ทำไมจึงต้องให้เงินทำบุญมิสซา
ในพระศาสนจักรสมัยแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่มีการถวายบูชามิสซาในวันอาทิตย์ มีการอ้างถึงการถวายมิสซาในวันอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ตามข้อเขียนต่างๆ เช่น แตร์ตูร์เลียน (ค.ศ.160-220) และนักบุญซีเปรียน (ค.ศ. 200-258) ทั้งคู่อยู่ในศตวรรษที่ 3 ก่อนยุคกลางนั้น มีการถวายบูชามิสซาวันละครั้ง พระสังฆราชเป็นประธานในพิธี มีพระสงฆ์เป็นผู้ช่วยและรับศีลมหาสนิท แต่ในบางครั้งก็เป็นผู้ร่วมถวายบูชามิสซาด้วย การปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินไปในพระศาสนจักรตะวันออก
ในจารีตโรมันนั้น การปฏิบัติดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนไปในสมัยกลาง โดยพระสงฆ์แต่ละองค์ถวายบูชามิสซาแยกกันต่างหาก เมื่อพิจารณาดูข้อเท็จจริงทางเทววิทยาแล้ว แต่ละมิสซาที่ถวายบูชาอย่างเหมาะสมถูกต้องนั้นมีคุณค่าอย่างแน่นอนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ส่วนในอารามต่างๆ นั้นมีความต้องการถวายมิสซาให้กับสมาชิกผู้ล่วงลับ และบรรดาผู้มีอุปการะนั้นก็มีอิทธิพลเหนือการถวายบูชามิสซาเป็นการส่วนตัว
สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้รื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติขึ้นมาใหม่ เมื่อกล่าวว่า “พระสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่เอกของตนเวลาประกอบพิธีสักการบูชาขอบพระคุณ ในพิธีมิสซางานแห่งการไถ่กู้เรายังคงดำเนินต่อไปเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงขอกำชับอย่างแข็งขันให้พระสงฆ์ประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกวันถึงแม้ไม่มีสัตบุรุษร่วมด้วย ก็เป็นกิจกรรมของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักร” (การปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ 13)
จากการปฏิบัติที่ถวายมิสซาประจำวันและเป็นการส่วนตัวนั้นเกิดธรรมเนียมการถวายบูชามิสซาเพื่อจุดประสงค์บางอย่างโดยเฉพาะ และมีการถวายเงินให้กับพระสงฆ์เวลาขอมิสซา โดยให้ถวายมิสซาตามจุดประสงค์ของผู้ถวายเงินให้
เป็นที่ชัดเจนว่ามิใช่เป็นการซื้อมิสซาเมื่อมีการถวายเงินทำบุญมิสซา แต่เป็นการทำบุญช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถวายมิสซาและเป็นการบำรุงเลี้ยงพระสงฆ์
ฆราวาสมีหน้าที่ต้องสนับสนุนคณะสงฆ์ที่ให้บริการรับใช้พวกเขา อันที่จริง หน้าที่ดังกล่าวนี้มีระบุไว้ในกฎหมายของพระศาสนจักร “คริสตชนมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในความต้องการของพระศาสนจักร เพื่อให้พระศาสนจักรมีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการประกอบคารวกิจแด่พระเจ้า สำหรับงานแพร่ธรรมและงานเมตตาจิต รวมทั้งเพื่อการดำรงชีพที่เหมาะสมของศาสนบริกร” (ม.222 วรรค 1)
กฎหมายดังกล่าวข้างต้นนี้กล่าวถึงกฎเกณฑ์ทั่วไป ดังนั้นเงินทำบุญมิสซาจึงเป็นการทำบุญช่วยสนับสนุนคณะสงฆ์อย่างที่มีระบุไว้กฎหมายอีกมาตราหนึ่ง คือ “บรรดาคริสตชนที่ถวายเงินเพื่อให้มีการถวายบูชามิสซาตามจุดประสงค์ของตน ก็ได้บริจาคเพื่อความดีของพระศาสนจักร และมีส่วนร่วมกับพระศาสนจักร ในการเอาใจใส่ช่วยเหลือศาสนบริกรและกิจการต่างๆ ของพระศาสนจักรด้วยเงินถวายนั้น” (ม.946)
วิธีหรือระบบการสนับสนุนพระศาสนจักรและศาสนบริกรนั้นแตกต่างกันตามแต่สถานที่หรือแต่ละประเทศ แต่ทว่าเงินทำบุญมิสซานั้น แม้อาจมีจำนวนแตกต่างกันไป ก็ยังถือปฏิบัติกันทั่วไปในพระศาสนจักร
ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 945-958 ได้ให้แนวทางกับพระสงฆ์เรื่องการรับเงินทำบุญมิสซา และการปฏิบัติตามพันธะในการถวายมิสซาสำหรับเงินทำบุญมิสซาที่ได้รับมา พระสงฆ์ได้รับคำสั่งให้ถวายมิสซาตามจุดประสงค์ต่างๆ ของผู้ที่ต้องการ แม้จะไม่ได้รับเงินทำบุญมิสซาก็ตาม ต้องหลีกเลี่ยงการซื้อขายหรือทำเป็นเชิงธุรกิจ มีข้อบังคับให้พระสงฆ์ถวายมิสซาตามเงินทำบุญที่ได้รับ และต้องถวายมิสซาแม้เงินทำบุญมิสซาที่ได้รับมาแล้วนั้นจะสูญหายไปโดยมิใช่ความผิดของตน จำต้องถวายมิสซาต่างหากเพื่อจุดประสงค์ของบุคคลที่ขอไว้ ไม่ว่าเงินจะน้อยเพียงใด พระสงฆ์แต่ละองค์จำต้องบันทึกจำนวนเงินทำบุญมิสซาที่รับจะถวายให้ และจำนวนมิสซาที่ได้ถวายไปจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน