แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

เหตุผลที่คริสตชนจำศีลอดอาหารเทศกาลมหาพรต
jesus desert2เหตุผลง่ายๆที่จะตอบคำถามว่า “ทำไมคริสตชนต้องจำศีลอดอาหาร” นี้ก็คือ
1. เพราะว่าเราเป็นคนบาป
    มนุษย์ได้ทำบาปผิดกับพระเจ้า เราไม่ได้ใช้ร่างกายและจิตใจที่พระเจ้าให้เรามาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้า แต่เราได้ตัดความสัมพันธ์กับพระเจ้า เราได้ทำบาป “ท่านอยู่ห่างจากพระคริสตเจ้า  ถูกกีดกันมิให้เป็นประชากรอิสราเอล เป็นคนต่างด้าว ไม่มีส่วนในพันธสัญญาที่ทรงสัญญาไว้  อยู่ในโลกนี้โดยไม่มีความหวัง และไม่มีพระเจ้า” (อฟ.2:12)

“ความผิดของท่านทั้งหลายกีดกันท่านจากพระเจ้าของท่าน บาปของท่านทำให้พระองค์ซ่อนพระพักตร์เพื่อจะไม่ทรงฟังท่าน” (อสย.59:2) และ “การมาของมนุษย์ชั่วร้ายจะเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์อำนาจของซาตาน  ที่แสดงออกเป็นการอัศจรรย์ เป็นเครื่องหมายและเป็นปาฏิหาริย์อันหลอกลวงชนิดต่างๆ  มนุษย์ชั่วร้ายนี้จะใช้เล่ห์เหลี่ยมชั่วช้าทุกอย่างทำร้ายผู้ที่จะต้องพินาศ เพราะพวกเขาปฏิเสธไม่รักความจริงที่ทำให้รอดพ้น” (2ธส.2:9-10) ด้วยเหตุนี้เองบาปที่ตัดความสัมพันธ์เรากับพระเจ้า จำเป็นต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์นี้ และกิจการหนึ่งในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้าคือ การจำศีลอดอาหาร นั่นเอง
    ตามกฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 1249 ระบุไว้ว่า “คริสตชนทุกคน แต่ละคนด้วยวิธีของตนเอง มีพันธะต้องทำการใช้โทษบาป โดยกฎหมายของพระเจ้า อย่างไรก็ดี เพื่อให้คริสตชนทั้งหมดร่วมกันทำการใช้โทษบาป จึงได้กำหนดวันใช้โทษบาปขึ้น ซึ่งในวันเหล่านั้น คริสตชนอุทิศตนเป็นพิเศษเพื่อภาวนา ปฏิบัติกิจศรัทธาและกิจเมตตา ปฏิเสธตนเอง โดยทำหน้าที่ของตนเองซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น”
    และมาตรา 1250 ระบุไว้ว่า “วันและเวลาการใช้โทษบาปในพระศาสนจักรสากลคือ ทุกวันศุกร์ตลอดปีและเทศกาลมหาพรต”
    หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1438 สอนว่า “เทศกาลและวันกลับใจใช้โทษบาปที่กำหนดไว้ในปีพิธีกรรม (เทศกาลมหาพรต ทุกวันศุกร์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า) เป็นช่วงเวลาพิเศษของพระศาสนจักรเพื่อการปฏิบัติการกลับใจและชดเชยบาป ช่วงเวลาเหล่านี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการฝึกด้านจิตใจ พิธีกรรมชดเชยบาป การเดินทางแสวงบุญเป็นเครื่องหมายของการกลับใจชดเชยบาป การสละตนโดยสมัครใจเช่นการจำศีลอดอาหารและการให้ทาน การแบ่งปันฉันพี่น้อง (กิจการเมตตาธรรมและแพร่ธรรม)”


