คู่มือแนวทางการปฏิบัติตนของคาทอลิกในการร่วมพิธีของศาสนาอื่น
พิธีทำบุญตักบาตร
พิธีทำบุญตักบาตร
ความเป็นมา
สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุบิณฑบาตซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนิสัยที่พระภิกษุจะขาดไม่ได้ เพราะสืบเนื่องมาจากพระภิกษุนั้นไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ดังนั้นจึงดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ พุทธศานิกชนจะนำอาหารมาตักบาตร หรือไปถวายที่วัด ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาได้เข้ามาในเมืองไทยเผยแพร่จนมีผู้เลื่อมใสเป็นส่วนใหญ่ พุทธศาสนิกชนชาวไทยก็ได้รับเอาการทำบุญตักบาตรนี้มาเป็นกิจวัตรประจำวัน และถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศานิกชนในประเทศไทย
ความหมาย และขั้นตอนของพิธี
การทำบุญตักบาตร คือ การถวายข้าวและกับข้าวใส่ลงไปในบาตรพระ การตักบาตรเป็นการทำบุญแบบง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตรองอะไร ปกตินิยมทำตอนเช้าตรู่ เนื่องจากว่าพระจะออกบิณฑบาต พอพระมาก็นิมนต์พระ แล้วนำของที่ได้มาถวายพระ ซึ่งเมื่อตักบาตรแล้วนิยมอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การกรวดน้ำ" การตักบาตรนี้ บางคนที่มีศรัทธา ก็จะทำทุกวันเป็นประจำ บางคนก็ทำในโอกาสพิเศษ ไม่มีการบังคับให้ทุกคนต้องทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่พระสงฆ์ไปบิณฑบาตของพระภิกษุเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งของพระอรหันต์ที่สามารถนำพาชักจูงคน จนก่อให้เกิดผลเป็นอริยะได้จริงๆให้ละกิเลส ความโลภ เป็นการบริจาค หรือการให้ นำทางสังคมให้เกิดวัฒนธรรมที่มีผลต่อจิตวิญญาณของมนุษยชาติจนเกิดสันติภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ ดังนั้น การที่พระภิกษุไปบิณฑบาตก็เท่ากับว่าเป็นการไปโปรดสัตว์ ถือว่า การให้เป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่ ให้รู้จักบริจาค หรือ การให้ ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้วเกิดความปิติทั้งผู้ให้และผู้รับ
จุดประสงค์
- การตักบาตรเพื่อช่วยสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนา กล่าวคือพระสงฆ์เป็นผู้สละแล้วซึ่งทางโลก มิได้ประกอบอาชีพใดๆ แต่ทำหน้าที่ศึกษาหลักคำสอนและนำคำสอนนั้นมาเผยแพร่ แนะนำสั่งสอน ถือได้ว่าเป็นผู้ดำรงพระศานาและยังชีพอยู่ได้ด้วยของที่ชาวบ้านตักบาตร นอกจากนี้ การตักบาตรยังถือได้ว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง คือสร้างความดีให้กับตัวเอง ชำระล้างความตระหนี่ ทำจิตใจให้แจ่มใสบริสุทธิ์ และสุดท้ายการตักบาตรเป็นการสร้างสิริมงคลให้แก่ตนเอง และครอบครัว บางคนถือว่าการตักบาตรเป็นการสะเดาะเคราะห์ซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตเมื่อใดก็ได้
การทำบุญตักบาตรถือเป็นกิจปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนแต่ก็มิได้มีข้อห้ามต่อศาสนิกชนอื่น และถือเป็นการทำบุญสร้างความดีให้ตนเองพร้อมกับอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ
- คริสตชนคาทอลิกทั่วไป ไม่สามารถตักบาตรตามรูปแบบที่เป็นจารีตแบบทางของศาสนาพุทธ
- คริสตชนที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม เช่น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ควรมอบหมายให้ผู้นับถือศาสนาพุทธกระทำหน้าที่แทน
- กรณีคู่ที่แต่งงานแบบต่างคนต่างถือ คาทอลิกควรให้เกียรติคู่แต่งงาน หากคู่สมรสประสงค์จะประกอบพิธีตามแนวทางของเขา คาทอลิกสามารถช่วยจัดเตรียมภัตตาหารในการตักบาตร แต่หากมีความจำเป็นต้องตักบาตรร่วมกัน และเป็นเพียงครั้งเดียว คาทอลิกมีส่วนร่วมเท่าที่ตัวเองรู้สึกว่าสามารถทำได้
- ในโอกาสพิเศษของทางโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนอาจจัดให้มีการตักบาตรในตอนเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ที่มาเดินบิณฑบาตที่บริเวณโรงเรียนคาทอลิกได้ โดยให้ผู้ปกครอง ครู นักเรียน พนักงานในโรงเรียนที่นับถือศาสนาพุทธเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทางโรงเรียนจัดให้คุณครูพุทธ นำนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธไปทำบุญตักบาตรที่วัดพุทธ