แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันที่ 1 มิถุนายน

ระลึกถึงนักบุญยุสติน  มรณสักขี

(St. Justin, Martyr, memorial)

St. Justin 4

 นักบุญยุสตินเกิดที่ฟลาวีอา  เนอาโปลิส (Flavia  Neapolis) ปัจจุบันคือเมือง Nablus ในแคว้นสะมาเรีย ประเทศซีเรีย ประมาณปี ค.ศ.100 พ่อแม่ของท่านเป็นคนต่างศาสนา  ท่านได้รับการศึกษาอย่างดี  ตั้งแต่ยังหนุ่มท่านได้เสาะหาข้อคำสอนจากนักปรัชญาชาวต่างศาสนามากหน้าหลายตา  แต่ไม่มีใครเลยที่ดับความกระหายอันรุนแรงของท่านเพื่อเข้าถึงความจริง  ไม่มีใครบอกท่านได้ชัดเจนในเรื่องคำนิยามของพระเจ้า  วันหนึ่ง  ขณะที่เดินเล่นบนชายฝั่งของเมืองอเล็กซานเดรีย  ประเทศอียิปต์  ท่านได้สนทนากับคริสตชนอาวุโสที่น่าเคารพผู้หนึ่ง  ทั้งสองได้สนทนาเรื่องทางปรัชญาอย่างยาวนาน  ผลจากครั้งนี้  ทำให้ท่านลงมือศึกษาเกี่ยวกับบรรดาประกาศกทั้งหลาย  เพราะท่านได้รับการบอกว่า  จิตวิญญาณของเราจะไม่มีวันเข้าถึงความหมายรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้าได้เลย  ถ้าเพียงใช้วิธีการทางความรู้ประสามนุษย์อย่างเดียว

 นักบุญยุสตินได้เห็นเป็นพยานต่อการไต่สวนและใช้วิธีทรมานต่อพวกมรณสักขีคริสตชนในช่วงการเบียดเบียนหลายๆครั้ง  ท่านแปลกใจต่อความไม่เกรงกลัวต่อความเจ็บปวดและความตาย  ที่เห็นได้บนใบหน้าของพวกเขา  ซึ่งอธิบายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  นอกจากว่าท่านได้ข้อสรุปที่ทำให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่มีวันนำเราไปสู่ชีวิตที่ชั่วร้ายเลวทราม  หรือความสุขทางเนื้อหนัง  และเป็นเพราะความเชื่อที่มีชีวิตของบรรดามรณสักขีเหล่านั้น  ผนวกเข้ากับการที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์อย่างดี  จึงทำให้ท่านกลับใจมาเป็นคริสตชนเมื่ออายุ 30 ปี

St. Justin 1

 ท่านดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดและศักดิ์สิทธิ์  ได้เดินทางไปยังเอเซียน้อย (Asia Minor) คือประเทศตุรกีปัจจุบัน  โดยที่ยังสวมเสื้อคลุมของการเป็นนักปรัชญาอยู่  ต่อมาได้รับการบวชเป็นสังฆานุกร  และได้เทศน์สอนความจริงเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า  ได้เดินทางไปเยือนกรุงโรมสองครั้งด้วยกัน  และใช้เวลาอยู่ที่นั่นพอสมควร  บ้านที่ท่านอยู่ที่โรมจัดเป็นเหมือนโรงเรียนฝึกฝนผู้ปกป้องข้อคำสอนคริสตชน  ต่อมาเพื่อคัดค้านความคิดแนวใหม่ๆของเฮเรติ๊ก Marcion ซึ่งกำลังทำความยุ่งยากให้กับพระศาสนจักรในขณะนั้น  ท่านจึงได้เขียนหนังสือขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อปกป้องโดยอธิบายอย่างชัดเจน ซึ่งข้อเขียนเหล่านั้นได้รับความชื่นชมอย่างสูงจากนักบุญเยโรม  น่าเสียดายที่สูญหายไปแล้ว  ยังคงเหลือแค่หนังสือป้องกันความเชื่อคริสตชน (apologia) เพียงสองเล่มเท่านั้นเอง  ซึ่งท่านต้องการเขียนถึงจักรพรรดิ Anotoninus Pius และ Marcus Aurelius และยังมีอีกเล่มที่มีชื่อเสียงคือ "Dialogue with the Jew Tryphon"  ที่ยังเหลือรอดมาได้

