แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ภาคสาม : ข้อพึงปฏิบัติ
11.    ภาวนาด้วยพระคัมภีร์
    มาร์ติน ลูเธอร์ บอกว่า “พระคัมภีร์มีชีวิตและพูดกับข้าพเจ้า มีเท้าซึ่งวิ่งไล่กวดข้าพเจ้า มีมือซึ่งจับข้าพเจ้าไว้” เขากำลังสะท้อนความจริงที่พระศาสนจักรรู้มาโดยตลอด แต่เรามักจะลืม ความจริงนั้นคือ “พระวาจาของพระเจ้าเป็นพระวาจาที่มีชีวิต และบังเกิดผล คมยิ่งกว่าดาบสองคมใด ๆ” (ฮบ 4:12)

    พระคัมภีร์เป็นคู่มือฉบับแรกของคริสตชน ไม่ใช่หนังสือ กฎข้อบังคับ แม้ว่าจะมีระบุอยู่บ้าง ไม่ใช่หนังสือแนะนำเทคนิคทางศาสนา แม้ว่ามีข้อเสนอแนวทางปฏิบัติอยู่มากมาย ไม่ใช่หนังสือไขรหัสสำหรับผู้ที่เรียนรู้เรื่องศาสนา แม้ว่ามีข้อความมากมายให้นักเทววิทยาต้องขบคิด แต่โดยเนื้อแท้แล้ว พระคัมภีร์เป็นหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์หนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและประชากรที่ดื้อดึงของพระองค์ และบอกเราว่าพระเจ้าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อ
ทำให้ความสัมพันธ์นี้กลับคืนสู่สภาพเดิมและพัฒนาต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ พระคัมภีร์จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการภาวนา เพราะการภาวนาก็เป็นความสัมพันธ์อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน คือความสัมพันธ์ระหว่างเราและพระเจ้า เป็นสนามประลองของความรักและความจงรักภักดี การต่อสู้และความล้มเหลว การค้นพบและความยินดี
    พระคัมภีร์เป็นเพื่อนที่นำเราไปสู่การภาวนา เพื่อนที่เรารัก และไว้วางใจ แม้ว่าเราไม่เข้าใจ หรือเห็นด้วยเสมอไป แต่ตลอดเวลาที่อ่าน เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเอง และเกี่ยวกับพระเจ้า ผู้ทรงเป็นทั้งผู้เขียนส่วนหนึ่งของบทละคร และผู้กำกับการแสดงที่สร้างแรงบันดาลใจ
ให้ตัวละครแสดงออกมาได้ดีที่สุด
    เราหยิบพระคัมภีร์ขึ้นมา มิใช่เพื่อศึกษาหาความรู้ แต่เพื่อภาวนาด้วย

คำถาม
    คุณเคยใช้พระคัมภีร์เป็นประจำในการภาวนาหรือไม่ คุณเคย
ใช้ถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นหลักในการภาวนาหรือเปล่า และถ้าเคย คุณพร้อมหรือไม่ที่จะลองใช้พระคัมภีร์ในการภาวนาแบบอื่น ๆ

