สมโภชนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล อัครสาวก
การเป็นสานุศิษย์ : พยานผู้โดดเด่นสองท่าน
(Discipleship : two outstanding witnesses)
บทนำ :
คืนหนึ่งในกลางเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 64 เกิดไฟไหม้ใหญ่ในกรุงโรม ไหม้นาน 1 สัปดาห์ ผลาญเมืองจนราบไปครึ่งเมืองเลยทีเดียว ประชาชนตั้งข้อกังขาว่าเหตุไฟไหม้อาจจะมาจากจักรพรรดิเนโร (สั่งเผา?) และควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อกลบเกลื่อนเรื่องนี้ จักรพรรดิเนโรรีบตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และมีการสรุปผลอย่างรวดเร็วว่า พวกคริสตชนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาใหม่เป็นผู้เผาเมือง ตั้งแต่นั้น ก็เริ่มการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง การเป็นคริสตชนถือเป็นคนเถื่อน นอกกฎหมาย ใครประกาศพระนามพระเยซูเจ้าจะต้องรับโทษถึงตาย และผู้นำกลุ่มนอกกฎหมาย 2 คน จึงถูกเบียดเบียนในสมัยของจักรพรรดิเนโรนี้เอง ซึ่งก็คือ นักบุญเปโตร และ นักบุญเปาโล นั่นเอง
นักบุญเปโตร, ผู้นำ (Peter, the leader)
ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4 เขียนพระวรสารหลังจากการตายของนักบุญเปโตร พวกเขาทุกคนยอมรับรู้บทบาทพิเศษที่ท่านมีตั้งแต่ในสมัยพระเยซูเจ้ายังทรงพระชนมชีพ ในพระวรสารฉบับแรก นักบุญมาระโกได้เอ่ยชื่อ นักบุญเปโตรเป็นชื่อแรกที่ถูกเรียกโดยพระเยซูเจ้า แม้พระเยซูเจ้าทรงมาจากนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี แต่พระองค์ทรงกำหนดให้เมืองคาเปอรนาอุมที่อยู่ริมทะเลสาบเป็นจุดศูนย์กลางในการประกาศพระวรสารช่วงต้น และที่มั่นพันธกิจของพระองค์ตอนแรกนั้นทรงใช้บ้านของนักบุญเปโตรเป็นศูนย์กลาง เป็นบ้านหลังเดียวกับที่ทรงรักษาแม่ยายของนักบุญเปโตรให้หายนั่นเอง เรือของนักบุญเปโตรถูกใช้เป็นเหมือนธรรมาสน์ของพระเยซูเจ้า แม้แต่ชื่อนักบุญเปโตรเองพระเยซูเจ้าก็ทรงตั้งให้
พระวรสารทั้งสี่ฉบับมองว่านักบุญเปโตรเป็นโฆษกประจำคณะอัครสาวก ท่านได้แสดงอย่างเด่นชัดถึงคุณลักษณะที่ทำในนามของคนอื่นๆ ท่านไม่ใช่รูปแบบตัวอย่างสินค้าที่ผิดไม่ได้ แต่เป็นผู้ซึ่งทราบดีในความบาปของตน และทราบดีด้วยว่าพลานุภาพของพระเจ้าทรงทำงานในองค์พระเยซูเจ้า
ในพระวรสารของวันนี้ นำมาจากของนักบุญมัทธิว พูดถึงคำประกาศที่มีชื่อเสียงของท่านต่อพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรถูกมองว่าได้ถูกสร้างขึ้นมาบนคำประกาศยืนยันของนักบุญเปโตร ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ท่านรู้ได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร แต่ในพระวรสารไม่ได้เล่าเพียงเรื่องที่นักบุญเปโตรประกาศยืนยันถึงพระเยซูเจ้าเท่านั้น ยังเล่าเรื่องที่ท่านปฏิเสธพระองค์ด้วย แต่ที่สำคัญคือว่าทำไมท่านทำทั้งสองอย่างแล้วยังสามารถคงความเป็น "ศิลา" อยู่ได้ อาจเป็นไปได้ที่ท่านใช้บทเรียนแห่งความล้มเหลว ของท่านให้เป็นแหล่งพลังที่เข้มแข็งให้กับคนอื่นๆ ภายหลังการกลับคืนพระชนมชีพเราเห็นได้ว่า เพราะความรักของท่านที่มีต่อพระคริสตเจ้าทำให้ท่านสามารถเป็นหัวหน้าผู้เลี้ยงดูประชากรของพระคริสตเจ้าได้
เป็นนักบุญเปโตรซึ่งเป็นหัวหน้าองค์กรของพระศาสนจักรแรกเริ่มหลังการเสด็จมาของพระจิตเจ้า แม้มีการคัดค้านความคิดของท่านบ้างบางประการ แต่ท่านก็ได้รับการรับรู้และการยอมรับว่าท่านถูกเลือกมาให้เป็นผู้นำ และเป็นศูนย์กลางของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งอำนาจของท่าน และความรักของท่านถูกผนึกในการเป็นพยานที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่าน เมื่อท่านยอมตายเป็นมรณสักขีเพื่อเห็นแก่พระคริสตเจ้า
