แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

468298581 10160099621615723 6816033950330693103 n

7 คำถาม 7 ข้อสังเกต มิสซาเสกน้ำมัน วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์

 

1. ทำไมมีมิสซาเสกน้ำมันในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์

ถ้าย้อนเวลาไปหลายศตวรรษก่อนหน้านี้ พิธีกรรมสำคัญในช่วงเช้าของวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์มิใช่พิธีเสกน้ำมัน แต่เป็นพิธีคืนดีของผู้ที่ตกอยู่ในบาปที่จะต้องมาปรากฏตนต่อหน้าพระสังฆราช โดยมีประชาสัตบุรุษร่วมอยู่ในพิธีดังกล่าว ต่อมา พิธีนี้ถูกยกเลิกไป เมื่อมีศีลอภัยบาปแบบที่ไปสารภาพกับพระสงฆ์โดยส่วนตัว ส่วนการเสกน้ำมันนั้น ที่จริง พระสังฆราชท่านจะเสกน้ำมันคริสมาเมื่อใดก็ได้ แต่เพราะต่อมามีการล้างบาปในคืนตื่นเฝ้า (วันเสาร์ปัสกา) จึงทำให้เกิดธรรมเนียมเสกน้ำมันเตรียมไว้ โดยทำอย่างสง่า รวมกับการเสกน้ำมันสำหรับคริสตังสำรอง และน้ำมันสำหรับคนไข้

 

2.ทำไมจึงมีพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมถวายมิสซากับพระสังฆราช 

การมีพระสงฆ์ร่วมถวายมิสซาด้วยกัน ที่เรียกว่า "สหบูชามิสซา" นั้น ในอดีต มิใช่เรื่องที่เกิดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบางยุคบางสมัย กำหนดให้พระสงฆ์ถวายมิสซาเพียงคนเดียว คือ ไม่มีพระสงฆ์ร่วมถวายมิสซาด้วย (1 คน 1 มิสซา) เมื่อมีการฟื้นฟูเรื่องสหบูชามิสซา มิสซาเสกน้ำมันวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นวันที่พระศาสนจักรอนุญาตและส่งเสริมให้พระสงฆ์ถวายมิสซาร่วมกับพระสังฆราชของตน ถือเป็นวันฉลองสังฆภาพ จึงมีการรื้อฟื้นคำสัญญาการเป็นสงฆ์ในมิสซาดังกล่าวนี้

 

3. น้ำมันที่ใช้เสก ทำไมจึงใช้น้ำมันมะกอก 

สำหรับชาวยิว รวมถึงชาติต่าง ๆ แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน น้ำมันมะกอกถือเป็นน้ำมันที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน น้ำมันมะกอกเมื่อเสกแล้วก็จะกลายเป็นน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เพื่ออภิบาลชีวิตความเชื่อของคริสตชน ตั้งแต่เมื่อเริ่มชีวิตคริสตชน จนเมื่อจะกลับไปหาพระบิดา

 

4. ทำไมจึงเสกน้ำมัน 3 อย่าง 

การอภิบาลชีวิตความเชื่อของคริสตชนด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์นั้น จะใช้น้ำมันเพื่อการเจิม 3 ชนิด (3 จุดมุ่งหมาย) ด้วยกัน คือ 1. น้ำมันสำหรับผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน (OS หรือ OC) 2. น้ำมันสำหรับเจิมคนไข้ (OI) และ 3. น้ำมันคริสมา (SC) ที่จะใช้ในหลาย ๆ โอกาส คือเมื่อรับศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลบวช รวมทั้งการอภิเษกหรือมอบถวายอาสนวิหาร ที่จะเสกแท่น โดยชโลมน้ำมันคริสมาบนพระแท่น พิธีเสกน้ำมันนี้ จะเสกทีละชนิด เพื่อเน้นความหมาย หรือจุดมุ่งหมายของน้ำมันแต่ละอย่าง โดยบทภาวนาของประธานจะสื่อถึงความหมายดังกล่าว

 

5. ทำไมต้องผสมเครื่องหอมลงในน้ำมันที่จะอภิเษกเป็นน้ำมันคริสมา 

แม้เราจะเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเราเสกน้ำมัน 3 ชนิด แต่อันที่จริง คำที่เราใช้สำหรับน้ำมันคริสมานั้นไม่ใช่คำว่า "เสก" (Bless) แต่เป็น "การบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์" (อภิเษก) (Consecrate) ซึ่งจะมีขั้นตอนและบทภาวนาพิเศษกว่าการเสกน้ำมันอีก 2 ชนิด ความพิเศษประการหนึ่งคือการผสมเครื่องหอมลงไปด้วย การผสมด้วยเครื่องหอมนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของน้ำมันคริสมา

 

6. ทำไมต้องเป่าลมเหนือภาชนะใส่น้ำมัน สำหรับเสกเป็นน้ำมันคริสมา 

ดังที่ได้กล่าวบ้างแล้วว่า การเสกน้ำมันคริสมามีความพิเศษ นอกเหนือจากการผสมด้วยเครื่องหอมแล้ว พระสังฆราชผู้ประกอบพิธีเสกยังเป่าลมเหนือภาชนะที่ใส่น้ำมัน อิริยาบทดังกล่าวนี้ทำให้เราคิดถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงเป่าลมเหนือบรรดาอัครสาวก เพื่อประทานพระจิตเจ้าแก่เขา (ยน 20:22) การเป่าลมเหนือน้ำมันคริสมา (โดยธรรมเนียมจะเป่าเป็นรูปกางเขน) จึงเป็นการอัญเชิญพระจิตเจ้า เมื่อเราได้รับการเจิมด้วยน้ำมันคริสมา เราก็ได้รับพลังอันเป็นพระพรจากองค์พระจิตเจ้านั่นเอง

 

7. ทำไมพระสงฆ์ที่ร่วมถวายมิสซาจึงยกมือขวายื่นไปยังน้ำมันคริสมาโดยไม่ได้กล่าวอะไร

ภาพที่มีพระสงฆ์ยืนล้อมรอบ และร่วมในการเสกน้ำมันคริสมาด้วยการยื่นมือขวาไปยังภาชนะที่ใส่น้ำมันคริสมา เป็นอิริยาบถที่เราคุ้นเคยจากในมิสซา ที่เห็นพระสงฆ์ผู้ร่วมมิสซาร่วมปกมือเหนือปังและเหล้าองุ่น แต่ที่แตกต่างคือ สำหรับการเสกน้ำมันคริสมา พระสงฆ์ยกเพียงมือขวา และไม่ได้กล่าวอะไร อิริยาบถดังกล่าวนี้ แสดงถึงการร่วมในสังฆภาพ (ความเป็นสงฆ์) ผู้มีหน้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ แต่สังฆภาพของพระสังฆราชอยู่ในขั้นสมบูรณ์แล้ว ท่านจึงเป็นผู้สวดบทเสก (บทบันดาลความศักดิ์สิทธิ์) ขณะที่พระสงฆ์มีส่วนร่วมด้วยการยื่นมือขวา และไม่กล่าวอะไร

 

ที่มา: คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร