แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่อุปถัมภ์ และพี่เลี้ยงคริสตชนใหม่

คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช

20230109T0713 POPE SISTINE BAPTISM 1754412

วิถีของพระศาสนจักร คือ “พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเป็น หนทาง ความจริง และชีวิต โดยรับฟังเสียงของพระจิตเจ้า และรับฟังซึ่งกันและกัน ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีส่วนร่วม และมุ่งไปสู่การประกาศข่าวดีแก่พี่น้องเพื่อนมนุษย์ คริสตชนจึงเป็นเพื่อนร่วมทางซึ่งกันและกันในการดำเนินชีวิต คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

 

1. ประวัติความเป็นมาของพ่อแม่อุปถัมภ์ และพี่เลี้ยงคริสตชนใหม่

พระศาสนจักรในยุคแรกเริ่ม ประมาณสามร้อยกว่าปีก่อนที่จักรพรรดิคอนสแตนตินจะกลับใจ (ค.ศ. 313) มีการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง เนื่องจากคริสตชนเชื่อในพระเจ้าเดียว และไม่ยอมนับถือจักรพรรดิเป็นพระเจ้า โดยปฏิเสธที่จะถวายกำยานต่อพระรูปของจักรพรรดิ และปฏิเสธที่จะร่วมกิจกรรมที่ผิดศีลธรรมบางประการของชาวโรมัน 

ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงมีกระบวนการที่รอบคอบที่จะรับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้ามาเป็นคริสตชน จึงจำเป็นที่จะต้องมีคริสตชนที่เรียกว่า “ผู้อุปถัมภ์” (sponsor) หรือที่พวกเรามักจะเรียกว่า “พี่เลี้ยง”  เพื่อที่จะรับรองว่าผู้ที่เข้ามาสมัครเรียนคำสอนเพื่อรับศีลล้างบาปนั้น มาด้วยความตั้งใจจริง ไม่ได้มาโดยมีเจตนาแอบแฝง หรือเป็นสายลับของทางการเพื่อจับกุมบรรดาคริสตชนไปลงโทษ นอกจากนี้เขายังรับรองความประพฤติทางศีลธรรมของผู้ที่เข้ามาสมัครเรียนคำสอนด้วย การรับรองนี้กระทำต่อหน้าผู้นำของพระศาสนจักร

ผู้อุปถัมภ์หรือพี่เลี้ยงยังเป็นผู้คอยแนะนำ ให้แนวทาง และร่วมก้าวเดินไปกับคริสตังสำรองขณะที่เขากำลังเรียนคำสอน ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรในยุคแรกจึงถือว่า “ผู้อุปถัมภ์” หรือ“พี่เลี้ยง” (sponsor) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในพระศาสนจักร

พระศาสนจักรในยุคแรกกำหนดให้คริสตังสำรองเรียนคำสอนเป็นเวลานาน ระหว่างการเรียนคำสอนคริสตังสำรองจะแสวงหาคริสตชนผู้มีใจศรัทธา มีความเชื่อเข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ให้มาเป็น “พ่อแม่อุปถัมภ์” (Godparent) หรือที่พวกเรามักจะเรียกว่า “พ่อแม่ทูนหัว” ของเขา เพื่อรับรองเขาในพิธีเลือกสรรว่าเขาเหมาะสมที่จะรับศีลล้างบาปในพิธีตื่นเฝ้าปัสกา และพร้อมที่จะร่วมเดินทาง สนับสนุน และช่วยเหลือคริสตชนใหม่บนเส้นทางแห่งความเชื่อของเขา คริสตังสำรองอาจเลือกบุคคลใหม่มาเป็น“พ่อแม่อุปถัมภ์” (Godparent) ของตน บางทีเขาอาจจะเลือก“ผู้อุปถัมภ์” หรือ“พี่เลี้ยง” (sponsor) ให้มาทำหน้าที่พ่อแม่อุปถัมภ์ของเขาก็ได้

