แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

st barnabas icon 757

11 มิถุนายน ระลึกถึงนักบุญ บาร์นาบัส  อัครสาวก

(St Barnabas, Apostle, memorial)

 

นักบุญบาร์นาบัสเป็นชาวยิวในตระกูลเลวีผู้มั่งคั่ง  ตอนเกิดมามีชื่อว่าโยเซฟ และเกิดที่เกาะไซปรัส  ท่านได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม  และเชื่อกันได้ว่าได้รับการศึกษาจากโรงเรียนของอาจารย์กามาลิเอล (Gamaliel) ในช่วงเวลาเดียวกับนักบุญเปาโล  ท่านได้กลับใจมาเป็นคริสตชนหลังวันพระจิตเสด็จลงมา (Pentecost)ไม่นานนัก  ราวปี ค.ศ.29 หรือ 30  และได้ขายทรัพย์สมบัติของท่านเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร  จึงได้รับชื่อนามสกุลจากบรรดาอัครสาวกว่า บาร์นาบัส (Barnabas) แปลว่า "บุตรแห่งการปลอบประโลมใจ"  หรือ  "บุตรแห่งการให้กำลังใจ"  เป็นท่านเองที่ได้ต้อนรับเซาโลผู้กลับใจที่กรุงเยรูซาเล็ม  และรับรองค้ำประกันเขาต่อบรรดาอัครสาวก  เพราะในตอนแรกบรรดาอัครสาวกไม่ยอมเชื่อว่าผู้เบียดเบียนพระศาสนจักรอย่างรุนแรงผู้นี้จะกลับกลายมาเป็นผู้ประกาศเผยแผ่ความเชื่ออย่างกระตือรือร้นเช่นนี้  อย่างไรก็ตาม  จากการที่ท่านคุ้นเคยกับเซาโลมาก่อน  ท่านจึงรู้ดีว่าเซาโลได้แสดงความเชื่อมั่นออกมาภายนอกอย่างจริงใจ  จึงทำให้พระศาสนจักรได้ให้ตำแหน่งว่า "อัครสาวก" กับทั้งสองคน  ไม่นานหลังจากนั้น

เราได้ยินเรื่องของบาร์นาบัสต่อไปเมื่อท่านถูกส่งตัวไปที่เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย  เนื่องจากข่าวที่ว่ามีชาวกรีกที่นั่นกลับใจมากมาย  อันเป็นผลจากการที่มีศิษย์บางคนที่ไปจากเมืองไซรีน และจากบ้านเกิดของท่านคือไซปรัสไปเทศน์สอน  เมื่อท่านได้ไปที่นั่นด้วยใจที่พร้อมจะลบอคติของความเป็นยิวในตัวท่าน  และร่วมชื่นชมยินดีกับปรากฏการณ์แรกครั้งนี้ของพระหรรษทานของพระเจ้าที่ทำงานในท่ามกลางคนต่างศาสนา  และพร้อมกับนักบุญเปาโลผู้ซึ่งท่านได้นำพากลับมาจากเมืองทาร์ซัส  ได้ช่วยกันประกาศพระวรสารที่อันทิโอกตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

ในปี ค.ศ.45 เมื่อกรุงเยรูซาเล็มเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างสาหัส  อัครสาวกทั้งสองนี้ได้นำความช่วยเหลือจากคริสตชนที่เมืองอันทิโอกไปยังพระศาสนจักรแม่  และหลังจากกลับไปที่นั่นพวกท่านก็เริ่มเดินทางธรรมทูตอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก โดยได้นำ ยอห์น มาระโก (ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของบาร์นาบัส) ไปด้วย และก็ได้เริ่มประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารที่บ้านเกิดของท่านก่อน  คือ เมืองไซปรัส แล้วนั้นก็เดินทางไปเอเซียน้อย (Asia Minor) ที่นี่เองที่พวกท่านต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง และถูกเบียดเบียนจากพวกยิว ถึงกระนั้น  ก็มีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก  และสามารถตั้งพระศาสนจักรต่างๆโดยมีสมณะท้องถิ่นคอยดูแลเอาใจใส่    

หลังจากการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม (The Council of Jerusalem)แล้ว  บาร์นาบัสได้กลับไปเยือนกิจการธรรมทูตที่เมืองไซปรัสของท่านอีก  โดยไปพร้อมกับ ยอห์น  มาระโก ชีวิตของท่านต่อจากนั้นเรารู้น้อยมาก  เชื่อกันว่าท่านถูกทุ่มด้วยหินจนถึงแก่ความตายก่อนปี ค.ศ.61  (ในช่วงนั้นเอง ยอห์น  มาระโก  ถูกส่งไปที่กรุงโรมเพื่อช่วยดูแลนักบุญเปาโล ผู้ถูกจับคุมขังไว้)  เนื่องจากนักบุญบาร์นาบัสเป็นคนอ่อนโยน  และชอบการประนีประนอม  และมีความอดทนเป็นเลิศ  ว่ากันว่า  ต่อจากนักบุญเปาโลแล้ว  ก็เป็นท่านนี่เองที่เป็นผู้ที่มีเสน่ห์น่าติดตาม  และเป็นที่เคารพอย่างยิ่งในท่ามกลางกลุ่มคริสตชนในสมัยแรกๆ  พระธาตุของท่านถูกค้นพบที่เมืองซาลามีส (Salamis) บนเกาะไซปรัส  ในปี ค.ศ.482  พร้อมด้วยสำเนาพระวรสารของนักบุญมัทธิวที่เขียนเป็นภาษาฮีบรูชุดหนึ่งที่ถูกฝังไว้กับท่าน

 

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)