แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

IMG-7294ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต่อเนื่องกันมานานนับศตวรรษ เมื่อคริสตชนคนหนึ่งคนใดจะเข้าวัด ไม่ว่าจะเข้าไปเพื่อร่วมพิธีกรรมของหมู่คณะ เช่น ร่วมพิธีมิสซา หรือเข้าไปเพื่อประกอบกิจศรัทธาส่วนตัว เช่น เฝ้าศีลมหาสนิท  สวดสายประคำ ฯลฯ     คริสตชนคนนั้นจะมองหาที่บรรจุน้ำเสก เพื่อจะจุ่มน้ำเสกนั้น  แล้วก็แตะที่หน้าผาก พลางรำพึงหรือเอ่ยถ้อยคำในใจ      “เดชะพระนาม  พระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน”  

บ่อยครั้ง  ยังมีภาพน่ารัก ๆ ให้เห็น  ที่คุณพ่อคุณแม่จะอุ้มลูกตัวเล็ก ให้จุ่มน้ำเสกด้วยตัวเอง    แล้วก็สอนให้ทำเครื่องหมายกางเขน(อันที่จริง  หากย้อนเวลากลับไปหลายศตวรรษ   ก่อนที่จะมีธรรมเนียมจุ่มน้ำเสกก่อนเข้าวัด   ที่ประตูทางเข้า จะมีพระสงฆ์ยืนรออยู่  เพื่อคอยพรมน้ำเสกให้สัตบุรุษ)

ธรรมเนียมการพรมน้ำเสกหรือการจุ่มน้ำเสกก่อนเข้าวัด  ไม่ได้เป็นแค่เพียงอิริยาบถประกอบการเดินเข้าวัด  แต่มีความหมายมากกว่านั้น ที่วันนี้  เราจะมาหาคำตอบด้วยกัน

แต่ก่อนที่จะอธิบายความหมายหรือที่มาที่ไปของการจุ่มน้ำเสก ผมขอหยิบยกข้อเขียนของแตร์ตุลเลียน ปิตาจารย์ ในศตวรรษที่ 2  ซึ่งได้กล่าวถึง “น้ำ” ไว้อย่างน่าสนใจ

แตร์ตุลเลียน เขียนไว้ว่าภารกิจของพระเยซูเจ้าเกี่ยวข้องกับ “น้ำ” อยู่บ่อยครั้ง  

•เริ่มตั้งแต่ที่พระองค์ทรงรับพิธีล้างจากยอห์นที่แม่น้ำจอร์แดน  (มธ 3:13-17)

•เมื่อพระองค์ได้รับเชิญไปร่วมงานสมรสที่หมู่บ้านคานา  พระองค์ก็ทรงใช้น้ำทำอัศจรรย์ครั้งแรก  (ยน 2: 1-12)

•เมื่อพบหญิงชาวสะมาเรียกำลังตักน้ำ   ทรงขอน้ำดื่มจากหญิงคนนั้น   ก่อนที่จะตรัสเรื่อง  “น้ำทรงชีวิต”   (ยน 4: 1-24)   

•เมื่อทรงสอนเรื่องบทพิสูจน์แห่งความรัก ก็ทรงยกตัวอย่างการยื่นน้ำสักแก้วให้กับเพื่อนพี่น้องที่กำลัง กระหาย  (มธ 25: 35)  

•เมื่อศิษย์ สองพี่น้อง ทูลขอตำแหน่ง  พระองค์ก็ถามตอบว่า  พวกเขาจะดื่มถ้วยที่พระองค์จะทรงดื่ม และรับการล้างเหมือนพระองค์ได้ไหม  (มก 10: 38)   

•และที่สุด บนไม้กางเขน เมื่อทหารใช้หอกแทงที่สีข้างของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที (ยน 19: 34)

ปิตาจารย์ท่านนี้เขียนถึงเหตุการณ์อันหลากหลายของพระเยซูเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำ  ก็เพื่อจะอธิบายถึง “ศีลล้างบาป”

และที่ผมได้กล่าวในตอนต้นถึงธรรมเนียมการจุ่มน้ำเสก ก็เพื่อจะกล่าวถึง “ศีลล้างบาป” เพราะจุดมุ่งหมายของการจุ่มน้ำเสกพร้อมกับทำเครื่องหมายกางเขน ก็เพื่อระลึกถึงศีลล้างบาปที่เราได้รับ

เป็นความหมายเดียวกันกับการก้มศีรษะเพื่อรับการพรมน้ำเสกจากพระสงฆ์ในตอนต้นมิสซาของทุก ๆ วันอาทิตย์ และที่เด่น ชัดที่สุด  ก็คือในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ค่ำวันนั้น ก่อนที่พระสงฆ์จะพรมน้ำเสก   มือของเราถือเทียนที่จุดสว่างไสว พร้อมกับประกาศถ้อยคำรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป

มิใช่เพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ  ตอนหนึ่งในพิธีตื่นเฝ้าของค่ำวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น  ที่พวกเรามีโอกาสได้ระลึกถึงศีลล้างบาปควบคู่ไปกับกับการปลุกจิตสำนึกการเป็นคริสตชน      ตลอดเทศกาลมหาพรตยังเป็นช่วง เวลาที่เหมาะสมยิ่งที่เราจะได้รำพึง-ไตร่ตรองส่วนตัวถึงสถานะการเป็นคริสตชนของเรา       พร้อม ๆ  กับที่บรรดาว่าที่คริสตชนใหม่  ได้ใช้ช่วงเวลานี้อย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมตัวรับศีลล้างบาป