แนวทางการปฏิบัติของคริสตชนคาทอลิก
ประเพณีอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
ความเป็นมา
การถวายสลากภัต (สลากภัต หมายถึง อาหารถวายพระโดยวิธีจับฉลาก) มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือในวันเข้าพรรษา 3 เดือน พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาเป็นที่เป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านจะได้มีที่พึ่งและทำบุญ บางคราวบางที่มีพระสงฆ์มาก ชาวบ้านก็นำของมาถวายมาก จึงมีการทำเป็นฉลากติดไว้ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าถวายแก่ท่านผู้ใด แล้วแต่ว่าพระสงฆ์จะจับฉลากได้เบอร์ของใคร แล้วก็จะได้ถวายแก่ท่านรูปนั้น ชาวพุทธถือว่าการถวายทานลักษณะแบบนี้มีอานิสงส์มากกว่าการถวายโดยเฉพาะเจาะจง
ประเพณีทางภาคเหนือ เรียกว่า ประเพณีตานก๋วยสลาก
ตาน หมายถึง ทาน แปลว่า ให้ ถวาย
ก๋วย หมายถึง ชลอม หรือตะกร้าสานทำด้วยไม้ไผ่
สลาก หมายถึง ฉลาก เขียนเป็นเบอร์/หมายเลข
ภาคเหนือ ตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่นิยมทำกันทางภาคเหนือนับตั้งแต่อุตรดิตถ์ขึ้นไปจนถึงเชียงราย เชียงตุง และสิบสองปันนา ช่วงเวลาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละแห่ง ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่เดือน 10 ไปจนถึงเดือน 11 หลังออกพรรษา โดยถือคติที่ว่าอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ถวายทานเป็นสิริมงคลสำหรับผู้ทำบุญอุทิศถวายให้กับเจ้ากรรมนายเวร ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม (กลางพรรษา) เป็นช่วงปล่อยผี ญาติพี่น้องจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีทางภาคกลาง เรียกว่า ประเพณีถวายข้าวกระยาสารท
เป็นการทำบุญถวายข้าวกระยาสารท หรือบุญเดือนสารท โดยมีจุดมุ่งหมายและค่านิยมอันเดียวกันกับทางภาคเหนือ
ประเพณีทางภาคใต้ เรียกว่า ประเพณีชิงเปรต
ภาคใต้ในช่วงนี้ก็จะทำบุญถวายขนมลา เรียกว่า ชิงเปรต มีคติว่า เปรตมีร่างกายสูงใหญ่ แต่ปากเท่ารูเข็ม จึงต้องทำขนมเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า ขนมลา แต่คำว่าบุญชิงเปรตนั้นเข้าใจว่าในวันดังกล่าวญาติโยมนำขนมมาถวายที่วัดเป็นจำนวนมาก พระฉันไม่หมด ครั้นจะเก็บไว้ก็จะเสียวินัยของพระสงฆ์ จึงนำเอาขนมนั้นมาให้ทาน คือมอบเป็นทานแก่คนทุกข์ยาก มีความวุ่นวายในการแบ่งสันปันส่วน มีการแย่งชิงกัน จึงเป็นที่มาของ “บุญชิงเปรต”
ประเพณีทางภาคอีสาน เรียกว่า ประเพณีบุญสาก
ภาคอีสาน ช่วงเดือนสิบก็มีงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาคือ “บุญข้าวสาก” ญาติโยมจะมีโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ข้อสรุป จะเห็นได้ว่าช่วงบุญเดือนสิบ พุทธศาสนิกชนเกือบทั่วทุกภาคจะมีประเพณีนิยมที่คล้ายคลึงกับลักษณะการทำแตกต่างกัน แต่มีคติและเป้าหมายเดียวกันคือ อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายไปแล้ว
ขั้นตอนของพิธี (ประเพณีทางภาคเหนือ) อย่างพอสังเขป คือ
1. การประชุม กำหนดวันเวลา (คณะสงฆ์ คณะกรรมการวัด)
2. ก่อนวันทำบุญจะมีการจัดเตรียม เรียกว่า “แต่งดา” หรือวันดา เจ้าภาพจัดเตรียมของถวายไว้ที่บ้านญาติพี่น้อง ต่างบ้านก็จะมาร่วมทำบุญในวันนี้ เจ้าภาพจัดเลี้ยงต้อนรับผู้มาร่วมบุญในแต่ละบ้าน
3. วันทำบุญ นำก๋วยฉลากที่จัดเตรียมไปวัด ติดเบอร์สลากที่ก๋วยหนึ่งเบอร์ และนำไปไว้ที่บาตรหนึ่งเบอร์ โดยมีเบอร์ตรงกัน
• ทำพิธีกรรมทางศาสนา บูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระ รับศีล และถวายก๋วยสลาก
• พระสงฆ์คู่สวดสมมติตนเป็นผู้จัดแบ่ง เรียกว่า “อุปโหลก” 2 รูป เพื่อให้พระสงฆ์พร้อมรับสาธุการและจับสลากที่มีอยู่ในบาตร
• นำฉลากไปรับก๋วยที่ญาติโยมเตรียมถวายตามหมายเลขที่ตรงกัน
• พระสงฆ์ให้พร กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล
แนวทางการปฏิบัติของคริสตชนคาทอลิก – ประเพณีอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
พิธีการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับนั้น ในพุทธศาสนา นอกจากจะอาศัยการทำบุญตักบาตรและการถวายสังฆทานแล้ว ในแต่ละภูมิภาคของประเทศก็มีวัตถุประสงค์และแนวทางอื่นๆ ที่คล้ายกัน หรืออาจจะแตกต่างที่วิธีการจัดทำการเตรียมของที่จะทำบุญและช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจัดพิธี สำหรับคริสตชนคาทอลิกสามารถไปร่วมทำบุญได้ ตั้งแต่วันแต่งดา (วันดา คือวันเตรียมงานหนึ่งวัน) เพราะเป็นการร่วมกิจกรรมที่บ้านในฐานะมิตรสหาย ส่วนพิธีกรรมที่วัดเป็นกิจกรรมของชาวพุทธ คริสตชนไม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วม