ปัสกา...พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
ตามที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้ พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สามซึ่งเป็นวันอาทิตย์ปัสกา
ในเช้าวันปัสกา พวกผู้หญิงใจศรัทธา เปโตรและสานุศิษย์คนที่พระเยซูเจ้าทรงรักได้เห็นอุโมงค์ฝังศพว่างเปล่า (เทียบ ยน 20:1-10) ถึงจะมีทหารยามเฝ้าอยู่ และได้มีการปิดผนึกทางเข้าอุโมงค์เมื่อวันก่อน
บัดนี้หินได้ถูกกลิ้งออกจากปากอุโมงค์ ผ้าป่านถูกวางอยู่ แต่ไม่มีพระศพข้างใน
ตลอดเวลา 40 วันหลังจากนั้น พระเยซูทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกและพิสูจน์ด้วยวิธีการต่างๆ ว่าทรงพระชนม์อยู่ (กจ 1:3) ทรงปรากฏพระวรกายโดยมิต้องอาศัยทางเข้า จะเป็นประตูหรือหน้าต่างก็ดี สามารถรับประทานอาหาร ตรัสสนทนา หรือสัมผัสแตะต้องหรือให้ผู้อื่นจับสัมผัสพระองค์ ทรงปรากฏองค์
ในที่ต่างๆ ในเวลาเดียวกัน บนหนทางสู่เอมมาอูส ทรงแสดงองค์ให้สานุศิษย์สองคนเห็น ทรงอธิบายสิ่งต่างๆ จนกระทั่งพวกเขาเข้าใจ จากนั้นก็ทรงปรากฏองค์ในงานเลี้ยงศีลมหาสนิท (เทียบ ลก 24:13-35) หลังจากนั้นทรงแสดงองค์แก่พี่น้องมากกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว (1 คร 15:6) พระเยซูเจ้าทรงกลับเป็นขึ้นมาตามที่ได้ทรงสัญญา นี่เป็นหมายสำคัญว่าถึงความตายจะได้เหยียบย่างมาบนโลก บัดนี้ มนุษย์ทุกคนจะได้รับชีวิตนิรันดร์กลับคืนมาอีกครั้งในวาระสุดท้ายของโลก เพราะมนุษย์อีกผู้หนึ่งได้นบนอบต่อพระเจ้า
ข้อความจากพระคัมภีร์ : พระเยซูเจ้าตรัสกับเรา ดังที่ได้ตรัสกับสานุศิษย์ว่า “อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว” (ยน 16:33)
พระเยซูเจ้าผู้กลับเป็นขึ้นมาได้เอาชนะความตายและความชั่วทั้งมวล
พระเยซูเจ้าทรงเลือกความตายแทนการทำบาป ดังนั้นพระองค์ได้ชัยชนะความตาย เพราะพระองค์ทรงรักพระบิดามากกว่าชีวิต การกลับเป็นขึ้นมาของพระองค์เป็นหมายสำคัญว่า พระเยซูเจ้าบุตรของพระเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์เช่นท่านทั้งหลาย มีความเข้มแข็งเกินกว่าจะยอมถูกล่อลวงให้หลงผิดเกินกว่าจะเป็นเหยื่อของบาปและความตาย เข้มแข็งยิ่งกว่าซาตาน
พระเยซูเจ้าทรงรักพระบิดามากกว่าตนเอง และพระบิดา ผู้ทรงชีวิตตรัสกับพระองค์ว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (มธ 3:17) “วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว” (สดด 2:7) หากเราอยู่ในพระเยซูเจ้าผู้กลับเป็นขึ้นมา เราก็จะมีความเข้มแข็งเช่นเดียวกับพระองค์ “อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว” (ยน 16:33) “พระเยซูเจ้า
ทรงเป็นบุคคลแรกในบรรดาผู้ตายที่กลับคืนชีพ” “พระบุตรจะได้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก” (รม 8:29)
จากหนังสือ “อัตลักษณ์คาทอลิก” หน้า 219-222