แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
เส้นทางแห่งไม้กางเขน... เส้นทางรักแห่งเทศกาลมหาพรต...
โดย คุณพ่อเอกรัตน์ หอมประทุม

เทศกาลมหาพรตมีชื่อเป็นภาษาลาตินว่า “Quadragesima” ซึ่งแปลว่า “ที่สี่สิบ” (ภาษาอิตาเลียนเรียกเทศกาลนี้ว่า “Quaresima” ส่วนในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Lent”)
ตัวเลข 40 แห่งเทศกาลมหาพรต มีความหมายต่อคริสตนในหลายแง่มุม ตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระลึกถึงการอดอาหาร 40 วัน ของพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารก่อนที่ปฏิบัติภากิจของพระองค์ ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวอิสราแอลต้องรอนแรมอยู่ในถิ่นทุรกันดารถึง 40 ปี ในสมัยของโมเสส ระลึกถึงเหตุการ์ที่พระเจ้าทรงกระทำให้มีฝนตกติดต่อกัน 40 วัน 40 คืน ในสมัยของโนอาห์ ส่วนโมเสสก็ได้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาซีนายเป็นเวลา 40 วัน เพื่อรับพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า นอกนั้นยังรวมไปถึง 40 วัน ของการที่ประกาศกโยนาห์ประกาศการกลับใจแก่ชาวเมืองนินะเวห์

สำหรับคริสนชน 40 วัน แห่งเทศกาลมหาพรต จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการดำเนินชีวิตร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในพระทรมานบนเส้นทางแห่งไม้กางเขนของพระองค์ เพื่อจะได้กลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ เพราะฉะนั้น เทศกาลมหาพรตจึงเป็นเทศกาลแห่งการสำนึกในความผิดบาปและการกลับใจเสียใหม่ เป็นเทศกาลแห่งการสำรวจตนเองว่า ได้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ของเราหรือไม่
เทศกาลมหาพรตจะเริ่มตั้งแต่วันพุธรับเถ้า (Ash Wednesday) ซึ่งในวันนั้น ทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ นักบวช หรือฆราวาส ไม่ว่าชายหรือหญิง จะไปรับเถ้า.... เถ้าจึงกลายเป็นเครื่องหมายแห่งการสำนักผิด และพร้อมจะกลับใจ เพื่อร่วมในการเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของคริสตชน นั่นก็คือการฉลองปัสกา

ข้อแนะนำในการดำเนินชีวิตในช่วงเทศกาลมหาพรต
1. การถือศีลอดอาหาร
“การถือศีลอดอาหารอย่างที่เราต้องการเป็นดังนี้ แก้โซ่ที่ล่ามคนที่เจ้ากดขี่เสียเถิด และเลิกทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ปล่อยคนที่เจ้ากดขี่ข่มเหงไปเสีย แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่หิวโหย เปิดประตูรับคนยากจนไร้ที่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ไม่มีใส่ อย่าละเลยต่อการช่วยเหลือญาติพี่น้องของเจ้า” (อสย 58: 6-7)
การถือศีลอดอาหารจึงเป็นการพยายามลดความเห็นแก่ตัวอันเกิดมาจากเนื้อหนังและเป็นความพยายามที่จะขจัดความเห็นแก่ตัวเพื่อมุ่งความสนใจไปยังเพื่อนบ้านด้วยการบริจาคทรัพย์ ให้การช่วยเหลือคนทุกข์ยากด้วยใจกว้าง กล่าวคือ เป็นการปราบกิเลส ลด ละ เลิก ทำบาป หรือลดการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยที่สนใจตัวเองเป็นสำคัญ และหันมาสนใจคนรอบข้างด้วยความรักมากขึ้น