หลังจากที่จักรพรรดิคอนสแตนตินจะกลับใจ (ค.ศ. 313) ศาสนาคริสต์และคริสตชนได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิอย่างมาก มีผู้กลับใจมาเป็นคริสตชนมากมาย ในระยะคริสตศตวรรษที่ 4-5 พิธีล้างบาปได้วิวัฒนามาจนถึงขั้นสมบูรณ์แบบเป็นบรรทัดฐาน จะเห็นได้จากหลักฐานที่เป็นเอกสารเก่าแก่ของปิตาจารย์ เช่น นักบุญอัมโบรสิโอ (Ambrose) และจากพิธีล้างบาปในหนังสือพิธีกรรม (Gelasian Sacramentary ซึ่งเป็นการถือต่อจากศตวรรษก่อนๆ) พิธีเตรียมตัวรับศีลล้างบาปและพิธีล้างบาปเองก็เหมือนกับศตวรรษที่แล้วมา แต่มีพิธีเสริมที่เพิ่มเข้ามาบ้าง เช่น พิธีเสกและให้เกลือ เป็นต้น

เมื่อเริ่มต้นคริสตศตวรรษที่ 6 พิธีเตรียมตัวรับศีลล้างบาประยะยาว (Catechumenate) ได้หายไป เหตุว่าคริสต์ศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในบ้านเมืองโรมันแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 นี้ พิธีล้างบาปทารกมีบทบาทมากขึ้น (พิธีศีลล้างบาปทารกมีปรากฏในประวัติศาสตร์พิธีกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 2) จากนั้นเป็นต้นมากระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนเริ่มค่อยๆ หายไป พิธีล้างบาปที่ใช้เรื่อยมาหลายศตวรรษก่อนพิธีปัจจุบันหลังสังคายนาวาติกันที่ 2 นี้ ยังคงมีรากฐานมาจากพิธีล้างบาปของคริสตศตวรรษที่ 6 จากหนังสือพิธีกรรม (Gelasian Sacramentary) ซึ่งพระศาสนจักรได้นำมาปรับปรุงเพียงเล็กน้อย ให้มีพิธี 2 แบบ คือแบบสั้นๆ สำหรับทารก และ แบบยาวสำหรับผู้ใหญ่ (ไม่มีกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน)

สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จากสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ได้กำหนดให้ปรับปรุงพิธีประกอบศีลล้างบาปของผู้ใหญ่ และของทารกโดยมีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้

“ให้รื้อฟื้นกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้นตอน และจะต้องปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของสมณะประมุขท้องถิ่นโดยวิธีนี้ ควรกำหนดช่วงเวลาเรียนคำสอนและอบรมอย่างเหมาะสม ให้มีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เป็นขั้นตอน เพื่อจะเป็นเวลาที่ค่อยๆ นำความศักดิ์สิทธิ์มาให้” (SC 64)

“ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีสำหรับศีลล้างบาปเด็กเล็กๆ ให้สอดคล้องกับสภาพจริงของเด็กอ่อน นอกจากนั้น บทบาทและหน้าที่ของบิดามารดาและพ่อแม่อุปถัมภ์ จะต้องปรากฏชัดในจารีตพิธีด้วย” (SC 67)

 

2. พ่อแม่อุปถัมภ์ และพี่เลี้ยงคริสตชนใหม่ ตามคำสอนของพระศาสนจักร

สำหรับพิธีศีลล้างบาปทารกพระศาสนจักรใช้คำว่า “พ่อแม่อุปถัมภ์” (Godparent) หรือ “พ่อแม่ทูนหัว”  ซึ่งได้รับการเลือกจากบิดามารดา หรือจากผู้ทำหน้าที่แทนบิดามารดาของเขา หรือถ้าขาดบุคคลเหล่านี้ ให้คุณพ่อเจ้าอาวาส หรือศาสนบริกรเลือกแทน บุคคลที่เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ต้องมีความเหมาะสม และมีเจตจำนงค์รับหน้าที่นี้ (เทียบกฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 874 วรรค 1 ข้อ 1)

สำหรับพิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (RCIA : โดยโปรดศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท) ช่วงระยะเวลาแห่งการประกาศพระวรสารก่อนเรียนคำสอน ผู้สนใจศาสนาจะได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ผู้อบรมและครูคำสอน และยังได้รับการดูแลและช่วยเหลือเป็นพิเศษจาก“ผู้อุปถัมภ์” หรือ“พี่เลี้ยง” (sponsor) เพื่อที่จะรับรองว่าผู้สนใจศาสนามีความตั้งใจจริงที่จะเรียนคำสอนเพื่อรับศีลล้างบาป ผู้อุปถัมภ์หรือพี่เลี้ยงยังเป็นผู้คอยแนะนำ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สนใจศาสนาร่วมกับพระสงฆ์และครูคำสอน 

เมื่อมั่นใจว่าผู้สนใจศาสนามีความตั้งใจจริงที่จะรับศีลล้างบาป พระศาสนจักรจะจัดพิธีต้อนรับผู้เตรียมเป็นคริสตชน และเขาจะได้รับนามว่า “คริสตังสำรอง” โดยในพิธีนี้ “ผู้อุปถัมภ์” หรือ“พี่เลี้ยง” (sponsor) จะเป็นเสนอและรับรองเขาต่อหน้าพระศาสนจักร จากนั้นเป็นระยะเวลาเรียนคำสอนซึ่งผู้อุปถัมภ์หรือพี่เลี้ยงยังคงเป็นผู้ช่วยพระสงฆ์และครูคำสอน คอยแนะนำ ให้แนวทาง และร่วมก้าวเดินไปกับคริสตังสำรองขณะที่เขากำลังเรียนคำสอน ระหว่างการเรียนคำสอนคริสตังสำรองจะแสวงหาคริสตชนผู้มีใจศรัทธา มีความเชื่อเข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ให้มาเป็น “พ่อแม่อุปถัมภ์” (Godparent) หรือที่พวกเรามักจะเรียกว่า “พ่อแม่ทูนหัว” บางทีเขาอาจจะเลือก “ผู้อุปถัมภ์” หรือ“พี่เลี้ยง” (sponsor) ให้มาทำหน้าที่พ่อแม่อุปถัมภ์ของเขาก็ได้

เมื่อเข้าเทศกาลมหาพรต ซึ่งเป็นเวลาเตรียมตัวที่ใกล้ที่สุดสำหรับรับศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเป็นคริสตชน มีการประกอบพิธีเลือกสรร หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พิธีลงทะเบียนสมัครเป็นคริสตชน ในพิธีนี้คริสตังสำรองยังคงยืนยันเจตนาที่จะรับศีลล้างบาป เมื่อได้รับคำรับรองยืนยันจากพ่อแม่อุปถัมภ์และครูคำสอนแล้ว พระศาสนจักรก็วินิจฉัยการเตรียมตัวและความพร้อมของเขาที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ของการรับเข้าเป็นคริสตชน ในพิธีเลือกสรรพ่อแม่อุปถัมภ์เป็นผู้รับรองผู้ที่ได้รับเลือกสรรให้เป็นคริสตชนใหม่ว่าสมจะได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยรับรองว่าเขาได้เอาใจใส่มาเรียนคำสอนและปฏิบัติตาม สนใจฟังพระวาจาของพระเจ้า เข้าร่วมสวดภาวนา และร่วมพิธีกรรมอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะเวลาแห่งการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์และรับการส่องสว่าง ซึ่งจบระยะเวลานี้ด้วยพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ของการรับเข้าเป็นคริสตชน คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท ซึ่งพ่อแม่อุปถัมภ์จะอยู่เคียงข้างเขาและช่วยเขาให้ดำเนินเป็นคริสตชนที่ดี

