จดหมายอภิบาลของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ว่าด้วย
แนวทางการเข้าร่วมพีธีกรรมศาสนาอื่น
โดยสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของคริสตชนในการร่วมพิธีกรรมกับศาสนาอื่น โดยกำหนดแนวทางกว้างๆ ไว้ดังนี้ (เอกสารให้ไว้ ณ วันสมโภชปัสกา วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1994)
เจริญพรมายังพี่น้องคริสตชนทั้งหลาย
พี่น้องย่อมตระหนักดีว่า สถานการณ์ของสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก อาจทำให้คริสตชนคาทอลิกไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับการเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาอื่น เช่น การตักบาตร การไหว้พระพุทธรูปหรือการไหว้เจ้า เหล่านี้เป็นต้น เราจึงขอมอบจดหมายอภิบาลนี้เป็นแนวทาง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาอื่น
ต่อไปนี้เป็นแนวทางกว้างๆ ที่พี่น้องควรจะเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญปัญหาในการเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาอื่น ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่น เช่น โดยตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือมีคู่สมรสที่มิได้เป็นคาทอลิกดังนี้เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่ต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวก็จะได้รับรู้ เรียนรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย
แนวทางกว้างๆ ที่เราขอมอบให้พี่น้องมีอยู่ 2 ข้อคือ
ข้อที่ 1
คริสตชนต้องทราบก่อนว่า การเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาอื่นมิใช่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่าการเข้าร่วมพิธีกรรมใดๆ จะทำได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับเนื้อหาสาระของการกระทำและสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญอีกด้วย หมายความว่าเนื้อหาสาระของพิธีกรรม สภาพแวดล้อม และเจตนาของผู้เข้าร่วมพิธีต้องดีพร้อมทั้งสามอย่าง จึงจะร่วมพิธีได้
ข้อที่ 2
คริสตชนต้องทราบด้วยว่า การร่วมพิธีนั้นมี 2 อย่างคือ การอยู่ในพิธี (Passive Participation) และการเข้ามีส่วนร่วมในพิธี (Active Participation)
การอยู่ในพิธี หมายถึง การอยู่ในสถานที่ที่มีการประกอบพิธีกรรม โดยตนมิได้มีบทบาททำอะไรในพิธีนั้น ในกรณีเช่นนี้ คริสตชนสามารถอยู่ในพิธีได้โดยวางตัวด้วยความสุภาพเรียบร้อย
การเข้ามีส่วนร่วมในพิธี หมายถึง การทำอะไรบางอย่างตามที่มีกำหนดไว้ในพิธีกรรมนั้นๆ ในกรณีเช่นนี้ คริสตชนพึงละเว้นการมีส่วนร่วมในพิธี ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของการเป็นคริสตชน อย่างไรก็ตามในกรณีที่คนหนึ่งต้องเข้ามีส่วนร่วมในพิธี เราขอแนะนำว่าก่อนตัดสินใจจะต้องเรียนรู้เสียก่อนว่าสิ่งที่ตนจะทำได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี โดยตอบคำถามต่อไปนี้เสียก่อน คือ
ก) ฉันกำลังปฏิเสธความเชื่อคาทอลิกและทำขัดต่อคำสอนคาทอลิกหรือไม่
ข) การกระทำของฉันเป็นที่สะดุดแก่บุคคลอื่นที่เป็นคาทอลิกหรือศาสนิกชนอื่นๆโดยเฉพาะคนที่เป็นสมาชิกศาสนานั้นหรือไม่
ในกรณีที่ตอบว่า "ไม่ " ทั้งสองคำถาม เขาสามารถเข้ามีส่วนร่วมในพิธีได้ ส่วนในกรณีที่ตอบว่า "ใช่ " ไม่ว่าในคำถามข้อใด เขาไม่อาจเข้าร่วมพิธีได้ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด ในกรณีสงสัยให้ปรึกษากับพระสงฆ์หรือผู้แนะนำวิญญาณ
ขอให้สังเกตว่า การเป็นที่สะดุด เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ขอพี่น้องจงระวังอย่าให้เกิดขึ้น นักเปาโลได้เขียนจดหมายเตือนชาวโครินธ์เกี่ยวกับเรื่องการรับประทานเนื้อสัตว์ที่บวงสรวงถวายในสักการสถาน ท่านขอร้องให้คริสตชนที่เห็นว่า การรับประทานเนื้อดังกล่าวโดยไม่รู้สึกผิดในมโนธรรม ได้ละเว้นการรับประทานเนื้อนั้น เพราะเห็นแก่พี่น้องที่มีมโนธรรมอ่อนแอกว่า ท่านกล่าวว่า " ไม่ควรทำอะไรให้เป็นที่สะดุดแก่ใครเลย ไม่ว่าจะเป็นยิว กรีก หรือพระศาสนจักรของพระองค์ " (1คร.10:32)
สุดท้าย เราขอเตือนพี่น้องคริสตชนทุกคนพึงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติศาสนาของตนอย่างเคร่งครัดและด้วยความจริงใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้เกียรติและเคารพพี่น้องศาสนาอื่นตามเจตนารมณ์ของพระวรสารและตามคำสอนของพระศาสนจักร พร้อมทั้งยอมรับว่า แต่ละศาสนาก็มีคัณลักษณะดีเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนทั้งด้านคำสอนและพิธีกรรม
ให้ไว้ ณ วันสมโภชปัสกา
วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน คริสตศักราช 1994
ขอพระพรของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพสถิตอยู่กับพี่น้องทุกคน
พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู
ประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
พระสังฆราช ลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต
เลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย