บทที่ 1
วิญญาณข้าพเจ้าโหยหาพระองค์ พระเจ้าข้า
แหล่งที่มา CCC 26-49
พระเป็นเจ้าเจ้าข้า เราวอนขอพระองค์โปรดเสด็จมาและเร้าใจเราให้มีความรัก โปรดทรงเรียกเรากลับไปหาพระองค์ โปรดจุดความรู้สึกนึกฝันอันแรงกล้าของพระองค์ในใจเรา และให้เราได้เคลิบเคลิ้มไปกับฝันนั้น โปรดให้เราได้กลิ่นหอมของพระองค์ และได้ลิ้มรสความหวานของพระองค์ โปรดให้เรารักพระองค์และรีบไปอยู่เคียงข้างพระองค์เถิด (นักบุญออกัสติน, Confession 8,4)
ภราดาลุ๊กไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งใดเลย
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 ฤาษีคณะทรัปปีส 7 รูป จากอารามอัทลาสในประเทศอัลจีเรีย ได้เป็นมรณสักขี ด้วยการถูกประหารชีวิตโดยกลุ่มอิสลามติดอาวุธ(GIA) พวกเขาได้ออกหนังสือแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเพื่อแจ้งว่า “เราได้ตัดคอฤาษี 7 รูป ตามคำมั่นสัญญาที่เราให้ไว้...ขอพระเป็นเจ้าทรงได้รับการสรรเสริญ”
สามปีก่อนหน้านั้น กลุ่มอิสลามติดอาวุธนี้ได้เตือนบรรดาฤาษีที่อารามอัทลาสแล้วว่า “บรรดาฤาษีผู้ดำเนินชีวิตอยู่กับชนชั้นกรรมกรจะถูกสังหารได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” บรรดาฤาษีตั้งใจที่จะอยู่ที่นั่นต่อไป ท่านแบร์นาโด โอลิเวร่า อธิการเจ้าคณะได้แสดงความคิดเห็นถึงการตัดสินใจของพวกเขาว่า “การตัดสินใจของบรรดาพี่น้องของเรา ที่อัทลาสนี้ มิได้มีความพิเศษมากกว่าคนอื่น ตามประเพณีของฤาษี และนักพรตหญิงของคณะเบเนดิ๊กติน-ซิสเตอร์เซียนนั้นได้ปฏิญาณตนถือ “ความมั่นคง” ซึ่งผูกมัดเราที่อยู่ในหมู่คณะให้อยู่ในสถานที่ซึ่งหมู่คณะตั้งอยู่จนกว่าจะตายจากไป”
เราจะเข้าใจความลึกซึ้งของคำปฏิญาณนี้ได้อย่างไร? คุณพ่อคริสเตียน ฤาษีรูปหนึ่งที่อารามอัทลาส ได้อธิบายกับหัวหน้ากลุ่มอิสลามติดอาวุธด้วยคำพูดต่อไปนี้
“พี่น้อง โปรดให้ข้าพเจ้าได้พูดกับท่านในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ ผู้มีความเชื่อกับผู้มีความเชื่อ ในความขัดแย้งซึ่งประเทศของเรากำลังประสบอยู่ปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเราเป็นชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกข้างได้ ในฐานะที่เราเป็นฤาษีผูกมัดเราให้ต้องเลือกพระเป็นเจ้า ซึ่งสำหรับเรานั้น ก็คือการภาวนา การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย การทำงานที่ต้องใช้กำลัง การเป็นเจ้าของบ้านที่ดีและการแบ่งปันกับทุก ๆ คนโดยเฉพาะผู้ที่ยากจน นี่คือเหตุผลที่เราเลือกวิถีชีวิตเช่นนี้ ด้วยความสมัครใจของเราแต่ละคน ซึ่งผูกมัดเราไปจนวันตาย”
ท่านอธิการ โอลิเวร่า ได้เห็นการเชื่อมโยงที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างการแสวงหาพระเป็นเจ้าในอาราม กับการเป็นมรณสักขี “จากการเป็นมรณสักขีด้วยการต่อสู้ฝ่ายจิตจนถึงการเป็นมรณสักขีด้วยการหลั่งเลือดนั้น มีเพียงเสียงร้องเดียวซึ่งเรียกให้รักและให้อภัย รวมถึงให้รักศัตรูของตน ชีวิตนั้นแข็งแกร่งกว่าความตาย ความรักนั้นมีคำสอนสุดท้าย” ความเชื่อของพวกเขาสามารถเอาชนะสัญชาตญาณตามธรรมชาติที่ให้แก้แค้น พวกเขายึดถือคำสอนของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริงและให้อภัยศัตรู ความปรารถนาพระเป็นเจ้าของพวกเขาจบลงในความรักที่สมบรูณ์
ภราดาลุ๊ก วัย 80 ปี ได้มอบสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องระลึกถึงชีวิตในอดีตได้อย่างประทับใจที่สุด ก็คือ เท็ปเพลงตลับหนึ่งที่มีเพลงซึ่งท่านหวังไว้ว่าจะมีใครบางคนนำมาเปิดในวันที่ทำพิธีปลงศพของท่าน นั่นก็คือเพลงที่ขับร้องโดย เอดิธ เปียฟ มีชื่อว่า “ไม่เลย ฉันไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งใดๆที่ผ่านไป”
เราเกิดมาพร้อมกับความปรารถนาพระเป็นเจ้า
สมณสารของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่ 2 ชื่อ “สู่พันปีที่สาม” เกี่ยวกับการเตรียมฉลองปีปิติมหาการุณย์ ค.ศ. 2000 ให้เราระลึกว่า พระศาสนจักรในสหัสวรรษแรกนั้นถือกำเนิดมาจากโลหิตของบรรดามรณสักขี พยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งแสดงถึงความปรารถนาพระเป็นเจ้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นก็คือ ความเต็มใจที่จะหลั่งโลหิตของตนแทนความศรัทธานี้ นั่นคือสิ่งที่บรรดาฤาษีแห่งอารามอัทลาสได้กระทำ ความกล้าหาญของพวกเขาทำให้รู้ว่า อะไรคือความจริงของเราแต่ละคน และของทุกครอบครัว มนุษย์แต่ละคนนั้นมีแรงผลักดันภายในที่ทำให้เขามุ่งสู่ความสมบูรณ์ สู่จุดสุดท้าย สู่ความไม่สิ้นสุดซึ่งก็คือพระเป็นเจ้า
มนุษย์ทั้งชายและหญิงต่างแสวงหาพระเป็นเจ้า
หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก เปิดประเด็นด้วยความจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับเราแต่ละคน ตั้งชื่อบทแรกว่า “มนุษย์สามารถที่จะรู้จักพระเป็นเจ้า” พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์เรามาในลักษณะที่มนุษย์จะพบการบรรลุสมความปรารถนา,ความจริง,และความสุขแท้ส่วนตัวได้เฉพาะในพระองค์เท่านั้น ศักดิ์ศรีของมนุษย์เรานั้นอยู่บนความจริงที่ว่าเราได้ถูกเรียกให้มาสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า การเชื้อเชิญให้เป็นมิตรกับพระเป็นเจ้านั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่เรามีชีวิต พระเป็นเจ้าทรงสร้างเรามาด้วยกิจการแห่งความรัก และด้วยความรักนี้เราจึงมีชีวิตอยู่
วัฒนธรรมสมัยใหม่พยายามสอนว่าเราเป็นผู้คนทางโลกอย่างแท้จริง แต่พระเป็นเจ้าทรงสร้างเราให้เป็นคนทางธรรมโดยกำเนิดทีเดียว แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะถูกถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องโลกีย์ แต่ก็ยังมีสถานที่สำหรับคารวะกิจต่อจำนวนพลเมืองมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่น ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์ได้แสดงออกถึงความเร่าร้อนที่จะมุ่งหาพระเป็นเจ้าของพวกเขาในการภาวนา(prayer) การถวายบูชา(sacrifice) พิธีศาสนา(ritual) โบสถ์(church) วัด(temple) ศาลาธรรม(synagogue) และมัสยิด(mosque)ตลอดมาจวบจนปัจจุบันนี้
นักบุญเปาโล กล่าวอย่างถูกต้องแล้วเมื่อท่านบอกกับชาวเอเธนส์ว่า “พระองค์ (พระเป็นเจ้า) ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียว และทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน โดยทรงกำหนดช่วงเวลา และขอบเขตให้เขาอยู่ เพื่อให้มนุษย์แสวงหาพระเป็นเจ้า แม้จะต้องคลำหาเขาก็ยังพบพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงอยู่ไม่ห่างจากเราแต่ละคน ด้วยว่า ‘เรามีชีวิต เคลื่อนไหว และมีความเป็นอยู่ในพระองค์...’ ” (กจ 17:26-28)
ถ้าสิ่งนี้เป็นความจริง ทำไมคนจำนวนมากจึงไม่สามารถพบพระเป็นเจ้า?
มีเหตุผลมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวคือ การมีสิ่งชั่วร้ายอยู่มากมายในโลกครอบงำคนบางคน และเป็นสาเหตุให้พวกเขาทรยศต่อความคิดแท้จริงเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าผู้ทรงปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราไม่พบพระเป็นเจ้า นอกจากนี้ยังมีการไร้การศึกษาเกี่ยวกับศาสนา และการไม่สนใจศาสนา ซึ่งทำให้คนขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า, บ่อยครั้งที่ความมั่งมีก็ทำให้คนรวยไข้เขว ไม่เคยคิดถึงพระเป็นเจ้า, ความประพฤติที่น่าอับอายของผู้มีความเชื่อบางคนผลักให้ผู้แสวงหาด้วยใจจริงออกจากศาสนา, และสุดท้ายคือความบาปของแต่ละคนโน้มนำคนบาปให้ปฏิเสธเรื่องบาป, ไม่รับผิดชอบต่อบาปที่ได้ทำ และซ่อนตัวจากพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกับที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า “มนุษย์และภรรยา...จึงหลบไปซ่อนให้พ้นจากพระพักตร์พระยาห์เวห์พระเป็นเจ้าในหมู่ต้นไม้ของสวน” (ปฐก 3:8)
แล้วเราจะพบพระเป็นเจ้าที่เราปรารถนาได้อย่างไร?
พระเป็นเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เองในสามทาง คือ
(1) สิ่งสร้าง: นักบุญ เปาโล บอกว่าเราสามารถรู้จักพระผู้สร้างได้โดยอาศัยสิ่งที่ทรงสร้าง นักบุญออกัสติน กล่าวถึงความจริงข้อนี้อย่างน่าทึ่งยิ่งกว่าว่า “จงถามความงามของแผ่นดิน ถามความงามของท้องทะเล...ถามความงามของท้องฟ้า…ทั้งหมดจะตอบว่า ‘ดูสิ เรานี้งดงาม’ ความงามของสิ่งเหล่านี้เป็นการประกาศยืนยันอย่างหนึ่ง ความงามเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง ใครเป็นผู้ทำความงามเหล่านี้ได้เล่า หากมิใช่องค์แห่งความงาม ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่การเปลี่ยนแปลง?” (sermon 241,2)
(2) ตัวบุคคลมนุษย์: ถ้าเราคิดว่าเราเหมือนกับอะไร นั่นคือเราพบว่าเราต้องการที่จะรู้ความจริงและสัมผัสความงามที่สมบูรณ์ เราถูกดึงดูดเข้าสู่คุณความดีทางศีลธรรม เราชื่นชมในอิสรภาพของเราและดิ้นรนที่จะรักษามันไว้ เราตระหนักถึงเสียงของมโนธรรม และพยายามที่จะดำเนินชีวิตตามนั้น เรามิได้กระหายหาอะไรอื่นนอกจากความสุขอันสมบูรณ์และไร้ขอบเขต ประสบการณ์ต่างๆ นี้ ช่วยให้เราตระหนักถึงวิญญาณและธรรมชาติฝ่ายจิตของเรา ยิ่งเราตระหนักถึงความจริงเกี่ยวกับตัวเราเองมากเท่าใด เราก็ยิ่งถูกดึงเข้าสู่ความจริงของพระเป็นเจ้ามากเท่านั้น
(3) การเปิดเผย(ความจริง)โดยตรง: โลกและตัวบุคคลมนุษย์นั้นเป็นดั่งต้นตอที่นำไปสู่การรู้จักพระเป็นเจ้าที่สำคัญเพียงใด ความหมายที่คลุมเครือของเครื่องหมายต่าง ๆอันเกิดจากบาปของมนุษย์นั้นก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการเปิดเผยโดยตรงอย่างชัดเจนและมั่นใจจากพระเป็นเจ้าเกี่ยวกับความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา เกี่ยวกับแผนการช่วยเราให้รอดพ้น