แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

3 กรกฎาคม

ฉลองนักบุญโทมัส อัครสาวก

(St. Thomas, Apostle, feast)

St. Thomas Apostle 1

 นักบุญโทมัส  หรือชื่อในภาษากรีกเรียกท่านว่า "Didymos" หมายความว่า "ฝาแฝด" เป็นชาวประมงซื่อๆจากกาลิลี  ไม่ได้เล่าเรียนอะไรมา  ท่านถูกเรียกโดยพระเยซูเจ้าให้มาเป็นหนึ่งในสิบสองอัครสาวกของพระองค์  เราพอจะเห็นภาพความรักยิ่งใหญ่ของท่านต่อพระอาจารย์เจ้าเมื่อท่านพร้อมจะติดตามพระเยซูเจ้าไปยังบ้านของลาซารัสที่เพิ่งเสียชีวิต  แม้ว่าขณะนั้นอัครสาวกคนอื่นๆกลัวจะถูกทุ่มหินโดยพวกชาวยิวในแคว้นยูเดีย  มีบันทึกเรื่องตอนนี้ไว้ดังนี้ "โทมัสที่เรียกกันว่าฝาแฝด  กล่าวกับศิษย์คนอื่นๆว่า  พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด" (ยน 11:16)  และเป็นเพราะคำถามของท่านขณะรับประทานอาหารค่ำครั้งสุดท้ายว่า  "พระเจ้าข้า  พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด  แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร" (ยน 14:5) ที่ทำให้เราได้รับคำประกาศยืนยันจากพระเยซูเจ้าว่า "เราเป็นหนทาง ความจริง และ ชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา" (ยน 14:6) นอกจากนี้ ท่านถูกเรียกว่าเป็น "โทมัสผู้สงสัย" (= Doubting Thomas) เมื่อท่านปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องการกลับฟื้นพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า  ตามที่อัครสาวกคนอื่นๆได้บอกท่าน  แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงปรากฏองค์มาในครั้งที่สองซึ่งในครั้งนี้โทมัสอยู่กับอัครสาวกอื่นๆด้วย  เขาก็ได้ประกาศออกมาถึงความเชื่อที่ไร้กาลเวลาว่า "องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า  และพระเจ้าของข้าพเจ้า" -  "My Lord and my God" - (ยน 20:28) ตั้งแต่นั้นมา ประชาสัตบุรุษมักนำคำประกาศแสดงความเชื่อนี้มาภาวนาสั้นๆ เวลาที่พระสงฆ์ชูแผ่นปังและถ้วยกาลิกษ์ในพิธีบูชามิสซา  และในเวลาอวยพรศีลมหาสนิท  และพระศาสนจักรก็ให้พระคุณการุณย์กับผู้สวดภาวนาเช่นนี้ด้วยความเชื่อ

 

 ส่วนงานธรรมทูตของนักบุญโทมัสหลังจากที่บรรดาอัครสาวกกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆนั้น  เชื่อกันว่าท่านได้ไปแพร่ธรรมให้กับพวก Medes, เปอร์เซียน (Persians) และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง  และรวมถึงชาวอินเดีย (Indians) ด้วย  กล่าวกันว่าท่านได้ไปที่เมืองเคราลา (Kerala) ประเทศอินเดีย  ราวปี ค.ศ.52  เป็นที่ทราบกันดีว่าในเวลานั้นมีการทำการค้ากันอย่างมากระหว่างซีเรียกับอินเดีย  มีบันทึกไว้ว่าในการประชุมสภาครั้งใหญ่ที่เมืองนิเชอา (the great Council of Nicaea) มีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นพระสังฆราชของ Syrian - Chaldean ที่มาจากอินเดียและเปอร์เซียรวมอยู่ด้วย  และต่อมาในศตวรรษที่ 9 พระเจ้าอัลเฟร็ดมหาราช  ได้ส่งทูตของพระองค์ไปยังคริสตชนที่มาลาบาร์ (Malabar Christians) อีกด้วย

 

 ในเมือง Madras ที่ Mylapore (เดี๋ยวนี้ชื่อว่า San Thome) เป็นที่เชื่อว่าท่านสิ้นชีพด้วยหอกหรือแหลน และที่นี่เองกางเขนแห่งอัศจรรย์ของนักบุญโทมัสได้รับความเคารพเทิดทูน  ในสมัยของนักบุญยอห์น คริสซอสตอม  หลุมศพของท่านได้อยู่ที่เมืองเอเดสสาในประเทศซีเรีย (at Edessa in Syria) และในปีต่อๆมา พระธาตุของท่านได้ถูกนำไปยังประเทศอิตาลี  และโปรตุเกส

 

 พวกสถาปนิกและนักก่อสร้างถือนักบุญโทมัสเป็นองค์อุปถัมภ์ของพวกเขา  โดยยึดเอาจากตำนานที่เล่าว่าเจ้าชายองค์หนึ่งของอินเดียได้มอบเงินจำนวนมากให้ท่านสร้างพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  แต่ท่านกลับพยายามทำให้ผู้อุปถัมภ์มีความมั่นใจในประโยชน์ที่มากกว่าหากจะสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์  โดยการนำเงินจำนวนนั้นไปแจกจ่ายให้กับบรรดาคนยากจน 

 

 นักบุญโทมัส ยังได้รับการประกาศให้เป็นอัครสาวกของประเทศอินเดีย โดยนักบุญปอลที่ 6 พระสันตะปาปา ในปี ค.ศ.1972

 

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)

St. Thomas Apostle 2St. Thomas Apostle 3St. Thomas Apostle 4St. Thomas Apostle 6St. Thomas Apostle 5St. Thomas Apostle 7