ลองทำดู
•    บทที่ 8 (จัดเวลาเป็นพิเศษสำหรับภาวนา) เสนอวิธีการง่าย ๆ
ในการอ่านพระคัมภีร์ และการภาวนา คือ เวลาเงียบสงบ
สวดบททำวัตร และพื้นที่เปิด บัดนี้ อาจเป็นเวลาเหมาะสมที่จะทดลองปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเหล่านั้น
•    จดข้อความที่พูดกับคุณ เมื่อคุณอ่านพระคัมภีร์ในตอนเช้า หรือเมื่อคืนก่อน และท่องในใจเสมือนเป็นคติพจน์สำหรับวันนั้น คุณสามารถพูดทวนข้อความนั้นเป็นครั้งคราวระหว่างวัน และใคร่ครวญความหมาย ข้อความนี้จะเตือนใจคุณว่าพระเจ้าประทับอยู่กับคุณ และอาจให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ หรือท้าทายคุณ ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อความ เช่น ถ้าคุณอ่านจดหมายถึงชาวโคโลสี 3 คุณสามารถเลือกข้อความต่อไปนี้
    “จงเห็นอกเห็นใจกัน จงมีความใจดี ความถ่อมตน ความอ่อนโยน และความพากเพียร ความอดทน เป็นเสมือนเครื่องประดับตน”
    “จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน หากมีเรื่องผิดใจกัน
ก็จงยกโทษกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยความผิดของท่านอย่างไร ท่านก็จงให้อภัยแก่เขาอย่างนั้นเถิด”
    “ขอให้สันติสุขของพระเจ้าครอบครองดวงใจของท่าน”
    “ถ้าท่านทั้งหลายกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว
ก็จงใฝ่หาแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบนเถิด ณ ที่นั้น พระคริสตเจ้าประทับเบื้องขวาของพระเจ้า”
    หนึ่งในวิธีการภาวนาด้วยพระคัมภีร์ที่ผ่านการทดสอบ และพิสูจน์คุณค่ามาแล้ว คือ Lectio divina ซึ่งเป็นวิธีโบราณตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ และพัฒนาขึ้นในชุมชนนักพรตในพระศาสนจักรยุคต้นในทะเลทรายของทวีปอัฟริกาเหนือ และต่อมาได้กลายเป็นวิธีภาวนาในคณะนักบวชของนักบุญเบเนดิกต์ การภาวนาวิธีนี้ในรูปแบบปัจจุบันสามารถอธิบายได้ด้วยคำ 3 คำ ดังนี้
1.    อ่าน (Read) - เลือกหนึ่งข้อความ คุณอาจกำลังอ่านจดหมายฉบับหนึ่งของนักบุญเปาโล หรือบทสดุดี หรือบทเทศน์บนภูเขาใน มัทธิว 5-7 ให้เริ่มอ่านอย่างตั้งใจช้า ๆ จนกระทั่งมีวลีหนึ่ง หรือคำหนึ่ง หรือข้อความข้อหนึ่งสะดุดใจคุณ ซึ่งรับรองได้ว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า วลีหนึ่งจะกระโดดขึ้นมา และเรียกร้องให้คุณให้ความสนใจอย่างจริงจัง
2.    ไตร่ตรอง (Reflect) - นี่คือเวลาสำหรับสมาธิจิตภาวนา หรือนำข้อความที่สะดุดใจนี้ไปเคี้ยวเอื้อง คุณควรอ่านซ้ำ พลิกข้อความนั้นกลับไปมาในใจ พิจารณาจากมุมนี้ มุมนั้น อ่านซ้ำอีกครั้ง ค่อย ๆ ดูดซับความหอมหวานจากข้อความนั้น นี่คือกระบวนการไตร่ตรอง พยายามให้ความหมายของวลีนั้นเคลื่อนตัวช้า ๆ จากสมองของคุณ ลงไปยังหัวใจของคุณ อย่าบังคับ เพียงแต่ปล่อยให้นัยสำคัญของคำพูดเหล่านั้นเผยตัวออกมาตามธรรมชาติภายในตัวคุณ และลิ้มรสความ
หอมหวาน
3.    ตอบสนอง (Respond) - เมื่อการไตร่ตรองจบลงตามธรรมชาติ ให้หันไปภาวนากับความคิด และความเข้าใจที่เอ่อล้นขึ้นมาจากภายในตัวคุณ ซึ่งหมายความว่าคุณอาจต้องการขอบพระคุณพระเจ้า หรือขอโทษพระองค์ หรือแสดงความตั้งใจจริงบางอย่างเบื้องหน้าพระเจ้า หรือขบคิดบางสิ่งบางอย่างพร้อมกับพระองค์ หรือเพียงแต่ยกภาระหนึ่งไปถวายพระองค์เงียบ ๆ ให้ใช้เวลากับขั้นตอนนี้เช่นกัน จนกระทั่งคุณไม่มีอะไรจะพูดอีก
        หลังจากนั้น คุณอาจกลับไปอ่านข้อความนั้นอีกครั้งหนึ่ง และดูว่ามีวลีใดกระโดดขึ้นมา คุณสามารถทำเช่นนี้ต่อไป ถ้าคุณมีเวลามากพอ แต่ตามประสบการณ์ ข้าพเจ้าพบว่านี่เป็นวิธีภาวนาที่เข้มข้นมาก และคุณอาจไม่สามารถทำตามกระบวนการนี้ซ้ำได้หลายครั้ง คุณอาจใช้เวลานานมากเพื่ออ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่มด้วยวิธีนี้ – อย่างน้อยก็ชั่วชีวิตของคุณ! แต่ถ้าคุณไม่ต้องการทำตามกระบวนการนี้ซ้ำ คุณสามารถก้าวไปสู่ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย
4.    พักผ่อน (Rest) - นี่คือระยะของความนิ่งที่ไหลออกมาจากการภาวนา ขณะที่คุณหมดคำพูด ความเงียบ และการพักผ่อนจะเข้ามาแทนที่ เราจะพูดถึงการภาวนาด้วยความนิ่งเงียบนี้ในบทที่ 17 (อยู่ในความเงียบ) และบทที่ 18 (เข้าสู่ธรรมล้ำลึก)
คำคม
    สมาธิจิตภาวนาโดยใช้พระคัมภีร์ทำให้เราอยู่ในสภาพที่พร้อมเป็นพิเศษให้พระเจ้าตรัสกับเรา และกระตุ้นให้เราตอบสนอง (ซึ่งอาจเป็นไป) ด้วยการใส่ใจด้วยความรัก ความกตัญญู ความเจ็บปวด ความปรารถนา ความห่วงใย การถวาย การถาม การสำนึกผิดกลับใจ การวางใจ การปล่อยวาง และการสัญญา
                                Martin L. Smith

เรื่องเล่า
    หญิงชาวบ้านคนหนึ่งในประเทศแทนซาเนีย มักเดินไปไหนมาไหนพร้อมกับพระคัมภีร์เล่มหนา เธอไม่ยอมแยกจากพระคัมภีร์นี้เลย เมื่อเพื่อนบ้านพูดเย้าเธอว่า “ทำไมต้องอ่านแต่พระคัมภีร์ มีหนังสืออื่น ๆ อีกมากมายให้เธออ่าน” หญิงนั้นได้แต่ยิ้ม และถือพระคัมภีร์ไปไหนมาไหนต่อไป ในที่สุดวันหนึ่ง เมื่อเธอถูกเย้าแหย่เช่นนี้อีก เธอคุกเข่า
ลงกลางกลุ่มพวกเขา และยกพระคัมภีร์ขึ้นชูไว้เหนือศีรษะ เธอพูดพร้อมกับยิ้มกว้างว่า “ใช่ มีหนังสือมากมายที่ฉันอ่านได้ แต่มีหนังสือเล่มเดียวที่อ่านฉันได้”  และนี่คือหนังสือที่เราวางใจให้นำทางไปสู่การภาวนา

คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการภาวนา
    ลูกา 11:1-13 เป็นคำสั่งสอนส่วนหนึ่งของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการภาวนา ทรงแสดงพระปรีชาญาณในรูปแบบของบทภาวนาข้าแต่
พระบิดา ซึ่งสอนให้เราพากเพียรในการภาวนา และสอนเกี่ยวกับการคาดหวัง ในทำนองเดียวกัน เราพบคำสั่งสอนเกี่ยวกับการภาวนาใน มัทธิว 6:5-15 ซึ่งรวมบทข้าแต่พระบิดา และคำสั่งสอนเกี่ยวกับรูปแบบของการภาวนา และความสำคัญของการให้อภัยด้วย
    เราพอจะเห็นในพระคัมภีร์ว่าพระเยซูเจ้าทรงภาวนาอย่างไร เราเห็นพระองค์เสด็จออกไปอยู่ตามลำพังบนภูเขาเพื่อภาวนา (มธ 14:23) บ่อยครั้ง ในเวลาเช้าตรู่ (มก 1:35) เราเห็นว่าพระองค์ทรงคิดว่าการภาวนาเป็นหนทางเดียวที่จะจัดการกับปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะ
(มก 9:29) และพระองค์ทรงภาวนาอย่างเข้มข้นที่สุด (ลก 22:4-44) พระวรสารของนักบุญยอห์น แสดงตัวอย่างของคำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าในบทที่ 17
    เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ของพระเยซูเจ้ากับพระบิดาเป็นรากฐานของทั้งชีวิตของพระองค์ และเป็นความสัมพันธ์ที่ติดต่อกันด้วยการภาวนาอย่างสม่ำเสมอ การพึ่งพาอาศัยพระเจ้าผ่านทางการภาวนาเป็นเสาหลักของชีวิตของพระองค์

บทภาวนา
    ข้าแต่พระเจ้า
    ผู้ทรงดลใจให้พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้เราเรียนรู้
    โปรดทรงช่วยเราให้ได้ยิน
    ให้อ่าน ใส่ใจ เรียนรู้ และใคร่ครวญข้อความเหล่านี้ในใจ
    เพื่อว่าด้วยความอดทน และด้วยความบรรเทาใจ
    จากพระวาจาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
    เราจะสามารถน้อมรับและยึดมั่นในความหวังแห่งชีวิตนิรันดร
    ซึ่งพระองค์ได้ประทานแก่เราในองค์พระเยซูคริสตเจ้า
    พระผู้ไถ่ของเรา