แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

    เถ้าเป็นเครื่องหมายของ “ความทุกข์ถึงบาป” เป็นธรรมเนียมที่ได้มาจากพระคัมภีร์    เราพบความหมายนี้อย่างชัดเจนในคำกล่าวประกอบการโรยเถ้าของพระสงฆ์แบบที่หนึ่ง ซึ่งนำมาจากพระวรสารของนักบุญมาระโก (มก 1 : 15) ที่กล่าวว่า “จงกลับใจใช้โทษบาปและเชื่อพระวรสารเถิด”
    เถ้ายังหมายถึงสภาพของมนุษย์คนบาป ซึ่งพยายามแสดงความสำนึกผิดของตนต่อพระเจ้าออกมาเป็นพิธีภายนอก ให้เห็นว่าเขาต้องการกลับใจ  เพราะหวังว่าพระเจ้าจะทรงพระกรุณาให้อภัย    เครื่องหมายประการนี้จึงเป็นการเริ่มเดินทางมุ่งสู่การกลับใจซึ่งค่อยๆ พัฒนาขึ้นโดยการรับศีลอภัยบาปในเทศกาลมหาพรต    ความต่ำต้อยของมนุษย์อันเป็นผลมาจากบาป ถูกกล่าวถึงในคำกล่าวประกอบการโรยเถ้าของพระสงฆ์แบบที่สอง    โดยเทียบจากหนังสือปฐมกาล (ปฐก 3 : 19) ที่กล่าวว่า “มนุษย์เอ๋ย จงระลึกเถิดว่า เจ้าเป็นแค่ฝุ่นดินและจะกลับไปเป็นฝุ่นดินอีก”

    ในบทเสกเถ้าทั้ง 2 แบบ ให้ความหมายอย่างชัดเจนว่าเทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาที่คริสตชนเตรียมสมโภชปัสกา เช่น “ขอโปรดสดับฟังคำอ้อนวอนของข้าพเจ้าทั้งหลาย และทรงพระเมตตาประทานพระพรแก่ข้ารับใช้องพระองค์ ผู้เข้ามารับการโรยเถ้าเหล่านี้    ขอให้ทุกคนทำกิจการใช้โทษบาปตลอดเทศกาลมหาพรต    เพื่อจะได้เป็นผู้เหมาะสมที่จะระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพขององค์พระบุตร...” (บทภาวนาเสกเถ้าแบบที่ 1)
    เครื่องหมายการเป็นทุกข์กลับใจในพิธีกรรม “พิธีเสกและโรยเถ้า” แสดงออกอย่างชัดเจนในชีวิตคริสตชน เห็นได้จากการที่วันพุธรับเถ้าเป็นวันใช้โทษบาปสากลของพระศาสนจักร    โดยคริสตชนผู้มีอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปต้องอดเนื้อ และคริสตชนทีมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึงอายุ 59 ปีบริบูรณ์ต้องอดอาหาร
    เถ้ายังอาจหมายถึงความสกปรก (บาป) ซึ่งใช้น้ำชำระให้สะอาดได้ (ศีลล้างบาป)     ฉะนั้น เราเริ่มเทศกาลมหาพรตด้วยพิธีโรยเถ้า จึงเป็นเครื่องหมายที่นำไปสู่ความสมบูรณ์ครบครันในการรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาแห่งศีลล้างบาปของคริสตชน และการล้างบาปคริสตชนใหม่ (ตามธรรมเนียมของพระศาสนจักร) ในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (มิสซาตื่นเฝ้าปัสกา)
    สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ธรรมเนียมที่ให้โรยเถ้าที่ได้จากใบลานซึ่งเสกในปีก่อนนั้น     เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 12 มีความหมายดี เพราะใบลานหมายถึงชัยชนะของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์ในการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (ภาพอนาคตของการกลับคืนชีพ)    เมื่อเอามาเผาเป็นเถ้าและโรยเพื่อเตือนใจให้คริสตชนใช้โทษบาปแล้ว ยังเป็นสิ่งที่บอกคริสตชนว่า การใช้โทษบาปนี้มีเป้าหมายเพื่อเตรียมการฉลองชัยชนะแห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า