2. การรำพึงภาวนา
แม้ว่าคริสตชนหลายคนจะคิดว่าเทศกาลมหาพรต เป็นเทศกาลที่เน้นเรื่องการทำความดี การถือศีลอดอาหาร แต่ถ้าเรามาดูคำสอนของบรรดาปิตาจารย์แล้วจะเห็นว่า การถือศีลอดอาหารและการเพียรทำความดีต่าง ๆ นั้นเป็นขั้นรอง และเป็นวิธีการที่จะนำไปพลเป้าหมายเท่านั้น  แต่จะมีผลและให้คุณค่าทางจิตใจ ก็ต้องประอบด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ คือ การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ด้วยการอธิษฐานภาวนา ซึ่งเป็นการขจัดความเห็นแก่ตัว และได้รับพลังทางใจจากการถือศีลอดอาหาร ซึ่งการรำถึงภาวนาจึงนับเป็นกิจกรรมสำคัญในระหว่างเทศกาลมหาพรต

3. กิจการแห่งความรัก
นักบุญเลโอ พระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่ ในบทเทศน์ระหว่งเทศกาลมหาพรตของท่านเกือบทั้งหมดพูดถึงเรื่อง “ความรัก การยกโทษ และการบริจาคทานช่วยคนยากจน” โดยกล่าวว่า
“การให้อภัยแก่กันเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่” ท่านนักบุญเทศน์สอนว่า “เราจงยกโทษแก่ผู้อื่นเพื่อเราจะได้รับการยกโทษ เราจงอภัยให้เขาดังที่เราแสวงหา เราจงสวดภาวนาเพื่อขอการอภัยโทษ และไม่แสวงหาการแก้แค้น”
“การให้ทานเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่” ท่านนักบุญเทศน์สอนว่า “ทุกเวลาเหมาะสำหรับปฏิบัติความรัก แต่เทศกาลมหาพรตมีทุกอย่างพร้อมสำหรับส่งเสริมความรักเป็นพิเศษ เพราะว่าไม่มีความจงรักภักดีใด ๆ เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เท่ากับการทุ่มเทกำลังช่วยเหลือคนยากจน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความเอาใจใส่ของพระองค์เยี่ยงบิดา และในการให้ทานนี้ ก็ไม่ต้องกังวลว่าไม่มีเงินทอง เพราะจิตใจที่กว้างขวางนั่นแหละเป็นขุมทรัพย์ยันยิ่งใหญ่แล้ว และในกิจเมตตานี้ พระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าอยู่กับเรา เป็นพระหัตถ์ที่ทวีปังโดยการบิ และเพิ่มปังโดยการแจกจ่าย”

บทสรุป
เราจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติตนของครสิตชนในเทศกาลมหาพรต เพื่อเตรียมสมโภชปัสกานั้น เป็นเส้นทางของการกลับใจ เป็นการเดินทางกลับบ้าน สู่บ้านแท้ในเมืองสวรรค์ ที่มีพระเจ้า พระบิดาผู้พระทัยดีทรงรอคอยเรา ดังนั้นการรับศีลอภัยบาปจึงเป็นพระพรที่คริสตชนควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากนั้นเทศกาลมหาพรตยังเป็นการติดตามเส้นทางแห่งไม้กางเขน เพื่อมุ่งสู่การกลับคืนขีพของพระเยซูเจ้าผู้เป็นหนทาง ความจริง และชีวิต

กิจการต่าง ๆ ที่คริสตชนปฏิบัติในเทศกาลมหาพรต ไม่ว่าจะเป็นการสวดภาวนา การพลีกรรมใช้โทษบาป การจำศีลอดอาหาร และกิจการแห่งความรัก ไม่ได้มุ่งแค่เพียงการเสริมสร้างความดีโดยชำระจิตใจของแต่ละคนเท่านั้น แต่ความดีที่เราทำในเทศกาลมหาพรตจะต้องมีรากฐานอยู่ที่ความรักต่อพระเจ้า และเพื่อนมนุษย์ และเป็นความดีเพื่อผู้อื่นด้วย ดังเช่นพระเยซูเจ้า ผู้มิได้ทรงหวงแหนชีวิตของพระองค์ แต่ได้ทรงมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ทุกคน