(Immaculate Conception)
“เราจะทำให้เจ้าและหญิงเป็นศัตรูกัน ให้ลูกหลานของเจ้าและลูกหลานของนางเป็นศัตรูกันด้วย เขาจะเหยียบหัวของเจ้า และเจ้าจะกัดส้นเท้าของเขา” (ปฐก 3:15)
- ทูตสวรรค์เข้าในบ้าน กล่าวกับพระนางว่า “จงยินดีเถิด ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน” (ลก 1:28)
นางเอลีซาเบธร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย” (ลก 1:42)
- การตีความที่สืบทอดตามประเพณีของพระศาสนจักรเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้นั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากพระคัมภีร์ เพื่อเข้าใจถึงบทบาทเฉพาะของพระนางมารีย์ในแผนการไถ่กู้ของพระเจ้า หลังจากอ้างถึงตำแหน่งอันทรงเกียรติที่พระนางทรงอยู่เหนือสตรีใดๆ คือ “ผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน” นางเอลีซาเบธให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า “ลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย” เพราะเหตุนี้พระนางมารีย์จึงได้รับมอบหมายให้เป็นพระมารดาของพระเจ้า และได้มีส่วนร่วมกับพระบุตรในพันธกิจ การไถ่กู้ของพระองค์ จึงทำให้พระนางปราศจากมลทินบาปใดๆ ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ ดังนั้น พระนางจึงได้รับสิทธิพิเศษในการปฏิสนธินิรมล
- นอกจากการไตร่ตรองพระคัมภีร์และทางเทววิทยาแล้ว สัตบุรุษยังเข้าใจมานานแล้วว่า ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้เป็นพระมารดาของพระคริสเจ้า น่าจะเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินบาปโดยสิ้นเชิงและเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน ก่อนประกาศเรื่องการปฏิสนธินิรมลเป็นข้อความเชื่อนั้น พระสันตะปาปา ปีโอที่ 9 ได้ออกพระสมณสารเรื่อง “Ubi primum” ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1849 โดยผ่านการเห็นชอบจากบรรดาพระสังฆราช คณะสงฆ์ และสัตบุรุษเกี่ยวกับคำประกาศนั้น มีคำตอบยืนยันเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนถึงความเชื่อโบราณของสัตบุรุษ (Sensus fidelium)
- ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แล้ว นักบุญอีเรเน (ค.ศ. 130-202) ได้แสดงภาพลักษณ์ของพระนางมารีย์เป็นดังเอวาใหม่ที่เชื่อมโยงกับอาดัมใหม่ คือ พระคริสตเจ้า ในงานไถ่กู้มนุษย์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระนางทรงมีชัยชนะเหนือบาปทุกประการ พระนางจึงเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ตกในบาป ไม่อยู่ใต้อำนาจของซาตาน จึงเหมาะสมแล้วที่ได้เป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่
บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรตะวันออกได้ยอมรับเทววิทยาเกี่ยวกับพระนางมารีย์ทางด้านดังกล่าวนี้ และแสดงความคารวะต่อพระนางมากกว่าทางตะวันตก ที่พระนางมารีย์ทรงเป็นอิสระจากบาปทุกประการ มีบรรดาปิติจารย์ที่ยืนยันความเชื่อนี้ เช่น นักบุญอันดรู แห่ง ครีต (ค.ศ. 660-740) นักบุญเยอร์มานุส แห่งคอนสแตนติโนเปิล (ค.ศ. 634-733) และนักบุญยอห์น ดามัสซีน (ค.ศ. 675-750)
- ในคริสตจักรทางตะวันออกอีกเช่นกันที่ได้เริ่มจารีตพิธีคารวะพระแม่มารีย์ในฐานะผู้ปฏิสนธินิรมล ปลายศตวรรษที่ 7 ได้เริ่มมีการจัดพิธีฉลองพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลในหมู่ชาวไบเซนไทน์ จากนั้นก็แพร่หลายไปสู่พระศาสนจักรตะวันตก เรื่องนี้มีรากฐานอยู่ในประเทศอังกฤษ ในศตวรรษที่ 11 ฤาษีชาวอังกฤษท่านหนึ่งชื่อ เอ็ดเมอร์ ได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องการปฏิสนธิของพระนางพรหมจารี
ถึงแม้ว่าออกัสตินและแบร์นาร์ด ในพระศาสนจักรตะวันตกมีความเห็นว่าพระนางพรหมจารีย์ไม่ควรเป็นอิสระจากบาปกำเนิด เนื่องจากว่ามนุษย์ทุกคนต้องได้การไถ่กู้จากพระคริสตเจ้า แต่ศรัทธาประชาชนและเหตุผลง่ายๆ ที่มีอิทธิพลต่อสัตบุรุษ มารดาของพระเจ้าต้องเป็นอิสระจากบาปทั้งมวล ยอห์น ดัน สกอตซ์ (ค.ศ. 1266-1308) ได้ให้คำยืนยันทางเทววิทยาเกี่ยวกับความเชื่อของประประชาสัตบุรุษ (เทววิทยาของมนุษย์ธรรมดาทั่วๆ ไป) ท่านได้สอนไว้ว่า “พระนางมารีย์ปราศจากบาปกำเนิดตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อเหมาะสมกับงานไถ่กู้ของพระบุตร หลายศตวรรษก่อนมีการประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธินิรมลในปี ค.ศ. 1854 คาทอลิกทั่วโลกก็ได้ยอมรับความเชื่อในเรื่องนี้แล้ว
- ในพระสมณสาสน์เรื่อง “Ineffabilis Deus” ของสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9 ได้ประกาศเรื่องการปฏิสนธินิรมลเป็นข้อความเชื่อในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1854 โดยตรัสว่า “เราขอประกาศยืนยันความเชื่อเรื่องพระนางมารีย์เป็นพรหมจารี ตั้งแต่แรกปฏิสนธิ โดยได้รับพระหรรษทานพิเศษเฉพาะเป็นอภิสิทธิ์ที่พระเจ้าทรงประทานให้ เพื่อจะได้เหมาะสมเป็นมารดาของพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่กู้มนุษยชาติ พระนางจึงปราศจากมลทินของบาปกำเนิด นี่คือข้อความเชื่อที่พระเจ้าทรงเผยแสดง ดังนั้นสัตบุรุษทุกคนจึงต้องเชื่อมั่นในเรื่องนี้” (เทียบ Denzinger-Schommetzer 2803)
สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ยืนยันถึงเรื่องนี้เมื่อกล่าวว่า “พระนางนี้นับตั้งแต่ทรงมีกำเนิดมา ทรงห้อมล้อมอยู่ด้วยแสงอันรุ่งโรจน์แห่งความศักดิ์สิทธิ์พิเศษ” (พระศาสนจักร 56)
- ณ ที่นี้จำต้องกล่าวถึงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1858 คือ สี่ปีหลังจากพระสันตะปาปาได้ประกาศคำนิยามนี้ วันที่แบร์นาแด็ต ซูบีรู ได้รับคำสั่งจากพระสงฆ์เจ้าอาวาสให้ถามสตรีที่ประจักษ์มาหาที่ถ้ำเมืองลูร์ดว่านางชื่ออะไร สตรีผู้นั้นตอบว่า “เราคือผู้ปฏิสนธินิรมล”