14 กันยายน
ฉลองเทิดทูนไม้กางเขน
(The Exaltation of the Holy Cross, feast)
ธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นทั้งแหล่งที่มาและคำมั่นสัญญาของชีวิตนิรันดร และเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่สูงส่งที่แฝงไว้ถึงสิริรุ่งโรจน์ของธรรมล้ำลึกทั้งหมดนี้ ก็คือไม้กางเขน ซึ่งแขวนการไถ่ให้รอดของโลกนี้ไว้ ชัยชนะของไม้กางเขนเหนือบาปและความตายถูกรวบยอดอยู่ที่นี่ และทั้งหมดของชัยชนะ ของความยินดีต่อชัยชนะนี่แหละที่พระศาสนจักรทำการเฉลิมฉลองวันนี้
วันฉลองนี้แต่ต้นเลยรู้กันในชื่อนี้ ซึ่งหมายถึงการยกย่องเชิดชูไม้กางเขน ยังมีนัยหมายถึง "วางไว้บนที่สูง เพราะมีความสำคัญสูงส่ง" "การยกขึ้น" การฉลองนี้มีความสำคัญต่อบรรดาผู้มีความเชื่อ 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
ประการแรก หมายถึง การยกกางเขนขึ้นบนเนินเขากัลวารีโอในวันศุกร์นั้น ซึ่งแม้ว่าจะรวมไว้ด้วยเรื่องการทนทุกข์ทรมานใหญ่หลวง และความอับอาย แต่กระนั้น ก็เป็นการถวายบูชาด้วยความรักที่ทรงมีต่อพระบิดา และด้วยความรักที่พระบิดาทรงมีต่อมวลมนุษย์ การถูกยกตั้งขึ้นสูงเปรียบประดุจว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ไม้กางเขนเป็นเหมือนธรรมาสน์ที่ทรงเทศนา โดยพระวาจาและพระฉบับแบบ เป็นคำเทศนาที่สะเทือนอารมณ์มากที่สุดตลอดช่วงพระภารกิจบนแผ่นดินนี้ - พระองค์ทรงอภัยและทรงมอบพระองค์ให้ - ทุกๆบาดแผลของพระองค์หลั่งไหลพระหรรษทานออกมา จากด้านข้างพระวรกายทรงให้กำเนิดพระศาสนจักร และก่อนลมหายใจสุดท้ายพระองค์ทรงมอบพระมารดาของพระองค์ให้เป็นของขวัญแก่มวลมนุษยชาติ คือ พระแม่มารีย์ ไม้กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายถึงชัยชนะของพระองค์โดยแท้จริง ไม้ในแนวตั้งเชื่อมมนุษย์กับพระเจ้า ไม้ส่วนที่พาดในแนวนอนเชื่อมมนุษย์กับมนุษย์และโดยไม่แยกออกไปจากพระเจ้า
ประการที่สอง หมายถึง การตั้งไม้กางเขนขึ้นในวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำในปี ค.ศ. 326 โดยนักบุญเฮเลนา พระมารดาแห่งพระจักรพรรดิคอนสแตนติน ได้ค้นพบไม้กางเขน 3 อันบนเขากัลวารีโอ อัศจรรย์เกิดขึ้นโดยการให้คนง่อยสัมผัสไม้กางเขนทั้งสาม ช่วยให้พิสูจน์ได้ว่า ไม้กางเขนไหนเป็นกางเขนแท้ของพระเยซูเจ้า ต่อมา พระนางนำกางเขนนั้นมาตั้งไว้ในพระราชวังที่กรุงโรม ซึ่งพระนางได้เปลี่ยนให้กลายเป็นวัดแห่งไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ต้องขอบคุณในความพยายามของพระนาง พระธาตุชิ้นส่วนของไม้กางเขนนี้ได้กระจายไปอยู่ในทุกภาคส่วนของอาณาจักรคริสต์ ส่วนหนึ่งของเนื้อไม้กางเขนแท้ถูกเก็บรักษาไว้ในกรุงเยรูซาเล็ม แต่ในปี 614 ชาวเปอร์เซียมารุกราน กษัตริย์เปอร์เซียที่ได้ชัยชนะได้นำพระธาตุไม้กางเขนแท้บรรจุในกล่องเงินไปยังอิหร่าน พอถึงปี 629 เมื่อจักรพรรดิเฮราคลิอุสยึดเปอร์เซียได้ จึงเอาพระธาตุกลับคืนมา ทีแรกไว้ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ต่อมาไว้ที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งที่นี่มีการตั้งขึ้นเพื่อให้มีการนมัสการอย่างเป็นทางการ ช่วงนี้วันฉลองนี้ก็ถูกนำมารวมไว้กับพระศาสนจักรที่กรุงโรมด้วย
ประการที่สาม หมายความว่าสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของไม้กางเขนในที่สุดแล้วคือการพิพากษาตัดสิน พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับนิโคเดมัสว่า "...โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์ จะมีชีวิตนิรันดร" (ยน 3 : 14-15) ดุจดังเช่นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม้กางเขนได้แบ่งฝูงชนที่อยู่บนเนินเขากัลวาริโอออกเป็น 2 กลุ่ม ก็จะเป็นเช่นนั้นในวันสุดท้าย "เวลานั้น เครื่องหมายของบุตรแห่งมนุษย์จะปรากฏบนท้องฟ้า" (มธ 24 : 30) เราทุกคนจะรู้ว่าที่สำหรับเราจะอยู่ทางขวา หรือทางซ้าย
ประการสุดท้าย หมายถึงการที่ผู้มีความเชื่อทุกๆคนจะยอมรับไม้กางเขนของพระคริสต์ และการอุทิศตนต่อไม้กางเขนของพระองค์ กางเขนจะมีที่อันสมเกียรติในใจของคริสตชนทุกคน เป็นเสมือนบ้านและสถานสำหรับสักการบูชา ด้วยสำคัญมหากางเขนนี้เราทำก่อนเริ่มต้นกิจการต่างๆ จริงๆแล้ว เราทำอะไรก็ตาม เราทำโดยมีส่วนร่วมแบกกางเขนของพระคริสตเจ้า และนั่นเองจึงมีส่วนร่วมในการไถ่กู้โลกให้รอด
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)