นักบุญเปาโล ผู้เดินทางประกาศพระวรสาร (Paul, the pilgrim)
ต่างจากนักบุญเปโตร, นักบุญเปาโลไม่เคยพบพระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ ไม่มีประสบการณ์เคยเห็นพระเยซูเจ้า หรือเคยได้ยินพระองค์ทรงเทศน์สอน หรือเป็นพยานกิจการยิ่งใหญ่ต่างๆของพระองค์ ตรงข้าม นักบุญเปาโลกลับอุทิศตนที่จะกำจัดผู้ติดตามพระเยซูเจ้าด้วยซ้ำ ท่านยอมรับเองว่าท่านได้ตกลงใจจะขจัดขบวนการของพระเยซูเจ้าให้สิ้นไป โดยติดตามจับกุมคริสตชนในที่ต่างๆ ท่านเป็นผู้คลั่งในลัทธิยิวอย่างมาก
สรีระภายนอกของท่านที่บันทึกไว้ในหนังสือ "กิจการของนักบุญเปาโล" (Acts of Paul ≠ ไม่นับเนื่องว่าเป็นพระคัมภีร์) ซึ่งเขียนไว้หลังการตายของท่านประมาณ 100 ปี บอกว่าท่านเป็นคน "ตัวเล็ก" ขาของท่านคดงอ แต่หนวดเคราเป็นแบบผู้ดี คิ้วใกล้จะติดกัน และมีจมูกใหญ่ ท่าทางเป็นคนที่เป็นมิตร (แต่จะเป็นมิตรจริงทั้งหมดหรือเปล่า บางคนยังอาจสงสัย) หลังกลับใจแล้ว ท่านใช้พลังขับเคลื่อนทุกอย่างในตัวท่านเพื่อเผยแผ่ข่าวสารของคริสตชน นักบุญเปาโลได้ขับเคลื่อนที่จะแบ่งปันความจริงที่น่าตื่นเต้นของพระวรสารที่ว่า ในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า พระองค์ได้ทรงทำให้เกิดอิสรภาพกับทุกๆคน
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีของพระวรสารตามมุมมองของนักบุญเปาโลทำให้ท่านเกิดความขัดแย้งกับคนมากมาย ดูเหมือนท่านมีพรสวรรค์ที่จะทำให้เกิดความโกลาหลในทุกที่ที่ไป ความพยายามแรกของท่านในการประกาศที่กรุงเยรูซาเล็มเกือบทำให้ท่านถูกฆ่าตาย และพระศาสนจักรท้องถิ่นที่นั่นต้องรีบเอาท่านออกไปให้เร็วที่สุด นักบุญลูกาเล่าไว้ในกิจการอัครสาวกว่า หลังจากส่งเปาโลกลับไปเมืองทาร์ซัสแล้ว "พระศาสนจักรทั่วแคว้นยูเดีย กาลิลี และสะมาเรีย ก็มีความสงบสุข" (กจ 9:31) เห็นได้ชัดว่า คุณอยากมีนักบุญเปาโล หรือคุณอยากมีความสงบสุข แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีทั้งสองอยู่ด้วยกัน
นักบุญเปาโลเป็นคนฉลาดหลักแหลมและเป็นคนที่ลงมือกระทำด้วย โดยส่วนตัวท่านคิดโดยผ่านทางของความเชื่อเรื่องสำคัญๆ และถ่ายทอดพระวรสารออกไปด้วยพลังที่เปี่ยมล้นและด้วยความเฉลียวฉลาด ท่านมีข้อขัดแย้งกับผู้มีอำนาจทางศาสนา แม้กระทั่งเคยคัดค้านนักบุญเปโตร "หน้าต่อหน้า" แต่ท่านไม่เคยสงสัยอำนาจของนักบุญเปโตรที่เป็นผู้นำกลุ่มคริสตชน ท้ายที่สุดท่านและนักบุญเปโตรได้เป็นพยานสูงสุดต่อพระคริสตเจ้า โดยการตายเพื่อพระนามของพระองค์
บทสรุป :
ในวันสมโภชนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล เราสรรเสริญพระเจ้าที่ทรงมอบพระหรรษทานให้พวกท่าน สำหรับพันธกิจในชีวิตของพระศาสนจักร ทุกวันนี้พระศาสนจักรยังคงต้องการพระพรที่ต่างกันของพวกท่านและความเป็นหนึ่งเดียวกันในการอุทิศตนของพวกท่าน คริสตชนทั่วโลกยังคงต้องการรูปแบบของนักบุญเปโตรในการรวบรวมกลุ่มต่างๆ เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นแหล่งรวมของเอกภาพที่มีพลังเข้มแข็ง และคริสตชนก็ยังคงต้องการรูปแบบของนักบุญเปาโลที่เปี่ยมด้วยไฟรักต่อพระคริสตเจ้า ผู้ซึ่งสามารถนำความเชื่อและพลังประกาศความเชื่อให้ไปถึงทุกผู้คน
ไม่ว่านักบุญเปโตร หรือนักบุญเปาโลจะจุดไฟเผากรุงโรมของจักรพรรดิเนโรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ท่านได้จุดไฟที่ไม่มีวันดับให้ลุกโชติช่วงขึ้นในพระศาสนจักรของเรา ดังนั้น ขอเชิญชวนชาวเราให้สรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าเสมอไปเทอญ
(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนและแก้ไขใหม่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2018
Based on : Seasons of the Word, by Denis McBride)