เพลงสดุดีที่ 1
ทางสองแพร่ง
    สดด บทนี้อยู่ในประเภท "ปรีชาญาณ" เป็นบทนำของหนังสือเพลงสดุดีทั้งเล่ม แสดงให้เห็นว่าเรามีทางเลือกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งคือการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า ซึ่งนำไปสู่ชีวิตและความสุข อีกทางหนึ่งก็คือทางของความอธรรมที่นำไปสู่หายนะ พันธสัญญาเดิมมักกล่าวถึงทางเลือกทั้งสองนี้ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญและตัดสินใจ (ฉธบ 30:15; ยรม 21:8-9; สภษ 4:18) ในภาษาของพันธสัญญาใหม่ พระเยซูเจ้าจะตรัสถึง "การเข้าประตูแคบหรือเข้าประตูกว้าง" (มธ 7:13-14) ซึ่งหมายความว่าเราจะเลือกอยู่ข้างพระคริสตเจ้าหรืออยู่ตรงข้ามกับพระองค์ (มธ 12:30)

เพลงสดุดีที่ 2
อำนาจปกครองของพระเมสสิยาห์
    สดด บทนี้กล่าวถึงกษัตริย์ แต่เดิมใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ราชวงศ์ดาวิดที่กรุงเยรูซาเล็ม หลังสมัยเนรเทศเมื่อชาวอิสราเอลไม่มีกษัตริย์อีกแล้ว เขายังใช้ สดด บทนี้แสดงความหวังว่าสักวันหนึ่ง กษัตริย์อีกองค์หนึ่งจากราชวงศ์ดาวิดจะเสด็จมาเริ่มศักราชแห่งสันติภาพ และความรุ่งเรืองอย่างสมบูรณ์ ประกาศกหลายท่านกล่าวถึงความหวังนี้บ่อยๆ เนื่องจากว่าความหวังเช่นนี้ มิได้เป็นความจริงในสมัยพันธสัญญาเดิม คริสตชนในสมัยแรก จึงเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังดังกล่าวเป็นความจริง (กจ 4:25-28;  13:32-33) เราคริสตชนจึงอาจใช้ สดด บทนี้ได้ด้วยความมั่นใจว่าพระคริสตเจ้าจอมกษัตริย์จะทรงมีชัยชนะเหนืออำนาจของโลก ที่ต่อต้านคำสั่งสอนของพระองค์ และจะทรงสถาปนาพระอาณาจักรที่มีพระเจ้าทรงเป็นผู้ปกครองขึ้นในโลกนี้อย่างแน่นอน
เพลงสดุดีที่ 3
บทภาวนาเวลาเช้าของผู้ชอบธรรมที่ถูกข่มเหง
    สดด บทนี้เป็นบทภาวนาเวลาเช้าของผู้ชอบธรรมซึ่งมีศัตรูและปัญหาต่างๆห้อมล้อมอยู่ แต่เขาแน่ใจว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดกับเขา จึงมีความมั่นใจและมีสันติ คริสตชนก็เช่นกัน จะเผชิญกับศัตรูทั้งภายนอก และภายในได้ก็โดยมีความเชื่อและความมั่นใจว่าในที่สุดพระเจ้าจะเสด็จมาช่วยตนให้พ้นจากอันตราย นักบุญออกัสตินเข้าใจว่า"ศัตรู" ใน สดด บทนี้คือความชั่วและตัณหาต่างๆ ที่คริสตชนแต่ละคนจะต้องต่อสู้ในชีวิตประจำวัน
เพลงสดุดีที่ 4
บทภาวนาเวลาเย็น
ในบทภาวนาเวลาค่ำบทนี้ ผู้ชอบธรรมแสดงความทุกข์ที่เห็นคนอันธพาลผู้มีอำนาจกล่าวมุสาและใส่ความ น่าอนาถที่คนอันธพาลเหล่านี้มุ่งหาค่านิยมจอมปลอมของชีวิต เขาจึงพยายามชี้ให้เห็นความถูกต้อง สำหรับผู้ชอบธรรมนี้ มิตรภาพกับพระเจ้าคือบ่อเกิดแห่งความยินดีที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ความร่ำรวยทางวัตถุใดๆจะนำมาให้ได้ สดด บทนี้เป็นคำภาวนาที่เปี่ยมด้วยความไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงคุ้มครองป้องกันเขาให้พ้นจากศัตรูและภยันตรายต่างๆที่แฝงเข้ามาในยามค่ำมืดเวลากลางคืน
เพลงสดุดีที่ 5
บทภาวนาเวลาเช้า
    ชนเลวีผู้นี้ถูกใส่ความกล่าวหา จึงลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อขอความยุติธรรมจากพระเจ้าในพระวิหาร เขารู้ว่าพระเจ้าทรงเกลียดชังความชั่วทั้งหลาย แต่ทรงอวยพรผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างดี ในฐานะคริสตชน เราไม่อาจมีความเคียดแค้นอย่างที่กล่าวไว้ใน สดด บทนี้ได้ แต่เราเรียนรู้ได้ว่าเราต้องไม่ยอมประนีประนอมเลยกับสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีไม่ว่าในกรณีใดๆ พระศาสนจักร หรือ คริสตชนแต่ละคนอาจใช้เพลงสดุดีที่ "กล่าวถึงการแก้แค้น" เพื่อแสดงถึงความปรารถนาของเราที่จะเห็นความถูกต้อง และความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์
เพลงสดุดีที่ 6
คำวอนขอในยามยากลำบาก
สดด บทนี้เป็นบทแรกในชุดเพลงสดุดี 7 บทที่คริสตชนแต่โบราณเรียกว่า "เพลงสดุดีขอสมาโทษ" (Penitential Psalms คือ สดด 6; 32; 38; 51; 102; 130 และ 143) สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนของผู้ป่วยที่กำลังทนทุกข์อย่างสาหัส และรู้สึกว่าวาระสุดท้ายใกล้เข้ามาแล้ว เขาจึงวอนขอพระเจ้าได้ทรงช่วยให้พ้นจากความตาย โดยให้เหตุผลว่าถ้าเขาตายไป พระองค์ก็จะขาดผู้นมัสการพระองค์ไปหนึ่งคน ชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมยังไม่ได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย บทภาวนาบทนี้จบลงด้วยข้อความที่แสดงความไว้ใจว่าพระเจ้าทรงได้ยินเสียงร้องไห้ของเขาแล้ว เราคริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เพื่อแสดงความทุกข์ถึงบาป ทั้งบาปส่วนตัวและบาปของสังคม เพราะถ้าจะคิดให้ถึงที่สุด ต้องนับว่าบาปเป็นสาเหตุของความทุกข์และความเลวร้ายทั้งหลายที่เราประสบในโลกนี้
เพลงสดุดีที่ 7
บทภาวนาของผู้ชอบธรรมในยามถูกเบียดเบียน
สดด บทนี้เป็นคำรำพันของผู้ที่ถูกใส่ร้ายกล่าวหา เขาเข้ามาในพระวิหารเพื่อแสวงหาความปลอดภัย และขอให้พระเจ้าทรงปกป้องความบริสุทธิ์ของเขา ในฐานะคริสตชน เราไม่อาจยืนยันความบริสุทธิ์ของเราโดยวิธีเดียวกันนี้ได้ เพราะรู้ดีว่าเราทุกคนเป็นคนบาป แต่ในเวลาเดียวกัน เราอาจยืนยันความบริสุทธิ์ของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นเสมือนอาภรณ์ที่เราสวมอยู่ (เทียบ กท 3:27) และพระองค์ประทานความชอบธรรมของพระองค์ ให้เป็นความชอบธรรมของเราด้วย (เทียบ รม 5:18-19)
เพลงสดุดีที่ 8
อานุภาพแห่งพระนามของพระเจ้า
สดด บทนี้สรรเสริญพระเจ้าพระผู้ทรงเนรมิตสร้างจักรวาลซึ่งสะท้อนให้เราแลเห็นความยิ่งใหญ่ของพระองค์ เมื่อเราพิจารณาดูความยิ่งใหญ่ของจักรวาล จะรู้สึกว่าเราช่างเล็กน้อยไม่มีความหมายอะไรเลย ถึงกระนั้น เมื่อเทียบกับสิ่งสร้างทั้งหลาย มนุษย์ก็มีศักดิ์ศรีต่อหน้าพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาตามรูปแบบเหมือนพระองค์ มีความยิ่งใหญ่เทียมเท่าสิ่งสร้างในสวรรค์    ฮบ 2:9 อธิบายว่าความยิ่งใหญ่ดังกล่าวของมนุษย์เป็นความจริงอย่างบริบูรณ์ในองค์พระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นคริสตชน เราเป็นส่วนหนึ่งของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า เราจึงมีศักดิ์ศรียิ่งใหญ่กว่าศักดิ์ศรีที่เราได้รับเมื่อพระเจ้าทรงสร้างเรามาตามรูปแบบเหมือนพระองค์
เพลงสดุดีที่ 9-10
พระเจ้าทรงทำลายคนชั่วและทรงช่วยผู้ต่ำต้อยให้รอดพ้น
    ภาคแรกของเพลงสดุดี "กลบทอักษร" บทนี้แต่เดิมคงเป็นบทภาวนาที่แสดงการขอบพระคุณ ในการกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน แต่ความยินดีที่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนของคนเหล่านี้จางหายไปในไม่ช้า เพราะผู้ที่เข้ามายึดครองที่ดิน (ของผู้ที่ถูกเนรเทศ) และชาวอิสราเอลที่ตกค้างอยู่ในแผ่นดินปาเลสไตน์ (ไม่ถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน) คิดว่าผู้กลับจากเนรเทศเป็นคนต่างถิ่น จึงคอยกลั่นแกล้ง ภาคสองของเพลงสดุดีเป็นคำภาวนาของคนยากจน และถูกเบียดเบียนที่หมดความอดทนแต่ยังวางใจพระเจ้า ขอให้พระองค์ทรงฟังคำอ้อนวอนของตนและลงโทษศัตรูที่เบียดเบียน พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูนับ สดด บทนี้เป็น 2 บทแยกกัน แต่อันที่จริงต้องนับเป็นบทเดียว เพราะมีการเรียงข้อต่างๆ ตามลำดับอักษรภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกและละตินจึงทำถูกแล้วที่นับ สดด บทนี้เป็นบทเดียว ความแตกต่างในการกำหนดหมายเลขเพลงสดุดีจึงเริ่มขึ้นที่นี่ โดยทั่วไปแล้วหมายเลขประจำบทในภาษาฮีบรู จะมากกว่าฉบับภาษากรีก-ละติน 1 หน่วย คำแปลภาษาปัจจุบันโดยทั่วไปมักใช้หมายเลขลำดับตามฉบับภาษาฮีบรู
เพลงสดุดีที่ 11
ผู้ชอบธรรมวางใจในพระเจ้า
ในสังคมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ทางศาสนาและศีลธรรม คนดีมีธรรมจะต้องวิ่งหนีจึงจะปลอดภัยหรือ? ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีตอบว่าไม่จำเป็น ผู้ที่วางใจในพระเจ้าไม่มีเหตุผลจะต้องกลัว คริสตชนที่ได้ฟังพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้เป็น "เกลือดองแผ่นดิน" (เทียบ มธ 5:13) น่าจะมีคำตอบเช่นเดียวกัน ความเลวร้ายที่ปรากฏในสังคมของเราคงไม่หมดไปถ้าคริสตชนคิดเพียงแต่จะหนีปัญหาให้ตนปลอดภัยโดยอยู่เฉยๆ
เพลงสดุดีที่ 12
คำอธิษฐานขอความช่วยเหลือให้พ้นจากคนโกง
ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีคร่ำครวญบทนี้ เป็นทุกข์ที่สังคมมนุษย์ขาดความซื่อสัตย์และความจริงใจต่อกัน เขาเห็นแต่การตีสองหน้าและการมุสา แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีพระวาจาน่าเชื่อถือที่สุด ทรงสัญญาว่าจะทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาปกป้องผู้อ่อนแอซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบในสภาพการณ์เช่นนี้ พระเยซูเจ้าทรงสัญญาจะประทานอิสรภาพแท้จริงแก่ผู้ที่ติดตามพระองค์ ถ้าเขาพร้อมที่จะยืนหยัดปกป้องความจริงที่พระองค์ทรงสอน (เทียบ ยน 8:31-32)
เพลงสดุดีที่ 13
การวอนขอพระเจ้าด้วยความเชื่อ
สดด บทนี้เป็นร้องทุกข์ของผู้อยู่ในความยากลำบากและกล้าเข้ามาเผชิญหน้ากับพระเจ้า ขอให้ทรงช่วยเหลือโดยเร็ว ในตอนแรกดูเหมือนว่าผู้ร้องทุกข์เกือบจะหมดหวัง แต่ในตอนท้ายเขาแสดงความยินดีและขอบพระคุณพระเจ้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำภาวนาช่วยเขาให้รู้สึก ว่าพระเจ้าประทับอยู่กับเขาในยามยากเช่นนี้ เขาจึงพบความหวัง คำภาวนาแท้จริงจะนำความบรรเทาใจมาให้ผู้มีความเชื่ออยู่เสมอ
เพลงสดุดีที่ 14
ชะตากรรมของผู้ไม่นับถือพระเจ้า
ผู้ที่พระคัมภีร์เรียกว่า "คนโง่" ซึ่งคิดว่าไม่มีพระเจ้านั้นไม่ใช่ผู้ที่ปฏิเสธพระเจ้า (อเทว์) เขาเพียงแต่คิดว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลในสวรรค์และไม่ทรงสนใจต่อความประพฤติของมนุษย์ ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีคิดว่าในโลกนี้มีคน "โง่" จำพวกนี้มากมาย นักบุญเปาโลก็คิดเช่นนี้ด้วย "มนุษย์ทุกคนทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า (เทียบ รม 3:10-19,23-25) เฉพาะพระพักตร์พระเจ้ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปและต้องการให้พระเยซูคริสตเจ้าทรงกอบกู้
เพลงสดุดีที่ 15
คุณสมบัติของผู้นมัสการพระเจ้า
สดด บทนี้เป็นเพลงแห่เข้าพระวิหารเพื่อประกอบศาสนพิธี สมณะเตือนประชาชนให้รู้ว่าผู้ที่จะเข้าภายในบริเวณพระวิหารได้นั้นจำเป็นต้องมีคุณสมบัติเช่นไร เขาต้องมีความประพฤติดีงามตามศีลธรรมและมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านในสังคม พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องคุณสมบัติเช่นเดียวกัน ในการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า (เทียบ มธ 5:23-24)
เพลงสดุดีที่ 16
พระยาห์เวห์ทรงเป็นสมบัติล้ำค่า
สดด บทนี้เป็นคำภาวนาของชาวเลวีซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ยึดครองที่ดินเหมือนชาวอิสราเอลเผ่าอื่นๆ (เทียบ กดว 18:20) พระเจ้าทรงเป็น "ส่วนมรดก" เพียงอย่างเดียวของเขา เขาเลี้ยงชีพจากสิ่งของที่ประชาชนถวายแด่พระเจ้าในพระวิหารเท่านั้น เพื่อจะซื่อสัตย์ต่อการที่พระเจ้าทรงเรียกนี้ เขาจึงต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรเลยกับการนับถือรูปเคารพ เขาดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลาด้วยความยินดีเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์นี้จะคงอยู่ต่อไปหลังความตาย คริสตชนในสมัยแรกคิดว่าข้อท้ายๆ ของ สดด บทนี้กล่าวทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า (เทียบกจ 2:24-28) เพลงสดุดีบทนี้มีความหมายพิเศษสำหรับผู้ที่ละทิ้งทุกสิ่งเพื่อเป็นนักบวชติดตามพระคริสตเจ้า
เพลงสดุดีที่ 17
คำวอนขอของผู้ถูกกล่าวหา
เพลงอ้อนวอนบทนี้ เป็นคำภาวนาของผู้ถูกใส่ความเท็จที่หลบเข้ามาเฝ้าพระเจ้าในพระวิหาร เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนและวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยที่ยุติธรรม ให้ทรงตัดสินว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และทรงลงโทษผู้ที่ใส่ความเท็จเขา บรรดาปิตาจารย์ใช้ สดด บทนี้เป็นเสียงร้องของพระคริสตเจ้าเมื่อทรงรับทรมาน และเป็นเสียงร้องของพระศาสนจักรในยามถูกเบียดเบียน คริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เป็นคำภาวนาเพื่อบรรดาคริสตชนซึ่งกำลังถูกเบียดเบียน และเพื่อขอความปกป้องจากพระเจ้าให้พ้นจากศัตรูฝ่ายวิญญาณที่มีกล่าวอยู่ใน อฟ 6:12
เพลงสดุดีที่ 18
บทขอบพระคุณพระเจ้าของกษัตริย์
จั่วหน้าของ สดด บทนี้กล่าวพาดพิงถึงการที่กษัตริย์ดาวิดทรงได้รับความช่วยเหลือให้รอดพ้นจากศัตรู โดยเฉพาะจากกษัตริย์ซาอูล นับเป็นเพลงขอบพระคุณพระเจ้า (ข้อ 4-27) และเป็นการบรรยายถึงชัยชนะยิ่งใหญ่ที่พระเจ้า ผู้ทรงเป็นนักรบในสวรรค์ ประทานแก่พระองค์ท่าน (ข้อ 32-49) พระเจ้าประทานความสำเร็จนี้แก่กษัตริย์ดาวิด เพื่อให้พระสัญญาที่ทรงให้ไว้จะได้เป็นจริงในอนาคต (ข้อ 50; 2 ซมอ 7) บัดนี้พระสัญญาทั้งหลายเหล่านี้ได้เป็นความจริงอย่างสมบูรณ์เมื่อพระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด ทรงได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์เหนืออำนาจความชั่วร้ายทั้งมวล นักบุญเปาโลสอนว่าคริสตชนต้องมีอาวุธฝ่ายจิตสำหรับต่อสู้กับศัตรูด้วย คือมีความเชื่อเป็นดังโล่ มีพระจิตเจ้าเป็นประดุจดาบเพื่อต่อสู้กับอำนาจความชั่ว (เทียบ อฟ 6:16-17)
เพลงสดุดีที่ 19
พระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจน์ในสิ่งสร้างและในธรรมบัญญัติ
ผู้มีตาแหลมเมื่อมองดูสิ่งสร้างตามธรรมชาติจะเห็นว่าโลกจักรวาลเปิดเผยความจริงอย่างเงียบๆให้เราเห็นพระอานุภาพและพระปรีชาของพระเจ้า และยังเป็นบทเพลงถวายเกียรติแด่พระองค์ด้วย พระองค์ทรงเปิดเผยความจริงเพิ่มเติมเมื่อประทานธรรมบัญญัติแก่ชาวอิสราเอลผ่านทางโมเสส และต่อมาพระองค์ทรงเปิดเผยความจริงให้แก่มวลมนุษย์โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้การเปิดเผยความจริงในธรรมชาติสำเร็จอย่างสมบูรณ์
เพลงสดุดีที่ 20
บทภาวนาขอให้กษัตริย์ทรงมีชัยชนะ
สดด เกี่ยวกับกษัตริย์บทนี้ใช้เป็นบทภาวนาสำหรับกษัตริย์แห่งอิสราเอล เมื่อจะทรงยกทัพออกไปเผชิญหน้ากับศัตรูและในวันครบรอบปีพิธีราชาภิเษก คริสตชนอาจใช้เพลงสดุดีบทนี้ เพื่อภาวนาขอให้ชัยชนะของพระคริสตเจ้าเหนือบาปและความตายได้เกิดขึ้นอีกในพระศาสนจักรซึ่งกำลังสู้รบกับอำนาจความชั่วร้ายในโลก คริสตชนแต่ละคนยังอาจใช้ สดด บทนี้เป็นคำภาวนาขอกำลังจากพระเจ้าในการสู้รบกับศัตรูฝ่ายจิตของตนด้วย
เพลงสดุดีที่ 21
บทเพลงขอบพระคุณสำหรับชัยชนะ
    สดด บทนี้คงเป็นเพลงสดุดีที่ใช้ในพิธีราชาภิเษก หรือวันครบรอบปีของพิธี ตำแหน่งที่อยู่ต่อจาก สดด 20 แสดงว่า สดด บทนี้เป็นเพลงขอบพระคุณ เมื่อพระราชาทรงมีชัยในการศึกกลับมาแล้ว คริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้ขับร้องสรรเสริญพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ในฐานะที่ทรงพิชิตบาปและความตาย นอกจากนั้นยังเป็นบทภาวนาขอให้พระศาสนจักร ซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระองค์ รวมทั้งมนุษยชาติทั้งมวล ได้มีส่วนร่วมในชัยชนะของพระองค์ด้วย
เพลงสดุดีที่ 22
ความทุกข์ทรมานและความหวังของผู้ชอบธรรม
ภาคแรกของ สดด บทนี้ (ข้อ 1-21) เป็นเพลงคร่ำครวญของบุคคลหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่าถูกพระเจ้าทรงทอดทิ้งอย่างสิ้นเชิงให้อยู่ในความทุกข์ แต่ในภาคที่สองเพลงคร่ำครวญเปลี่ยนความรู้สึกเป็นการแสดงความยินดีขอบคุณพระเจ้า เมื่อผู้อธิษฐานภาวนามั่นใจว่าความทุกข์ที่เขากำลังรับอยู่ จะมีประโยชน์สำหรับชนทั้งชาติ พระเยซูเจ้าตรัสข้อความในข้อแรกของ สดด บทนี้ เมื่อทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน จึงทำให้ สดด บทนี้เป็น "เพลงสดุดีเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์" (Messianic psalm) ที่กล่าวถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงรับทรมาน กลับคืนพระชนมชีพและรับพระสิริรุ่งโรจน์
