27 ธันวาคม
ฉลองนักบุญยอห์น อัครสาวกและผู้นิพนธ์พระวรสาร
(St. John, Apostle & Evangelist, feast)
นักบุญยอห์น เป็นน้องชายของนักบุญยากอบองค์ใหญ่ ทั้งคู่มาจากครอบครัวชาวประมงที่มีฐานะแห่งทะเลสาบกาลิลี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งคู่ผู้มีสมญาว่า "บุตรแห่งเสียงฟ้าร้อง" (Sons of Thunder) เป็นผู้ช่วยงานของบิดาของพวกเขาที่ชื่อ เศเบดี ทั้งสองพี่น้องได้เคยเป็นศิษย์ของยอห์น บัปติสต์ มาก่อน จนกระทั่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเรียกพวกเขา นักบุญยอห์นเป็นหนึ่งในสามอัครสาวกที่ได้สิทธิพิเศษเป็นพยานด้วยตาในเหตุการณ์อัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงปลุกลูกสาวของไยรัสให้ฟื้นคืนชีพ และเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง (Transfiguration) นักบุญยอห์นและนักบุญเปโตรต่างก็ถูกส่งเข้าไปในเมืองเพื่อเตรียมการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย และในโอกาสที่สำคัญนั้น นักบุญยอห์นซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคนที่หนุ่มสุดในบรรดาอัครสาวก ได้รับอนุญาตให้เอียงศีรษะพิงพระอุระของพระอาจารย์ นักบุญยอห์น "ซึ่งเป็นสานุศิษย์ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก" ได้รับอนุญาตด้วยให้เข้าไปในวังของคายาฟาสในคืนที่พระเยซูเจ้าทรงถูกทรยศ "ด้วยว่าเป็นที่รู้จักกับมหาสมณะ" ท่านเป็นเพียงหนึ่งเดียวในอัครสาวกทั้งสิบสองที่ได้ยืนอยู่ใต้เชิงกางเขนตลอดพระทรมานของพระคริสต์ และเป็นเพราะท่านเป็นคนที่เอาใจใส่ด้วยความรัก องค์พระผู้ไถ่ซึ่งกำลังจะสิ้นพระชนม์ได้ทรงมอบพระมารดาผู้นิรมลของพระองค์ให้ท่านคอยดูแล ในช่วงวันปัสกาแรกก็เป็นท่านยอห์นอีกนั่นแหละพร้อมกับนักบุญเปโตรที่พากันวิ่งไปที่พระคูหาที่ว่างเปล่า
หลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าแล้ว เราจะเห็นนักบุญยอห์นดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้า พระผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ที่ท่านเห็นว่าเป็นข้อพิสูจน์ที่แท้จริงถึงความใกล้ชิดของพระกับประชากรของพระองค์ เริ่มแรกจากการที่ท่านจดจำพระเยซูเจ้าได้ในการปรากฏองค์แก่บรรดาอัครสาวกบนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี ต่อมาเป็นท่านอีกนั่นเองกับนักบุญเปโตรที่ทำอัศจรรย์แรกหลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ ซึ่งก็คือ การรักษาคนง่อยที่ประตูพระวิหาร และภายหลังจากที่ท่านถูกคุมขังโดยชาวยิว ท่านก็ได้เดินทางไปสะมาเรียเพื่อเยี่ยมเยียนพวกที่กลับใจใหม่
กระทั่งช่วงการเบียดเบียนของกษัตริย์เฮโรด อะกริปปาที่ 1 ประมาณ 12 ปีหลังการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้า พวกอัครสาวกยังดูเหมือนคงอยู่ในปาเลสไตน์ และเมื่อพวกเขาต้องกระจัดกระจายไป นักบุญยอห์นได้ไปยังเอเซียไมเนอร์ และจากเมืองเอเฟซัสที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดตั้งและปกครอง "พระศาสนจักรทั้งเจ็ด" ณ ที่นี่เองที่อยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนาที่ยังคงนับถือตามธรรมประเพณีของชาวโรมันและชาวกรีกรวมทั้งระบบปรัชญาต่างๆ คำศัพท์ "พระวจนะ" (Logos = the Word) ก็ถูกนำมาใช้ ซึ่งเป็นคำที่ใช้บ่อยๆ และมีความหมายตรงกับพระผู้ไถ่ หรือพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งเป็นพระผู้ซึ่งชาวต่างศาสนาก็คาดหวังรอคอย และเป็นที่เมืองเอเฟซัสนี้เองที่นักบุญยอห์นได้เขียนสิ่งที่เรียกว่าเป็น "ข่าวดีฝ่ายจิต" (Spiritual Gospel) หรือพระวรสารของท่าน โดยท่านได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมพระวรสารสหทัศน์ทั้งสาม (คือพระวรสารที่เขียนโดย มาระโก มัทธิว และลูกา ที่มีความคล้ายคลึงกันพอควร) อย่างรอบคอบ โดยลงลึกในรายละเอียดต่างๆอย่างยอดเยี่ยม และเน้นความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์เพื่อคัดค้านความคิดของพวกเหตุผลนิยม (Gnostics) ที่ทรงอิทธิพลและแพร่หลายมากในขณะนั้น หลังจากนั้นไม่นาน ท่านถูกเนรเทศไปที่เกาะปัทมอส (Patmos) โดยพระจักรพรรดิโดมีเทียน (Emperor Domitian) ซึ่งเป็นที่ที่ท่านเขียนหนังสือวิวรณ์ (Apocalypse) ถือกันว่าเป็นการไขแสดงจากสวรรค์ที่มอบหมายให้ท่านทำ เป็นคำทำนายเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างพลพรรคของซาตานกับผู้ติดตามพระเป็นเจ้า จนกระทั่งจุดสูงสุดคือการทำลายล้างโลก และการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์ ถ้าพิจารณาความลึกซึ้งจากข้อเขียนต่างๆของท่านต้องถือว่าท่านเป็น "ขั้นเทพ" (Divine) ทีเดียว นักเทววิทยาได้ใช้สัญลักษณ์นกอินทรีย์ที่บินขึ้นสูงสู่ดวงอาทิตย์โดยปราศจากความกลัวกับท่าน
ความร้อนรนของนักบุญยอห์นและความอ่อนโยนในการเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะของท่านสะท้อนออกมาในคำเตือนสอนบ่อยๆของท่าน เช่นว่า "ลูกรัก จงรักกันและกันเถิด" "ลูกที่รักทั้งหลาย เราอย่ารักกันแต่ปากเพียงด้วยคำพูดเท่านั้น แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริง" "เพราะผู้ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้ ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้" "ผู้ใดรัก ก็มีชีวิตของพระเจ้าในตัวเขา พระเจ้าทรงเป็นความรัก"
นักบุญยอห์นได้อาศัยอยู่ที่เมืองเอเฟซัสจนอายุชรามาก โดยท่านได้กลับจากเกาะปัทมอสเมื่อพระจักรพรรดิสิ้นชีพลง ท่านเป็นอัครสาวกที่สิ้นชีพเป็นคนสุดท้าย นักบุญยอห์นได้รับความเคารพในฐานะเป็นองค์อุปถัมภ์ของแคว้นเอเซียไมเนอร์ และถูกอ้อนวอนขอยามเมื่อฝนตกหนัก ลูกเห็บตก และฟ้าแลบฟ้าร้องที่รุนแรง
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)