กฎหมายพระศาสนจักร มีระบุไว้เกี่ยวกับพ่อแม่อุปถัมภ์ไว้ ดังนี้

มาตรา 872 เท่าที่เป็นไปได้ ผู้รับศีลล้างบาปมีพ่อแม่อุปถัมภ์ได้คนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยผู้รับศีลล้างบาปที่เป็นผู้ใหญ่  ในพิธีเริ่มต้นเป็นคริสตชน และถ้าผู้รับศีลล้างบาปเป็นทารก ก็มีหน้าที่พร้อมกับบิดามารดานำทารกนั้นมารับศีลล้างบาป และช่วยเหลือให้ผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วเจริญชีวิตคริสตชนที่เหมาะสม และปฏิบัติพันธะที่ติดมากับศีลล้างบาปนั้นอย่างซื่อสัตย์

มาตรา 873  ต้องมีพ่ออุปถัมภ์คนหนึ่ง หรือแม่อุปถัมภ์คนหนึ่งเท่านั้น หรือจะมีทั้งพ่ออุปถัมภ์และแม่อุปถัมภ์ก็ได้

มาตรา 874 วรรค 1 บุคคลที่รับหน้าที่เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์นั้น ต้อง :

1. ได้รับการเลือกจากผู้จะรับศีลล้างบาปเอง หรือจากบิดามารดา หรือจากผู้ทำหน้าที่แทนบิดามารดาของเขา หรือถ้าขาดบุคคลเหล่านี้ ให้เจ้าอาวาส หรือศาสนบริกรเลือกแทน บุคคลที่เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ต้องมีความเหมาะสม และมีเจตจำนงค์รับหน้าที่นี้

2. มีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่พระสังฆราชสังฆมณฑลได้กำหนดอายุเป็นอย่างอื่น หรือเจ้าอาวาส หรือศาสนบริกรเห็นว่ามีเหตุอันควรยกเว้นให้ได้

3. เป็นคาทอลิกที่รับศีลกำลัง และศีลมหาสนิท และเจริญชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อ ซึ่งเหมาะสมกับบทบาทที่จะรับ

4. ไม่เป็นบุคคลที่ยังต้องโทษใดๆ ทางกฎหมายพระศาสนจักร ไม่ว่าโทษที่ลงทัณฑ์แล้ว หรือโทษที่ได้ประกาศโดยชอบ

5. ไม่เป็นบิดาหรือมารดา ของผู้จะรับศีลล้างบาป

 

วรรค 2 ให้ผู้ได้รับศีลล้างบาปที่มาจากชุมชนศาสนจักรที่มิใช่คาทอลิก เข้าร่วมกับพ่อแม่อุปถัมภ์คาทอลิกได้ แต่เป็นได้เฉพาะพยานศีลล้างบาปเท่านั้น

หลังจากที่คริสตชนใหม่ได้รับศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท (ศีลของการรับเข้าเป็นคริสตชน) แล้ว เขาจะอยู่ในขั้นตอนของการเป็นคริสตชนใหม่ เพื่อส่งเสริมความเชื่อของเขาให้มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยการช่วยเหลือของคุณพ่อ นักบวช-หญิง ครูคำสอน พ่อแม่อุปถัมภ์ และชุมชนคริสตชน ระยะเวลาสอนคำสอนเพิ่มเติมและการดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนใหม่จะจบลงราวๆ วันสมโภชพระจิตเจ้า (50 วันหลังสมโภชปัสกา) และในวันครบรอบปีที่ได้รับศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท ทางวัดต้นสังกัดจะจัดให้พวกเขามาชุมนุมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอบคุณพระเจ้า เพื่อสนทนาแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินชีวิตคริสตชนแก่กันและกัน และเพื่อรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาแห่งศีลล้างบาป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเห็นได้ว่าบิดามารดาอุปถัมภ์ และพี่เลี้ยงคริสตชนใหม่ เป็นผู้ร่วมก้าวเดินไปในความเชื่อ ที่มีบทบาทต่อชีวิตของคริสตชนใหม่แต่ละคน ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชุมชนแห่งความเชื่อ (เป็นสัตบุรุษ เป็นลูกวัด) ทำให้เขาตระหนักว่าเขาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีเพื่อนร่วมทางคอยแนะนำ ช่วยเหลือ เป็นกำลังใจ     และทำให้เขามั่นใจว่าเขาจะไม่เดินเพียงลำพังบนเส้นทางแห่งความเชื่อนี้ที่มีพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น หนทาง ความจริง และชีวิต