 

 หนังสือป้องกันความเชื่อเล่มแรกมีเนื้อหางดงามและเต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับศีลมหาสนิท  ซึ่งได้เริ่มมีการเฉลิมฉลองในกรุงโรม และถือเป็นการอธิบายเรื่องที่ครบสมบูรณ์มากที่สุดที่ตกทอดมาถึงเรา  จากเรื่องราวความเป็นอยู่ของพระศาสนจักรในยุค 300 ปีแรก  ผลจากงานเขียนนี้ทำให้จักรพรรดิ Anotoninus Pius ในปี ค.ศ. 147 ออกกฤษฎีกาว่าคริสตชนจะต้องไม่ถูกต่อต้านหรือกลั่นแกล้งอีกต่อไป

 

 ประมาณปี ค.ศ.160  นักบุญยุสตินเดินทางกลับไปเมืองเอเฟซัส ณ ที่นั้นวันหนึ่งท่านได้พบกับรับบี Tryphon ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นชาวอิสราเอลที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น  และเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง  ทั้งสองได้สนทนาโต้เถียงกันเป็นเวลาสองวันเต็ม  โดยมีผู้มาเฝ้าชมและรับฟังเพื่อเป็นพยานจำนวนมาก  นักบุญยุสตินได้อ้างถึงบรรดาประกาศกเพื่อพิสูจน์ว่าพันธสัญญาเดิมจะต้องถูกพันธสัญญาใหม่เข้ามาแทนที่  ผลตามมาคือ  ท่านรับบียอมรับว่า ตามคำของประกาศกต่างๆ เวลาแห่งการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์น่าจะผ่านพ้นไปแล้ว  แต่ก็ยังยืนยันว่าพระคริสต์ยังไม่ได้แสดงพระองค์เองให้เป็นที่ปรากฏ

 

 ท่านเขียนไว้ว่า "พระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ฉันปรารถนาให้ท่านได้รับ  คือท่านจะได้ตระหนักถึงปรีชาญาณที่ได้มอบให้มนุษย์ทุกคนในหนทางเดินของชีวิต  และสักวันหนึ่งท่านจะได้มามีความเชื่อเหมือนพวกเรา  ว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสต์ของพระเจ้า"  แต่ประการแรกควรจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับความเชื่อ  ดังนั้น ในหนังสือป้องกันความเชื่อเล่มสอง  ซึ่งน่าจะเขียนราวปี ค.ศ.166  บรรจุข้อความแสดงออกถึงความเชื่อที่งดงาม  เป็นการตอบคำถามของนักปรัชญาต่างศาสนาที่ชื่อ Diognetus ซึ่งเคยเป็นผู้แนะนำให้กับจักรพรรดิ Marcus Aurelius ผลก็คือ  ดังที่นักบุญยุสตินได้เห็นล่วงหน้า  กล่าวคือจากสมุดบันทึกเล่าเรื่องการไต่สวนคดีของท่านฉบับแท้ที่บันทึกไว้โดยศาลของโรมันอย่างเป็นทางการ  ว่าท่านได้ถูกจับและถูกบั่นศีรษะเมื่ออายุ 67 ปี

 

 นักบุญยุสตินเป็นนักป้องกันความเชื่อของคริสตชนที่ยิ่งใหญ่คนแรก  และเป็นองค์อุปถัมภ์ของปรัชญาคาทอลิก  ท่านกับนักบุญเอเฟรมเป็นปิตาจารย์ของพระศาสนจักรเพียงสองท่านที่ไม่ได้เป็นบรรดา พระสงฆ์ สังฆราช หรือ พระสันตะปาปา

 

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)

St. Justin 2St. Justin 3St. Justin 5St. Justin 6