และเกี่ยวกับชีวิตภายในของพระองค์ ในพระคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์นี้เอง เราได้มีแนวทางที่เชื่อถือได้และแน่นอนอันจะนำไปสู่ความมั่งคั่งเป็นพิเศษของพระเป็นเจ้าโดยอาศัยความเข้าใจภายใต้ความเชื่อของพระศาสนจักร เรื่องราวส่วนใหญ่ที่เรากำลังจะศึกษาจากหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกก็มีที่มาจากพระคัมภีร์ เหมือนกับบทภาวนาในพิธีกรรม ซึ่งถูกถ่ายทอดมายังเราโดยพระศาสนจักร การสืบทอดคริสตธรรมของอัครสาวก(the Apostolic Tradition)และผู้มีอำนาจสั่งสอน(ในพระศาสนจักร)(Magisterium)
ในแต่ละบทเรียน จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นการไตร่ตรอง ที่ประกอบด้วยคำถามต่างๆ พร้อมกับคำตอบก็ถูกนำมาจากหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ยิ่งกว่านั้นเราได้ให้ประเด็นปัญหาอันเป็นข้อคิดเพื่อที่จะนำเอาเนื้อหาในแต่ละบทไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ตามด้วยคำเชิญชวนให้ภาวนา และอรรถาธิบายคำโดยสรุป
การไตร่ตรองจากหนังสือคำสอน
1. เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเป็นสัตว์โลกที่มีธรรมโดยธรรมชาติ?
“ในประวัติศาสตร์แห่งมนุษย์ชาติ และแม้กระทั่งปัจจุบัน มนุษย์ได้แสดงออกถึงการแสวงหาพระเป็นเจ้าด้วยวิธีการที่หลากหลายมากมาย โดยอาศัยความเชื่อ และการบำเพ็ญปฏิบัติทางศาสนาของตน เช่น การภาวนา การถวายบูชา พิธีศาสนา การรำพึง ฯลฯ รูปแบบการแสดงออกที่เป็นธรรมเหล่านี้ แม้ว่าอาจจะก่อให้เกิดเงื่อนงำกำกวมอยู่บ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นสากลเสียจนกระทั่งการแสดงออกแต่ละอย่างนั้นอาจบอกเราได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีธรรมโดยธรรมชาติ...” (เทียบ กจ 17: 26 -28) (CCC 28)
2. ทำไมเราจึงสูญเสียความรู้สึกที่ว่าโดยพื้นฐานมนุษย์เป็นผู้มีธรรม?
“แต่การติดต่อสัมพันธ์อย่างชิดสนิทและสำคัญเท่าชีวิต ซึ่งรวมมนุษย์เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า” (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 19.1) นี้ อาจถูกลืม ถูกเข้าใจผิด และกระทั่งถูกสลัดทิ้งอย่างเห็นชัดโดยมนุษย์ ทัศนคติแบบนี้อาจมีบ่อเกิดที่หลากหลายต่าง ๆ กันออกไปมากมาย เช่น ความรู้สึกกระด้างกระเดื่องต่อการมีความชั่วร้ายอยู่ในโลก ความไม่รู้เรื่องราวที่เป็นธรรมหรือความเฉยเมยต่อธรรม ความกังวลและความมั่งคั่งของมนุษย์โลก แบบอย่างที่เลวของผู้มีความเชื่อ กระแสความคิดที่เป็นอริต่อศาสนา และท้ายที่สุด ทัศนคติของมนุษย์ผู้เป็นคนบาป ซึ่ง-ด้วยความกลัว-จึงซ่อนตัวเสียจากพระพักตร์พระเป็นเจ้า และหลบหนีไปเมื่อพระองค์ตรัสเรียก” (เทียบพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ 19-21; มธ 13:22; ปฐก 3:8-10, ยน 1:13) (CCC 29)
3. เรามีอะไรเป็นเครื่องช่วยตามธรรมชาติเพื่อการรู้จักพระเป็นเจ้า?
“เมื่อมนุษย์สดับฟังสารจากบรรดาสิ่งสร้าง และเสียงมโนธรรมแห่งตน มนุษย์ก็สามารถบรรลุถึงความมั่นใจในการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าผู้เป็นต้นเหตุ และจุดหมายสุดท้ายของทุกสิ่ง” (CCC 46)
การเชื่อมโยงกับครอบครัว
เรื่องที่ว่า สังคมนั้นปฏิบัติต่อมนุษย์เราเหมือนเป็นแค่เพียงผู้คนทางโลกเท่านั้น ไม่มีธรรมชาติทางธรรม ดนตรี,ภาพยนตร์มากมาย,และการแสดงทางโทรทัศน์ทั้งหลายอันเป็นที่นิยมโจมตีเราและลูกหลานของเราด้วยสิ่งเร่งเร้านับพันประการ ซึ่งดึงดูดความต้องการที่เห็นแก่ตัวของเรา หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ ทางโลกดูถูกอำนาจทางธรรมและเน้นหนักที่จุดอ่อนและเรื่องที่น่าอับอายทั้งหลายของบรรดาผู้มีความเชื่อ เราจึงต้องย้ำเตือนตัวเราเองเสมอว่า พระเป็นเจ้าทรงสร้างเรามาเพื่อพระองค์ และจิตใจของเราจะพบความสุขแท้จริงได้เฉพาะในพระองค์เท่านั้น เราควรมองดูความงามของโลกและคิดถึงพระผู้สร้าง เราต้องให้คุณค่ากับความเงียบ การภาวนา และความเชื่อ คุณแม่เทเรซาบรรยายถึงความสำคัญในเรื่องไว้ว่า
ความเงียบนำไปสู่การภาวนา
การภาวนานำไปสู่ความเชื่อ
ความเชื่อนำไปสู่ความรัก
ความรักนำไปสู่การบริการรับใช้
การบริการรับใช้นำไปสู่สันติสุข
1. การสอนให้รู้ว่าโดยพื้นฐานมนุษย์เป็นผู้มีธรรมมาแต่กำเนิดนั้นสามารถช่วยเยาวชนของเราให้บำรุงรักษาความสัมพันธ์ของเขากับพระเป็นเจ้าไว้ได้อย่างไร?
2. ในข้อ ที่ 29 ของหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก กล่าวถึงท่าทีหกอย่างที่ทำให้มนุษย์เราหลงลืมเอกลักษณ์ทางธรรมของตน ท่านเห็นว่ามีท่าทีใดบ้างที่เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัวของท่าน? ท่านควรจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร?
3. พัฒนาการแห่ง “ความสำนึกทางศีลธรรม” ที่ถูกตรงในเรื่องหนึ่ง จะช่วยให้เราเปิดใจของเราต่อพระเป็นเจ้าอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นได้อย่างไร?
คำภาวนาของครอบครัว
เยซู มารีอา และโยเซฟมีความผูกพันกันเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ได้ก็เพราะการภาวนา ความเชื่อ และความรัก เราหวังว่าชีวิตครอบครัวของเราจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานชีวิตฝ่ายจิตอันมั่นคงเช่นนี้ด้วย ขณะที่เราก้าวเดินไปด้วยกันบนเส้นทางชีวิตแห่งความเชื่อนี้ เราวอนขอให้ความช่วยเหลือ และความรักของพระองค์อยู่กับเรา เราหวังว่าจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียกของเราตราบจนวันที่เราจะได้อยู่กับพระองค์ในสวรรค์ ด้วยความชื่นชมยินดีตลอดนิรันดร
อรรถาธิบายคำ
ธรรมมนุษย์(Religious Man): มีที่มาจากหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ที่สอนให้รู้ว่ามนุษย์ชายหญิงทุกๆ คน เกิดมาพร้อมกับมีธรรมเป็นแรงดลใจ และผลักดันไปหาพระเป็นเจ้า
สิ่งสร้างและมโนธรรม(Creation and Conscience): คือ สองทางที่วิจารณญาณสามารถเข้าไปรู้จักพระเป็นเจ้าได้