แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมพระศาสนจักรบางแห่งจึงเรียกว่า “พระศาสนจักรตะวันออก” (Eastern Churches)
     ศาสนาคริสต์เหมือนกับศาสนาอื่นๆ (เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม) มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย เริ่มแพร่หลายในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือประเทศตะวันออกกลาง และอาฟริกาเหนือ ชุมชนคริสตชนต่างๆ ในประเทศแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้นั้นคือ พระศาสนจักรตะวันออก ที่เชื่อมต่อกับทวีปยุโรป เนื่องจากตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทวีปยุโรป

    ต่อมาพระวรสารได้รับการแผ่ขยายไปยังกรุงโรม เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน และศูนย์กลางการปกครองอันเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดิคอนสตันติน ประทานเสรีภาพให้พระศาสนจักรโดยทางกฤษฎีกาแห่งมิลาน ในปี ค.ศ. 313 หลังจากมีการเบียดเบียนศาสนาอยู่เป็นเวลานาน พระศาสนจักรค่อยๆ แผ่ขยายไปในจักรวรรดิและขยายต่อไปทางตะวันตก กรุงโรมจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักร
    แต่ในปี ค.ศ. 330 จักรพรรดิคอนสตันติน ได้ย้ายนครหลวงไปอยู่ที่ไบซันซีอุม ได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ เรียกว่า คอนสตันติโนเปิล (หรืออิสตันบูล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930) เมืองนี้ตั้งอยู่ทางชายแดนฟากตะวันออกของทวีปยุโรป ติดกับทวีปเอเชีย พระศาสนจักรเจริญขึ้นในเมืองคอนสตันติโนเปิล และแผ่ขยายออกไปทางประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ของยุโรปตะวันออก การที่จักรพรรดิประทับอยู่ในเมืองคอนสตันติโนเปิลนั้น ทำให้เมืองนี้เพิ่มเกียรติภูมิและมีความสำคัญทางด้านการเมือง ด้านสังคมและด้านวัฒนธรรม ต่อมาผู้ครองเมืองคอนสตันติโนเปิลได้กลายเป็นสังฆบิดร เหมือนกับสังฆบิดรแห่งโรม เกิดทางยุโรปตะวันออกก่อน และหลังจากนั้นก็ทางตะวันตก ดังนั้น จึงเกิดความแตกต่างขึ้นโดยพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ระหว่างพระศาสนจักรตะวันออกและพระศาสนจักรตะวันตก
    จุดเด่นของความแตกต่างนั้นอยู่ที่วัฒนธรรมของทั้งสองแห่ง พระศาสนจักรตะวันตกใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาในจารีตพิธีกรรม ในขณะที่พระศาสนจักรตะวันออกใช้ภาษากรีก คริสตชนโรมได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีลาตินและวัฒนธรรมโรมัน ส่วนเมืองคอนสตันติโนเปิลได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีกรีก และวัฒนธรรมกรีก ปัญหาขัดแย้งกันจึงเกิดขึ้นระหว่างสองพระศาสนจักร ระหว่างกรุงโรมกับเมืองคอนสตันติโนเปิล ปัญหาดังกล่าวคงอยู่นานหลายศตวรรษ และที่สุดในปี ค.ศ. 1054 จึงเกิดการแบ่งแยกจากกัน โดยมีพระศาสนจักรกรีกที่เรียกตัวเองว่าศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์ (Orthodox) ส่วนพระศาสนจักรตะวันตกยังคงใช้ชื่อว่า พระศาสนจักรคาทอลิก
    คริสตจักรอื่นๆ ส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันออกและที่เกี่ยวเนื่องกับคอนสตันติโนเปิลนั้นได้แตกแยกจากโรมด้วย จารีตพิธีกรรมกรีกสืบมรดกจากคริสตจักรดังกล่าวนี้ แต่ประยุกต์ใช้ภาษาสลาฟ  ภาษาเอ็สโทเนียน ภาษาอาราบิค และภาษาอื่นๆ คริสตจักรที่มีการปกครองตนเองเป็นอิสระ เช่น คริสตจักรออร์โธด๊อกซ์ของรัสเซีย ได้เกี่ยวพันอย่างหลวมๆ กับสำนักสังฆบิดรกรุงคอนสตันติโนเปิล