เพลงสดุดีที่ 23
ผู้เลี้ยงที่ดี
เพลงสดุดีแสดงความหวังยอดนิยมบทนี้ใช้ภาพ 2 ภาพบรรยายถึงความรักความเอาพระทัยใส่ ที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ พระองค์ทรงเป็น "ผู้เลี้ยงแกะ" ซึ่งนำฝูงแกะไปยังทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และทรงเป็น "เจ้าภาพ" ซึ่งจัดเตรียมโต๊ะอาหารชั้นยอดต้อนรับแขกที่มาหา ภาพของพระเจ้าในฐานะ "ผู้เลี้ยง(แกะ)ของอิสราเอล" (สดด 80:1) เป็นภาพที่ปรากฏบ่อยๆในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะในข้อเขียนของประกาศก (อสย 40:11; อสค 34:11-16) พระเยซูเจ้าทรงใช้ภารกิจคนเลี้ยงแกะเช่นนี้ตรัสถึงพระองค์ (ยน 10:11-18) ข้อเขียนในพันธสัญญาใหม่ฉบับหลังๆยังใช้ภาพนี้กล่าวถึงพระเยซูเจ้า (ฮบ 13:20; 1 ปต 2:25; วว 7:17) ข้อความที่กล่าวถึงน้ำ น้ำมันและเหล้าองุ่นชวนให้ระลึกถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ในพิธีรับคริสตชนใหม่ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิท
เพลงสดุดีที่ 24
เพลงแห่เข้าพระวิหาร
สดด บทนี้บรรยายถึงการที่พระเจ้าเสด็จเข้าพระวิหารในพิธีกรรมของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มในสมัยโบราณ บทเพลงเริ่มโดยกล่าวถึงการแบกหีบพันธสัญญา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้าเข้าขบวนแห่ เมื่อมาถึงประตูพระวิหารก่อนจะเข้าไปก็มีพิธีเตือนให้ผู้ร่วมพิธีระลึกว่าเพื่อจะเข้ามาร่วมพิธีในพระวิหารได้ พระเจ้าทรงเรียกร้องคุณสมบัติทางศีลธรรมประการใดบ้าง ต่อจากนั้นจึงเป็นคำเชิญชวนประตูพระวิหารให้เปิดออกรับเสด็จพระเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระราชาผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์และทรงชัยชนะแห่งอิสราเอล คริสตชนแต่ละคนในขณะนี้ก็เป็นพระวิหารที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเคาะประตู เพื่อจะได้ทรงรับเชิญเข้าไปข้างในและเสวยพระกระยาหารกับเขา (วว 3:20)
เพลงสดุดีที่ 25
คำภาวนาขอความช่วยเหลือ
สดด บทนี้แต่งเป็นกลบทอักษรในแบบ "เพลงอ้อนวอน" แต่ก็มีข้อความแบบปรีชาญาณแทรกเข้ามาด้วย (ข้อ 8-14) เนื้อหากล่าวถึงความซื่อสัตย์ของผู้ต่ำต้อยที่ยอมรับว่าตนเป็นคนบาป จึงวอนขอให้พระเจ้าทรงอภัยบาปและนำชีวิตของตน เพราะเขารู้ดีว่าพระองค์ทรงความดีล้นเหลือ ความรู้สึกของผู้นิพนธ์เพลงสดุดีเป็นท่าทีทางจิตใจของ "ผู้ต่ำต้อย" "ผู้ยากจน" (anawim) ของพระเจ้าซึ่งไม่มีความหวังในผู้ใดนอกจากในพระองค์เท่านั้น
เพลงสดุดีที่ 26
คำภาวนาของผู้ชอบธรรม
สดด บทนี้อาจเป็นคำภาวนาของชนเลวีคนหนึ่งที่ถูกใส่ร้ายกล่าวหา (ดูข้อ 6-8) เขาจึงป้องกันตนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ทูลขอให้พระองค์ทรงมาเป็นพยานความบริสุทธิ์ของเขา เราอาจรู้สึกว่าผู้ภาวนาคนนี้มั่นใจเกินไป ในการยืนยันความถูกต้องของตน แต่ถ้อยคำเช่นนี้เป็นเพียงแต่วิธีการที่จะบอกให้รู้ว่าเขามีความปรารถนาแน่วแน่ที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำผิดทั้งมวล เมื่อเข้าใจเช่นนี้เราคริสตชนจึงอาจใช้ สดด บทนี้เป็นคำภาวนาได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นการโอ้อวดความศรัทธา เรายังต้องจดจำไว้ด้วยว่าถ้าเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้ามากเท่าใด เราก็ยิ่งจะยืนยันความบริสุทธิ์ของเราได้มากเท่านั้น (รม 8:1) ท่าทีเช่นนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิง กับท่าทีศรัทธาแต่เพียงภายนอกของชาวฟาริสีที่พระเยซูเจ้าทรงประณาม (ลก 18:9-14)
เพลงสดุดีที่ 27
บทภาวนาแสดงความวางใจในพระเจ้า
สดด บทนี้แบ่งได้เป็น 2 ตอน ตอนแรก (ข้อ 1-6) แสดงความวางใจอย่างเต็มที่ต่อพระเจ้า ส่วนตอนที่สอง (ข้อ 7-12) เป็นคำอ้อนวอนของผู้ที่ถูกใส่ร้ายกล่าวหา ถึงกระนั้นก็ไม่มีความขัดแย้งกัน เพราะท่าทีทั้งสองนี้สับเปลี่ยนกันอยู่เสมอในชีวิตจริง ความเชื่อมั่นในพระเจ้า มิได้ห้ามเราไม่ให้ทูลวอนพระเจ้าในการภาวนา ให้ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของเรา ตามความเชื่อของคริสตชน วลี "แดนของผู้เป็น" ในข้อ 13 อาจหมายถึงชีวิตหน้ากับพระเจ้า
เพลงสดุดีที่ 28
คำภาวนาวอนขอและขอบพระคุณ
สดด บทนี้เป็นคำภาวนาของผู้ป่วยในสภาพหมดหวัง พระเจ้าทรงนิ่งเฉยอยู่และผู้คนรอบด้านหามีใครสักคนเป็นมิตรแท้ แต่ในที่สุด (ข้อ 6) พระเจ้าก็ทรงฟังและตอบคำอ้อนวอนของเขา ข้อความ 2 ข้อสุดท้ายทำให้เพลงสดุดีบทนี้เป็นคำภาวนาสำหรับประชากรอิสราเอลทั้งชาติพร้อมกับพระราชา
เพลงสดุดีที่ 29
พระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระอานุภาพในพายุ
สดด บทนี้เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้า ผู้ทรงอำนาจเหนือสายฟ้าและพายุ อาจได้เค้าความมาจากบทเพลงของชาวคานาอันที่ใช้สรรเสริญพระบาอัลฮาดัด เทพเจ้าแห่งพายุ ผู้นิพนธ์คิดว่าเสียงฟ้าร้องคือพระสุรเสียงของพระเจ้า ซึ่งแสดงอานุภาพทำลายล้างในธรรมชาติ แต่เขามิได้มีความกลัวเลย พระเจ้าผู้ทรงอานุภาพซึ่งประทับอยู่เหนือห้วงน้ำแห่งพายุนี้ ยังทรงเป็นพระเจ้าที่ประทานพระพรและสันติอีกด้วย เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสมภพที่เมืองเบธเลเฮม บทเพลงของบรรดาทูตสวรรค์ก็สะท้อน สดด บทนี้ด้วย "พระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์และสันติบนแผ่นดิน" (เทียบ ลก 2:14)
เพลงสดุดีที่ 30
บทขอบพระคุณที่ได้พ้นจากโรคร้ายถึงชีวิต
สดด บทนี้เป็นบทเพลงแสดงความยินดีและขอบพระคุณพระเจ้าที่ผู้ขับร้องได้รับการรักษาให้หายจากโรคร้าย เขาเข้าไปสัมผัสกับความตายอยู่แล้ว จึงรู้สึกว่าชีวิตเป็นของประทานล้ำค่าจากพระเจ้า เราพบว่าผู้นิพนธ์ใช้ข้อความที่ตรงข้ามกันอย่างแรงเพื่อแสดงการผ่านจากความเจ็บป่วยมารับสุขภาพคืนมา เช่น ผ่านจากความตายมาสู่ชีวิต ผ่านจากพระพิโรธของพระเจ้ามารับพระพรของพระองค์ ผ่านจากการร้องไห้มาสู่ความยินดี ผ่านจากความกลัวมาสู่ความมีใจสงบ ผ่านจากการไว้ทุกข์มาเริงระบำ ทิ้งเสื้อผ้าไว้ทุกข์มาชื่นชมยินดี คริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เพื่อขอบพระคุณสำหรับการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งรักษาเราให้หายจากบาป และเป็นประกันว่าสักวันหนึ่งเราก็จะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดรอย่างแน่นอน
เพลงสดุดีที่ 31
คำภาวนาในยามถูกทดลอง
สดด บทนี้เป็นบทเพลงที่แสดงทั้งความวางใจในพระเจ้า เป็นการร้องหาพระองค์ของผู้ที่กำลังทนทุกข์อย่างหมดหวัง ทั้งยังเป็นการที่ผู้ภาวนาได้พบความหวัง และขอบพระคุณพระเจ้า ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้มักจะมีผสมผสานกันอยู่ในชีวิตจริงของเราด้วย เราพบข้อความเช่นนี้ใน "คำสารภาพของประกาศกเยเรมีย์"  (ยรม 17:14-18; 20:7-18) พระเยซูเจ้าเมื่อทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็ใช้ข้อความจาก สดด บทนี้ (ข้อ 6) ทูลพระบิดาเมื่อทรงมอบชีวิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาด้วย (ลก 23:46)
เพลงสดุดีที่ 32
การยอมรับผิด
สดด บทนี้เป็นบทที่ 2 ในชุด "เพลงสดุดีขอสมาโทษ" (Penitential Psalms คือ สดด 6; 32; 38; 51; 102; 130; 143) แต่แสดงความยินดีมากกว่าความตรอมใจ เป็นความยินดีที่ได้รับอภัยบาปเพราะได้ยอมรับผิดและสารภาพความผิดนั้นแล้ว ภาคหลังของ สดด บทนี้เป็นคำสอนให้รู้จักภาวนาด้วยความถ่อมตน โดยเฉพาะในยามที่รู้สึกว่าบาปกำลังทับถมตนอยู่ วิธีการถูกต้องที่จะนำความสงบใจมาให้ก็คือการกลับใจ และสารภาพบาปที่ได้ทำ นักบุญเปาโลใช้ข้อความตอนต้นของ สดด บทนี้เพื่อเฉลิมฉลองการอภัยบาปที่เราได้รับในองค์พระคริสตเจ้า (รม 4:6-8)
เพลงสดุดีที่ 33
เพลงสรรเสริญพระญาณเอื้ออาทร
    สดด บทนี้เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างสกลจักรวาลและทรงธำรงรักษาไว้ด้วยพระอานุภาพแห่งพระวาจาของพระองค์ พระองค์ยังทรงเป็นเจ้านายปกครองโลกและประวัติศาสตร์ ซึ่งอำนาจมนุษย์ไม่อาจขัดขวางได้ พระองค์ทรงพระญาณเอื้ออาทรดูแลทุกสิ่งที่ทรงสร้างมา นักบุญเปาโลกล่าวถึงธรรมล้ำลึกประการนี้ คือพระประสงค์อันเร้นลับของพระเจ้าซึ่งบัดนี้สำเร็จเป็นความจริงแล้วอย่างสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ 1:9) สำหรับชีวิตของมวลมนุษย์
เพลงสดุดีที่ 34
สรรเสริญความเที่ยงธรรมของพระเจ้า
สดด บทนี้เป็นคำประพันธ์ในรูปกลบทอักษร  ภาคแรกเป็นเพลงขอบพระคุณพระเจ้า ที่ทรงปกป้องคุ้มครองผู้เชื่อในพระองค์และประสบความขัดสน ผู้ประพันธ์พูดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่รู้ว่าในชีวิตตนได้รับความคุ้มครองดูแลจากพระเจ้า ส่วนภาคที่สองเป็นคำสอนในแบบวรรณกรรมปรีชาญาณ ที่สอนผู้ฟังว่า ความยำเกรงพระเจ้าซึ่งหมายถึงการหลีกหนีความชั่ว และทำความดี เป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่ความสุขแท้จริง
เพลงสดุดีที่ 35
คำภาวนาของผู้ชอบธรรม ยามถูกเบียดเบียน
สดด บทนี้เป็นคำรำพันอย่างขมขื่นของผู้ชอบธรรมซึ่งถูกคนที่เคยเป็นเพื่อน กลับเป็นศัตรูที่คอยเบียดเบียน ใส่ความกล่าวหา เขาจึงวอนขอพระเจ้าให้ทรงพิพากษาตัดสินว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์และทรงลงโทษผู้ทำผิด เพลงสดุดีบทนี้สะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ของประกาศกเยเรมีย์ (ยรม 20:10-13) และยังกล่าวล่วงหน้าถึงการสร้างพยานเท็จกล่าวหาพระเยซูเจ้า เมื่อทรงถูกพิจารณาคดีในศาลสูง (มธ 26:57-62) บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าทุกยุคทุกสมัย ก็จะถูกใส่ความกล่าวหาด้วยเช่นเดียวกัน บรรดาคริสตชนจึงต้องประพฤติตามแบบอย่างของพระอาจารย์ในการให้อภัยแก่ศัตรูผู้เบียดเบียน และภาวนาให้เขา แทนที่จะสาปแช่ง
เพลงสดุดีที่ 36
ความชั่วร้ายของคนบาปและพระทัยอารีของพระเจ้า
สดด บทนี้แต่เดิมอาจเป็นบทประพันธ์ 2 บทที่ถูกนำมารวมกัน (ข้อ 1-4 และข้อ 5-12) ภาคแรกกล่าวถึงท่าทีผิดๆของคนบาปซึ่งคิดว่าพระเจ้าจะไม่ทรงลงโทษความผิดของเขา ส่วนภาคที่สองกล่าวถึงพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา และจะทรงอวยพรทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ สำหรับคริสตชนที่มีความเชื่อ ความชั่วช้ามากมายที่มีอยู่ในโลกต้องไม่ทำให้เขาหมดหวัง ความดีของพระเจ้าและความรักที่ทรงมีต่อสิ่งสร้างของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่และมีพลังมากกว่าความชั่ว ความคิดเช่นนี้ต้องให้กำลังใจและความบรรเทาใจแก่ทุกคน
เพลงสดุดีที่ 37
ชะตากรรมของคนชอบธรรมและคนอธรรม
สดด บทนี้เป็นวรรณกรรมประเภท "ปรีชาญาณ" และยังแต่งในรูปกลบทอักษรด้วยเช่นเดียวกับ สดด 9/10 ผู้ประพันธ์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผู้อาวุโส ให้คำแนะนำแก่เยาวชนที่ยังไม่มีประสบการณ์ในชีวิต และอาจแปลกใจหรือท้อแท้เมื่อเห็นความเจริญรุ่งเรืองของคนชั่ว ประสบการณ์เช่นนี้ดูเหมือนจะขัดกับคำสอนดั้งเดิมที่ว่าพระเจ้าทรงให้รางวัลคนดีและทรงลงโทษคนชั่ว ผู้ประพันธ์เชื่อว่าการเป็นคนดีแต่ประสบกับความทุกข์นั้นดีกว่าการเป็นคนชั่วที่ประสบความสำเร็จมีผู้นิยมชมชอบ เขาจึงเตือนผู้ฟังให้อย่าไปอิจฉาคนชั่วเหล่านั้น เพราะความรุ่งเรืองของคนชั่วนั้นไม่จีรังยั่งยืน จะสิ้นสุดในไม่ช้า
เพลงสดุดีที่ 38
คำภาวนาในยามทุกข์ร้อน
สดด บทนี้เป็นบทที่ 3 ในชุด "เพลงสดุดีขอสมาโทษ" (ดู สดด 6) เป็นการรำพันถึงความทุกข์ของบุคคลหนึ่งที่ต้องทนทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นผลของบาปที่เขาได้ทำไว้ เช่นเดียวกับโยบ (6:4; 19:13-21) เขาทนทุกข์อย่างสงบ ไม่ประท้วงพระเจ้า ความเกลียดชังจากศัตรูทำให้เขาเป็นทุกข์หนักขึ้น บรรดามิตรสหายก็ทอดทิ้งเขา ในที่สุดเขาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปหาผู้ใดได้ จึงทำได้แต่เพียงขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระศาสนจักรใช้ สดด บทนี้ในพิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ คริสตชนจึงเข้าใจว่าผู้ประพันธ์เพลงสดุดีเป็นรูปแบบของพระคริสตเจ้าผู้ทรงแบกบาปของมนุษยชาติและทรงทนทรมานอย่างสงบเงียบ สดด บทนี้เป็นบทภาวนาของทุกคนที่กำลังทนทุกข์ทั้งทางกายและทางจิตใจได้เป็นอย่างดี
เพลงสดุดีที่ 39
พระเจ้าทรงเป็นความหวังของมนุษย์
ใน สดด ประเภทอ้อนวอนบทนี้ ผู้ประพันธ์ป่วยหนักและเชื่อว่าตนจะต้องตายแน่ๆ เขาตั้งใจอยู่อย่างสงบเงียบ ไม่ร้องคร่ำครวญ เพื่อไม่ให้ศัตรูดีใจที่เขาประสบความทุกข์ แต่ในที่สุดเขาก็ทนเงียบอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องทูลถามพระเจ้าว่าเขายังมีชีวิตสั้นๆนี้เหลืออยู่อีกเท่าไร เขาไม่ได้บ่นว่าพระเจ้า เพียงแต่วอนขอพระองค์ให้อภัยบาปของเขาซึ่งเขาคิดว่าเป็นเหตุให้เขาต้องเจ็บป่วยเช่นนี้ เขาคิดว่าชีวิตของเขาเป็นเสมือนคนเดินทางซึ่งอยู่ที่นี่วันนี้และต้องจากไปวันรุ่งขึ้น คริสตชนอาจมีความรู้สึกโดดเดี่ยวเช่นนี้ได้ แต่เขาก็มีภาษีดีกว่าผู้ประพันธ์เพลงสดุดีบทนี้ เพราะเขามีความเชื่อในการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าซึ่งประทานความหวังและชีวิตแก่ทุกคนที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์
เพลงสดุดีที่ 40
เพลงขอบพระคุณและภาวนาขอความช่วยเหลือ
สดด บทนี้เรียงลำดับความคิดในแบบไม่ธรรมดา คือเริ่มด้วยการขอบพระคุณและความหวัง (ข้อ 2-13) แล้วจบด้วยคำอ้อนวอนขอให้ทรงช่วยให้รอดพ้น (ข้อ 14-17) ภาคที่สองนี้เหมือนกันกับ สดด 70 จึงชวนให้คิดว่าแต่เดิมคงเป็นเพลงสดุดี 2 บทซึ่งถูกนำมารวมกัน ฮบ 10:5-7 เชิญชวนเราให้ฟังถ้อยคำในข้อ 7-9 ว่าเป็นถ้อยคำที่พระคริสตเจ้าตรัส ข้อความนี้มิได้หมายความว่าการถวายบูชาไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่หมายความว่าการถวายตนแด่พระเจ้า โดยพร้อมที่จะเชื่อฟังพระองค์ตลอดเวลานั้นมีความสำคัญมากกว่า (เทียบ 1 ซมอ 15:22; ฮชย 6:6)
เพลงสดุดีที่ 41
คำภาวนาของผู้มีความทุกข์
สดด บทนี้มีลักษณะเป็นการขอบพระคุณพระเจ้าของผู้ที่หายป่วย ศัตรูของเขาคิดแต่จะให้เขาได้รับอันตราย แม้แต่มิตรของเขาก็ยังคิดร้ายต่อเขา เข้าใจว่าความเจ็บป่วยที่เขาได้รับคือการที่พระเจ้าทรงลงโทษบาปที่เขาเคยทำ  เมื่อภาวนา สดด บทนี้ คริสตชนจะจำได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเรียกยูดาสว่า "เพื่อน" ของพระองค์ (มธ 26:50) ถึงกระนั้นยูดาสซึ่ง "ได้จิ้มอาหารในชามเดียวกับพระองค์" ก็ได้ทรยศพระองค์ (มธ 26:23)  เพลงสดุดีบทนี้จึงอาจช่วยเราให้พิจารณาว่าเรามีความจริงใจเพียงไร ในความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้อง
เพลงสดุดีที่ 42 - 43
คำคร่ำครวญของชนเลวีที่อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็ม
สดด ทั้งสองบทนี้ต้องนับเป็นคำอ้อนวอนบทเดียวกันที่แบ่งเป็น 3 ภาค แต่ละภาคจบด้วยสร้อยตอบรับอันเดียวกันที่ 42:5; 42:11 และ 43:5 ผู้ประพันธ์เพลงบทนี้อาจเป็นชาวเลวีคนหนึ่งในช่วงเวลาเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เขาแสดงความอาลัยถึงพระวิหารของพระเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็ม ในสมัยหลังการเนรเทศชาวอิสราเอลอธิบายความหมายของเพลงบทนี้ว่าเป็นการแสดงความทุกข์ใจที่ต้องเหินห่างจากพระเจ้า คริสตชนจะต้องรู้สึกว่าชีวิตในโลกนี้เป็น "การเนรเทศ" อย่างหนึ่งด้วย แต่ทว่าสิ่งที่เราโหยหาถึงนั้นไม่ใช่เมืองใดในโลกนี้ หากเป็น "นครเยรูซาเล็มจากสวรรค์" (ดู วว 21-22)
เพลงสดุดีที่ 44
คำคร่ำครวญของประชากรอิสราเอล
สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนส่วนรวมที่ประชากรอิสราเอลทูลพระเจ้า ให้ทรงระลึกถึงชัยชนะที่พระองค์เคยประทานให้เขาในอดีต (ข้อ 1-8) แต่บัดนี้พระองค์ทรงทอดทิ้งเขาให้ประสบความปราชัยอย่างน่าอดสู (ข้อ 9-16) เราไม่อาจคาดคะเนได้ว่าความปราชัยที่ สดด บทนี้กล่าวพาดพิงถึงเป็นเหตุการณ์อะไร เพราะในอดีตอิสราเอลเคยประสบความปราชัยหลายต่อหลายครั้ง สดด บทนี้จึงใช้ได้เสมอสำหรับความปราชัยทุกครั้ง ประชากรอาจไม่ได้ลืมพระเจ้าหรือไม่ได้ทำผิดต่อพระองค์ ถึงกระนั้นพระองค์ก็มิได้เสด็จมาช่วยเหลือ เขาไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมพระองค์จึงทรงกระทำเช่นนั้น พันธสัญญาเดิมยกปัญหาเรื่องทำไมคนดีจึงต้องทนทุกข์ขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาคาใจมนุษย์อยู่เสมอมา เราคริสตชนรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นแก่เราได้ ไม่ใช่ "ทั้งๆที่" เรายังซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แต่ "เพราะ" เราซื่อสัตย์ต่อพระองค์ นักบุญเปาโลจึงใช้ถ้อยคำของข้อ 22 จาก สดด บทนี้ให้กำลังใจบรรดาคริสตชนที่กำลังถูกเบียดเบียนว่า " เพราะเห็นแก่พระองค์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงถูกประหารอยู่ตลอดวัน  เขาทำกับข้าพเจ้าทั้งหลายเหมือนกับแกะที่เขานำไปฆ่า"
เพลงสดุดีที่ 45
เพลงในวโรกาสอภิเษกสมรส
สดด บทนี้เป็นบทประพันธ์สำหรับงานอภิเษกสมรสของกษัตริย์แห่งอิสราเอลพระองค์หนึ่ง กับเจ้าหญิงต่างชาติชาวไซดอนแห่งฟีนีเชีย กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงเลือกสรรกษัตริย์ กล่าวถึงบทบาทของกษัตริย์ ในการปกครองแทนพระยาห์เวห์ กล่าวถึงความสง่างามของพระองค์ ขณะที่ทรงรอคอยเจ้าสาวของพระองค์ บัดนี้พระราชินีจะต้องทรงลืมประชากรของพระนางเพื่อจะทรงเป็นของพระสวามีโดยสิ้นเชิง เมื่อชาวอิสราเอลไม่มีกษัตริย์ปกครองอีกแล้ว เขายังคงใช้เพลงสดุดีบทนี้สรรเสริญ "พระเมสสิยาห์-กษัตริย์" ที่เขากำลังรอคอยว่าจะเสด็จมาสักวันหนึ่ง เราคริสตชนเข้าใจว่า สดด บทนี้กล่าวถึงพิธีอภิเษกสมรสของพระคริสตเจ้า-กษัตริย์ กับพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือน "เจ้าสาว" ของพระองค์
เพลงสดุดีที่ 46
พระเจ้าประทับอยู่กับเรา
สดด บทนี้เป็นบทแรกในชุด "เพลงศิโยน" (ได้แก่ สดด 46; 48; 76; 84; 87; 122) ซึ่งกล่าวยกย่องกรุงเยรูซาเล็มในฐานะ "นครของพระเจ้า" และให้เกียรติแก่พระวิหารในฐานะ "ที่ประทับของพระองค์" สดด 46 นี้แสดงความวางใจอย่างเต็มที่ว่าพระเจ้าจะทรงคุ้มครองนครนี้จากอำนาจที่เป็นศัตรูทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติ หรือการรุกรานของชนต่างชาติที่เป็นศัตรู ความคิดหลักของบทเพลงแสดงออกในสร้อยตอบรับซึ่งซ้ำถึงสามครั้ง (ข้อ 3, 7, 11)   "พระยาห์เวห์จอมโยธาประทับอยู่กับเรา" สำหรับเราคริสตชน พระเจ้าผู้ทรงคุ้มครองเราก็คือ "องค์อิมมานูเอล - พระเจ้าประทับอยู่กับเรา" ในองค์พระเยซูเจ้า พระบุตรซึ่งทรงรับสภาพมนุษย์เหมือนเรา (เทียบ มธ 1:23; ยน 1:18) และประทับอยู่กับเราตราบจนสิ้นพิภพ (มธ 28:20)
เพลงสดุดีที่ 47
พระยาห์เวห์กษัตริย์แห่งอิสราเอล กษัตริย์ของโลก
สดด บทนี้เป็นบทหนึ่งในจำนวน "เพลงสดุดีพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์" ทรงปกครองสกลจักรวาล 6 บท (ดู สดด 93; 96-99) ถ้าจะอธิบายในด้านประวัติศาสตร์ เพลงสดุดีบทนี้แต่เดิมเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะยิ่งใหญ่ในการสงคราม ถ้าจะอธิบายในด้านพิธีกรรมทางศาสนา เพลงสดุดีนี้ใช้ในวันสมโภชในฤดูใบไม้ร่วงเฉลิมฉลองพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ คำอธิบายในด้านอวสานกาลกล่าวว่าเพลงสดุดีบทนี้เป็นภาพแสดงถึงอนาคต ที่พระเจ้าจะทรงสถาปนาการปกครองของพระองค์เหนือสกลโลก ข้อความใน สดด บทนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์เมื่อพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ เมื่อทรงมีชัยต่อบาปและความตายแล้ว พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แห่งสกลจักรวาล พระศาสนจักรใช้ สดด บทนี้โดยเฉพาะในพิธีกรรมสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ (เทียบ ข้อ 5)
เพลงสดุดีที่ 48
ศิโยน ภูเขาแห่งพระเจ้า
สดด บทนี้เป็น "เพลงศิโยน" บทที่สอง (ดู สดด 46) สรรเสริญนครศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นที่ประทับของพระเจ้า และศัตรูไม่อาจทำลายได้ ผู้ประพันธ์เรียกภูเขาศิโยนว่าเป็นภูเขาสูง"ทางเหนือสุด" (ศาโฟรน) ซึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบาอัล เทพเจ้าแห่งพายุของชาวคานาอัน จึงเป็นการอ้างสิทธิเหนือภูเขานั้นให้แก่พระยาห์เวห์ด้วย เพราะฉะนั้นกรุงเยรูซาเล็มได้รับคำสรรเสริญมิใช่เพราะความงดงามและความแข็งแรงมั่นคงเท่านั้น แต่โดยเฉพาะเพราะเป็นนครที่ประทับของพระเจ้า พระมหากษัตริย์แห่งสกลจักรวาล  ในภาพของภูเขาศิโยน คริสตชนต้องมองเห็นพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า ซึ่งทรงสถาปนาไว้ "บนศิลา และไม่มีอำนาจใดจะเอาชนะได้" (มธ 16:18) คริสตชนจึงมีเหตุผลที่ต้องยินดีเสมอเพราะบ้านของตนมีความมั่นคงเช่นนี้
เพลงสดุดีที่ 49
ความตายและทรัพย์สมบัติ
สดด บทนี้อยู่ในวรรณกรรมประเภท "ปรีชาญาณ" ผู้ประพันธ์เชิญชวนมนุษย์ทุกคน ให้ฟังคำตักเตือนของเขาเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง แม้เมื่อเขาแลเห็นคนชั่วมีความสุขสบาย เจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์สินเงินทอง เขาก็ยังยืนยันว่า "แม้มนุษย์จะร่ำรวย เขาก็อยู่ได้ไม่นาน เขาเป็นเหมือนสัตว์ที่จะต้องถูกฆ่า" (ข้อ 12,20) ผู้ประพันธ์มิได้ประณามทรัพย์สินเงินทองโดยตรง แต่ตำหนิผู้ที่ไว้วางใจในทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียว คำสอนของพระเยซูเจ้าในเรื่องทรัพย์สินเงินทองนี้ชัดเจนมาก จากอุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส (ลก 16:19-31) และจากข้อความหลายตอนในพันธสัญญาใหม่ เพลงสดุดีบทนี้จึงเป็นบทสอนสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งคิดว่าความร่ำรวยทางวัตถุคือความสำเร็จในการพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าทางศีลธรรมซึ่งมีความสำคัญกว่า
เพลงสดุดีที่ 50
การถวายบูชาต้องมาจากใจ
สดด บทนี้บรรยายการพิจารณาคดีในศาลระหว่างพระเจ้ากับประชากรอิสราเอล ข้อหาต่อประชากรก็คือเขาเพียงแต่ท่องบทบัญญัติของพระเจ้า และแสดงความเชื่อต่อพระเจ้าแห่งพันธสัญญาเพียงด้วยคำพูดเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับบทบัญญัติและพันธสัญญาเลย ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีที่ทำดีแต่ภายนอก เช่นเดียวกัน พระเจ้าจะทรงรับการถวายบูชาและคำอธิษฐานภาวนาของเรา ก็ต่อเมื่อการปฏิบัติศาสนกิจของเรา ไม่แยกจากความประพฤติที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม
เพลงสดุดีที่ 51
บทภาวนาแสดงความเสียใจที่ทำบาป
เพลงอ้อนวอนบทนี้เป็นที่รู้จักดีที่สุดในบรรดา "เพลงสดุดีขอสมาโทษ" ทั้งเจ็ดบท เพราะพระศาสนจักรใช้บ่อยมากในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (ทำวัตร)  สดด บทนี้เป็นคำภาวนาจากใจจริงด้วยความถ่อมตนขอให้พระเจ้าทรงลบล้างความสับสนวุ่นวาย ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมอันเกิดจากบาป ผู้ประพันธ์สารภาพบาปของตนและขอพระเจ้าทรงให้อภัยเพราะเขามั่นใจในความดีหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ อุปมาเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก 15:11-32) สอนความจริงเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพลงสดุดีบทนี้จึงเป็นบทภาวนางดงาม ที่คริสตชนทุกคนควรใช้แสดงความสำนึกถึงบาปของตนบ่อยๆ
เพลงสดุดีที่ 52
ชะตากรรมของผู้ทรงอำนาจ
สดด บทนี้มีเนื้อหาเป็นคำกล่าวโทษคนยโสที่กล่าวเท็จทำลายชื่อเสียงของเพื่อนบ้าน ผู้ประพันธ์กล่าวว่าพระเจ้าจะทรงขจัดเขาไปจากแผ่นดินของผู้เป็น แล้วนั้นบรรดาผู้ชอบธรรมก็จะมีความยินดีและสรรเสริญพระเจ้าที่ทรงขจัดศัตรูเช่นนี้ออกไปได้ คริสตชนจะต้องอ่าน สดด บทนี้ในบริบทของข้อความที่นักบุญยากอบกล่าวไว้ โดยเฉพาะในเรื่องผลร้ายของคำพูด (ยก 3:6) เรารู้ดีว่าคำพูดใส่ร้ายอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่มีวันจะแก้ไขได้
เพลงสดุดีที่ 53
ชะตากรรมของผู้ไม่นับถือพระเจ้า
สดด บทนี้เหมือนกับ สดด 14 เกือบคำต่อคำทีเดียว เป็นคำอ้อนวอนขอให้พ้นจากความเลวร้ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในโลก และหวังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยให้รอดพ้น
เพลงสดุดีที่ 54
ผู้ถูกเบียดเบียนร้องขอความยุติธรรมจากพระเจ้า
สดด สั้นๆ บทนี้เป็นคำอ้อนวอน ผู้ประพันธ์วอนขอพระเจ้าได้ทรงช่วยให้พ้นจากการกระทำของผู้ยโสที่ข่มขู่ตน ต่อจากนั้นจึงระลึกได้ว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้และจะทรงช่วยเขา ให้ตอบสนองความชั่วของคู่อริได้ ในตอนสุดท้ายเขาสัญญาว่าจะถวายบูชาขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยเขาให้รอดพ้น ในฐานะคริสตชนเราไม่อาจแก้แค้นศัตรูได้ ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรลืมว่าความชั่วไม่มีสิทธิจะมีอยู่ได้และเราควรจะยินดีที่จะเห็นความชั่วถูกขจัดไปเสีย
เพลงสดุดีที่ 55
คำอธิษฐานภาวนาเมื่อถูกใส่ร้าย
    สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนที่บรรยายอย่างขมขื่นถึงความหวาดกลัวและความทุกข์ที่ผู้ประพันธ์ได้รับจากศัตรู แต่เหตุที่ทำให้สภาพการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นก็คือแม้เพื่อนสนิทที่สุดของเขาก็ยังทรยศต่อเขาไปเข้ากับศัตรู ใครที่เคยถูกเพื่อนสนิททรยศย่อมเข้าใจความรู้สึกของผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี พระเยซูเจ้าก็ทรงเคยถูกทรยศเช่นนั้น เพลงสดุดีบทนี้น่าจะช่วยเราให้พิจารณาดูว่าเรามีความซื่อสัตย์เพียงใดต่อพระคริสตเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่และร่วมงานกับเรา
เพลงสดุดีที่ 56
ความวางใจในพระเจ้า
สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนซึ่งผู้ประพันธ์แสดงความไว้วางใจมั่นคงต่อพระเจ้า แม้เขาจะมีศัตรูมากมาย เขาก็มั่นใจว่าไม่มีมนุษย์คนใดจะทำร้ายเขาได้ เขาเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงเห็นความทุกข์ยากและน้ำตาของเขา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นมารีย์ร้องไห้อาลัยถึงลาซารัสพี่ชาย พระองค์ก็ทรงกันแสงด้วย (ยน 11:33-35) คริสตชนที่อยากติดตามพระยุคลบาทของพระอาจารย์ก็จะ "เป็นทุกข์ร้องไห้" ด้วยสักวันหนึ่ง ขณะที่โลกที่เป็นศัตรูร่าเริงยินดี (ยน 16:20) แต่ในที่สุดพระเจ้า "จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดออกจากตาของเขา" และแล้วจะไม่มีการร้องไห้หรือความทุกข์อีกต่อไป (วว 21:4)
เพลงสดุดีที่ 57
ผู้ชอบธรรมขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า
ภาคแรกของ สดด บทนี้ (ข้อ 1-5) เป็นคำภาวนาด้วยความมั่นใจขอให้พระเจ้าทรงช่วยให้พ้นจากศัตรู สร้อยตอบรับในข้อ 5 ขอให้พระเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพในฐานะผู้ปกครองสกลโลก ภาคที่สองเริ่มโดยกล่าวสั้นๆถึงศัตรู แต่แล้วเป็นบทเพลงสรรเสริญพระอานุภาพและความดีของพระเจ้าในโลก  เพลงสดุดีจบด้วยสร้อยตอบรับเหมือนในข้อ 5  ในบริบทของเราคริสตชน "รุ่งอรุณ"ที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะ "ปลุก" นั้นหมายถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ (ดู ลก 1:78) พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก (LXX) แปลคำว่า "หน่อ" หรือ "กิ่ง" ในภาษาฮีบรูว่า "รุ่งอรุณ" ซึ่งเป็นสมญาของพระเมสสิยาห์ พระเจ้าทรงเยี่ยมมนุษยชาติเสมือนรุ่งอรุณจากเบื้องบน
เพลงสดุดีที่ 58
พระเจ้าทรงพิพากษาผู้พิพากษาทั้งหลายบนแผ่นดิน
สดด บทนี้มีลีลาคล้ายกับประกาศกกล่าวโทษความผิดของประชากร ผู้พิพากษาไม่ซื่อตรงถูกกล่าวโทษเพราะตัดสินอย่างอยุติธรรมและดังนี้จึงทรยศต่อพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระตุลาการสูงสุดของประชากรอิสราเอล บรรดาผู้พิพากษาจะต้องเป็นผู้แทนของพระองค์ในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ผู้ประพันธ์ใช้ถ้อยคำรุนแรงสาปแช่งให้คนชั่วเหล่านี้ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง  แม้ว่าพระศาสนจักรไม่ใช้ สดด บทนี้ในพิธีกรรม (ทำวัตร) ความรู้สึกกระหายความยุติธรรมที่เพลงสดุดีบทนี้แสดงออก นับว่าเป็นคำเตือนใจอย่างดีสำหรับผู้มีอำนาจปกครอง รวมทั้งผู้พิพากษาด้วย ว่าความไม่ซื่อตรงในการปกครอง หรือตัดสินคดีความเรียกร้องพระพิโรธจากพระเจ้า
เพลงสดุดีที่ 59
ขอพระเจ้าทรงช่วยให้พ้นจากคนชั่วร้าย
เพลงอ้อนวอนบทนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค (ข้อ 1-8 และ 10ข-16) แต่ละภาคจบด้วยสร้อยตอบรับ (ข้อ 9 และ 17) แม้ว่าเนื้อหาดูเหมือนจะเป็นบทเพลงส่วนตัว ข้อความบางตอน (เช่น ข้อ 11) ดูเหมือนจะบอกว่าผู้ถูกคุกคามคือชุมชนมากกว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล อาจเป็นไปได้ว่าพระราชาในฐานะผู้แทนของชาติเป็นผู้กล่าวเพลงสดุดีบทนี้ "ศัตรู" ที่กล่าวถึงอาจเป็นประชาชนที่กบฏหรือชนต่างชาติที่ไม่นับถือพระเจ้า คริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้โดยคิดว่าพระคริสตเจ้ากำลังทรงถูกเบียดเบียนในพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระองค์
เพลงสดุดีที่ 60
คำอธิษฐานภาวนาเมื่อแพ้สงคราม
สดด บทนี้เป็นบทภาวนาอ้อนวอนส่วนรวมของประชากรอิสราเอลหลังจากประสบความปราชัยในการสงคราม ประชากรแสดงความผิดหวังที่พระเจ้าทรงช่วยฝ่ายข้าศึกให้มีชัยชนะและวอนขอพระองค์ให้ทรงช่วยกอบกู้ตนให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง พระเจ้าทรงประกาศให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดิน และจะทรงแก้ไขสถานการณ์ในไม่ช้า เมื่อได้รับความมั่นใจเช่นนี้ประชากรตกลงใจจะต่อสู้ต่อไปโดยไม่วางใจในกำลังของตน แต่จะวางใจในความช่วยเหลือจากพระเจ้าเท่านั้น เมื่อคริสตชนใช้ สดด บทนี้ภาวนา เขาอาจคิดถึงพระศาสนจักรซึ่งกำลังถูกคุกคามจากค่านิยมทางโลกของสังคมปัจจุบัน หรืออาจกำลังถูกเบียดเบียนในบางประเทศ เขาควรระลึกถึงและได้รับกำลังใจจากพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ว่า "ในโลกนี้ท่านจะมีความทุกข์ยาก แต่อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว" (เทียบ ยน 16:33)
เพลงสดุดีที่ 61
คำอธิษฐานภาวนาของผู้ถูกเนรเทศ
    สดด บทนี้อาจเข้าใจได้หลายวิธี เช่นอาจเข้าใจว่าเป็นคำอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์ซึ่งอยู่ในอันตรายจะสิ้นพระชนม์ (ข้อ 2) จึงวอนขอพระเจ้าให้ทรงช่วยให้มีสุขภาพดีและปลอดภัย "ภายใต้ร่มปีกของพระองค์" (ข้อ 4) กษัตริย์ทรงแน่พระทัยว่าประชากรกำลังภาวนาเพื่อพระองค์ด้วย จึงทรงสัญญาว่าจะทรงแก้บนที่ทรงบนบานไว้กับพระเจ้า ในฐานะคริสตชน เราทุกคนรู้ว่าพระเจ้าทรงปกป้องเราอย่างแน่นอนในองค์พระบุตรซึ่งทรงประสงค์จะรวบรวมเราไว้ "ดังแม่ไก่กกลูกไว้ใต้ปีก" (เทียบ มธ 23:37)
เพลงสดุดีที่ 62
ความหวังในพระเจ้าเท่านั้น
สดด บทนี้เป็นบทเพลงแสดงความวางใจต่อพระเจ้า ในภาคแรกผู้ประพันธ์แสดงความเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งมาจากพระเจ้า ซึ่งเราต้องมอบความวางใจไว้กับพระองค์เสมอ ในภาคที่สองผู้ประพันธ์ใช้ลีลาของวรรณกรรมแบบปรีชาญาณ แนะนำประชาชนให้มีความมั่นใจในพระเจ้าเท่านั้น มนุษย์และทรัพย์สมบัติทั้งหลายไม่อาจประกันได้ว่าเราจะมีความปลอดภัย พระเยซูเจ้าก็ทรงสอนเช่นนี้ด้วย (เทียบ ยน 2:24-25; ลก 12:22-34)
เพลงสดุดีที่ 63
โหยหาพระเจ้า
สดด บทนี้เป็นคำภาวนาที่งดงามบทหนึ่งในพระคัมภีร์ แสดงว่ามนุษย์มีความต้องการและโหยหาพระเจ้า ผู้ประพันธ์อยากจะอยู่ร่วมกับพระเจ้าเช่นเดียวกับพื้นดินที่แห้งผากอยากได้น้ำซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต ผู้กล่าวบทภาวนานี้อาจเป็นชนเลวีคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ต้องอยู่ห่างจากพระเจ้าในพระวิหาร และรู้สึกว่าตนเองถูกตัดออกไปจากบ่อเกิดของชีวิต พระเยซูเจ้าซึ่งเป็นเสมือนพระวิหารใหม่ โปรดให้เราสถาปนาความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับพระบิดาได้ พระองค์ประทานพระวาจาและศีลมหาสนิทให้เรา เพื่อระงับความหิวกระหายพระเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดชีวิตของเรา
เพลงสดุดีที่ 64
ขอพระเจ้าทรงลงโทษผู้ใส่ร้าย
สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนอีกบทหนึ่งของผู้ที่ต้องรับความทุกข์จากคนชั่วที่คอยรังแกคนชอบธรรม อย่างไรก็ตามผู้ประพันธ์มีความมั่นใจว่า พระเจ้าจะทรงบันดาลให้คนชั่วได้รับความทุกข์ยากที่เขาวางแผนจะให้คนชอบธรรมได้รับ แล้วทุกคนก็จะรู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงควบคุมสถานการณ์ และจะได้สรรเสริญพระองค์ ในฐานะคริสตชนเราคงไม่หวัง และแน่นอนเราคงไม่ต้องการให้พระเจ้าทรงลงโทษคนชั่วที่เบียดเบียนเราในทันที เราจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนและแบบฉบับของพระเยซูเจ้า โดยให้อภัยและภาวนาสำหรับผู้ที่ทำร้ายเรา แล้วมอบทุกสิ่งไว้ให้พระเจ้าทรงจัดการเอง
เพลงสดุดีที่ 65
บทเพลงขอบพระคุณ
    ภาคแรกของ สดด บทนี้กล่าวถึงการแก้บนและสารภาพบาป จึงดูเหมือนว่าแต่เดิม สดด บทนี้ใช้ภาวนาหลังจากเกิดทุพภิกขภัย เมื่อเกิดความกันดารอาหารประชาชนได้บนบานไว้ว่าจะถวายเครื่องบูชา ถ้าพระเจ้าโปรดให้มีฝนตก - ส่วนภาคที่สอง (ข้อ 5-13) น่าจะเป็นบทเพลงที่ใช้ในฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลเมื่อประชากรนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกในปีนั้นมาถวายในเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ งานฉลองนี้เป็นการยอมรับว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้จัดให้มีฝนในฤดูใบไม้ร่วงเพื่อจะหว่านข้าวได้ และให้มีฝนในฤดูใบไม้ผลิเพื่อทำการเก็บเกี่ยวได้ เพลงสดุดีบทนี้เป็นเครื่องเตือนใจเราได้อย่างดีว่าเราต้องไม่คิดว่าสิ่งดีๆในธรรมชาติ เช่นฝนฟ้าตามฤดูกาลและการเก็บเกี่ยวอันอุดม เป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ แต่ต้องสำนึกว่าเป็นพระพรจากพระเจ้าที่เราจะต้องขอบพระคุณอยู่เสมอ เราจึงต้องพร้อมที่แบ่งปันพระพรเหล่านี้กับพี่น้องของเราที่ขัดสนด้วย
เพลงสดุดีที่ 66
บทเพลงขอบพระคุณพระเจ้า
ภาคแรกและภาคที่สองของ สดด บทนี้มีความแตกต่างกันมาก ภาคแรกเป็นการขอบพระคุณที่ประชากรอิสราเอลถวายแด่พระเจ้า ส่วนภาคที่สองเป็นคำอธิษฐานภาวนาส่วนตัวเมื่อถวายบูชาของพระคุณ ผู้รู้หลายท่านจึงคิดว่า สดด บทนี้เป็นการรวมบทเพลงสดุดีสองบทเข้าด้วยกัน  แต่บางท่านก็ว่าการเปลี่ยนสรรพนามจากพหูพจน์เป็นเอกพจน์เป็นข้อพิสูจน์ว่า สดด บทนี้เป็นการขอบพระคุณของอิสราเอลทั้งชาติ โดยมีกษัตริย์ในฐานะผู้แทนของประชากรเป็นผู้นำการภาวนา แต่คำอธิบายง่ายๆ น่าจะเป็นว่าภาคที่สองของ สดด บทนี้เป็นคำอธิษฐานภาวนาส่วนตัวเมื่อมีการถวายบูชาขอบพระคุณ ในบริบทของพิธีกรรมส่วนรวมของชุมชนทั้งชาติ ในฐานะคริสตชน เราต้องร่วมใจกันเป็นชุมชนเมื่อขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับพระพรที่พระองค์ประทานให้เราในองค์พระคริสตเจ้า ไม่ว่าสำหรับพระพรที่ได้รับเป็นส่วนรวมหรือที่เราแต่ละคนได้รับเป็นส่วนตัว
เพลงสดุดีที่ 67
บทเพลงขอบพระคุณ
    ทุกๆ ปีประชากรอิสราเอลมาชุมนุมกันเฉลิมฉลองเทศกาลเก็บเกี่ยวผลิตผลทางเกษตร เพื่อขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรที่ตนได้รับจากพระองค์ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินเป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าทรงพระอานุภาพและทรงพระทัยดี อิสราเอลต้องการประกาศให้ชนชาติต่างๆ ทั่วโลกรู้ความจริงข้อนี้ เพื่อชนทุกชาติจะได้ร่วมใจกับอิสราเอลสรรเสริญพระเจ้า และวอนขอพระพรอื่นๆ อีกด้วย เราคริสตชนอาจใช้เพลงสดุดีบทนี้เพื่อจุดประสงค์และในบริบทเดียวกันกับที่อิสราเอลเคยใช้ เพียงแต่ว่าสำหรับคริสตชนพระพรของพระเจ้า ไม่จำกัดอยู่ที่การเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพระพรใหม่อื่นๆจากพระบิดาซึ่ง "ประทานพระพรนานาประการของพระจิตเจ้าจากสวรรค์เดชะพระคริสตเจ้า" (เทียบ อฟ 1:3) เราต้องประกาศให้ชาวโลกรู้ด้วยว่าพระพรเหล่านี้มาจากไหน
เพลงสดุดีที่ 68
บทสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงชัย
    ตัวบทภาษาฮีบรูของ สดด บทนี้อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เราไม่รู้ชัดว่า "พิธีกรรม" ที่กล่าวถึงเป็นพิธีอะไรแน่ อิสราเอลกำลังถูกชนต่างชาติเบียดเบียน (ข้อ 30-31) สดด บทนี้อาจเป็นการรวบรวมข้อความจากบทประพันธ์โบราณหลายบทเข้าด้วยกันทำให้เนื้อความไม่ต่อเนื่องกันดีนัก อย่างไรก็ตาม ข้อ 1 อาจเท้าความถึง กดว 10:35-36 และ ข้อ 7-8 อาจเท้าความถึง วนฉ 5:4-5
    เนื้อหาอาจแบ่งได้เป็น 9  ตอน แต่ละตอนประกอบด้วยข้อความ 3-5 บรรทัด คือ (1) ความไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงทำลายศัตรู (ข้อ 1-3) (2) เชิญชวนให้สรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น (ข้อ 4-6) (3) พระเจ้าทรงช่วยอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ (ข้อ 7) เหตุการณ์ที่ภูเขาซีนาย (ข้อ 8)  การเข้าพำนักในแผ่นดินคานาอัน (ข้อ 9-10) (4) ชัยชนะต่อกษัตริย์ชาวคานาอัน (ข้อ 11-14) (5) การยึดกรุงเยรูซาเล็มได้ พระเจ้าจะทรงปกครองโลกพิภพจากที่นี่ (ข้อ 15-18) (6) คำสรรเสริญพระเจ้าที่ประทานความช่วยเหลือในอดีตและหวังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือในอนาคตเช่นเดียวกัน (ข้อ 19-23) (7) ขบวนแห่ในงานฉลอง (เทศกาลอยู่เพิง?) (ข้อ 24-27) (8) คำภาวนาขอให้ศัตรูที่ปราชัยนำของถวายมายังพระวิหาร (ข้อ 28-31) (9) เชิญชวนกษัตริย์ทั้งหลายให้สรรเสริญพระเจ้าของอิสราเอล (ข้อ 32-35)
    พิธีและกิจกรรมที่ สดด บทนี้กล่าวถึงเป็นการแสดงให้ประชาชนระลึกถึงเหตุการณ์ที่เขากำลังเฉลิมฉลอง เป็นการ "แสดง" ด้วยสัญลักษณ์ ทำให้ประชาชนอยู่ในเหตุการณ์และได้รับผลทางจิตใจจากเหตุการณ์เหล่านั้น พิธีกรรม และ "ศีลศักดิ์สิทธิ์" ที่คริสตชนประกอบในพระศาสนจักรก็เป็นการแสดงแบบสัญลักษณ์เช่นนี้ด้วย โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ เรามาร่วมพิธีและได้รับผลจากกิจกรรมกอบกู้ของพระคริสตเจ้า คือการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์
เพลงสดุดีที่ 69
คำวอนขอส่วนตัว
สดด บทนี้เป็นเพลงอ้อนวอนของบุคคลหนึ่งที่กำลังทนทุกข์อย่างสาหัส ผู้ประพันธ์ใช้ภาษาสัญลักษณ์กล่าวถึงอันตรายที่กำลังคุกคามตนอยู่ เช่น การจมลงในโคลน การถูกกระแสน้ำพัดพา และโดยเฉพาะการถูกผู้อื่นทอดทิ้ง แม้กระทั่งพี่น้องก็ไม่ยอมรับเขาเป็นสมาชิกของครอบครัวและของชุมชน เขาถูกเยาะเย้ยและถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ เพราะเขาปฏิบัติศาสนกิจต่อพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ สภาพของผู้ประพันธ์ชวนให้คิดถึงสภาพของประกาศกเยเรมีย์ และของ “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ใน อสย 53 อย่างไรก็ตาม คำภาวนาของผู้ประพันธ์ยังรวมการขอบพระคุณไว้ด้วย เพราะเขาเชื่อมั่นในพระยุติธรรมและพระเมตตาของพระเจ้า เขาจึงมั่นใจว่าพระองค์จะทรงช่วยเขาให้พ้นอันตราย พันธสัญญาใหม่อ้างข้อความจาก สดด บทนี้หลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องพระทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า เช่น ข้อ 4 ใน ยน 15:25; ข้อ 21 ใน มก 15:23,36// และ ยน 19:29
เพลงสดุดีที่ 70
คำวอนขอในยามทุกข์ร้อน
เพลงอ้อนวอนสั้นๆบทนี้เป็นเพลงสดุดีที่สมบูรณ์ในตัวเอง มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ สดด 40:13-17 บทภาวนาทางการของพระศาสนจักรในการทำวัตรแต่ละครั้งจะเริ่มด้วยข้อแรกของ สดด บทนี้ "ข้าแต่พระเจ้า โปรดเสด็จมาช่วยเหลือเกื้อกูลข้าพเจ้า โปรดเถิด พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้า" การเริ่มบทภาวนาประจำวันของเราด้วยข้อความนี้เป็นการแสดงความถ่อมตน ยอมรับว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้าอยู่เสมอ การภาวนาของเราจะเป็นการภาวนาแท้จริงได้ก็เมื่อเรามีท่าทีเช่นนี้
เพลงสดุดีที่ 71
คำอธิษฐานภาวนาในวัยชรา
    สดด บทนี้เป็นคำภาวนาของผู้อาวุโสซึ่งมองดูชีวิตที่ผ่านมาของตนว่าได้รับความรักเมตตาจากพระเจ้าอย่างมากมาย แม้ว่าเพลงสดุดีบทนี้จัดอยู่ในประเภทคำอ้อนวอน แต่ก็มีข้อความหลายตอนที่แสดงความหวัง การขอบพระคุณและสรรเสริญอย่างชัดเจน ผู้ประพันธ์มีความวางใจต่อพระเจ้าตลอดมาตั้งแต่วัยเยาว์และไม่เคยผิดหวัง แต่เขาก็ต้องมีความทุกข์ยากเหมือนกับมนุษย์โดยทั่วไป ความทุกข์เหล่านี้ทำให้บรรดาศัตรูคิดว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งเขาแล้ว  เขารู้ดีว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นคำอ้อนวอนขอให้พระเจ้าทรงช่วยจึงมีคำสรรเสริญรวมอยู่ด้วย เรา คริสตชนไม่ว่าจะอยู่ในวัยเยาว์หรือวัยชรา จึงควรคิดทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมาเพื่อจะได้เห็นว่าพระเจ้าทรงดีต่อเราอย่างไร ความรู้เช่นนี้จะเป็นบ่อเกิดพลังให้เรา เมื่อต้องประสบกับความทุกข์ยากในชีวิต
เพลงสดุดีที่ 72
กษัตริย์ที่พระเจ้าทรงสัญญา
สดด เกี่ยวกับกษัตริย์บทนี้เป็นคำภาวนาสำหรับกษัตริย์แห่งราชวงศ์ดาวิด ขอให้รัชสมัยของพระองค์นำความยุติธรรม สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาให้บ้านเมือง พระพรจากพระเจ้าเท่านั้นจะบันดาลให้พระราชาจะทรงเป็นเช่นนี้ได้ เพลงสดุดีจึงเริ่มด้วยคำภาวนา ขอให้พระเจ้าประทานพระพรนี้ให้แก่พระราชา เป็นความจริงว่าในประวัติศาสตร์อาณาจักรยูดาห์ไม่เคยมีกษัตริย์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้เลย แต่ประชาชนก็ยังมีความหวังอยู่เสมอและวอนขอพระพรนี้จากพระเจ้าทุกครั้งที่มีพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์องค์ใหม่ แม้ในสมัยหลังจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เมื่อราชวงศ์ดาวิดไม่มีอำนาจทางการเมืองอีกแล้ว ความหวังถึงกษัตริย์ในอุดมการณ์เช่นนี้ยังคงอยู่ เพลงสดุดีบทนี้จึงกลายเป็นเพลงสดุดีที่กล่าวถึง "พระเมสสิยาห์" ผู้รับเจิมในอุดมการณ์ของพระยาห์เวห์ที่จะมากอบกู้ประชากรของพระองค์  ในฐานะคริสตชนเราแสดงความเชื่อของเราต่อพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ ว่าพระองค์คือกษัตริย์ในอุดมการณ์นี้ที่ชาวอิสราเอลกำลังรอคอย การที่โหราจารย์จากทิศตะวันออกมานมัสการ และถวายบรรณาการแด่พระกุมารที่เมืองเบธเลเฮ็ม (มธ 2:1-12) ชวนเราให้คิดถึงกษัตริย์ต่างชาติที่จะเสด็จมาถวายบรรณาการแด่กษัตริย์จากราชวงศ์ดาวิดพระองค์นี้ซึ่งจะต้องเสด็จมา (ข้อ 10)
เพลงสดุดีที่ 73
ความรุ่งเรืองของคนอธรรมไม่จีรังยั่งยืน
สดด ประเภทปรีชาญาณบทนี้เริ่มต้นด้วยข้อความที่แสดงความมั่นใจของผู้ที่เรียนรู้มาจากประสบการณ์ ว่าพระเจ้าทรงความดีและทรงยุติธรรม ผู้ประพันธ์เกือบจะเสียความเชื่อเมื่อเห็นว่าคนอธรรมซึ่งกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า กลับมีความสุขและเจริญรุ่งเรือง ตรงข้ามกับชีวิตของคนที่ปฏิบัติคุณธรรมกลับไม่ช่วยให้เขาพ้นจากปัญหาในชีวิต เขารู้สึกว่าพระเจ้าไม่ทรงยุติธรรมเลย ความคิดเช่นนี้ทรมานใจเขาเสมอมา จนกระทั่งวันหนึ่งพระเจ้าทรงบันดาลให้เขาเห็นแจ้งว่า ความรุ่งเรืองของคนอธรรมนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา และผู้ชอบธรรมเท่านั้นมีความมั่นใจได้อย่างแท้จริงในพระเจ้า แม้คริสตชนรู้ความจริงประการนี้จากคำสอนของพระคริสตเจ้าแล้ว ก็ยังมีความข้องใจอิจฉาคนอธรรมอยู่ตลอดเวลา การใช้ สดด บทนี้ภาวนาอาจช่วยให้คริสตชนได้รับความสว่างเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสดุดีก็ได้
เพลงสดุดีที่ 74
คำคร่ำครวญถึงพระวิหารที่ถูกทำลาย
สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนของประชากรอิสราเอลต่อพระเจ้า ในบรรยากาศของกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกทำลายในปี 587 ก.ค.ศ. เมื่อประชากรจะถูกจับเป็นเชลยไปที่กรุงบาบิโลน ยังอาจเป็นไปได้ด้วยที่ สดด บทนี้สะท้อนบรรยากาศในสมัยมัคคาบีเมื่อพระเจ้าอันทิโอคัส เอปีฟาเนสทรงเบียดเบียนชาวยิว (167-164 ก.ค.ศ.) และลบหลู่พระวิหารหลังที่สอง (ดู 1 มคบ 1:21-28) ในบทภาวนานี้ประชากรของพระยาห์เวห์ วอนขอให้พระองค์ทอดพระเนตรดูพระวิหารที่ถูกทำลายและอยู่ในสภาพปรักหักพัง ขอให้ทรงระลึกถึงประชากรที่เคยนมัสการพระองค์ที่พระวิหารนั้น เขาทูลพระองค์ให้ทรงระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เพื่อให้พระองค์ทรงกระทำการอัศจรรย์เช่นนั้นอีกสำหรับเขา เราคริสตชนที่ภาวนาด้วยเพลงสดุดีบทนี้ควรระลึกถึงเพื่อนพี่น้องคริสตชน ซึ่งกำลังทนทุกข์และไม่มีเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ที่เบียดเบียนพระศาสนจักร
เพลงสดุดีที่ 75
พระเจ้าทรงพิพากษามนุษย์ทุกคน
เป็นการยากสักหน่อยที่จะกำหนดว่า สดด บทนี้อยู่ในประเภทใด ดูเหมือนว่า สดด บทนี้แต่เดิมใช้ในพิธีกรรมซึ่งมีหลายคนร่วมพิธี ข้อแรกและข้อสุดท้ายชวนให้คิดว่าบทภาวนานี้เป็นเพลงขอบพระคุณพระเจ้าหลังจากชัยชนะในสงคราม มีการกล่าวถึงพระดำรัสของพระเจ้า ซึ่งสมณะหรือประกาศกคนหนึ่งอาจเป็นผู้กล่าวเตือนคนอธรรมให้ระวังว่าจะถูกพระเจ้าตัดสินลงโทษ ในที่สุดบุคคลหนึ่ง อาจเป็นกษัตริย์หรือสมณะ จะกล่าวสรรเสริญและแสดงความเชื่อเป็นการจบพิธีกรรมขอบพระคุณนี้
เพลงสดุดีที่ 76
เพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้น่าเกรงขาม
สดด บทนี้เป็นบทเพลงศิโยน เฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าเหนือประชาชาติ ภาพพจน์ที่ผู้ประพันธ์ใช้กล่าวถึงพระเจ้าว่าเป็นนักรบทรงพลัง อาจทำให้คริสตชนในปัจจุบันหลายคนรู้สึกระคายหู แต่ภาพเปรียบเทียบนี้สำหรับชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมย้ำถึงความยิ่งใหญ่ และพระอานุภาพของพระเจ้าที่ทำให้ทรงปกป้องประชากรของพระองค์ โดยเฉพาะคนยากจน ให้พ้นจากเหล่าศัตรูได้ สำหรับเราคริสตชน "ศิโยน" เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระศาสนจักร มีพระคริสตเจ้าเป็น "คนแข็งแรงมีอาวุธครบมือ" (ลก 11:21) คอยเฝ้าดูไม่ให้ศัตรูมาจู่โจมได้
เพลงสดุดีที่ 77
ระลึกถึงอดีตแห่งอิสราเอล
แม้ว่า สดด บทนี้ดูเหมือนจะเป็นคำภาวนาของปัจเจกชน แต่อันที่จริงเป็นคำอ้อนวอนของชาติ นำโดยกษัตริย์หรือผู้นำชุมชน ในภาคแรกผู้นำกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาติเหมือนกับว่าเป็นความทุกข์ยากของตน และดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงลืมเขาเสียแล้ว แต่ในภาคที่สองผู้นำระลึกถึงการอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำในอดีต ได้แก่การเนรมิตสร้างและการช่วยให้พ้นจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เมื่อเราคริสตชนระลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นรากฐานของความเชื่อ ได้แก่พระชนมชีพ การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า เหตุการณ์เหล่านี้จะต้องเป็นบ่อเกิดแห่งความเข้มแข็ง และเป็นพลังในยามที่เรารู้สึกสงสัยและท้อแท้ เมื่อพระเจ้าดูเหมือนว่าจะไม่ทรงรักและคอยดูแลเราอีกต่อไป
เพลงสดุดีที่ 78
บทเรียนจากประวัติศาสตร์ของอิสราเอล
สดด บทนี้ยาวเป็นอันดับสองรองจาก สดด 119 - ผู้ประพันธ์แสดงเจตนาของตนใน 8 ข้อแรกของบทประพันธ์ เขาต้องการสอนประชาชนให้มองย้อนกลับไปในอดีต และได้รับบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของชาติให้เป็นประโยชน์ ต่อจากนั้นผู้ประพันธ์ก็เล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยอพยพ การเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญา โดยเน้นให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่เขาตลอดเวลา แต่ประชาชนกลับไม่เชื่อฟังพระเจ้า ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งดีต่างๆที่พระองค์ประทานให้เขา ทุกครั้งที่พระองค์ทรงลงโทษเขาเพราะความผิด เขาก็ร้องหาพระองค์ให้ทรงช่วยเหลือ พระองค์ก็ทรงให้อภัยและประทานพระพรต่างๆ ให้เขาครั้งแล้วครั้งเล่า เพลงสดุดีบทนี้จบลงโดยกล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงทอดทิ้งบรรดาชนเผ่าทางเหนือและทรงเลือกชนเผ่ายูดาห์ ภูเขาศิโยน  และโดยเฉพาะทรงเลือกกษัตริย์ดาวิด ให้เป็นผู้เลี้ยงดูประชากรของพระองค์  เพลงสดุดีบทนี้ยังมีความหมายสำหรับเราคริสตชนซึ่งได้รับพระพรในองค์พระคริสตเจ้ามากกว่าที่ชาวอิสราเอลได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องตอบสนองพระทัยดีของพระเจ้า โดยวางใจและเชื่อฟังพระองค์โดยสมบูรณ์ เราต้องไม่ลืมพระวาจาที่พระคริสตเจ้าทรงเตือนเราไว้ด้วยว่า "ผู้ใดได้รับฝากไว้มาก ผู้นั้นก็จะถูกทวงกลับไปมากด้วย" (ลก 12:48)