   2. เพราะพระเยซูเจ้าเป็นแบบอย่างการจำศีลอดอาหาร
    “เวลานั้น พระจิตเจ้า  ทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ปีศาจมาผจญพระองค์  เมื่อทรงอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว ทรงหิว” (มธ.4:1-2) “พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม  ทรงพระดำเนินจากแม่น้ำจอร์แดน พระจิตเจ้าทรงนำพระองค์ไปยังถิ่นทุรกันดาร” (ลก.4:1)
    การติดตามพระเยซูเจ้า ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่คริสตชนจะเลียนแบบการปฏิบัติของพระเยซูเจ้า ก่อนที่พระองค์จะประกาศข่าวดีในฐานะพระบุตรของพระเจ้า พระวรสารนักบุญมาระโก มัทธิว และลูกา ต่างได้เขียน “พระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดาร” เพื่ออดอาหาร เตรียมตัวสำหรับการประกาศข่าวดีของพระบิดาเจ้า พระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ในฐานะที่เป็นมนุษย์แท้ พระองค์ถูกผจญตลอดเวลาของการประกาศข่าวดี ดังนั้น พระจิตเจ้าจึงนำพระเยซูเจ้าไปถิ่นทุรกันดาร เพื่อภาวนา จำศีลอดอาหาร เพื่อพลังใจที่เข้มแข็ง เอาชนะการผจญต่างๆได้ และนี่คือคำพูดที่พระเยซูเจ้าชนะมารผจญ
มธ.4:4 แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า”
มธ.4:7 พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ในพระคัมภีร์ยังมีเขียนไว้ด้วยว่า อย่าท้าทายองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย”
มธ.4:10 พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น ยังมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น”
ดังนั้น เพื่อเราจะได้เอาชนะการผจญต่างๆในชีวิต เราควรเลียนแบบพระเยซูเจ้าในการจำศีลอดอาหาร

3. การจำศีลอดอาหาร เป็นรูปแบบหนึ่งของการภาวนา
ในพันธสัญญาเดิม เราจะพบว่าการจำศีลอดอาหารเชื่อมโยงกับการภาวนาเสมอ ในหนังสือโทบิต บทที่ 12 ข้อ 8 “การอธิษฐานภาวนาจากใจจริงและการให้ทานด้วยใจกว้างมีค่ามากกว่าความร่ำรวยที่ไดมาอย่างอยุติธรรม”
ประกาศกดาเนียล บทที่ 9 ข้อ 3 “ข้าพเจ้าจึงหันหน้าไปหาพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่ออธิษฐานและวอนขอพระองค์ด้วยการจำศีลอดอาหาร สวมผ้ากระสอบและโปรยเถ้าบนศีรษะ”
    ในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูเจ้าสอนว่า จะไล่ปีศาจได้ต้องภาวนาและการอดอาหาร
พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “คนหัวดื้อ เชื่อยาก และชั่วร้าย เราจะต้องอยู่กับพวกท่านอีกนานเท่าใด จะต้องทนพวกท่านอีกนานเท่าใด พาเด็กมาพบเราที่นี่เถิด”  พระเยซูเจ้าทรงขู่ปีศาจ มันจึงออกไปจากเด็ก เด็กก็หายเป็นปกติตั้งแต่นั้น  บรรดาศิษย์จึงเข้าเฝ้าพระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัว ทูลถามว่า “ทำไมพวกเราจึงขับไล่มันไม่ได้” พระองค์ตรัสว่า “เพราะท่านมีความเชื่อน้อย เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านมีความเชื่อสักเท่าเมล็ดมัสตาร์ด แล้วพูดกับภูเขานี้ว่า ‘จงย้ายจากที่นี่ ไปที่โน่น’ มันก็จะย้ายไป และไม่มีอะไรที่ท่านจะทำไม่ได้” (มธ.17:17-21)
จะเห็นว่า การจำศีลอดอาหารจะต้องกระทำพร้อมกับการภาวนาเสมอ
ดังนั้น เทศกาลมหาพรต 40 วันต่อไปนี้ เชิญชวนให้เราจำศีลอดอาหารด้วยใจชื่มชมยินดี เพราะการจำศีลอดอาหารเป็นการใช้โทษบาปของเรา เป็นการเลียนแบบพระเยซูเจ้าและเป็นการภาวนา
“การเป็นทุกข์กลับใจภายในของคริสตชนอาจมีวิธีแสดงออกต่างๆได้หลายรูปแบบ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์เน้นโดยเฉพาะถึงสามรูปแบบ คือ การจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนา และการให้ทาน ซึ่งแสดงการกลับใจในความสัมพันธ์กับตนเอง ความสัมพันธ์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ควบคู่กับการชำระอย่างสมบูรณ์ที่ศีลล้างบาปหรือการเป็นมรณสักขีนำมาให้ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์ยังกล่าวถึงวิธีการอื่นที่อาจช่วยให้ได้รับอภัยบาปได้ด้วย เช่น ความพยายามที่จะคืนดีกับเพื่อนพี่น้อง การร่ำไห้เสียใจที่ได้ทำบาป ความเอาใจใส่ต่อความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้อง การภาวนาของขอของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”) การแสดงเมตตาจิตซึ่ง “ลบล้างบาปได้มากมาย” (1 ปต 4:8) สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องมือช่วยให้ได้รับการยกโทษบาป (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1434)

ที่มา: คำสอนจันท์ ฉบับที่ 29