    คริสตจักรออร์โธด๊อกซ์ปฏิเสธอำนาจปกครองทางศาสนาของพระสังฆราชแห่งโรม คือพระสันตะปาปา พระศาสนจักรคาทอลิกถือว่าคริสตจักรออร์โธด๊อกซ์ทั้งหลายเป็นดังพวกกิสมาติก คือ พวกเขามีการสอนข้อคำสอนและศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกต้องเช่นเดียวกับพระศาสนจักรคาทอลิก   เพียงแต่พวกเขาไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปา
    บรรดาคริสตจักรตะวันออกที่ได้กลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรคาทอลิกนั้นเรียกว่าคาทอลิกตะวันออก ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากและมีความคล้ายคลึงราวกับคู่แฝดกัน  ยกเว้นการนอบน้อมต่อโรม
    คาทอลิกตะวันออกหรือคริสตจักรยูนิเอ็ตนั้น มีภาษาทางพิธีกรรมและจารีตของตนเอง อย่างเช่น จารีตเมลไค้ต์ (กรีกยูนิเอ๊ต) มาโรไน้ต์ คอฟติก คัลเดียน อาร์เมเนียน ซีเรียน และมาลังการีส (มาลาบาร์)
    บรรดาคริสตจักรคาทอลิกตะวันออกที่เรียกตัวเองว่าคริสตจักรตะวันออกนั้น อยู่ภายใต้การปกครองของสมณกระทรวงของสันตะสำนัก คือสมณกระทรวงว่าด้วยคริสตจักรตะวันออก ซึ่งมีประมวลกฎหมายของตนเอง ประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรตะวันตกหรือลาตินนั้นได้รับการบ่งบอกว่าถูกต้องมาตั้งแต่แรกแล้ว “มาตราต่างๆ ในประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับเฉพาะพระศาสนจักรลาตินเท่านั้น” (ม.1)
    ในบรรดาเอกสารต่างๆ ของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 นั้น มีเอกสารเฉพาะฉบับหนึ่งเรื่องคริสตจักรตะวันออก คือ พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยบรรดาคริสตจักรตะวันออก ข้อความต่อไปนี้ของพระสมณกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรแก่การเอาใจใส่ “ประวัติศาสตร์ ธรรมประเพณี และสถาบันเป็นอันมากของพระศาสนจักรเป็นพยานบอกด้วยความยกย่องว่า  บรรดาคริสตจักรตะวันออกทำคุณงามความดีไว้ในพระศาสนจักรสากลมากสักเพียงใด       เพราะเหตุนี้ สภาสังคายนาจึงมิใช่แต่ยกย่องและนิยมสรรเสริญมรดกฝ่ายวิญญาณนี้เท่าที่พึงกระทำเท่านั้น   แต่ยังถืออย่างมั่นคงว่าเป็นมรดกของพระศาสนจักรทั้งหมดของพระคริสตเจ้าด้วย” (ข้อ 5)
    ในเรื่องเอกภาพระหว่างคริสตจักร ทั้งตะวันออกและตะวันตก ในส่วนของคาทอลิก พระสมณกฤษฎีกาดังกล่าวได้กล่าวไว้ว่า “ในระหว่างคริสตจักรเหล่านี้มีความร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างน่าพิศวง จนว่า ความแตกต่างกันเช่นนี้ในพระศาสนจักรมิได้เป็นผลร้ายต่อเอกภาพของพระศาสนจักรเลย แต่ทำให้เอกภาพนั้นเด่นขึ้นเสียอีก... ถึงแม้คริสตจักรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งทางภาคตะวันออกและตะวันตกจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องจารีต ซึ่งในที่นี้หมายถึงพิธีกรรม ระเบียบวินัย และมรดกฝ่ายวิญญาณก็ตาม แต่ก็เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจปกครองฝ่ายวิญญาณของพระสันตะปาปา ซึ่งโดยน้ำพระทัยของพระเจ้าขึ้นแทนที่นักบุญเปโตร ในตำแหน่งประมุขปกครองพระศาสนจักรสากล” (ข้อ 2,3)