เพลงสดุดีที่ 79
คำคร่ำครวญของชนทั้งชาติ
สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนของชุมชนชาวอิสราเอลในยามลำบาก สภาพแวดล้อมที่ทำให้ประพันธ์บทเพลงนี้น่าจะเป็นการที่กองทัพบาบิโลนทำลายกรุงเยรูซาเล็มและการเป็นเชลยในปี 587 ก.ค.ศ. สดด บทนี้ยังเหมาะที่จะใช้ในโอกาสอื่นอีกอย่างน้อย 2 โอกาส คือเมื่อกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสล่วงละเมิดพระวิหารในปี 167 ก.ค.ศ. และเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกชาวโรมันทำลายพร้อมกับพระวิหารในปี ค.ศ. 70 ผู้ประพันธ์ดูเหมือนจะกล่าวว่าการลงโทษจากพระเจ้าเช่นนี้มีสาเหตุมาจากบาปไม่ใช่ของประชาชนร่วมสมัยกับตน แต่จากบาปของบรรพบุรุษในอดีต ถ้าอยากจะรู้สาเหตุของความสับสนวุ่นวายทางศีลธรรม และสังคมในโลกปัจจุบัน ก่อนอื่นหมด เราคริสตชนควรจะมองดูความประพฤติของตน และพยายามแก้ไข
เพลงสดุดีที่ 80
คำอธิษฐานภาวนาเพื่อการฟื้นฟูชาติอิสราเอล
คำภาวนาอ้อนวอนบทนี้ ดูเหมือนจะถูกจงใจจัดไว้ให้อยู่หลัง สดด 79 ความต่อเนื่องคงจะมาจากความคิดที่ว่าอิสราเอลคือ "ฝูงแกะที่พระเจ้าทรงเลี้ยงดู" ที่ปลาย สดด 79 และการเรียกพระเจ้าว่า "ผู้เลี้ยงของอิสราเอล" ตอนต้นของ สดด 80 การกล่าวถึงโยเซฟ เอฟราอิมและมนัสเสห์เป็นเหตุผลสำคัญชวนให้คิดว่า สดด บทนี้แต่งขึ้นในอาณาจักรเหนือและเท้าความถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาระหว่างปี 732-721 ก.ค.ศ.เมื่อกองทัพอัสซีเรียมาบุกรุกอาณาจักรอิสราเอล เพลงอ้อนวอนบทนี้ใช้อุปมาที่รู้จักกันดีกล่าวถึง "เถาองุ่น" และ "สวนองุ่น" เพื่อบรรยายถึงความเอาพระทัยใส่ดูแลที่พระยาห์เวห์ทรงมีต่อประชากรของพระองค์ตลอดมา ตั้งแต่เมื่อทรงนำเขาออกมาจากประเทศอียิปต์ เราคริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เป็นบทภาวนาสำหรับพระศาสนจักรซึ่งเป็น "อิสราเอลใหม่" ขอให้พระเยซูเจ้า "ผู้เลี้ยงที่ดี" ทรงปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากศัตรูทั้งภายนอกและภายในซึ่งมีอยู่เสมอ
เพลงสดุดีที่ 81
สำหรับเทศกาลอยู่เพิง
เพลงสดุดีบทนี้เป็นเพลงฉลองการเก็บเกี่ยวของชาวอิสราเอล ซึ่งรู้จักกันในนาม "ฉลองเทศกาลอยู่เพิง" งานฉลองนี้เป็นการแสดงความยินดีขอบพระคุณพระเจ้า ซึ่งทำกันในวันเพ็ญเดือนกันยายน เมื่อเขาเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จ ผู้มาชุมนุมกันในพระวิหารได้ยินประกาศกประจำพระวิหารประกาศพระดำรัสของพระเจ้าให้ทุกคนฟัง ว่าพระเจ้าเคยทรงช่วยประชากรของพระองค์ออกมาจากประเทศอียิปต์ (ข้อ 6-8) และทรงบัญชาให้เขาเชื่อฟังพระองค์อย่างไร (ข้อ 8-10) การไม่ยอมเชื่อฟังจะทำให้ประชากรได้รับโทษ (ข้อ 11-12) แต่ถ้าเขาเชื่อฟังพระองค์ พระเจ้าจะทรงปกป้องเขาและประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดินของเขา (ข้อ 13-16) พระพรต่างๆ ที่เราคริสตชนได้รับจากพระเจ้าผ่านทางพระคริสตเจ้า เชิญชวนเราให้เชื่อฟังพระวาจาของพระองค์อย่างสมบูรณ์ พิธีบูชาของพระคุณแต่ละครั้งเป็นการขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรต่างๆ ที่เราได้รับ และเป็นการรื้อฟื้นความตั้งใจว่าเราจะซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้าตลอดไป
เพลงสดุดีที่ 82
พระยาห์เวห์ทรงพิพากษาผู้ปกครองนานาชาติ
สดด บทนี้มีลักษณะเป็นคำเตือนของประกาศกคล้ายกับ สดด 58 ผู้ประพันธ์มองพระเจ้าของคนต่างชาติว่าเป็นเสมือน "เทพเจ้า" ชั้นสองซึ่งพระเจ้าทรงมอบภารกิจให้ดูแลชนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล (เทียบ ฉธบ 32:8-9) บัดนี้พระเจ้าทรงตำหนิบรรดาเทพเจ้าเหล่านี้ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่การให้ความยุติธรรม โดยเฉพาะแก่คนยากจนและคนอ่อนแอ พระเจ้าจึงทรงถอดให้พ้นจากการมีศักดิ์ศรีเป็น "เทพเจ้า" (ซึ่งเป็นอมตะ) กลับมีสภาพเหมือนมนุษย์ที่จำต้องตาย สดด บทนี้เป็นคำตักเตือนที่ดีสำหรับผู้มีอำนาจปกครอง เขาต้องจดจำไว้เสมอว่าอำนาจนี้มาจากพระเจ้าและต้องใช้มันตามกฎเกณฑ์ที่พระองค์ทรงวางไว้ ซึ่งหมายถึงอำนาจทั้งทางบ้านเมืองและในพระศาสนจักร
เพลงสดุดีที่ 83
บทภาวนาขอให้มีชัยชนะต่อศัตรูของชาติ
สดด บทนี้เป็นบทภาวนาอ้อนวอนส่วนรวมอีกบทหนึ่งของประชากรทั้งชาติ ผู้ประพันธ์กล่าวถึงศัตรูของอิสราเอลที่รวมกำลังกันมารุกราน ประชากรจึงอ้อนวอนพระเจ้าให้ทรงลงโทษศัตรูที่มาคุกคามในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่เคยทรงลงโทษศัตรูในอดีต มนุษย์ทั้งหลายจะได้ยอมรับว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงพระองค์เดียว เมื่อใช้ สดด บทนี้สวดภาวนา เราคริสตชนอาจคิดถึงศัตรูของพระศาสนจักรในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ และได้รับกำลังใจจากพระสัญญาที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เปโตรซึ่งเป็น "ศิลา" ที่พระองค์ทรงตั้งเป็นรากฐานรองรับพระศาสนจักรที่พระองค์จะทรงสร้างว่าจะไม่มีอำนาจใดมาทำลายพระศาสนจักรนี้ได้ (เทียบ มธ 16:17-18)
เพลงสดุดีที่ 84
คำอธิษฐานของผู้จาริกแสวงบุญ
สดด บทนี้เป็นหนึ่งในจำนวน "เพลงศิโยน" ที่ชาวอิสราเอล ซึ่งกำลังเดินทางมาร่วมงานฉลองที่กรุงเยรูซาเล็มขับร้องระหว่างทาง เนื้อเพลงแสดงความรักที่ชาวอิสราเอลใจศรัทธาแต่ละคนมีต่อพระวิหารของพระเจ้า และแสดงความปรารถนาอยากจะมาร่วมพิธีที่นั่น เราคริสตชนมีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าปรารถนามากกว่าพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม  เพราะพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นเพียง "เงา" ของพระวิหารแท้จริง คือองค์พระคริสตเจ้า เท่านั้น   จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึงพระวิหารแท้นี้ว่าเป็น "ภูเขาศิโยนและนครแห่งพระเจ้าผู้ทรงชีวิต คือนครเยรูซาเล็มในสวรรค์" (เทียบ ฮบ 12:22)
เพลงสดุดีที่ 85
คำอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม
ประชากรอิสราเอลใช้เพลงสดุดีประเภท "คำอ้อนวอนส่วนรวม" บทนี้ทูลพระเจ้าให้ทรงระลึกถึงความโปรดปรานที่พระองค์เคยประทานแก่เขา รวมทั้งการอภัยความผิดที่เขาได้ทำในอดีต. จากประสบการณ์นี้เขาอธิษฐานภาวนาด้วยความมั่นใจว่าพระองค์จะไม่ทรงพิโรธเขาในขณะนี้ แต่จะทรงช่วยเขาให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของ สดด บทนี้ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาหลังกลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เมื่อประชาชนต้องดิ้นรนในการสร้างชาติขึ้นใหม่ การคิดคำนึงถึงพระราชกิจของพระเจ้าในอดีตเท่านั้น ให้กำลังใจแก่ชาวอิสราเอลที่จะหวังว่าเขาจะพบความยุติธรรมและสันติภาพในอนาคต การเสด็จมาของพระคริสตเจ้าทำให้ความหวังดังกล่าวเป็นจริง ถึงกระนั้น คริสตชนแต่ละสมัยจะต้องออกแรง เพื่อให้อุดมการณ์นี้สำเร็จโดยสมบูรณ์ในโลกใหม่ นี่จึงเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรและของคริสตชนแต่ละคน
เพลงสดุดีที่ 86
คำอธิษฐานภาวนาในยามทุกข์
เพลงอ้อนวอนบทนี้ เป็นคำภาวนาของชาวอิสราเอลใจศรัทธา อาจเป็นชนเลวีคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่าตนเป็นคนยากจนขัดสนและถูกเบียดเบียน แสดงความศรัทธาอันลึกซึ้งต่อพระเจ้าและมั่นใจว่าพระองค์ทรงรักเขาอย่างยิ่ง คำภาวนาที่ขอให้มีใจซื่อตรงและเคารพยำเกรงพระเจ้า น่าจะสะท้อนข้อเรียกร้องว่าชนเลวีที่รับใช้พระเจ้านั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง (เทียบ อพย 32:25-29) สดด บทนี้เป็นบทภาวนาที่คริสตชนอาจใช้ได้ในความหมายตามตัวอักษร เพื่อแสดงความผูกพันที่ตนมีอยู่กับพระเจ้าและในขณะเดียวกันก็ยืนยันความเชื่อมั่น ว่าพระเจ้าทรงความรักอันหาขอบเขตมิได้ต่อตน
เพลงสดุดีที่ 87
ภูเขาศิโยน มาตุภูมิแห่งนานาชาติ
สดด บทนี้เป็นหนึ่งใน "เพลงศิโยน" ซึ่งผู้แสวงบุญชาวอิสราเอลจากส่วนต่างๆ ของโลกขับร้องเมื่อเดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม  เพลงนี้คงแต่งขึ้นหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวยิวจำนวนไม่น้อยแยกย้ายกัน ไปพำนักอยู่ในดินแดนต่างๆ นอกแผ่นดินปาเลสไตน์ ชาวยิว"โพ้นทะเล"เหล่านี้ยังคงถือว่า "ศิโยน" เป็นเสมือน "มารดา" แท้ที่ให้กำเนิดตน สดด บทนี้ยังอาจสะท้อนความคิด "สากล" ที่พบได้ในหนังสือหลายเล่มของพันธสัญญาเดิม  (คือความคิดที่ว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสร้างและดูแลสากลโลกรวมทั้งมนุษย์ทุกคน ไม่เพียงแต่ทรงเป็นพระเจ้าของอิสราเอลเท่านั้น เทียบ อสย 2:1-3)  ในพันธสัญญาใหม่ พระศาสนจักรคือ "ศิโยน" ใหม่ที่คริสตชนจากทั่วโลกจะพบว่าเป็นมารดาและที่พำนักแท้จริงของตน
เพลงสดุดีที่ 88
คำอธิษฐานภาวนาในยามทุกข์ยากแสนสาหัส
สดด บทนี้ซึ่งอยู่ในประเภท "คำอ้อนวอนส่วนตัว" เห็นจะต้องนับว่าเป็นคำอ้อนวอนที่แสดงความทุกข์ใจมากที่สุดในบรรดาเพลงสดุดี เนื้อหาของเพลงเป็นคำภาวนาของผู้กำลังป่วยหนักจวนจะตาย ตามปรกติเพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนมักจะมีข้อความแสดงความวางใจว่าพระเจ้าจะทรงฟังคำอ้อนวอน และตอบสนองตามคำขออยู่ด้วยเสมอ แต่ สดด บทนี้ดูเหมือนจะมองโลกในแง่ร้ายตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ที่น่าแปลกและน่าจะเป็นบทสอนใจเราทุกคน ก็คือผู้ประพันธ์ยังอธิษฐานภาวนาต่อไปได้ บทสอนใจสำหรับเราก็คือ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพเลวร้ายและหมดหวังสักเพียงไร เราต้องไม่ยอมเลิกวอนขอต่อพระเจ้า เพราะการอธิษฐานภาวนาเป็นสายสัมพันธ์เส้นสุดท้ายที่ยังเชื่อมเราไว้กับพระองค์
เพลงสดุดีที่ 89
คำอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงระลึกถึงพระสัญญา
    สดด บทนี้เป็นบทภาวนาเกี่ยวกับกษัตริย์ในรูป "คำอ้อนวอนของประชากร" เมื่อกษัตริย์ในราชวงศ์ดาวิดต้องประสบความพ่ายแพ้ เนื้อเพลงเท้าความถึงพระสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับกษัตริย์ดาวิด (2 ซมอ 7) และแสดงความข้องใจที่ทำไมพระเจ้าจึงดูเหมือนว่าทรงผิดสัญญาเมื่อกษัตริย์ต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศ แต่ประชาชนก็ยังไม่หมดหวัง ยังคงอธิษฐานภาวนาต่อไป วอนขอพระเจ้าให้พระสัญญาที่ทรงให้ไว้กับกษัตริย์ดาวิดสำเร็จเป็นจริง สำหรับเราคริสตชน พระสัญญานี้สำเร็จเป็นจริงโดยสมบูรณ์แล้วในพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็น "โอรสของกษัตริย์ดาวิด" เพลงสดุดีบทนี้เป็นคำภาวนาที่เหมาะสำหรับพระศาสนจักร โดยเฉพาะพระศาสนจักรในส่วนต่างๆของโลกที่มีคริสตชนกำลังถูกเบียดเบียน คริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เป็นคำภาวนาโดยมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม เพราะพระคริสตเจ้าทรงสัญญาไว้แล้วกับเปโตรว่าจะไม่มีอำนาจใดมาชนะพระศาสนจักรของพระองค์ได้ (มธ 16:18)
เพลงสดุดีที่ 90
ความอ่อนแอของมนุษย์
เพลงสดุดีบทนี้ก็อยู่ในประเภท "คำอ้อนวอนของชุมชน" เช่นกัน ต่างกันที่ว่าไม่ใช่บทภาวนาสำหรับโอกาสที่ประชาชนประสบความพ่ายแพ้สงครามหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื้อหาของบทเพลงเป็นการพิจารณาคำนึงถึงความอนิจจังของมนุษย์ซึ่งมีชีวิตอยู่ไม่นานและยังควรจะได้รับโทษจากพระเจ้าเพราะบาปที่ได้ทำ สภาพนี้ช่างตรงข้ามกับลักษณะของพระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ตลอดนิรันดรและทรงพระอานุภาพหาขอบเขตมิได้ การพิจารณาเช่นนี้อยู่ในลีลาของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ เมื่อผู้ประพันธ์เพลงสดุดีเตือนใจประชาชนให้คำนึงถึงความอนิจจังของชีวิต เขามีเจตนาที่จะสอนให้ทุกคนมี "จิตใจปรีชาฉลาด" คือรู้จักดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพระบัญญัติของพระเจ้านั่นเอง
เพลงสดุดีที่ 91
บทภาวนาขอความคุ้มครองจากพระเจ้า
    สดด บทนี้จัดอยู่ในประเภท "ปรีชาญาณ" แสดงความวางใจเต็มที่ต่อพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพและพร้อมที่จะปกป้องผู้ที่เข้ามาพึ่งพระองค์ในพระวิหารให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง พันธสัญญาใหม่อ้างข้อความจาก สดด บทนี้เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่าบรรดาศิษย์จะได้รับความคุ้มครองจากพระเจ้าในงานแพร่ธรรม (มก 16:18; ลก 10:19) คริสตชนแต่ละคนกำลังเดินทางมุ่งสู่นครเยรูซาเล็มในสวรรค์  แต่การเดินทางนี้เต็มไปด้วยอันตรายต่างๆ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นจะทรงช่วยป้องกันเราได้ "เพราะเรามิได้ต่อสู้กับพลังมนุษย์ แต่ต่อสู้กับนิกรเจ้าและนิกรอำนาจ ต่อสู้กับผู้ปกครองพิภพแห่งความมืดมนนี้ ต่อสู้กับบรรดาจิตแห่งความชั่วช้าที่อยู่บนท้องฟ้า" (อฟ 6:12)
เพลงสดุดีที่ 92
บทเพลงของผู้ชอบธรรม
ในบทเพลงสรรเสริญและขอบพระคุณบทนี้ ผู้ประพันธ์แสดงความยินดีที่ได้สัมผัสกับความรัก และความเอาพระทัยใส่ดูแลของพระเจ้า แต่ก็ยังมีบทสอนด้วยว่าผู้ชอบธรรมเท่านั้นจะได้รับความยินดีแท้จริงและความสำเร็จจีรังยั่งยืน คนชั่วอาจดูเหมือนว่าประสบความรุ่งเรือง แต่เขาถูกกำหนดไว้ให้พินาศ (เทียบ สดด 1) คริสตชนได้รับพระพรจากพระเจ้ามากกว่าผู้ประพันธ์เพลงสดุดี เราจึงต้องรู้บุญคุณและสรรเสริญพระเจ้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อประกอบศาสนพิธี
เพลงสดุดีที่ 93
พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์
    สดด บทนี้เป็นบทหนึ่งในบรรดาเพลงสรรเสริญที่เกี่ยวข้องกับพิธีราชาภิเษก เฉลิมฉลองอำนาจปกครองของพระเจ้าเหนือชนชาติต่างๆทั่วโลก สดด 93 เฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าเหนืออำนาจความปั่นป่วนวุ่นวายยิ่งใหญ่ของน้ำ เมื่อทรงเนรมิตสร้างโลก (เทียบ ปฐก 1) สดด บทนี้ยืมภาษาและสำนวนตำนานเทพจากศาสนาของชาวคานาอันมาใช้เช่นเดียวกับ สดด 29 ทำให้หลายคนคิดว่า สดด บทนี้เป็นบทเพลงที่โบราณที่สุดบทหนึ่งในหนังสือเพลงสดุดี คริสตชนอาจขับร้องเพลงสดุดีบทนี้เพื่อสรรเสริญพระคริสตเจ้า ที่ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองจักรวาลทั้งสิ้น พระองค์ทรงรับอำนาจปกครองยิ่งใหญ่นี้ มาจากชัยชนะที่ทรงมีต่อบาปและผลร้ายทั้งสิ้นของมัน
เพลงสดุดีที่ 94
พระเจ้าทรงเที่ยงธรรม
    สดด บทนี้เป็นทั้งคำอ้อนวอน ขอบพระคุณและบทประพันธ์ประเภท "ปรีชาญาณ" ผู้กล่าวข้อความใน สดด บทนี้คงมีตำแหน่งทางการ เช่นเป็นประกาศกหรือกษัตริย์ เขากล่าวถึงการกระทำที่เลวร้ายของคนชั่ว และเตือนคนชั่วเหล่านั้นว่าพระเจ้าผู้ทรงล่วงรู้ทุกสิ่งทรงทราบว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ แล้วผู้ประพันธ์แสดงความมั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขา และคนดีมีธรรมทั้งหลายให้ปลอดภัยจากคนชั่วเหล่านั้น   เมื่อใช้ สดด บทนี้ภาวนา คริสตชนอาจคิดถึงสมาชิกหลายคนของสังคมที่กำลังเผชิญกับความอยุติธรรมและถูกข่มเหง เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้พระองค์เสด็จมาช่วยเหลือ และประทานความยุติธรรมให้เขา
เพลงสดุดีที่ 95
คำเชิญชวนให้สรรเสริญพระเจ้า
    สดด บทนี้เป็นคำเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมพิธีกรรมเพื่อสรรเสริญและถวายนมัสการแด่พระเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์และพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และยังทรงเป็นผู้เลี้ยงดูประชากรของพระองค์อีกด้วย ผู้นำขับร้องเตือนประชาชนให้เชื่อฟังพระเจ้า อย่าไปเอาอย่างบรรดาบรรพบุรุษที่เคยมีใจแข็งกระด้างถึงกับทดลองพระเจ้า พระศาสนจักรใช้ สดด บทนี้เป็นบทนำพิธีทำวัตรประจำวัน เพื่อเชิญชวนทุกคนให้ถวายคารวกิจต่อพระเจ้าจากใจจริง
เพลงสดุดีที่ 96
พระยาห์เวห์ทรงเป็นกษัตริย์และทรงเป็นผู้พิพากษา
