อดอาหาร
มัทธิว 6:1-6,16-18
การอดอาหารเป็นพิธีสำคัญทางศาสนามาช้านานนับตั้งแต่สมัยพันธสัญญาเดิม ผู้คนอดอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อเป็นหมายสำคัญแสดงการกลับใจต่อพระเจ้า หรือเพื่อแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต แต่บางครั้งบางคนอาจใช้การอดอาหารเพื่ออวดตัวมากกว่ากลับใจจริง พระเยซูจึงทรงตักเตือนเสมอว่า การอดอาหารเพื่อการกลับใจหรือแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความจริงใจนั้น ต้องเชื่อมโยงกับความรักของพระเจ้าและมนุษย์
พระเยซูทรงอดอาหารบ่อยๆ แต่ไม่ได้ทรงสั่งให้พวกศิษย์อดอาหารเลยเพราะทรงปรารถนาให้พวกเขาเข้าใจว่าอดอาหารแท้จริงนั้นต้องทำด้วยใจสมัคร มนุษย์ไม่สามารถบังคับให้ใครอดอาหารได้ ดังนั้นในเทศกาลมหาพรตซึ่งเป็นเวลาของการกลับใจ พระศาสนจักรจึงส่งเสริมให้เราปฏิบัติต่อกันและกันด้วยความรัก เพราะว่าการหันกลับไปหาความรักของพระเจ้าและความรักต่อผู้อื่นคือการกลับใจ
มหาพรตเป็นเวลาของการกลับใจ มีบางคนคิดว่าเพียงแค่รู้สึกตัวว่าทำบาปก็เป็นการกลับใจแล้ว การกลับใจไม่ใช่เพียงแต่รู้สึกสำนึกหรือเสียใจในความบาปของตนเองเท่านั้น เพราะบางทีความเสียใจในบาปของตนอาจเป็นอุปสรรคทำให้พระคุณของพระเจ้าเข้ามาในจิตใจของเราไม่ได้ หลายครั้งหลายหนที่เรารู้สึกทุกข์ทรมานใจเพราะบาปผิดที่เราทำ ทำไมความรู้สึกบาปจึงทำให้เราทุกข์ทรมาน ทำไมเราไม่สามารถให้อภัยแก่คนอื่นได้ อาจจะเป็นเพราะว่าใจเรายังไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงให้อภัยบาปเราแล้วจริงๆ เราต้องการรับการรับอภัยจากพระเยซู แต่ขณะเดียวกันเรายังไม่ยอมปล่อยบาปของเรา เรายังไม่ยอมแยกจากมัน เหมือนเรากำลังยื่นมือขวาของเราออกไปทูลขอการยกโทษ แต่ขณะเดียวกันมือซ้ายก็ยังคงยึดบาปไว้ อิทธิพลของบาปแรกคือความไม่เชื่อฟังยังอยู่ในเรา ทั้งๆที่พระเยซูตรัสว่าให้อภัยแก่ท่านเสมอ แต่ดูเหมือนว่าตัวเรายังไม่ยอมเชื่อ ถ้าเรายอมรับการอภัยของพระเจ้าจริงๆ เราจะต้องอภัยให้คนอื่นได้ด้วย
นักบุญกาธารีนา กลุ้มใจและเป็นทุกข์เนื่องด้วยบาปของตนเอง จึงสวดภาวนาถามพระเยซูว่า ทำไมพระองค์ทรมานเธอด้วยความคิดที่เป็นบาปอย่างนั้น พระเยซูตรัสถามว่าตัวเธอยินดีด้วยความคิดที่เป็นบาปนั้นหรือเปล่า เธอตอบว่า เปล่าและรังเกียจความคิดที่มีอยู่นั้นมาก พระเยซูจึงตรัสกับเธอว่า การรังเกียจความคิดสกปรกเช่นนั้นเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าพระองค์ทรงอยู่กับเธอ การรับความทุกข์ทรมานจากบาปเป็นสัญลักษณ์ของการทรงสถิตอยู่ ถ้าเราดำเนินชีวิตด้วยความเห็นแก่ตัว เราคงจะไม่รู้สึกถึงบาปในตัวเรา
เปาโลกล่าวว่า ในจิตใจเรามีอำนาจอยู่ 2 แบบ อำนาจหนึ่งคืออยากดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซู แต่อีกอำนาจหนึ่งคืออำนาจของความชั่ว เปาโล กลุ้มใจและเห็นว่าตนเองเป็นคนน่าสมเพชเหลือเกิน
อย่างไรก็ตามเราต้องรู้ว่าพระเจ้าทรงปรารถนาที่จะให้อภัยเราก่อนที่เราจะขออภัยต่อพระองค์เสียอีก เมื่อทรงกลับคืนชีพแล้ว พระเยซูเสด็จไปพบอัครสาวกอย่างไร หรืออัครสาวกไม่ได้เป็นฝ่ายแสวงหาพระองค์ พระเยซูผู้ทรงถูกทรยศต่างหากที่แสวงหาพวกเขา บรรดาอัครสาวกผู้ทรยศคงจะไม่เชื่อว่าทรงอภัยให้พวกตน แต่พระเยซูเสด็จตามเขาไปจนถึงที่ๆ พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ และตรัสกับพวกเขาว่า เราให้สันติสุขแก่ท่าน
การได้รับรู้ว่าพระเยซูทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้อภัยแก่เรานี้เองคือจุดเริ่มต้นของการกลับใจ ถ้าเราตระหนักดีถึงเรื่องนี้ เราก็สามารถให้อภัยผู้อื่นได้ เราไม่สามารถหยั่งรู้ใจใครได้แต่เรารู้ใจของเราเองดี เพราะฉะนั้นเราต้องถามใจของเราดูเองว่าเรายอมรับยอมเชื่อจริงๆ หรือเปล่าว่าพระเยซูทรงอภัยให้เราแล้ว
เราต้องสวดภาวนาว่า ถ้าพระเยซูปรารถนาให้เราให้อภัยคนอื่น ขอทรงโปรดประทานพระคุณให้เราสามารถอภัยให้คนอื่นได้ และด้วยกำลังของตัวเราเองเราไม่สามารถทำได้ ยิ่งพยายามดูเหมือนว่าเรายิ่งจมลึกลงไปในบาป ขอพระเยซูโปรดประทานพระคุณแก่เราด้วย
อย่าลืมว่าถ้าเราไม่เชื่อว่าพระเยซูทรงอภัยบาปในอดีตของเราให้เราจนหมดสิ้นแล้ว เราก็จะให้อภัยคนอื่นไม่ได้ และความคิดที่ว่าเราทำทุกสิ่งด้วยตัวเองได้นั้นเป็นอุปสรรคขัดขวางพระคุณและพระพรของพระเจ้า