สมเด็จพระสันตะปาปา
หนังสือสำคัญสองเล่มที่ออกตีพิมพ์ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 คือประมวลกฎหมายพระศาสนจักร (25 มีนาคม 1983) และคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (11 ตุลาคม 1992)
คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายพระศาสนจักร ภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้แปลประมวลกฎหมายพระศาสนจักรเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์ครบเรียบร้อย ในบรรพ 2 เรื่องประชากรของพระเจ้า มาตรา 330-335 กล่าวถึง "สมเด็จพระสันตะปาปา"
"พระสังฆราชแห่งพระศาสนจักรกรุงโรม ผู้ซึ่งได้รับมอบตำแหน่งหน้าที่ที่พระเจ้าได้มอบเป็นพิเศษแก่นักบุญเปโตร ผู้เป็นอันดับแรกในบรรดาอัครสาวกและต้องถ่ายทอดตำแหน่งนี้แก่ผู้สืบตำแหน่งของท่านต่อไป ท่านเป็นหัวหน้าคณะพระสังฆราชเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้าและเป็นนายชุมพาบาลของพระศาสนจักรสากลในโลกนี้ ด้วยเหตุนี้ โดยตำแหน่งหน้าที่ของท่าน ท่านจึงมีอำนาจปกติสูงสุดเต็มเปี่ยมโดยตรงและสากลในพระศาสนจักรซึ่งท่านสามารถใช้อำนาจนี้อย่างอิสระเสมอ" (ม.331)
"สมเด็จพระสันตะปาปาทรงได้รับอำนาจเต็มและสูงสุดในพระศาสนจักร โดยวิธีการเลือกตั้งอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งท่านเองยอมรับพร้อมกับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกที่มีฐานันดรพระสังฆราชอยู่แล้ว ก็จะได้รับอำนาจเป็นพระสันตะปาปาทันทีที่ผู้นั้นยอมรับผลการเลือกตั้ง" (ม.332 วรรค 1)
ในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ภาค 1 เรื่องการประกาศยืนยันความเชื่อมีกล่าวถึง สมเด็จพระสันตะปาปา คือหัวหน้าคณะพระสังฆราช (ย่อหน้า 880-883) เช่นกัน
"พระเยซูเจ้าทรงโปรดให้ซีมอนคนเดียว ซึ่งพระองค์ประทานนามว่า เปโตร เป็นศิลาแห่งพระศาสนจักรของพระองค์ พร้อมกับทรงมอบกุญแจไว้ให้ พระองค์ทรงแต่งตั้งเปโตรให้เป็นนายชุมพาบาลดูแลฝูงชุมพาทั้งฝูง (เทียบ มธ 16:18-19; ยน 21:15-17) แต่ภาระของ "การผูก" และ "การแก้" ซึ่งประทานแก่เปโตรนั้นก็ได้ประทานเช่นกันอย่างไม่มีอะไรต้องสงสัยแก่คณะอัครสาวก ซึ่งร่วมเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับหัวหน้าของตน (พระศาสนจักร ข้อ 22.2) ภาระหน้าที่เชิงอภิบาลของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ นี้ นับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของพระศาสนจักรและได้รับการสืบเนื่องต่อมา โดยพระสังฆราชทั้งหลายภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปา" (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก 881)
ตรามงกุฎสามชั้น (TIARA) และกุญแจ 2 ดอกไขว้กัน เป็นสัญลักษณ์ของสำนักงานพระสันตะปาปาและนครรัฐวาติกัน
สมเด็จพระสันตะปาปาที่เคารพรักอย่างสูง
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้รับจดหมายมากกว่าองค์ก่อนๆ เพราะเป็นผู้นำนครรัฐวาติกัน จึงได้รับจดหมายทางการทูตจากผู้นำคณะรัฐบาลประเทศต่างๆ ประชาชนที่ไปแสวงบุญส่งให้พระองค์ผ่านทหารสวิส ที่ประตูบรอนซ์ ทางเข้าหลักของที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปา แต่จดหมายส่วนใหญ่ถึงพระสันตะปาปามาทางไปรษณีย์เหมือนจดหมายอื่นๆ
สำนักเลขาฯ ของรัฐเป็นผู้รับจดหมายและจัดแยก 8 ภาษาคือ อิตาเลียน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เยอรมัน โปลิส และละติน หากมีภาษาอื่นๆ ต้องหาคนแปลก่อน ที่สุดส่งให้พระสันตะปาปา กองเลขาฯ จะแยกประเภทจดหมาย สรุปเนื้อหาให้พระองค์ พระสงฆ์ 9 องค์ทำงานเต็มเวลาในการอ่าน สรุป และตอบจดหมายเฉพาะภาษาอังกฤษ ส่วนจดหมายที่ต้องตอบเป็นภาษาอิตาเลียนมีผู้รับผิดชอบกลุ่มใหญ่กว่าอีก ถ้าหากจดหมายที่ส่งถึงสำนักงานเฉพาะ เช่น สำนักงานเกี่ยวกับข้อความเชื่อจะส่งให้พระสันตะปาปา หากจ่าหน้าซองถึงพระองค์ส่วนมากแล้ว สำนักงานเลขาฯ ของรัฐเป็นผู้ตอบจดหมาย หรือสมณกระทรวงที่รับผิดชอบแต่ละเรื่อง จดหมายส่วนพระองค์ไม่ค่อยมีเท่าใด ส่วนมากเป็นจดหมายถึงหัวหน้ารัฐบาล (เว็บไซต์ วาติกัน www.vatican.va)
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 18, 1-7 พฤษภาคม 2005)