    สดด บทนี้เป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสกลจักรวาลอีกบทหนึ่ง ผู้ประพันธ์เชิญชวนให้มวลมนุษย์สรรเสริญพระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ ว่าทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงพระองค์เดียว พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้าแล้วก็จริง แต่พระอาณาจักรนี้ยังไม่สมบูรณ์ พันธสัญญาใหม่ใช้ข้อสุดท้ายของเพลงสดุดีบทนี้ประกาศว่าพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอีก "เพื่อทรงพิพากษาโลกด้วยความยุติธรรม" (กจ 17:31) ในเวลานั้นเท่านั้นพระอาณาจักรของพระเจ้าจะเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นในเวลานี้เราคริสตชนจึงต้องอธิษฐานภาวนาต่อไปดังที่พระเยซูเจ้าทรงสอนไว้ว่า "พระอาณาจักรจงมาถึง"
เพลงสดุดีที่ 97
พระยาห์เวห์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครอง
    สดด บทนี้เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์หนึ่งในหกบท ผู้ประพันธ์บรรยายการที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่มนุษย์โดยใช้ภาพพจน์ตามธรรมประเพณี เช่น เมฆ ไฟ ฟ้าแลบ ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงความศักดิ์สิทธิ์และความลึกลับของพระเจ้าอีกด้วย ผู้ประพันธ์กล่าวถึงเทพเจ้าที่ชนชาติต่างๆ เคารพนับถือว่าเป็นผู้รับใช้ของพระองค์เช่นเดียวกับที่กล่าวถึงในเพลงสรรเสริญพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์บทอื่นๆ ทำให้ชนชาติเหล่านั้นต้องรู้สึกอับอาย ชาวอิสราเอลยินดีเพราะพระเจ้าของเขาทรงยิ่งใหญ่กว่าเทพเจ้าทั้งปวง เราคริสตชนอาจเข้าถึงพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์และทรงมหิทธานุภาพนี้ได้ โดยทางพระคริสตเจ้าซึ่งทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา
เพลงสดุดีที่ 98
พระยาห์เวห์ทรงพิพากษาโลก
เพลงสรรเสริญพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ บทที่สี่นี้คล้ายกันกับ สดด 96 ทั้งในโครงสร้างและเนื้อหา เพลงสดุดีเริ่มด้วยการเชิญชวนให้ขับร้อง "เพลงบทใหม่" เพื่อขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระราชกิจต่างๆที่ทรงกระทำเพื่ออิสราเอล ต่อจากนั้นผู้ประพันธ์เชิญชวนนานาชาติรวมทั้งธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตด้วยให้ขับร้องรับเสด็จพระเจ้าแห่งอิสราเอลซึ่งเสด็จมาปกครองโลก เพลงสดุดีที่ 98 นี้สะท้อนนิมิตที่ประกาศกอิสยาห์ที่สองแลเห็นว่าพระเจ้าจะทรงชัยชนะในวาระสุดท้ายและมนุษย์ทุกคนจะรอดพ้น
เพลงสดุดีที่ 99
พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงความเที่ยงธรรมและความศักดิ์สิทธิ์
    เพลงสดุดีบทนี้ เป็นบทสุดท้ายในเพลงสรรเสริญพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์จำนวนหกบท สดด บทนี้เน้นเป็นพิเศษถึงความศํกดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและความจำเป็นที่ต้องมีสมณะเช่นโมเสส อาโรนและซามูเอล เพื่อสอนธรรมบัญญัติและวอนขอแทนประชาชน เป็นไปได้ว่า ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากพิธีกรรมในพระวิหารเช่นเดียวกับที่ประกาศกอิสยาห์ได้รับนิมิต (อสย 6) แต่บรรยากาศของ สดด บทนี้ดูเหมือนจะเป็นพิธีรื้อฟื้นพันธสัญญาในเทศกาลอยู่เพิง ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเป็นคำสอนพื้นฐานข้อหนึ่งของพันธสัญญาใหม่ ดังที่ปรากฏในคำขอข้อแรกของบทข้าแต่พระบิดา "พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ" (มธ 6:9) เพื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา เราต้องยอมรับก่อนอื่นใดหมดว่าพระองค์ทรงความศักดิ์สิทธิ์  พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็น "ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า" (ยน 6:69) ยังทรงเรียกพระเจ้าว่า "พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์" (ยน 17:11) เราคริสตชนยังได้รับเรียกมาให้เป็น "ผู้ศักดิ์สิทธิ์" ด้วยเช่นกัน (1 ปต 1:15-16)
เพลงสดุดีที่ 100
คำเชิญชวนให้สรรเสริญพระเจ้า
เพลงสดุดีบทนี้แม้จะสั้น แต่แสดงแก่นของความเชื่อที่อิสราเอลมีเกี่ยวกับพระเจ้า คือ พระเจ้าทรงสร้างชาวอิสราเอลและทรงกระทำพันธสัญญากับเขา ทรงเลือกสรรเขาจากนานาชาติมาเป็นของพระองค์ ให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์เป็นพิเศษ เพราะเหตุนี้พระเจ้าจึงทรงหวังจะได้รับการนมัสการสรรเสริญ และขอบพระคุณจากเขา  เราคริสตชนอาจขับร้อง สดด บทนี้ด้วยความยินดีมากกว่าชาวอิสราเอล เพราะเรามีความสัมพันธ์กับพระเจ้าแน่นแฟ้นกว่าชาวอิสราเอลมาก ศีลล้างบาปทำให้เราเข้ามาร่วมอยู่ในครอบครัวของพระตรีเอกภาพและเป็น "ชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระองค์" (1 ปต 2:9)
เพลงสดุดีที่ 101
ผู้ปกครองในอุดมการณ์
    สดด เกี่ยวกับกษัตริย์บทนี้น่าจะใช้ในพิธีราชาภิเษก เมื่อพระราชาองค์ใหม่ทรงสาบานว่าจะทรงครองราชย์ด้วยความเที่ยงธรรม จะทรงขจัดคนชั่วร้ายและข้าแผ่นดินที่ไม่ซื่อสัตย์  โลกของเราต้องการผู้ปกครองที่มีความซื่อสัตย์เที่ยงธรรมไม่ด่างพร้อย มีความมุ่งมั่นจะขจัดคนชั่วร้ายและส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชน เราอาจใช้ สดด บทนี้เพื่ออธิษฐานภาวนาสำหรับผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ให้เขาปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นพระราชาที่ดีพร้อมทุกอย่างเพียงพระองค์เดียว
เพลงสดุดีที่ 102
คำอธิษฐานภาวนาในยามทุกข์ยาก
สดด บทนี้เป็นบทที่ 5 ใน 7 บทของ "เพลงสดุดีขอสมาโทษ" (Seven penitential Psalms) อีก 6 บทได้แก่ สดด 6,32,38,51,130 และ 147 ผู้ประพันธ์ไม่สารภาพความผิดโดยตรง แต่กล่าวเป็นนัยถึงภัยพิบัติและความเจ็บป่วย ภาคแรก (ข้อ 1-11) มีลักษณะเป็นคำอ้อนวอน ส่วนภาคที่สอง (ข้อ 12-22) เป็นคำอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงสถาปนาศิโยนขึ้นใหม่ ข้อท้ายๆ ซ้ำคำอ้อนวอนตอนต้น แต่บัดนี้ผู้ประพันธ์แสดงความวางใจในพระอานุภาพของพระเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ตลอดนิรันดรโดยไม่เปลี่ยนแปลง เพลงสดุดีบทนี้แต่เดิมอาจเป็นคำอธิษฐานภาวนาของพระราชาในฐานะผู้แทนของประชาชนในชาติ การบรรยายถึงความทุกข์ยากส่วนตัวของพระราชา อาจเป็นคำอุปมาถึงความทุกข์ยากของประชาชน เช่นการกันดารอาหารหรือการเห็นกรุงเยรูซาเล็มในสภาพปรักหักพัง ในทำนองเดียวกัน คริสตชนควรคิดว่าตนเป็นเสมือนพระศาสนจักรที่ถูกเบียดเบียนหรืออยู่ในอันตราย จึงวอนขอให้พระเจ้าทรงช่วยเหลือ
เพลงสดุดีที่ 103
คำสรรเสริญพระทัยดีของพระเจ้า
สดด บทนี้เป็นเพลงสดุดีที่ไพเราะที่สุดบทหนึ่งอย่างแน่นอน เนื้อหาของเพลงสดุดีบทนี้สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจที่ลึกซึ้งและความศรัทธาที่ละเอียดอ่อน ซึ่งไม่สู้จะพบได้บ่อยนักในเพลงสดุดีบทอื่นๆ นอกจากนั้น สดด บทนี้ยังเป็นคำประพันธ์ (ในภาษาฮีบรู) ที่มีความไพเราะเป็นพิเศษด้วย เนื้อหาของ สดด บทนี้สรรเสริญความรักมั่นคงอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ซึ่งครองคลุมไปถึงมนุษย์ที่ทำผิดด้วย ผู้ประพันธ์เริ่มจากความกตัญญูส่วนตัวต่อพระเจ้า แล้วจึงคำนึงถึงพระกรุณาที่ทรงมีต่อประชากรอิสราเอลและมวลมนุษย์ แม้กระทั่งบาปก็ไม่อาจทำลายความสัมพันธ์นี้ได้ เพราะพระเจ้าทรงเป็นเสมือนบิดา ทรงทราบดีถึงความอ่อนแอของมนุษย์ซึ่งเป็นประชากรของพระองค์
ของกษัตริย์ดาวิด
เพลงสดุดีที่ 104
เพลงสรรเสริญพระผู้เนรมิตสรรพสิ่ง
    สดด บทนี้ก็เป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะที่สุดอีกบทหนึ่งในหนังสือเพลงสดุดีด้วย มีลักษณะคล้ายกันกับ สดด 103 เพราะเริ่มและจบด้วยวลีเดียวกัน "วิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย จงถวายพระพรแด่พระยาห์เวห์เถิด" เพลงสดุดีบทนี้เป็นคำสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างสรรพสิ่ง ผู้ประพันธ์บรรยายถึงความงดงามและความยิ่งใหญ่ของสิ่งสร้าง บรรยายถึงพระปรีชาที่ทรงสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ และบรรยายถึงความเอาพระทัยใส่ที่พระเจ้าทรงมีต่อสิ่งสร้างแต่ละชนิดด้วย เพลงสดุดีบทนี้น่าจะมีความหมายอย่างมากสำหรับมนุษย์ในปัจจุบันที่ขาดความเคารพต่อสภาพแวดล้อม   พระศาสนจักรเข้าใจว่าข้อความในข้อ 30 "เมื่อพระองค์ทรงส่งลมปราณ (= จิต) ของพระองค์ เขาก็ถูกสร้างขึ้นมา และดังนี้พระองค์ทรงรื้อฟื้นโฉมหน้าของแผ่นดินขึ้นใหม่" กล่าวเป็นนัยถึงพระจิตเจ้า
เพลงสดุดีที่ 105
พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญา
    สดด บทนี้และบทต่อไปมีลักษณะคล้ายกันมากในฐานะที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล แต่มีมุมมองต่างกัน ใน สดด 105 ผู้ประพันธ์ต้องการชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาที่ทรงให้ไว้แก่ประชากรของพระองค์เสมอมา แต่ สดด 106 กล่าวย้ำถึงความไม่เชื่อฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่พระเจ้าทรงรับจากชนชาติอิสราเอล เพลงสดุดีทั้งสองบทนี้คงใช้ในเทศกาลอยู่เพิงเมื่อชาวอิสราเอลรื้อฟื้นความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าโดยยอมรับว่าพระเจ้าทรงกระทำดีต่อตนตลอดมา (สดด 105) พร้อมกับสารภาพผิดที่ได้ขัดพระบัญชาอยู่เสมอๆ (สดด 106) พระศาสนจักรเป็นส่วนรวมและคริสตชนแต่ละคนอาจใช้เพลงสดุดีทั้งสองบทนี้เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน
เพลงสดุดีที่ 106
พระกรุณายิ่งใหญ่ของพระเจ้า
    ชาวอิสราเอลสารภาพความผิดของตน โดยระลึกถึงบาปของบรรพบุรุษในสมัยอพยพในถิ่นทุรกันดาร และเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน ผู้ประพันธ์กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ 8 ครั้งที่อิสราเอลทำบาป พระเจ้าทรงลงโทษและทรงให้อภัยความผิด การกล่าวถึงบาปของบรรดาบรรพบุรุษ ไม่ได้เป็นการกล่าวหาว่าท่านเหล่านั้นเป็นเหตุให้ประชาชนในปัจจุบันต้องได้รับโทษ แต่เป็นการแสดงว่า เราทุกคนในปัจจุบันก็ทำบาปเหมือนกับท่านเหล่านั้นในอดีตด้วย นักบุญเปาโลเตือนให้เราระลึกว่า "ทุกคนได้กระทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า" แต่แล้ว "ทุกคนก็ได้รับความชอบธรรมเป็นของประทาน โดยทางพระหรรษทาน" (เทียบ รม 3:23-24) นักบุญยอห์นก็สอนเช่นเดียวกันว่า "ถ้าเรากล่าวว่า “เราไม่มีบาป” เรากำลังหลอกตนเองและความจริงไม่อยู่ในเรา ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์ทรงซื่อสัตย์และทรงเที่ยงธรรม พระองค์จะทรงอภัยบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง" (1 ยน 1:8-9)    
เพลงสดุดีที่ 107
พระเจ้าทรงช่วยเหลือผู้มีความทุกข์
    สดด บทนี้ใช้ขับร้องในพิธีกรรมขอบพระคุณพระเจ้าในนามของบุคคลสี่กลุ่มที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือให้พ้นอันตราย ได้แก่ (1) คนเดินทางที่หลงทางไป (ข้อ 4-9) (2) ผู้ถูกจองจำที่ได้รับการปลดปล่อย (ข้อ 10-16) (3) คนเจ็บป่วยที่ได้รับการรักษาจากโรคภัย (ข้อ 17-22) และ (4) ผู้เดินทางทะเลที่ประสบพายุร้าย (ข้อ 23-32) ผู้ที่ขับร้องเพลงสดุดีบทนี้อาจอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามความเป็นจริงหรือโดยอุปมา  ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงช่วยเหลือคนจำนวนมากให้พ้นจากอันตรายเช่นนี้ ไม่ว่าทางร่างกายหรือทางจิตใจ และขณะนี้ก็ยังทรงกระทำเช่นเดียวกัน
เพลงสดุดีที่ 108
คำอธิษฐานภาวนาของประชากรอิสราเอล
สดด บทนี้รวบรวมและเรียบเรียงมาจากเพลงสดุดีสองบท คือ ข้อ 1-5 จาก สดด 57:7-11 ส่วนข้อ 6-13 จาก สดด 60:5-12 ผู้ประพันธ์เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญและขอบพระคุณ แล้วจึงวอนขอพระพรที่ต้องการ เพลงสดุดีบทนี้จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของคำภาวนาของคริสตชน ที่จะต้องคำนึงถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าก่อนสิ่งใด พระเยซูคริสตเจ้าก็ทรงสอนเช่นเดียวกันเมื่อตรัสว่า "จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้" (มธ 6:33)
เพลงสดุดีบทที่ 109
คำวอนขอให้พ้นจากศัตรู
สดด บทนี้เป็นคำภาวนาอ้อนวอนของผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าจะพิจารณาในมุมมองของคริสตชน เพลงสดุดีบทนี้เป็นบทความที่เข้าใจยากมากบทหนึ่ง ภาษาที่ใช้เป็นการสาปแช่งคู่อริอย่างตรงไปตรงมา แต่เราก็ยังไม่ควรสรุปว่านั่นเป็นความรู้สึกแท้จริงของผู้ประพันธ์ การใช้ภาษาแบบนี้อาจเป็นเพียงลักษณะคำประพันธ์ที่แสดงความรู้สึกให้เกินความจริงไว้ เพื่อแสดงว่าเขามีความขัดเคืองอย่างลึกซึ้งภายในจิตใจต่อความชั่ว อย่างไรก็ตามเรายังพบคำสาปแช่งในพระวรสารด้วย (มธ 23:13-36) พระเยซูเจ้าทรงให้อภัยแก่ศัตรูและทรงสั่งให้เราให้อภัยด้วยก็จริงอยู่ แต่การให้อภัยไม่ใช่การเห็นด้วยกับการทำผิดของเขา คริสตชนต้องมีความรู้สึกเป็นอริกับความชั่วทั้งในตนเองและในผู้อื่น ความรู้สึกเช่นนี้ต้องมีความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ผู้ประพันธ์เพลงสดุดีแสดงออกไว้ในบทประพันธ์ของเขา
เพลงสดุดีบทที่ 110
พระเมสสิยาห์ทรงเป็นสมณะ
เนื้อหาของ สดด บทนี้เป็นพระดำรัสของพระเจ้าสามเรื่องที่สมณะหรือประกาศกกล่าวในพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์พระองค์ใหม่ พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้กษัตริย์มีชัยชนะต่อบรรดาศัตรู ทรงรื้อฟื้นการรับกษัตริย์เป็นบุตรบุญธรรมและทรงตั้งให้กษัตริย์ทำหน้าที่สมณะเหมือนกับเมลคีเซเด็ก พระองค์ยังทรงสัญญาจะช่วยเหลือกษัตริย์เมื่อจะทำสงครามในอนาคตด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพลงสดุดีนี้บทนี้ใช้ขับร้องในพิธีราชาภิเษก หรือวันครบรอบปีเช่นเดียวกับ สดด 2 – ธรรมประเพณีทั้งของชาวอิสราเอลและคริสตชน จัดว่าเพลงสดุดีบทนี้เป็นยอดของบรรดา “เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์” คริสตชนเข้าใจว่าข้อความต่างๆ ในเพลงสดุดีบทนี้ สำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า “พระเมสสิยาห์” (ผู้รับเจิม) และพระบุตรของพระเจ้า (มธ 22:44-45; 26:63-64) พันธสัญญาใหม่ใช้ข้อความจาก สดด บทนี้บ่อยๆ เพื่อประกาศพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพในฐานะเจ้าผู้ปกครองสกลจักรวาล (เทียบ มก 16:19; กจ 2:33-35; รม 8:34; อฟ 1:20; คส 3:1; 1 ปต 3:22; 1 คร 15:25-28; ฮบ 10:12-13)
เพลงสดุดีที่ 111
คำสรรเสริญพระราชกิจของพระยาห์เวห์
    เพลงสดุดีกลบทอักษรบทนี้ เป็นเพลงสรรเสริญพระทัยดีของพระเจ้าที่ทรงแสดงให้ปรากฏในการอพยพออกจากอียิปต์และการกระทำพันธสัญญากับประชากรอิสราเอล ผู้ที่คิดคำนึงถึงพระราชกิจอันน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำ ย่อมได้รับความรู้ถึงพระฤทธานุภาพและพระทัยดีของพระองค์ ความยำเกรงพระเจ้าซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิตตามเงื่อนไขของพันธสัญญานับเป็นการได้รับปรีชาญาณที่แท้จริง    
เพลงสดุดีที่ 112
พระพรที่ผู้ชอบธรรมได้รับ
    เพลงสดุดีบทที่แล้ว เน้นถึงพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำต่อประชากรของพระองค์ ส่วน สดด 112 นี้กล่าวถึงชีวิตของผู้ที่ตอบสนองพระทัยดีของพระเจ้า โดยเชื่อฟังพระองค์ด้วยความถ่อมตน บุคคลเช่นนี้ได้รับคำสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงอวยพรให้มีความสุขและความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเป็นคำสอนที่พบได้เสมอในวรรณกรรมประเภท “ปรีชาญาณ” โดยเฉพาะหนังสือสุภาษิต สดด บทนี้สอนเราให้ประพฤติตามแบบฉบับพระทัยดีของพระเจ้าโดยแสดงความใจดีต่อคนยากจน นักบุญเปาโลยกข้อ 9 ของเพลงสดุดีบทนี้มาสนับสนุนการเรียกร้องของท่านต่อคริสตชนชาวโครินธ์ให้มีใจกว้างในการบริจาคทาน เพื่อช่วยเหลือคริสตชนยากจนที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านบอกเขาว่าพระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยความยินดี และจะทรงจัดให้เขามีกินมีใช้จนเกินความต้องการด้วย (2 คร 9:6-9) พระเยซูเจ้าก็ยังทรงสอนเช่นเดียวกันด้วยว่า “จงให้และพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นและล้นเหลือ เพราะท่านตวงให้เขาอย่างไร พระเจ้าก็จะทรงตวงตอบแทนท่านอย่างนั้นด้วย” (ลก 6:38)    