 

3. สรุปบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่อุปถัมภ์ และพี่เลี้ยงคริสตชนใหม่

3.1 บทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงผู้สนใจและเตรียมตัวเป็นคริสตชน

1. ระยะเวลาแห่งการประกาศพระวรสารก่อนเรียนคำสอน พี่เลี้ยงจะเป็นผู้หนึ่งที่จะช่วยพระสงฆ์และครูคำสอนในการประกาศข่าวดีแก่ผู้สนใจที่จะเรียนคำสอน คอยแนะนำ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สนใจศาสนาเมื่อเขามีข้อสงสัยหรือต้องการคำอธิบายคำสอนเพิ่มเติม และที่สุดรับรองว่าผู้สนใจศาสนามีความตั้งใจจริงที่จะเรียนคำสอนเพื่อรับศีลล้างบาป

2. ระยะเวลาเรียนคำสอนซึ่งพี่เลี้ยงยังคงเป็นผู้ช่วยพระสงฆ์และครูคำสอน คอยแนะนำ ให้แนวทาง และร่วมก้าวเดินไปกับคริสตังสำรองขณะที่เขากำลังเรียนคำสอน พี่เลี้ยงอาจจะเข้าร่วมพิธีกรรมกับเขา ภาวนาให้เขา และดำเนินชีวิตคริสตชนที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คริสตังสำรอง

3.2 บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่อุปถัมภ์ (อาจเป็นคนเดียวกันกับพี่เลี้ยงคริสตชนใหม่ก็ได้)

1. เต็มใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือคริสตชนใหม่ในการเดินทางแห่งชีวิตคริสตชน (CCC 1255)

2. เป็นแบบอย่างชีวิตคริสตชน พยามยามดำเนินชีวิตตามแบบอย่างและคำสอนของพระเยซูเจ้า ด้วยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

3. ภาวนาเพื่อคริสตชนใหม่เป็นประจำ และสม่ำเสมอ ทั้งโดยการภาวนาส่วนตัว การร่วมพิธีมิสซา พิธีกรรม และกิจศรัทธาต่างๆ

4. เป็นเพื่อนร่วมทางคอยสนับสนุน ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือคริสตชนใหม่ในการดำเนินชีวิต ร่วมยินดีเวลาที่เขามีสุข ปลอบโยนบรรเทาใจเวลาที่เขาพบกับความยากลำบากในชีวิต โดยสามารถเก็บความลับ ให้เกียรติ และคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของคริสตชนใหม่

5. เป็นผู้ช่วยบนเส้นทางแห่งความเชื่อของคริสตชนใหม่ สามารถแบ่งปันประสบการณ์แห่งความเชื่อ เป็นต้น เวลาที่เขามีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อ เป็นผู้ช่วยตอบคำถาม หรือหาคำตอบจากพระสงฆ์ ครูคำสอน หรือคริสตชนที่มีประสบการณ์ความเชื่อที่เข้มแข็ง 

6. มีความพร้อมที่จะช่วยให้คริสตชนใหม่เติบโตในความเชื่อมากขึ้น โดย เชิญเขาเข้าร่วมพิธีกรรม กิจศรัทธา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของวัด และอาจช่วยเตรียมเขาที่จะรับศีลอภัยบาปครั้งแรก

7. ช่วยให้คริสตชนใหม่มีความอบอุ่น รู้สึกว่าเขาได้รับการต้อนรับเข้าสู่ชุมชนวัด