แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อย่าลักขโมย
อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น

    พระบัญญัติทั้งสองประการนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมต่อทรัพย์สินของผู้อื่น คำว่าทรัพย์สิน หมายถึง ข้าวของ เงินทองทุกอย่าง รวมไปถึงอาคารสถานที่  (ที่ดิน) และสิ่งมีชีวิต (สัตว์) ทุกชนิดด้วย
    ตามความเชื่อของเรา เราถือว่าสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนแต่มาจากพระเจ้า    พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างขึ้นมาและจุดประสงค์ของการสร้างก็เพื่อมนุษย์ทั้งสิ้น    มนุษย์จึงต้องรู้จักใช้ทรัพย์สินต่างๆ อย่างดี อย่างคุ้มค่า
    ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ทรงประทานทรัพย์สิ่งของต่างๆ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน เป็นการส่วนตัวด้วยเหมือนกันและในขณะเดียวกันก็มีทรัพย์สินสิ่งของที่เป็นของส่วนรวมหรือของสาธารณะด้วย
    พระบัญญัติประการที่ 7  “อย่าลักขโมย” กินความหมายหลายแง่หลายมุม ดังต่อไปนี้
    1. การเอาทรัพย์สินของคนอื่นไปโดยผิดยุติธรรม    ซึ่งมีการกระทำผิดในแง่มุมนี้หลายลักษณะ เช่น
    ก. ขโมย    หมายถึง การเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาโดยที่เจ้าของไม่รู้ เช่น ขโมยเงินพ่อแม่ ยักยอกเงินของบริษัท หรือ ขโมยของมีค่าของผู้อื่น ฯลฯ
    ข. กินดอกเบี้ยเกินควร    หมายถึง การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงมาก ถามว่ามากแค่ไหน ตามปกติต้องไม่เกินอัตราของธนาคาร หรือ บางครั้งก็ต่ำกว่าธนาคาร ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกวิธีหนึ่งเหมือนกัน แต่ถ้าหากคิดดอกเบี้ยสูงๆ อย่างนี้ถือว่าเป็นความผิดแล้ว
    ค. ฉ้อโกง    หมายถึง การทำผิด้วยการใช้วิธีการโกงผู้อื่น กระทำผิดยุติธรรม เช่น ใช้เอกสารปลอม ใช้แง่ของกฎหมายมาบังคับ เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง (คอรัปชั่น) เชิงนโยบาย ออกกฎหมายเพื่อเอื้อต่อตัวเองและพวกพ้อง เป็นต้น
    ง. นายจ้างที่ไม่จ่ายค่าจ้างอันชอบธรรม    เช่น ให้ค่าตอบแทนคนงานน้อยเกินไป ไม่ยุติธรรม ใช้งานหนักแต่ให้ค่าตอบแทนไม่สมกับค่าแรง ซึ่งพบเห็นกันบ่อยๆ รวมถึงไม่จัดสวัสดิการที่จำเป็นให้คนงานด้วยการกระทำเช่นนี้ถือเป็นความผิดเพราะขาดความรัก ความเมตตา เอาเปรียบผู้อื่น
    จ. ในทางกลับกัน ลูกจ้างที่อู้งาน ทำงานไม่เต็มที่ หนีงาน ก็ถือเป็นการกระทำผิดยุติธรรมต่อนายจ้างเหมือนกัน    ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการกระทำเช่นนี้บ่อยๆ
    นอกจากนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเอารัดเอาเปรียบลูกค้า เช่น โกงตาชั่ง หรือ ขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ โฆษณาเกินความเป็นจริง ก็ถือเป็นความผิดต่อพระบัญญัติประการนี้ด้วย    และการฟ้องศาลอย่างผิดยุติธรรม เช่น จงใจเอาผิดเขาเกินกว่าความผิดของเขา หรือ ไม่ปล่อยโอกาสให้เขาได้ชี้แจงแก้คดีหรือใช้อิทธิพลบีบบังคับ อย่างนี้ถือว่าผิดด้วยเช่นกัน
    2. การเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผิดยุติธรรม    มีการกระทำผิดในแง่มุมนี้ อยู่หลายลักษณะด้วยเหมือนกัน คือ
    ก. ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้    หรือ พวกเหนียวหนี้อย่างนี้ถือว่าขาดความรับผิดชอบ เพราะตอนไปกู้-ยืม เขาก็ตั้งใจอย่างดี แต่พอถึงเวลาจะต้องคืนเขา กลับไม่พยายามที่จะทำหน้าที่ของลูกหนี้ที่ดี อาจทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียหายได้ เพราะเขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพย์สินของเขาเหมือนกัน
    ข. ผู้ที่รับซื้อของโจร    คือ รู้ว่าของที่ซื้อมานั้นเป็นของที่เขาขโมยมา เรียกว่าเป็น “ของโจร” เป็นของที่ได้มาโดยผิดกฎหมายและยังไปซื้อมาอีก อย่างนี้ถือเป็นความผิดในฐานะร่วมกระทำความผิดด้วย
    ค. การไม่คืนของที่เก็บได้หรือ ของที่มีคนฝากไว้    สิ่งของเหล่านี้มิใช่ของเรา ดังนั้น เราต้องคืนให้เจ้าของโดยเร็ว ถ้าหาเจ้าของไม่พบก็ต้องนำสิ่งนั้นส่งให้เจ้าหน้าที่ประกาศหาเจ้าของต่อไป หรือ อย่างน้อยถ้าไม่สามารถคืนเจ้าของได้จริงๆ ต้องนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ในสาธารณะกุศล หรือ จะปรึกษากับพระสงฆ์ก็ได้
    3. การจงใจทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น    เช่น เวลาโกรธ หรือ โมโหผู้อื่นก็นำไฟไปเผาบ้านเขาเสีย หรือ บางครั้งปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสัตว์เลี้ยงของตน ปล่อยให้ไปทำลายทรัพย์สิน หรือ ก่อความรำคาญให้ผู้อื่น
    4. ร่วมมือในการทำผิดพระบัญญัตินี้    เช่น การทำหน้าที่เป็นต้นทางให้ผู้อื่นขโมย หรือ ร่วมมือกันฉ้อโกงผู้อื่น หรือ ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น
    อย่างไรก็ดีต้องระลึกเสมอว่าการทำผิดพระบัญญัตินี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถ้าเราไม่รู้จักบังคับตนเอง บังคับใจตัวเองไม่ให้โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น    เราก็จะไม่เกิดความเคยชินในการกระทำผิดในเรื่องนี้    หรือ พูดง่ายๆ เราจะไม่มักได้ในทรัพย์ของเขานั่นแหละ    เราจะให้ความยุติธรรมทุกกรณีและมีจิตเมตตาต่อผู้อื่นอีกด้วย
    แต่อย่าลืมว่าบาปผิดต่อความยุติธรรมนี้ จะได้รับการยกก็ต่อเมื่อต้องชดเชยทรัพย์สินของที่เราทำผิดนั้นให้กับผู้เสียหายด้วย    มิฉะนั้นบาปจะไม่หลุด
    ในกรณีหาใช้คืนเขาไม่ได้จริงๆ ต้องทำการตกลงให้เรียบร้อยด้วย... พูดง่ายๆ ก็คือเราต้องคืนความยุติธรรมให้เขานั่นเอง

 

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)