เพลงสดุดีที่ 113
พระเจ้าทรงพระกรุณาต่อผู้ต่ำต้อย
    ชาวยิวเรียก สดด 113-118 ว่า “เพลงฮัลเลล” เพลงสดุดีชุดนี้มีความสำคัญพิเศษ เพราะใช้ในวันฉลองสำคัญสามวันตามปฏิทินของชาวยิว คือสมโภชปัสกา เปนเตก๊อสเต และเทศกาลอยู่เพิง (เทียบ มธ 26:30; มก 14:26) สดด 113 เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้สูงสุด พระองค์ประทับในสวรรค์และบนแผ่นดิน พระองค์ทรงสนพระทัยต่อคนยากจนขัดสน และทรงยกเขาขึ้นมาจากความต่ำต้อยน่าสงสารให้มีเกียรติ (เทียบ ลก 1:46-55) พระเจ้าองค์นี้เองทรงให้พระบุตรรับธรรมชาติมนุษย์ ทรงลงมาจากสวรรค์เพื่อยกธรรมชาติมนุษย์ให้พ้นจากความน่าสมเพช และได้รับเกียรติเป็นบุตรของพระเจ้า (เทียบ ฟป 2:6-11; ยก 2:5)
เพลงสดุดีที่ 114
การอพยพจากประเทศอียิปต์
    สดด บทนี้ก็เป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะมากอีกบทหนึ่ง บรรยายเหตุการณ์ในสมัยอพยพออกจากอียิปต์ และการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน การใช้ภาพพจน์บรรยายถึงทะเลที่ถอยหนี แม่น้ำจอร์แดนที่ไหลกลับ ภูเขากระโดดโลดเต้นเหมือนแกะเพศผู้ ล้วนมีความไพเราะและเป็นภาพที่น่าประทับใจและจินตนาการของผู้อ่านผู้ฟัง เพลงสดุดีบทนี้เหมาะสมมากกับวันสมโภชปัสกาที่ชาวอิสราเอลเฉลิมฉลองพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ที่ทรงนำเขาออกจากอียิปต์เข้ามาในแผ่นดินแห่งพระสัญญา โดยที่ธรรมชาติไม่อาจขัดขวางเขาได้ พระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือนชนชาติอิสราเอลใหม่   จึงยังคิดคำนึงตลอดมาว่าตนมีกำเนิดมาจากปัสกาของพระคริสตเจ้า ซึ่งเปิดทางให้ตนเดินไปถึงเมืองสวรรค์ แผ่นดินแห่งพระสัญญาด้วย
เพลงสดุดีที่ 115
พระเจ้าเพียงพระองค์เดียว
    โครงสร้างของ สดด บทนี้ชวนให้คิดว่าเพลงสดุดีบทนี้น่าจะมาจากพิธีกรรมในพระวิหาร ซึ่งชาวอิสราเอลมาชุมนุมกันหลายกลุ่ม “พงศ์พันธุ์อิสราเอล” หมายถึงชาวอิสราเอลทั่วไป “พงศ์พันธุ์อาโรน” น่าจะหมายถึงบรรดาสมณะ ส่วน “ท่านทั้งหลายผู้ยำเกรงพระยาห์เวห์” คือผู้ที่กลับใจมาถึงศาสนายูดาย สดด บทนี้สรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าเที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว เยาะเย้ยบรรดารูปเคารพที่ไม่มีชีวิตของนานาชาติ แล้วจึงเชิญชวนชาวอิสราเอลกลุ่มต่างๆ ให้วางใจในพระยาห์เวห์ผู้ทรงปกป้องเขาทั้งหลาย โลกปัจจุบันของเราก็มี “รูปเคารพ” ของมันที่เราคริสตชนจะต้องคอยระวัง. “รูปเคารพ” เหล่านี้มีหลายรูปแบบ เช่นวัตถุสิ่งของ อำนาจ ความสุขสบาย วิชาความรู้ เทคโนโลยี ทฤษฎีต่างๆทางศาสนาและการเมือง ความคิดที่ผิดๆเกี่ยวกับพระเจ้า ฯลฯ สดด บทนี้จึงเป็นการพิจารณามโนธรรมอย่างดีสำหรับเราทุกคน
เพลงสดุดีที่ 116
ขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยเหลือ
    พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกและละตินแบ่ง สดด บทนี้ออกเป็นสองส่วน ข้อ 1-9 เป็น สดด 114 และข้อ 10-19 เป็น สดด 115  เพลงบทนี้เป็นเพลงขอบพระคุณของบุคคลหนึ่งที่เรียกหาพระเจ้า แล้วพระองค์ทรงช่วยให้รอดพ้นจากอันตรายร้ายแรงถึงตาย บัดนี้เขามาที่พระวิหารเพื่อถวายบูชาขอบพระคุณตามที่เคยบนบานไว้ สดด บทนี้อาจเป็นบทเพลงที่พระเยซูเจ้าทรงขับร้องร่วมกับบรรดาศิษย์หลังอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะออกไปยังสวนเกทเสมนี (ดู มธ 26:27-30) ศีลมหาสนิทคือการถวายบูชาขอบพระคุณสูงสุดสำหรับคริสตชน พระคริสตเจ้าทรงถวายบูชาขอบพระคุณนี้แก่พระบิดาแทนเราและร่วมกับเรา ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นพระกาย(ทิพย์)ของพระองค์
เพลงสดุดีที่ 117
เชิญชวนนานาชาติสรรเสริญพระเจ้า
    สดด บทนี้สั้นที่สุดในบรรดาเพลงสดุดีทั้งหลาย แต่ก็มีเนื้อหาเต็มเปี่ยม ใช้ถ้อยคำไม่กี่คำสรุปคำสอนสำคัญข้อหนึ่งของประกาศกอิสยาห์ที่สอง (Deutero-Isaiah) ที่สอนว่าพระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนให้มารับความรอดพ้น พระเจ้าซึ่งทรงสำแดงความรักมั่นคงต่ออิสราเอล พระองค์จะไม่ทรงเรียกความรักนั้นกลับคืน พระองค์ยังทรงเรียกประชาชนทุกชาติให้มารวมกับประชากรที่ทรงเลือกสรร เพื่อให้นานาชาติได้รับพระพรเช่นเดียวกัน
เพลงสดุดีที่ 118
เพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงช่วยอิสราเอลให้รอดพ้น
    ท่านผู้รู้บางคนอธิบายว่า สดด บทนี้เป็นข้อความในพิธีขอบพระคุณพระเจ้าที่ชาวอิสราเอลคนหนึ่งหวนระลึกถึงความคับขันที่เคยประสบ เขาร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและได้รับความช่วยเหลือให้พ้นภัย จึงอยากประกาศให้ทุกคนรู้ถึงความช่วยเหลือนี้ที่ตนได้รับจากพระเจ้าด้วย คำอธิบายอีกแบบหนึ่งคิดว่า สดด บทนี้เป็นพิธีกรรมขอบพระคุณพระเจ้าหลังจากที่พระราชาทรงได้รับชัยชนะในการสงคราม ทรงเดินขบวนเข้ามายังพระวิหาร แต่ไม่ว่าเพลงสดุดีบทนี้จะมีภูมิหลังอย่างไร พันธสัญญาใหม่อธิบายว่า สดด บทนี้หมายถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งทรงถูกปฏิเสธไม่ยอมรับโดยชาวยิว แต่ทรงได้รับการยกย่องจากพระบิดาเจ้า พระเยซูเจ้าคือ “ศิลาหัวมุม” ที่บรรดาช่างก่อสร้างได้โยนทิ้ง และบัดนี้กลายเป็น “ศิลาหัวมุม” ของประชากรของพระเจ้า (อฟ 2:20; 1 คร 3:11)
เพลงสดุดีที่ 119
คำสรรเสริญธรรมบัญญัติของพระเจ้า
ข้อความและความยาวมากๆ ของเพลงสดุดีในรูปแบบ “กลบทอักษร” บทนี้ชวนให้เราเข้าใจว่าชาวอิสราเอลให้ความสำคัญแก่ “ธรรมบัญญัติ” หรือ “Torah” ของโมเสสอย่างมากในชีวิตส่วนตัวและส่วนรวมของตน ข้อความใน สดด บทนี้เป็นทั้งคำอธิษฐานภาวนา และการคิดคำนึงของบุคคลหนึ่งที่มีความดื่มด่ำอย่างยิ่งในวรรณกรรมปรีชาญาณของพันธสัญญาเดิม ข้อคิดของเขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคำสอนของบรรดาประกาศก และหนังสือ ฉธบ  ผู้ประพันธ์ใช้คำ 8 คำแสดงความหมายพื้นฐานของธรรมบัญญัติ ได้แก่ กฤษฎีกา (วิถี)ทาง ข้อบังคับ ข้อกำหนด บทบัญญัติ พระวินิจฉัย พระวาจา พระดำรัส สำหรับผู้ประพันธ์แล้ว ธรรมบัญญัติคือการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ และพระประสงค์ให้มนุษย์ได้รู้ เพื่อเป็นหนทางให้มนุษย์เข้ามามีความสัมพันธ์กับพระองค์ได้อย่างใกล้ชิด
พระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงเป็น “หนทาง” ซึ่งหมายความว่าทรงเป็นแนวทาง ที่บรรดาศิษย์ของพระองค์ต้องดำเนินตาม นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นหนทางที่นำไปหาพระบิดาด้วย (ยน 14:6) ในความหมายนี้พระองค์จึงทรงเป็นเหมือน “ธรรมบัญญัติ” สำหรับบรรดาคริสตชนด้วย พระองค์ยังทรงเป็น “ความจริงและชีวิต” ซึ่งเป็นคำที่พบได้ใน สดด บทนี้ด้วย พระองค์ทรงเป็น “พระวาจา” และ “พระดำรัส” ที่พระเจ้าตรัสกับมนุษยชาติ (ฮบ 1:1-4) และทรงเป็นแสงสว่างส่องทางให้มนุษย์เดินไปหาพระบิดาได้  คริสตชนจึงเรียนได้จาก สดด บทนี้ว่าจะต้องคิดว่าพระบัญญัติที่พระคริสตเจ้าประทานแก่เรานั้น เป็นของประทานที่ทรงคุณค่า ไม่ใช่เป็นการกดขี่บังคับ เราจึงต้องปฏิบัติตามด้วยความยินดี พระองค์ยังตรัสอีกว่า “แอกของพระองค์นั้นอ่อนนุ่ม และของแบกของพระองค์ก็เบา (มธ 11:30)
เพลงสดุดีที่ 120
ประณามผู้ทำลายสันติ
ข้อความของ สดด บทนี้ชวนให้คิดว่าชาวยิวใจศรัทธาคนหนึ่งกำลังหวนคิดถึงช่วงเวลายากลำบากที่เขาพำนักอยู่ท่ามกลางชนต่างด้าวที่ไม่เป็นมิตรนอกแผ่นดินปาเลสไตน์ เขารู้สึกขมขื่นเมื่อระลึกว่าพวกเหล่านั้นมีแต่กล่าวมุสาใส่ร้ายเขา พยายามหาเรื่องทะเลาะกับเขาทั้งๆที่เขารักสันติ บัดนี้เขารู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ทรงฟังคำอธิษฐานของเขา และทรงช่วยเขาให้พ้นภัยกลับมาอยู่ในบ้านเมืองอีก เขาอ้อนวอนพระองค์ให้ทรงปกป้องเขาต่อไป ในบทเทศน์บนภูเขาพระเยซูเจ้าทรงสอนว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” (มธ 5:9) นักบุญเปาโลก็สอนคริสตชนชาวโรม และสอนเราทุกคนด้วย ให้ดำเนินชีวิตในสันติกับทุกคน (รม 12:18)
เพลงสดุดีที่ 121
พระเจ้าทรงเป็นผู้พิทักษ์อิสราเอล
สดด บทนี้แต่เดิมใช้เป็นคำอวยพรชาวยิวที่แสวงบุญมายังกรุงเยรูซาเล็มและกำลังจะเดินทางกลับ ขอให้เขาได้แคล้วคลาดจากอันตรายในการเดินทาง ผู้แสวงบุญมีความวางใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าพระเจ้าผู้ทรงเป็นผู้พิทักษ์ที่ไม่ทรงหลับของอิสราเอล จะทรงปกป้องเขาให้พ้นจากอันตรายทั้งปวงในการเดินทาง เราคริสตชนจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ปกป้องที่เราวางใจได้เสมอ พระองค์ทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” (ยน 10:11-15,28) และ “ผู้ดูแลวิญญาณของเรา” (1 ปต 2:25)
เพลงสดุดีที่ 122
เพลงทักทายกรุงเยรูซาเล็ม
    สดด บทนี้แสดงความยินดีของผู้แสวงบุญเมื่อเข้ามาใกล้จะถึงประตูกรุงเยรูซาเล็ม “นครแห่งสันติ” เพื่อจะร่วมขบวนแห่ไปยังพระวิหาร เมื่อเราคริสตชนใช้ สดด บทนี้ในการอธิษฐานภาวนา เราจะต้องรู้สึกยินดีเช่นเดียวกันที่ได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร และมีโอกาสที่จะรับพระหรรษทานต่างๆจากพระเยซูเจ้าซึ่งทรงเป็นเสมือนพระวิหารใหม่ และทรงเป็น “องค์สันติ” ของเรา (เทียบ อฟ 2:14,19-21)
เพลงสดุดีที่ 123
คำภาวนาในยามทุกข์ยาก
สดด บทนี้เป็นคำอธิษฐานภาวนาของบุคคลหนึ่งในนามของชุมชน ขอให้พระเจ้าประทานพระพรให้อีกครั้งหนึ่ง ภูมิหลังของคำอ้อนวอนนี้คงจะเป็นช่วงเวลาระหว่างการเนรเทศ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย เมื่อชุมชนชาวยิวต้องประสบกับความยากลำบากทั้งจากภายในและภายนอก การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนจะต้องประกอบด้วยความถ่อมตน และวางใจต่อพระเจ้าอย่างเต็มที่ เพลงสดุดีบทนี้เป็นตัวอย่างงดงามในการแสดงความรู้สึกเช่นนี้
เพลงสดุดีที่ 124
พระยาห์เวห์ทรงช่วยอิสราเอลให้รอดพ้น
    สดด บทนี้เป็นเพลงที่ชุมชนใช้ขับร้องขอบพระคุณพระเจ้า เราบอกไม่ได้ว่าแต่งขึ้นในโอกาสใด ภาษาที่ใช้ชวนให้คิดว่าแต่งขึ้นในสมัยหลังเนรเทศแน่ๆ  อย่างไรก็ตาม สดด บทนี้เป็นเพลงสดุดีซึ่งเหมาะกับพิธีกรรมขอบพระคุณพระเจ้า ที่ทรงปกป้องประชากรของพระองค์ตลอดมาในประวัติศาสตร์ของเขา เมื่อใช้ สดด บทนี้ในการอธิษฐานภาวนา คริสตชนจะต้องขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับความคุ้มครองที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่า จะทรงปกป้องพระศาสนจักรไว้ตราบจนสิ้นพิภพ ไม่ให้ศัตรูเอาชนะพระศาสนจักรได้ (เทียบ มธ 16:18; 28:20)
เพลงสดุดีที่ 125
พระเจ้าทรงคุ้มครองผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์
เราจะเข้าใจ สดด บทนี้ได้เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ในสมัยหลังกลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้วนานใช้ได้ ขณะนั้นศาสนายูดายถูกคุกคามจากอิทธิพลของชนต่างชาติที่เข้ามาปกครอง ประชากรอิสราเอลแสดงความวางใจว่าพระเจ้าพระทรงพิทักษ์รักษาตนไว้ เสมือนเป็นภูเขาที่ล้อมกรุงเยรูซาเล็มอยู่ โดยวิธีนี้เขาจะไม่ได้รับความแปดเปื้อนจากคนชั่ว ในโลกปัจจุบันนี้บรรดาคริสตชนก็ถูกคุกคามจากการประจญต่างๆโดยรอบ แต่ทว่าคำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าให้ความหวังแก่เขาอยู่เสมอ “ข้าพเจ้ามิได้วอขอพระองค์ให้ทรงยกเขาออกจากโลก แต่ขอให้ทรงรักษาเขาให้พ้นจากมารร้าย” (ยน 17:15) ในบทข้าแต่พระบิดา พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราวอนขอให้พ้นจากมารร้ายด้วยเช่นเดียวกัน (มธ 6:13)
เพลงสดุดีที่ 126
บทเพลงของผู้กลับจากแดนเนรเทศ
เราเข้าใจได้ไม่ยากว่าเมื่อกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนนั้น ชาวยิวมีความยินดีและความกระตือรือร้นอย่างมาก แต่ต่อมาไม่ช้าเขาก็รู้สึกว่าการสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่นั้นเป็นงานยากลำบากทีเดียว สดด บทนี้เป็นเพลงอ้อนวอนขอพระเจ้าให้ทรงอวยพรแผ่นดินและประทานให้เขามีโชคดีอย่างแต่ก่อน ประชากรอิสราเอลแสดงความหวังว่าการงานและความพยายามของตนจะประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม
เพลงสดุดีที่ 127
ความวางใจในพระญาณเอื้ออาทร
สดด บทนี้เป็นเพลงสดุดีประเภทปรีชาญาณที่สอนว่าความสำเร็จในการประกอบกิจการ หรือการที่สามีภรรยาจะมีบุตรสืบสกุลนั้นไม่เป็นผลจากความพยายามของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นของประทานจากพระเจ้า สดด บทนี้มิได้ต่อต้านความพยายามหรือการงานของมนุษย์เลย เพียงแต่ประณามท่าทีโอหังของมนุษย์ ที่คิดว่าตนจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า โลกปัจจุบันของเราอยู่ในอันตรายที่จะลืมความจริงประการนี้ และคิดว่ามนุษย์เรามีความสามารถพอที่จะสร้างบ้านเมือง และสร้างครอบครัวของตนหรือของนานาชาติได้โดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า ความตั้งใจเช่นนี้จะเป็นจริงไปไม่ได้ ถ้ามนุษย์ไม่เคารพกฎของพระเจ้า และให้กฎนี้ควบคุมกิจการต่างๆของตน คริสตชนจึงมีพันธะที่จะดำเนินชีวิตเป็นแบบฉบับแก่โลก เพื่อเตือนให้ระลึกถึงความจริงประการนี้
เพลงสดุดีที่ 128
พระเจ้าทรงอวยพรผู้จงรักภักดี
เพลงสดุดีประเภทปรีชาญาณบทนี้ เป็นภาพของครอบครัวของผู้มีใจศรัทธาที่พระเจ้าประทานพระพรให้มีความสุข ทั้งในด้านวัตถุและด้านจิตใจ สดด บทนี้เน้นว่าการมีบุตรหลายคนเป็นพระพรพิเศษจากพระเจ้า ในความหมายของคริสตชน สดด บทนี้เป็นภาพของพระศาสนจักรในอุดมการณ์ พระศาสนจักรเป็นเสมือนภรรยาที่มีพระคริสตเจ้าเป็นเสมือนสามี บรรดาสัตบุรุษเป็นเสมือนบุตรที่อยู่รอบโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นอาหารฝ่ายจิต อย่างไรก็ตามสังคมปัจจุบันกำลังคุกคามคุณค่าของครอบครัวคริสตชนด้วยวิธีการต่างๆ เราจึงต้องพยายามปกป้องศักดิ์ศรีและค่านิยมของครอบครัวคริสตชนไว้ เพื่อทำให้ภาพของพระศาสนจักรในฐานะครอบครัวของพระเจ้าปรากฏเด่นชัดได้ในสังคมปัจจุบัน
เพลงสดุดีที่ 129
คำสาปแช่งศัตรูแห่งศิโยน
สดด บทนี้แสดงความมั่นใจที่ชุมชนมีต่อพระเจ้า ผู้ประพันธ์หวนคิดถึงช่วงเวลาในอดีต ที่หลายครั้งชนต่างชาติได้เบียดเบียนประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร การที่พระองค์ทรงช่วยเขาให้รอดพ้นเสมอมาในอดีต เป็นเหตุผลให้เขาขอบพระคุณและวางใจได้ว่าพระองค์จะทรงทำเช่นนั้นต่อไปในอนาคต เขาจึงวอนขอให้พระองค์ทรงลงโทษศัตรู   เมื่อคริสตชนอธิษฐานภาวนาโดยใช้ สดด บทนี้ เขาอาจคิดถึงการเบียดเบียนที่พระศาสนจักรได้รับในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ และขอบพระคุณพระองค์ซึ่งไม่ทรงยอมให้ศัตรูเอาชนะพระศาสนจักรได้ ตามที่พระคริสตเจ้าทรงสัญญาไว้ (มธ 16:18)
เพลงสดุดีที่ 130
การรอคอยให้พระเจ้าทรงไถ่กู้
สดด ประเภท “คำอ้อนวอน” บทนี้เป็นหนึ่งในจำนวน “เพลงสดุดีขอสมาโทษ” 7 บท (ได้แก่ สดด 6; 12; 38; 51; 102; 130; 143) สดด 130 นี้เป็นบทที่ใช้บ่อยที่สุดทั้งในพิธีกรรมและในการภาวนาส่วนตัวควบคู่กับ สดด 51 เพลงสดุดีบทนี้สอนเรื่องชีวิตภายในอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลร้ายของบาป และยังสอนด้วยว่าพระเจ้าทรงพระกรุณาและทรงความรักอันใหญ่หลวง ทรงพร้อมเสมอที่จะให้อภัย สำหรับคริสตชน ไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าพระเจ้าทรงถือว่าบาปเป็นเรื่องหนัก แต่ความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ก็พร้อมเสมอจะให้อภัย
เพลงสดุดีที่ 131
ความวางใจดุจเด็กน้อย
อาจไม่มีเพลงสดุดีบทใด ที่แสดงความสุภาพถ่อมตนเท่ากับเนื้อหาของ สดด บทนี้ ภาพของทารกน้อยในอ้อมกอดของมารดาสะท้อนความเชื่อและความวางใจอย่างสมบูรณ์ ที่อิสราเอลมีต่อพระเจ้าให้เห็นได้อย่างชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงสอนว่าถ้าเราไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ เราจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้ (มธ 18:3)
เพลงสดุดีที่ 132
สัญลักษณ์การประทับอยู่ของพระเจ้า
เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์บทนี้ เป็นเพลงสดุดีเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์บทหนึ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งในธรรมประเพณีของชาวยิวและของคริสตชน แต่เดิม สดด บทนี้ใช้ในพิธีกรรมระลึกถึงการที่กษัตริย์ดาวิดทรงอัญเชิญหีบพันธสัญญา เข้ามาประดิษฐานที่กรุงเยรูซาเล็ม ตามที่มีเล่าอยู่ใน 2 ซมอ 6 เพลงสดุดีบทนี้เน้นความคิดสองประการที่มีความสำคัญพิเศษ ในเทววิทยาของพันธสัญญาเดิม คือ การที่กษัตริย์ดาวิดทรงสาบานว่าจะทรงสร้างที่ประทับถวายพระเจ้า และการที่พระเจ้าทรงสัญญาจะสถาปนาพระราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด และทรงเลือกเนินศิโยนเป็นที่ประทับของพระองค์ตลอดไป (ดู 2 ซมอ 7) สำหรับชาวยิว พระสัญญาของพระเจ้ากับกษัตริย์ดาวิดยังไม่เป็นความจริง เขายังรอคอยอยู่จนบัดนี้ ส่วนสำหรับคริสตชน พระสัญญานี้เป็นความจริงแล้วอย่างสมบูรณ์ในองค์พระเยซูเจ้า (ลก 1:31-33)
เพลงสดุดีที่ 133
ความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง
เพลงสดุดีประเภทปรีชาญาณบทนี้ แต่เดิมอาจหมายถึงครอบครัวชาวอิสราเอลในความหมายตามตัวอักษร แต่การที่ สดด บทนี้ในปัจจุบันจัดไว้ในหมวด “เพลงของผู้แสวงบุญ” ทำให้ สดด บทนี้หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียวฉันพี่น้องของประชากรของพระเจ้าที่มาชุมนุมนมัสการพระองค์ ในการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานขอให้บรรดาศิษย์ของพระองค์มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว โดยมีความรักต่อกันเป็นเครื่องหมาย คริสตชนจึงมีหน้าที่ที่จะเสริมสร้างเอกภาพภายในพระศาสนจักรและในสังคมโดยส่วนรวมด้วย
เพลงสดุดีที่ 134
บทอธิษฐานภาวนาเวลาค่ำ
เพลงสดุดีสั้นๆ และไพเราะบทนี้เป็นบทสุดท้ายใน 15 บทของเพลงสดุดีชุด “บทเพลงของผู้แสวงบุญ” เป็นเวลาเย็นแล้ว บรรดาผู้แสวงบุญกำลังออกจากบริเวณพระวิหาร จึงเชิญชวนบรรดาสมณะและนักขับร้องประจำพระวิหาร ให้สรรเสริญพระเจ้าในพิธีกรรมเวลาค่ำ บรรดาสมณะจึงกล่าวอวยพรบรรดาผู้แสวงบุญซึ่งกำลังจะจากไป พระเยซูเจ้าทรงใช้เวลากลางคืนเพื่ออธิษฐานภาวนาบ่อยๆ (เทียบ ลก 6:12) ทรงสอนบรรดาศิษย์ให้อธิษฐานภาวนาอยู่เสมอ (ลก 18:1) นักบุญเปาโลก็เตือนชาวเธสะโลนิกาให้ “อธิษฐานภาวนาโดยไม่หยุดหย่อน” ด้วย (1 ธส 5:17)
เพลงสดุดีที่ 135
เพลงสรรเสริญพระเจ้า
    สดด บทนี้เป็นเพลงใช้ในพิธีกรรมเพื่อสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าซึ่งปรากฏในการเนรมิตสร้าง และในพระราชกิจยิ่งใหญ่ที่ทรงกระทำ เพื่อช่วยประชากรของพระองค์ในการอพยพและเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน บรรดารูปเคารพของนานาชาติล้วนเป็นผลงานที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ต่างกับพระเจ้าของอิสราเอลโดยสิ้นเชิง บรรดารูปเคารพเหล่านี้จึงช่วยผู้นมัสการให้รอดพ้นไม่ได้ คริสตชนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ถูกประจญให้วางใจในรูปเคารพของโลกสมัยใหม่ แทนที่จะวางใจในพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาของพระเยซูคริสตเจ้า ความเชื่อที่แสดงออกใน สดด  บทนี้น่าจะเป็นพลังบันดาลใจสำหรับเราทุกคน
เพลงสดุดีที่ 136
บทอธิษฐานภาวนาขอบพระคุณ
    สดด บทนี้เป็นเพลงสรรเสริญที่ยิ่งใหญ่บทหนึ่งในหนังสือเพลงสดุดี ต้องการยกย่องความรักมั่นคงใหญ่หลวงที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรอิสราเอลตลอดมา ลีลาของเพลงสดุดีบทนี้อยู่ที่สร้อยตอบรับ โดยบรรทัดที่สองของแต่ละข้อเป็นสร้อยตอบรับย้ำถึงความรักมั่นคงของพระเจ้าซึ่งดำรงอยู่ตลอดนิรันดร ความรักมั่นคงนี้แสดงให้ปรากฏในการเนรมิตสร้างโลก และในขั้นตอนต่างๆ ของประวัติศาสตร์ ซึ่งในที่สุดจะนำชนชาวอิสราเอลเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนแห่งพระสัญญาดังที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ เหตุผลประการสุดท้ายที่เราจะต้องสรรเสริญพระองค์คือการที่ทรงเอื้ออาทรดูแลทุกสิ่งที่ทรงสร้างไว้ เพลงสดุดีบทนี้ยังมีที่ว่างให้คริสตชนเพิ่มเติมรายการพระพรต่างๆ ที่พระเจ้าประทานให้เขาในพระคริสตเจ้าเข้าไปอีกได้
เพลงสดุดีที่ 137
บทเพลงของผู้ถูกเนรเทศ
    สดด บทนี้เป็นเพลงคร่ำครวญของชุมชนในถิ่นเนรเทศ ผู้ประพันธ์ซึ่งคงจะเป็นนักดนตรีประจำพระวิหาร และถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน ได้รับเชิญให้ขับร้องเพื่อความรื่นรมย์ของผู้ฟัง แต่เขาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำเชิญนี้ เมื่อระลึกถึงความทุกข์ยากที่เพื่อนร่วมชาติได้รับในช่วงเวลาเนรเทศ เขารู้สึกว่าเมื่อถูกเนรเทศมาอยู่ต่างแดนเช่นนี้ เขาต้องสูญเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องอยู่ห่างไกลจากกรุงเยรูซาเล็มที่เขารัก การระลึกถึงอดีตเช่นนี้ทำให้ผู้ประพันธ์ไม่อาจร้องเพลงให้เป็นที่รื่นรมย์แก่ใครได้ นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังต้องการแก้แค้นเป็นข้อความในบรรทัดสุดท้ายอีกด้วย เมื่อยอห์นและยากอบสองพี่น้องต้องการจะขอไฟจากสวรรค์ให้ลงมาเผาผลาญชาวสะมาเรียที่ไม่ยอมต้อนรับพระเยซูเจ้านั้น พระองค์ทรงตำหนิเขาทั้งสองอย่างรุนแรง (ลก 9:52-55) เมื่อรู้คำสอนและเห็นกระทำของพระเยซูเจ้าเช่นนี้แล้ว เราคริสตชนจะต้องละเว้นไม่แก้แค้นเลย
เพลงสดุดีที่ 138
บทเพลงขอบพระคุณพระเจ้า
ผู้ประพันธ์ สดด บทนี้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนชุมชน ขอบพระคุณพระเจ้าสำหร้บพระพรต่างๆ ที่เคยได้รับมา เขาเคยสัมผัสกับความรักมั่นคงของพระเจ้าแล้ว จึงมั่นใจว่าพระองค์จะทรงคุ้มครองเขาให้พ้นจากอันตรายในอนาคตด้วย เขายังปรารถนาให้ชนต่างชาติรับรู้ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าแห่งอิสราเอลว่าทรงดูแลมนุษย์ทุกคน คริสตชนย่อมมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ในความรักจนถึงที่สุด นักบุญเปาโลเขียนถึง คริสตชนชาวฟีลิปปีว่า “ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระเจ้าผู้ทรงเริ่มกิจการที่ดีนี้ในท่านแล้ว จะทรงกระทำต่อไปให้สำเร็จบริบูรณ์จนถึงวันของพระคริสตเยซู” (ฟป 1:6)
เพลงสดุดีที่ 139
สรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงรอบรู้
เพลงสดุดีประเภทปรีชาญาณบทนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการคำนึงถึงพระเจ้าโดยสนทนากับพระองค์ เนื้อหาส่วนใหญ่ของเพลงสดุดีบทนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงรู้จักมนุษย์อย่างสมบูรณ์และกล่าวถึงการที่พระเจ้าประทับอยู่ในทุกส่วนของจักรวาล นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการที่ทรงสร้างจักรวาลอย่างน่าพิศวงอีกด้วย ส่วนสุดท้ายของเพลงสดุดีเป็นคำภาวนาขอให้พระเจ้าทรงขจัดคนชั่วทั้งหลายให้หมดสิ้น เราจะต้องมีสันติและความสงบใจเสมอเพราะรู้ว่าเราอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระบิดาผู้ทรงรักเรานั่นเอง
เพลงสดุดีที่ 140
คำวอนขอให้พ้นจากคนชั่วร้าย
สดด บทนี้เป็นตัวอย่างของเพลงสดุดีอ้อนวอนที่ผู้ประพันธ์วอนขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเขาให้รอดพ้นจากศัตรู ผู้ประพันธ์ใช้ภาษาที่ใช้กันเป็นสูตรบรรยายถึงความทุกข์ที่ได้รับ เราจึงไม่อาจบอกได้ว่าเขาอยู่ในสภาพการณ์อย่างไรแน่ อาจจะเป็นการดีถ้าจะเข้าใจว่า สดด บทนี้กล่าวถึงประสบการณ์อันขมขื่นของประชากรอิสราเอล เมื่อถูกชนต่างชาติเบียดเบียนข่มเหงตลอดเวลาในอดีต ประวัติของพระศาสนจักรและของคริสตชนแต่ละคนก็เป็นเช่นนี้บ่อยๆ เพราะฉะนั้นเพลงสดุดีบทนี้จึงเป็นคำภาวนาของคริสตชนได้อย่างดี
เพลงสดุดีที่ 141
คำวอนขออย่าให้แพ้การประจญ
ผู้ประพันธ์ใช้ สดด ประเภทคำอ้อนวอนบทนี้แสดงความปรารถนาจะถอยห่างจากคนชั่ว ที่พยายามชักชวนเขาให้มาร่วมโต๊ะเพื่อสร้างมิตรภาพและดำเนินชีวิตแบบเดียวกัน เขาวอนขอพระเจ้าให้ประทานกำลังและทรงคุ้มครองไม่ให้เขาต้องพ่ายแพ้ต่อการประจญ คริสตชนจะต้องประสบกับสถานการณ์คล้ายกันนี้ด้วย พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนให้เราเฝ้าระวังและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่ต้องพ่ายแพ้แก่การประจญ (เทียบ มธ 6:13; 26:41)
เพลงสดุดีที่ 142
คำภาวนาของผู้ถูกเบียดเบียน
ผู้ประพันธ์คำอ้อนวอนบทนี้ถูกจองจำ เพราะถูกกล่าวหาโดยที่มิได้ทำผิดอะไร. “เรือนจำ” ในที่นี้อาจเป็นภาพเปรียบเทียบถึงความทุกข์ที่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกเบียดเบียน และถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว แต่เขาก็มั่นใจว่าถึงมนุษย์จะไม่มาช่วย พระเจ้าจะเสด็จมาช่วยเหลือตนอย่างแน่นอน ความคิดที่น่าสังเกตใน สดด บทนี้คือผู้ประพันธ์มิได้วอนขอพระเจ้า ให้ทรงทำลายศัตรูเหมือนในเพลงสดุดีประเภทอ้อนวอนทั่วๆ ไป คริสตชนจึงแลเห็นภาพของพระคริสตเจ้าผู้ทรงรับทรมานได้อย่างชัดเจนใน สดด บทนี้
เพลงสดุดีที่ 143
คำวอนขออย่างถ่อมตน
สดด บทนี้เป็นบทสุดท้ายในบรรดา “เพลงสดุดีขอสมาโทษ” ทั้ง 7 บท (สดด 6; 32; 38; 51; 102; 130; 143) ผู้ประพันธ์สำนึกในความผิดของตน จึงภาวนาขอพระเมตตาจากพระเจ้ามากกว่าขอความยุติธรรมให้ทรงลงโทษศัตรูผู้ทำร้ายตน คำภาวนาของเขาได้พลังบันดาลใจมาจากความซื่อสัตย์ที่พระเจ้าทรงสำแดงในอดีตเพื่อช่วยเหลือประชากรของพระองค์ เมื่อคริสตชนใช้ สดด บทนี้ภาวนา จึงควรระลึกว่าตนเป็นคนบาป พร้อมกับระลึกถึงพระทัยดีและความรักของพระบิดาในนิทานเปรียบเทียบเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” (หรือเรื่อง “บิดาผู้ใจดี”) (ลก 15:11-32) และคิดถึงคำสอนของนักบุญเปาโลที่ว่าความชอบธรรมของเรามิได้มาจากกิจการดีงามที่เราทำ แต่มาจากกิจการกอบกู้ของพระคริสตเจ้า (เทียบ รม 3:20,24,28; 5:;1; กท 2:16; 3:11)
เพลงสดุดีที่ 144
คำภาวนาขอชัยชนะ
เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์บทนี้ ชวนให้คิดถึงพิธีกรรมที่พระราชาในฐานะจอมทัพของประชากรอิสราเอลวอนขอพระเจ้าก่อนจะทรงยาตราทัพออกไปทำสงคราม หรือเมื่อเสด็จกลับมาเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า สดด บทนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก สดด 18 อย่างมาก เพลงสดุดีทั้งสองบทอาจใช้ในโอกาสเดียวกัน ภาคหลังของ สดด บทนี้แสดงความปรารถนาของพระราชาที่จะเห็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ ในสมัยที่อิสราเอลไม่มีกษัตริย์ปกครองอีกต่อไป สดด บทนี้คงได้รับความหมายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ แสดงความหวังถึงอนาคตอันรุ่งเรืองของอิสราเอล เราคริสตชนเข้าใจว่าความหวังดังกล่าวสำเร็จเป็นความจริงแล้วในองค์พระคริสตเจ้า
เพลงสดุดีที่ 145
เพลงสรรเสริญพระยาห์เวห์ทรงเป็นกษัตริย์
    สดด บทนี้เป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์แห่งสกลจักรวาลตลอดนิรันดร เขียนขึ้นในแบบกลบทอักษร แต่ละข้อเริ่มต้นด้วยพยัญชนะภาษาฮีบรูเรียงตามลำดับเหมือน สดด 9-10; 25; 119 ความคิดหลักใน สดด บทนี้คือความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และความดีของพระองค์ในการเนรมิตสร้างสรรพสิ่ง มนุษย์จะต้องประกาศความยิ่งใหญ่และความดีนี้ต่อๆ ไปทุกยุคทุกสมัย พระเยซูเจ้าทรงสำแดงให้เรารู้จักพระอานุภาพและความดีของพระเจ้า และทรงสรรเสริญพระบิดา (มธ 11:25) จดหมายถึงชาวเอเฟซัสเริ่มด้วยรายการยืดยาวของพระพร ที่คริสตชนได้รับในองค์พระคริสตเจ้า คริสตชนทุกคนจึงต้องตอบสนองโดยสรรเสริญขอบพระคุณพระองค์โดยไม่หยุดยั้ง (เทียบ อฟ 1:3-14)
เพลงสดุดีที่ 146
เพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้ประทานความช่วยเหลือ
    สดด บทนี้เป็นบทแรกในบรรดาเพลงสดุดี “ฮัลเลลูยา” 5 บทซึ่งปิดท้ายหนังสือเพลงสดุดี แต่ละบทจะเริ่มต้นและลงท้ายด้วยข้อความที่ใช้ในพิธีกรรม “ฮัลเลลูยา” = “จงสรรเสริญพระยาห์เวห์เถิด” ผู้ประพันธ์ สดด บทนี้ในลีลาแบบวรรณกรรมปรีชาญาณชี้ให้เห็นความโง่เขลาของผู้ที่วางใจในมนุษย์ที่ตายได้ แทนที่จะแสวงหาความรอดพ้นจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นอมต ต่อจากนั้นเขายกย่องความดีที่พระเจ้าทรงมีต่อผู้ที่อยู่ในความทุกข์ยาก ผู้ถูกจองจำ คนตาบอด  คนถูกรังแก คนต่างด้าว ลูกกำพร้าและหญิงม่าย พระเยซูเจ้าทรงบอกในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธว่าพระองค์ทรงมีภารกิจเช่นเดียวกันนี้ด้วย (เทียบ ลก 4:16-21) คริสตชนแต่ละคนได้รับเรียกมาในสืบทอดภารกิจเช่นนี้ในหมู่ผู้ยากจนขัดสนในปัจจุบันนี้ด้วย
เพลงสดุดีที่ 147
เพลงสรรเสริญพระผู้ทรงสรรพานุภาพ
ภาคแรกของ สดด บทนี้เป็นการสรรเสริญพระเจ้าที่ทรงนำประชากรอิสราเอลกลับจากแดนเนรเทศ และทรงฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ ภาคที่สองสรรเสริญพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้สร้าง และทรงจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับสรรพสิ่งที่ทรงสร้างไว้ ส่วนภาคสุดท้าย ผู้ประพันธ์เชิญชวนกรุงเยรูซาเล็มโดยเฉพาะให้สรรเสริญพระเจ้าที่ประทานพระพรพิเศษ คือความปลอดภัย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตน แต่พระพรพิเศษสุดที่ไม่เคยประทานให้แก่ผู้ใดเลย คือการที่ทรงเปิดเผยความจริงในรูปแบบของธรรมบัญญัติ พระพรนี้พระองค์ทรงสงวนไว้สำหรับอิสราเอลเท่านั้น พระพรพิเศษที่พระเจ้าประทานแก่กรุงเยรูซาเล็มและอิสราเอลนั้นบัดนี้ตกเป็นของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นเสมือนประชากรอิสราเอลใหม่ของพระเจ้า
    สำนวนแปลภาษากรีกและละตินแบ่ง สดด บทนี้ออกเป็นสองบท ได้แก่ สดด 147:1-11 เป็น สดด 146 (กรีกและละติน) และ สดด 147:12-20 เป็น สดด 147 (กรีกและละติน) ตั้งแต่ สดด 148 เป็นต้นไป เลขประจำเพลงสดุดีจะตรงกันอีกทั้งในฉบับภาษาฮีบรู กรีกและละติน
เพลงสดุดีที่  148
จักรวาลสรรเสริญพระเจ้า
    ใน สดด บทนี้ ผู้ประพันธ์เชิญชวนสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างทั้งบนท้องฟ้าและบนแผ่นดิน ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ให้สรรเสริญพระเจ้า อิสราเอลซึ่งเป็นประชากรที่ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุดจะต้องเป็นผู้นำในการสรรเสริญนี้ บัดนี้ คริสตชนได้รับเกียรติให้เป็นประชากรอิสราเอลใหม่ จึงต้องรับหน้าที่นี้เป็นของตนด้วย
เพลงสดุดีที่ 149
เพลงฉลองชัย
สดด บทนี้เชิญชวนประชาชนให้ขับร้องและเต้นรำสรรเสริญพระเจ้า แต่ประชาชนยังถือดาบพร้อมที่จะปกป้องนครศิโยนอีกด้วย สดด บทนี้น่าจะมีกำเนิดขึ้นในพิธีกรรมเฉลิมฉลองชัยชนะที่อิสราเอลเคยพิชิตศัตรูในอดีต เป็นการแสดงการต่อสู้ให้อนุชนในปัจจุบันได้แลเห็น และเป็นประกันว่าเขาจะได้รับชัยชนะด้วยเมื่อจะต้องต่อสู้ในอนาคต คริสตชนไม่ควรจะใช้ดาบเพื่อต่อสู้กับศัตรูของพระศาสนจักร (เทียบ มธ 26:52) แต่เขาอาจใช้ “อาวุธยุทธภัณฑ์ของพระเจ้า” (อฟ 6:11) “เกราะศีรษะแห่งความรอดพ้น ดาบของพระจิตเจ้า ซึ่งได้แก่พระวาจาของพระเจ้า” (เทียบ อฟ 6:17) เพื่อต่อสู้กับศัตรูฝ่ายจิตที่มีกำลังเหนือกว่าได้ (เทียบ อฟ 6:12)
เพลงสดุดีที่ 150
เพลงสรรเสริญส่งท้าย
    เป็นการเหมาะสมแล้ว ที่เพลงบทสุดท้ายในหนังสือเพลงสดุดีจะเป็นการเชิญชวนสรรพสิ่งในโลก และบนสวรรค์ให้บรรเลงดนตรีสรรเสริญพระเจ้า พร้อมกับนักดนตรีและนักเต้นรำของพระวิหาร สดด บทนี้เป็นบทเพลงสรรเสริญเพื่อปิดหนังสือเพลงสดุดีทั้ง 150 บท จึงรื้อฟื้นเจตนาของเพลงสดุดีแต่ละบทอีกครั้งหนึ่ง เพลงเหล่านี้มีไว้เพื่อ “สรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” (เทียบ อฟ 1:12,14) แต่เจตนานี้จะสำเร็จบริบูรณ์ได้ในอนาคตเท่านั้น “เมื่อนั้นข้าพเจ้าได้ยินเสียงสิ่งสร้างทั้งมวล ทั้งที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดิน ทั้งใต้พิภพและในทะเล และทุกสิ่งที่อยู่ในที่เหล่านั้น ร้องสรรเสริญว่า “พระองค์ผู้ประทับบนพระบัลลังก์และลูกแกะจงได้รับคำถวายพระพร พระเกียรติยศ พระสิริรุ่งโรจน์และอำนาจปกครอง ตลอดนิรันดรเทอญ” (วว 5:13)