) (“รอดพ้นด้วยความหวัง” โดยสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ ที่ 16)

 

“ความรัก” ในภาษากรีก
คำว่า ความรักนี้มีอยู่ 4 คำด้วยกัน
 คำแรก คือ เอรอส  คำนี้ไม่ค่อยปรากฏในพันธสัญญาใหม่ แต่เรามักจะได้ยินคำว่า เอรอทิค  พูดถึงความรักระหว่างชายกับหญิง  คือความรักที่คิดถึง อยากได้และอยากพบซึ่งกันและกัน เป็นความใคร่ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน  
คำที่สอง คือ ฟีลเลีย   เป็นรากศัพท์ของคำในภาษาอังกฤษว่า “เฟรนด์ซิพ” แปลว่า มิตรภาพ   หมายถึงความสัมพันธ์สนิทกันเป็นเพื่อน  
คำที่สาม คือ สตอรกี้  เป็นความรักระหว่างบิดามารดากับลูกหลาน   เป็นความรักตามสายโลหิต  ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก และความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่
คำที่สี่ คืออะกาเป้ (AGAPE)  เป็นความรักที่เราพบในพระคัมภีร์และที่
คริสตชนหมายถึง   เป็นความรักของพระเจ้าที่เสียสละ ซึ่งพระเจ้าได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียว (พระคริสตเจ้า) ให้สิ้นพระชนม์เพื่อคนบาป   เป็นความรักที่แสดงออกโดยอาศัยพระจิตเจ้า  
ในหนังสือพันธสัญญาใหม่ ใช้คำ “อะกาเป” เป็นส่วนใหญ่   ( 120 ครั้ง)  คำ  อากาปัน (คำกริยา) 130 ครั้ง. ใช้คำ ฟิเลีย สองสามครั้งเท่านั้น เมื่อบ่งบอกถึงความรักของบิดาที่มีต่อบุตร (ยน. 5.20) ความซื่อสัตย์มีใจจดจ่อที่มนุษย์ควรมีต่อพระเยซูเจ้า (1 คร. 16.22)
 พระวรสารของยอห์นบทที่ 21 กล่าวถึงความรักแบบอะกาเป
อย่างน่าประทับใจ พระเยซูเจ้าตรัสถามเปโตรว่า “เจ้ารักเราหรือ”  สองครั้งแรก พระเยซูเจ้าทรงใช้คำว่า อะกาเป “อากาพาส เม”  “เจ้ารักแบบอะกาเปหรือ”  เปโตรตอบว่า “พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพระองค์รักพระองค์”  เปโตรได้ใช้คำว่า “ฟีโล”  หมายความว่า “พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพระองค์รักแบบฟีลเลีย”   เปโตรใช้คำว่า อะกาเป ไม่ได้เลย   พระเยซูเจ้าถามว่า รักแบบอะกาเปหรือ แต่เปโตรตอบว่า รักพระองค์แบบฟีลเลีย   ถามว่า รักด้วยความเสียสละหรือ  เปโตรตอบว่า รักพระองค์แบบเพื่อน   พระเยซูเจ้าถามอีกครั้งเป็นครั้งที่สามว่า “ฟีลเลอิส เม, รักเราเป็นเพื่อนมั้ย”  เปโตรเป็นทุกข์ใจ ไม่ใช่เพราะพระเยซูเจ้าถามเขาว่า รักเราหรือสามครั้ง แต่เพราะพระเยซูเจ้าถามครั้งที่สามโดยใช้คำว่า “ฟีลเลอิส” 
            ผลของพระจิตเจ้า คือ อะกาเป  ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเราประกอบด้วยพระจิตเจ้า เราจะหลงรักชายคนนี้หรือหญิงคนโน้น  ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเราประกอบด้วยพระจิตเจ้า เราจะเป็นเพื่อนกัน  ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเราประกอบด้วยพระจิตเจ้า เราจะรักลูก หรือเราจะรักพ่อแม่เหมือนคนทั่วไปกันอยู่เท่านั้น    แต่หมายความว่า เมื่อเราประกอบด้วยพระจิตเจ้า เราจะได้ความรักแบบอะกาเปที่เสียสละเพื่อคนอื่น
     ความรักชนิดนี้ เราจะเห็นได้จากชีวิตของพระเยซูเจ้าคริสตเจ้า  พระองค์ทรงสละพระชนมชีพของพระองค์เอง จนยอมสิ้นพระชนม์บนกางเขนเพื่อคนบาป   โดยปกติแล้ว ความรักแบบนี้จะไม่มีอยู่ในมนุษย์ตามธรรมชาติ  แต่เป็นพลังและอำนาจของพระเจ้า   อำนาจนี้ได้สวมทับเรา เมื่อเราได้เชิญพระองค์และยอมให้พระองค์สถิตอยู่กับเรา  อะกาเปจะเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงชีวิตภายในของเราให้เป็นคนใหม่  
 1. เราจำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า
           เพศสัมพันธ์ที่ผิดทุกประเภทมักจะเกิดขึ้น ก็เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้ดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า แต่ดำเนินชีวิตตามเนื้อหนัง   แม้คริสตชนที่ได้รับความรอด แต่ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า ก็จะสนองตอบความต้องการของเนื้อหนัง   คนนั้นอาจปรารถนาที่จะไม่กระทำผิด ก็ทำได้ยาก เพราะเขาอยู่ใต้อำนาจของเนื้อหนัง    แต่ถ้าเขาดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า หรืออีกคำหนึ่งว่า ประกอบด้วยพระจิตเจ้า เขาจะได้รับความรัก ซึ่งเป็นผลของพระจิตเจ้า   เพราะเหตุนี้ เราจำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า
2. เมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า เราจะรักคนอื่นได้  
            ความรักเป็นผลของพระจิตเจ้า  ไม่ใช่ความตั้งใจของเราเอง   ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกของเรา   เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะไม่เกลียดชัง และรัก  แต่ถ้าเราดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้าแล้ว จะรักได้ตามธรรมชาติ   ความรู้สึกและจิตใจของเราที่มีต่อคนอื่นนั้นสูญหายไป และพระประสงค์ของพระเยซูเจ้าเข้ามาแทน  พระจิตเจ้าจะทรงเปลี่ยนจิตใจภายในของเราให้เป็นพระประสงค์ของพระเยซูเจ้า  พระจิตทรงกระทำให้เราเกิดผลแห่งความรัก เราจึงรักคนที่เราไม่ชอบได้ตามธรรมชาติเลย 
           โรม 5.5 ข. กล่าวไว้ว่า “...พระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานแก่เรา ได้ทรงหลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของ”    ความรักของพระเจ้า  ไม่ใช่เป็นความรักของเราที่มีต่อพระเจ้า แต่เป็นความรักที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา   พระเจ้าทรงรักคนบาปมากมาย จนได้ประทานพระเยซูเจ้า  นี่แหละเป็นความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเรา    การที่เราเข้าใจและซาบซึ้งในความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราว่า “พระเจ้าทรงรักเรา  พระองค์ทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราในลักษณะนี้” นี่แหละเป็นพระคุณและพระพรพื้นฐาน   หัวใจของเราจะเต็มเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้า  แล้วจิตใจจะปรารถนาที่จะรัก     เรารู้ว่า ความรักนั้นดี และควรรักใคร   ปัญหาของเรา คือ ไม่ได้เกิดจิตใจที่จะรัก   ทำอย่างไรจึงเกิดจิตใจที่จะรักได้  คงไม่มีทาง นอกจากเข้าใจความรักที่มาจากพระเจ้าเท่านั้น
ผลของพระจิตเจ้า (กท. 5.22-23) มีทั้งหมดเก้าประการ ได้แก่ ความรัก ความชื่นชมยินดี  ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความดี ความใจดี ความอ่อนโยน ความซื่อสัตย์ ความถ่อมตน การรู้จักควบคุมตนเอง ความบริสุทธิ์   ผลแรกก็คือความรัก เพราะความรักเป็นรากของผลอื่นๆ   เมื่อเราสังเกตดูผล 8 อย่างที่เหลืออยู่ ก็ตรงกับลักษณะของความรักแท้ที่นักบุญเปาโลได้บรรยายไว้ใน 1 โครินธ์ 13.4-7  “ความรักนั้น อดทนนาน กระทำคุณให้ ไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด ไม่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติผิด ทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น เชื่อในส่วนดี มีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่า”(กาลาเทีย )
3. เมื่อเราเต็มล้นด้วยความรักของพระเจ้า เราสามารถที่จะรักศัตรูได้
 พระคัมภีร์บอกให้เรารักภรรยา รักสามี รักบิดามารดา รักลูกและรักเพื่อนบ้าน ยิ่งกว่านั้น ให้เรารักศัตรูด้วย    พระเยซูเจ้าเทศนาบนภูเขาว่า  “จงรักศัตรู จงทำดีแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน  จงอวยพรแก่คนที่แช่งด่าท่าน จงอธิษฐานเพื่อคนที่เคี่ยวเข็ญท่าน” (ลก.6.27-28)   พระเยซูเจ้าตรัสอีกว่า “แม้ว่าท่านทั้งหลายรักผู้ที่รักท่าน จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน   ถึงแม้คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาเหมือนกัน ถ้าท่านทั้งหลายทำดีแก่ผู้ที่ทำดีแก่ท่าน จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน เพราะว่าคนบาปก็กระทำเหมือนกัน”(ลก.6.32-33) “ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย”