แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

“คนกันเอง” ความหมายที่แตกต่างระหว่างไทย – เกาหลี

กลับมาพบกันอีกครั้งกับผม พิราบเทา...ครั้งนี้ขอพักเรื่องวิชาการทางศาสนาไว้สักนิด เพราะกลัวผู้อ่านจะเบื่อกันซะก่อน อันที่จริง เรื่องที่เกี่ยวกับพระศาสนจักรในเกาหลีนั้นก็มีอยู่มาก ตอแรกผมเองก็ตั้งใจจะเขียนบทความเรื่องนักบุญองค์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อพระศาสนาจักรในเกาหลีเป็นอย่างมาก เพราะตามที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้นั้น ท่านได้ประกาศพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า คนสุดท้าย ต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากในสมัยก่อน เกาหลีเป็นดินแดนที่เคร่งคัดในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ต่อมาท่านก็ได้รับการสถาปณาเป็นบุญราศี และได้รับการประกาศเป็นนักบุญองค์แรกของชาวเกาหลี ซึ่งนั่นก็คือ นักบุญ แอนเดรีย คิม แท กอน

ประวัติของท่านน่าสนใจมากครับ ในเกาหลีมีนักบุญเป็นร้อยองค์ แต่เชื่อไหมครับว่าเกือบทุกวัดในเกาหลี ต้องมีรูปปั้นของนักบุญองค์นี้ให้เห็นอยู่ร่ำไป ผมไปแสวงบุญมาหลายวัด ต้องบอกว่าเจอทุกวัดครับ...ไว้คอลัมน์หน้า จะแนะนำท่านนักบุญองค์นี้ให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักครับผม

สำหรับเรื่องเด็ดประจำคอลัมถ์ในวันนี้ ผมอยากเสนอเรื่องราวที่แลกมาด้วยประสบการณ์ของผมเอง ซึ่งหวังเป็อย่างยิ่งว่า หากใครได้มีโอกาสมาเกาหลี หรือว่าอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องใช้ชีวิตกับชาวเกาหลี มันจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลเลยละครับ

แน่นอนที่สุด ประเทศต่างกัน ชาติพันธุ์ต่างกัน คงไม่แบบที่รากฐานทางวัฒนธรรมจะต่างกันไปด้วย ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเสรี เข้ากับคนต่างชาติได้ทุกชาติ วัฒนธรรมไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนต่างชาติอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก

เพราะแม้ว่าเรากับชาติตะวันตกจะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตาม แต่วัฒนธรรมไทยบางอย่าง ที่ชาวไทยแสดงออกไป และนำไปใช้ในสังคมตะวันตก ก็คงไม่ผิดแปลกอะไร แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบของคนประเทศนั้นๆอีกด้วย
แต่ทว่าเกาหลีนั้น มองโดยผิวเผิน อยู่ไม่ได้ไกลจากไทยเท่าไร นั่งเครื่องบินแค่ห้าชั่วโมงก็ถึง แถวเป็นชาติเอเชียด้วยกันซะอีก มันคงไม่น่าจะมีอะไรที่แตกต่างกันมากนัก แต่ความจริงนะเหรอครับ ต่างกันสุดๆ...

ผมมาอยู่เกาหลีปีครึ่ง เรียนอยู่ในศูนย์ภาษาเกาหลี มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติหลายชนชาติ ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาความคิดขัดกันทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด ยกเว้นเรื่องการใช้โลออน (หรือที่ทารักแร้นั่นเอง) เชื่อไหมครับว่าเพื่อนผมคนญี่ปุ่น คนไต้หวัน ตกใจมาก อาจารย์สอนภาษาเกาหลีห้องผมก็เช่นกัน ถามผมอีกว่า “ผู้ชายไทยทุกคนใช้หรือเปล่า”

ผมก็ตอบไปตรงๆว่าส่วนมากประมาณ แปดสิบเปอร์เซ็นต์ก็ใช้กัน...เท่านั้นแหละครับ เลยกลายเป็นเรื่องฮาไปเลย แต่ประสบการณ์วันนี้ที่ผมจะเอามาเล่าสู่กันฟัง มันไม่ฮานะสิครับ แต่มันค่อนข้างเครียดเลยทีเดียว สำหรับผมกว่าจะผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ ก็น้ำตาตกเหมือนกัน

คงเป็นเรื่องปกติที่เด็กไทยเวลาไปเรียนต่างประเทศมักจะหางานพิเศษทำ โดยเฉพาะในร้านอาหารไทย ผมเองก็ทำครับ ได้ทั้งประสบการณ์ เงิน ภาษา เพื่อน...คุ้มครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารยาททางสังคมของคนประเทศนั่นๆ ที่ร้านอาหารผมมีพี่คนหนึ่ง เป็นคนเกาหลี เกิดปี 1985 ซึ่งแก่กว่าผม สองปี ผมทำงานที่ร้านนี้ได้ไม่ถึงอาทิตย์ ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานของผมกับพี่เค้าก็เป็นไปด้วยดี คุยกับผมซะจนผมเข้าใจว่า น่าจะสนิทกันแล้วละ แล้วก็มีอยู่วันหนึ่ง ผมกำลังยุ่งๆอยู่ พี่แกก็เล่นถามเรื่องที่แกอยากรู้ซะจนผมเซ็ง ด้วยความรีบ ผมลืมใช้คำว่า อา ออ ยอ โย ซึ่งเป็นคำลงท้ายในภาษาเกาหลีเพื่อนแสดงความสุภาพ

เท่านั้นแหละเป็นเรื่องเลยครับ...วันรุ่งขึ้นก็เลยมาเคลียร์กันตอนกินข้าวกลางวัน พี่เค้าก็บอกว่า ทำไมถึงพูดไม่สุภาพกับเขา ผมก็อ้างไปว่าตอนนั้นรีบ แล้วอีกอย่างก็เห็นว่าเราสนิทกันมากแล้ว คงไม่ต้องใช้ก็ได้ เพราะปกติ คำพวกนี้จะใช้กับคนที่เพิ่งรู้จักกันแรกๆ

แต่ทว่าคำตอบที่ได้...ผมน้ำตาตกในเลย เพราะพี่เค้าบอกว่า “สนิทเหรอ เราสนิทกันตั้งแต่เมื่อไร ผมอายุมากกว่าคุณต้องพูดสุภาพกับผม ไม่ว่าจะรีบแค่ไหนก็ตาม รู้จักไหม การใช้ อา ออ ยอ โย อะรู้จักไหม” ผมอึ้งเลย ผมก็เลยบอกไปว่า มีคนเกาหลีคนนึง เกิดที่ประเทศไทย ตอนนี้เราก็สนิทกัน ผมก็อายุมากกว่าเขา แต่เขาก็ใช้คำธรรมดากับผม ผมเองก็ใช้คำธรรมาดากับเขาเหมือนกัน

แล้วก็มีคุณน้าผู้หญิงที่ทำงานอยู่แผนกการเงินเสริมขึ้นมาว่า “ อันนั้นนะ มันต่างกัน จะคบกันเป็นพี่เป็นน้องแบบนั้นมันก็ไม่แปลก แต่ที่นี่คือที่ทำงาน เป็นเหมือนบริษัท คนทุกคนมาที่นี่เพื่อทำงาน ไม่ได้มาหาพี่หาน้องกัน เธอต้องเข้าใจนะ”
คุณน้าพูดจบ เป็นจังหวะที่ผมตักข้าวคำสุดท้ายเข้าปากพอดี...ยอมรับว่าตอนนั้นน้ำตาแทบไหลเลย เพราะปกติแล้ว คนไทยแม้ว่าจะเป็นบริษัทเราก็พูดหยอกล้อกันได้ บางคนเรียกกันหยาบๆก็มี เพราะเราคิดกันว่า เป็นพี่เป็นน้องกัน ยังไงซะก็คนในองค์กรเดียวกัน กันเองได้ สบายๆ แต่ที่เกาหลีนั้น มันไม่ใช่ครับ การล้อเล่นหรือที่คนเกาหลีเรียกว่า “ชังนัน” เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดในสังคมเกาหลีเลยละครับ  

นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมเรียนรู้ จากการได้เข้ามาทำงานในร้านอาหารไทยในเกาหลี ประเทศต่างกัน ภาษาต่างกัน และถ้าหากวัฒนธรรมทางความคิดมันจะต่างกันไปด้วย มันก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมนั่นแหละ สิ่งที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ และปรับตัวครับ

สำหรับบางคนอาจไม่ชอบที่ต้องรู้สึกเหมือนถูกว่า ก็เลยไม่แคร์ ทำกริยา นิสัยเดิมๆต่อไป อันนั้นท่าจะอยู่ในสังคมนั่นลำบากละครับ...

พิราบเทา...