การทำแท้งในมุมมองของพระศาสนจักรคาทอลิก
จากประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นทางศีลธรรมที่มีความละเอียดอ่อน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลักคำสอนคาทอลิกของเรา บทความนี้จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของกฎหมายมาตรา 301 และ 305 และจุดยืนของพระศาสนจักรในเรื่องของการทำแท้ง
1. สรุปสาระสำคัญของกฎหมายมาตรา 301 และ 305
มาตรา 301
หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุป มาตรา 301 เอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้งเฉพาะในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์
มาตรา 305
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ในกรณีดังต่อไปนี้
1. จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไป จะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพ
ทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
2.จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมา จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
3. หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ
4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด
สรุป มาตรา 305 อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้ ในข้อบ่งชี้เพิ่มขึ้น
ของเดิม คือ มีปัญหาสุขภาพกาย ข่มขืน ล่วงละเมิด อายุผู้หญิงน้อยกว่า 15 ปี
ที่เพิ่มมา คือ สุขภาพจิตใจ ทารกเสี่ยงผิดปกติกาย-ใจ และอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์
2. จุดยืนของพระศาสนจักรคาทอลิก
พระศาสนจักรคาทอลิกประกาศยืนยันว่า การทำแท้งและฆ่าทารกเป็นความผิดที่ร้ายแรง จึงขอเชิญชวนให้ศึกษาคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพระคัมภีร์ ในคำสอนของพระศาสนจักร และโทษจากการทำแท้งในเชิงลึก
พระคัมภีร์แสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ไม่ว่าจะมีการพัฒนาอยู่ในระยะใดก็ตาม ถือว่าเป็นบุคคลมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว – เขาได้รับรู้และได้รับความรักจากพระเจ้า ได้รับการแบ่งปันศักดิ์ศรี และมีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของบุคคลมนุษย์ที่ถูกสร้างโดยพระเจ้า ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ (ปฐก 1:26-27)
พระคัมภีร์ประณามการฆาตกรรมที่ทำลายชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ (อพย 20:13) เนื่องจากพระคัมภีร์ยืนยันว่า บรรดาเด็กๆ ที่อยู่ในครรภ์มารดานั้น เป็นบุคคลมนุษย์ที่สมบูรณ์ การฆ่าพวกเขาจึงถูกห้ามไว้ นอกนั้น พระวรสารยังสอนอีกว่า พระเยซูเจ้าให้ความเอาใจใส่ต่อบรรดาเด็กๆ เป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขายังอ่อนแออยู่ และทรงกล่าวโทษไว้อย่างชัดเจนต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายเด็กๆ (มธ 18:1-6; 19:13-15) ดังนั้น พระศาสนจักรจึงยึดถือคำสอนของพระเจ้า และเน้นการสอนของพระคัมภีร์และธรรมประเพณีในเรื่องการลงโทษการทำแท้งว่า เป็นการฆาตกรรมที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง
พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่า “ชีวิตมนุษย์” นับตั้งแต่เวลาที่ปฏิสนธิ ต้องได้รับความเคารพและปกป้องอย่างเด็ดขาดนับตั้งแต่ช่วงเวลาแรกที่มีความเป็นอยู่ บุคคลมนุษย์ต้องได้รับการรับรองว่ามีสิทธิในฐานะบุคคล และสิทธิประการแรกที่ล่วงละเมิดไม่ได้เลยของสิ่งสร้างที่มีชีวิตทุกอย่างก็คือ สิทธิที่จะมีชีวิต (CCC 2270)
ตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งแล้ว พระศาสนจักรประกาศยืนยันความผิดทางศีลธรรมของการทำแท้งทุกอย่าง คำสอนข้อนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ยังคงเป็นข้อห้ามที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ การทำแท้งโดยตรงนั่นคือ ในฐานะที่เป็นจุดประสงค์หรือเป็นวิธีการที่ต้องการใช้ ก็เป็นการขัดต่อกฎศีลธรรมอย่างหนัก (CCC 2271)
“พระเจ้า […] ผู้ทรงเป็นเจ้านายแห่งชีวิต ทรงมอบพันธกิจสูงส่งที่จะพิทักษ์รักษาชีวิตไว้กับมนุษย์ซึ่งจะต้องปฏิบัติพันธกิจนี้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ตั้งแต่ปฏิสนธิแล้ว ชีวิตจึงต้องได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง การทำแท้งและฆ่าทารกจึงเป็นความผิดที่น่ารังเกียจ”
พระศาสนจักรยังสอนอีกว่า การร่วมมือทำแท้งโดยตรงเป็นความผิดหนัก พระศาสนจักรกำหนดโทษถูกตัดขาดเป็นทางการจากพระศาสนจักรสำหรับความผิดต่อชีวิตมนุษย์ประการนี้ด้วย “ผู้ที่ทำแท้งมีผลสำเร็จย่อมมีโทษที่กำหนดไว้แล้ว ถูกตัดขาดจากพระศาสนจักร” “โดยอัตโนมัติเมื่อทำความผิด” ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ด้วยวิธีการนี้ พระศาสนจักรมิได้ตั้งใจจำกัดเจตนาที่จะแสดงความเมตตากรุณา พระศาสนจักรแจ้งให้รู้ความหนักของความผิดที่ทำลงไป ความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ต่อผู้ไม่มีความผิดที่ต้องตาย ต่อบิดามารดาของทารกและต่อสังคมทั้งหมด (CCC 2272)
คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกสอนอย่างชัดเจนว่า การทำแท้งเป็นบาปหนัก เพราะเป็นการฆาตกรรม ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่ทำแท้งเองและทุกคนที่มีส่วนร่วมล้วนมีโทษต้องถูกตัดขาดจากพระศาสนจักรในทันทีโดยอัตโนมัติเมื่อทำความผิด ในครั้งหน้าเราจะมาหาคำตอบกันว่า หากทำความผิดในข้อนี้และถูกตัดขาดจากพระศาสนจักรแล้ว เพื่อจะแก้ไขจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพียงการรับศีลอภัยบาปจะทำให้หลุดพ้นจากโทษนี้ได้ไหม หรือจำเป็นต้องมีกิจใช้โทษบาปพิเศษอื่นใดอีกหรือไม่
แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ
ข้อมูลอ้างอิง
Thingpen, P. and Armstrong, D. (2011) Inserts of the New Catholic Answer Bible.Indiana :Our Sunday Visitor Inc.
https://www.rsathai.org/contents/17250