ภาษา และ พระทรมานของพระเยซูเจ้า ( Language and the Passion )
เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะสังเกตได้ว่า การใช้ภาษาเล่าเรื่องในพระวรสารภาคการประกาศข่าวดี กับ ภาคมหาทรมานของพระเยซูเจ้า มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้ :
ภาษาที่ใช้ในระหว่างการประกาศข่าวดี เป็นภาษาที่ใช้กริยาของผู้กระทำ (active verbs) หมายถึงพระเยซูเจ้าทรงกระทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น :
+ พระเยซูเจ้าทรงสอนอย่างผู้มีอำนาจ
+ พระองค์ทรงเรียกบรรดาอัครสาวกให้มาติดตามพระองค์
+ พระองค์ทรงเทศน์สอนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า
+ พระองค์ทรงรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย
+ พระองค์ทรงพิสูจน์ว่าทรงเป็นนายเหนือวันสับบาโต
+ พระองค์ทรงแสดงอำนาจเหนือปีศาจ
+ พระองค์ทรงกินเลี้ยงกับบรรดาคนเก็บภาษีและบรรดาคนบาป
+ พระองค์ทรงทวีขนมปังเลี้ยงประชาชนจำนวนมาก
+ พระองค์ทรงภาวนาเรียกพระเจ้าว่า "พระบิดา"
+ พระองค์ทรงเผชิญหน้าและทรงตำหนิผู้มีอำนาจทางศาสนา
ส่วนภาษาที่ใช้ในพระทรมานของพระเยซูเจ้า : โดยเฉพาะคำกริยา เป็นคำกริยาของผู้ถูกกระทำ (passive verbs)
+ พระเยซูเจ้าทรงถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมอย่างเดียวดายในสวนเกทเสมนีจากศิษย์ทั้ง 3 ของพระองค์
+ พระองค์ทรงถูกมอบโดยยูดาส
+ พระองค์ทรงถูกจับกุม และทรงถูกนำตัวไป
+ พระองค์ทรงถูกนำมามอบให้แก่มหาสมณะ
+ พระองค์ทรงถูกสอบสวนและพบว่าทรงมีความผิด
+ พระองค์ทรงถูกตัดสินว่าสมควรต้องโทษถึงตาย
+ พระองค์ทรงถูกถ่มน้ำลายรด และทรงถูกเฆี่ยนตี
+ พระองค์ทรงถูกปฏิเสธ(ว่าไม่รู้จัก) โดย นักบุญเปโตร
+ พระองค์ทรงถูกนำไปมอบให้แก่ปีลาต
+ พระองค์ทรงถูกพิจารณาคดี
+ พระองค์ทรงไม่ได้รับเลือกให้เป็นอิสระ เมื่อเปรียบเทียบกับบารับบัส
+ พระองค์ทรงถูกเฆี่ยนด้วยหวาย
+ พระองค์ทรงถูกล้อเลียนว่าอ้างตนเป็นกษัตริย์
+ พระองค์ทรงถูกมอบให้เขานำไปตรึงกางเขน
+ พระองค์ทรงถูกทหารนำไป
+ พระองค์ทรงได้รับความช่วยเหลือในการแบกกางเขนจากคนแปลกหน้า
+ พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน
+ พระองค์ทรงถูกเย้ยหยันจากผู้คนที่ผ่านไปมา
+ พระองค์ทรงถูกล้อเลียนโดยพวกเจ้าคณะสงฆ์
+ พระองค์ทรงถูกต่อว่าจากผู้ที่ถูกตรึงกางเขนที่อยู่ด้านซ้ายของพระองค์
อำนาจที่มิทรงนำมาใช้ (Power not exercised)
- ในภาษาที่นำมาใช้ในพระวรสารนั้น เป็นที่คาดหวังว่าพระเยซูเจ้าในฐานะนายชุมพาบาลจะทรงนำ และบรรดาผู้คนก็จะพากันติดตามความเป็นผู้นำของพระองค์ อย่างไรก็ตามในมหาทรมานของพระองค์นั้น ภาพของผู้นำถูกเปลี่ยนมาเป็นโศกนาฏกรรม "...เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า เราจะตีผู้เลี้ยงแกะ และแกะจะกระจัดกระจายไป" (มก 14:27) ดังนั้น ในภาคมหาทรมานพระเยซูเจ้ามิทรงบริหารอำนาจที่ทรงมี แต่กลับทรงยอมรับความทุกข์ทนทรมาน และแสดงออกมาว่าทรงเป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยบาดแผล แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในการช่วยให้รอดนั่นเอง
(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Jesus & The Gospels
เขียนโดย Denis McBride
ลงวันที่ 28 มีนาคม 2018)