แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

จัดเวลาเป็นพิเศษสำหรับภาวนา
u16253434    ในบทที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงการภาวนาแบบ “อยู่กันไป” และแบบ “พูดคุย” บัดนี้ เราจะพูดถึงการภาวนาแบบ “ปรึกษาหารือ” เราจะทำอะไรระหว่างเวลาที่เราจัดสรรไว้โดยเฉพาะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า ถ้าเราไม่สละเวลาให้ ความสัมพันธ์นี้ย่อมกระทบกระเทือนไม่ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า หรือไม่ให้เวลา หรือความสนใจอย่างเพียงพอ เราอาจไม่สามารถหาเวลาเช่นนั้นได้ทุกวัน แต่ต้องหาให้ได้ในบางวัน มิฉะนั้น เราจะเห็นความแตกต่าง นักเปียโนคอนเสิร์ตชื่ออาเธอร์ รูบินสไตน์ เคยกล่าวว่า “ถ้าผมไม่ฝึกเล่นเปียโนหนึ่งวัน ผมจะสังเกตเห็นความแตกต่าง ถ้าผมไม่ฝึกสองวัน ครอบครัวของผมจะสังเกตเห็นความแตกต่าง ถ้าผมไม่ฝึกสามวัน ผู้ชมจะสังเกตเห็นความแตกต่าง”

    เวลาใด? สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำเป็นประจำ ไม่สำคัญว่าเป็นเวลาใดตราบใดที่เราทำจนเป็นกิจวัตร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในชีวิตของเรา อาจเป็นเวลาเช้าตรู่ ระหว่างโดยสารรถไฟ ระหว่างพักเที่ยงขณะที่นั่งภายในวัดในเมือง เป็นเวลาหลังอาหารเย็น ทำเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเข้านอน เราต้องยืดหยุ่นเรื่องเวลา แต่ช่วงเวลาภาวนานี้ต้องเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งในชีวิตของเรา แทนที่จะเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งเราจะลืมได้ง่าย
    ที่ใด? สิ่งที่จำเป็นต้องมี คือ สถานที่ซึ่งทำให้เราคิดถึงการภาวนา และเมื่อเราเพียงแต่ไปถึงสถานที่นั้น เราก็ไปหาพระเจ้าได้ครึ่งทางแล้ว สถานที่พิเศษนี้อาจเป็นเก้าอี้ที่ข้างหน้าต่าง หรือในครัว อาจเป็นมุมหนึ่งของห้องหนึ่งที่จัดไว้ให้เป็น “วัดน้อย” พิเศษ หรืออาจเป็นที่นั่งบนรถไฟฟ้า หรือในรถยนต์ หรือส่วนหนึ่งใดของทางเดิน สถานที่มีความสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด เราทุกคนมีสถานที่พิเศษ อาจเป็นสนามฟุตบอล สถานที่พบรักครั้งแรก ทิวทัศน์ของวันหยุดที่มีความสุข สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน เช่น สถานที่ซึ่งสวรรค์เผยตัวให้เราเห็นได้แวบหนึ่ง ที่ซึ่งเราเคยมีประสบการณ์กับธรรมล้ำลึก ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดว่าสถานที่พิเศษของเราควรเป็นที่ใด – ที่บ้าน ในวัด หรือกลางทุ่งนา แต่เมื่อคุณไปถึงสถานที่นั้นแล้ว จงอยู่ที่นั่น นักปรัชญาชื่อปาสกาล กล่าวว่า “ปัญหาส่วนใหญ่ของมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะเขา
ไม่สามารถอยู่ตามลำพังในห้องของตนเองได้”
    ต้องใช้อะไร? คำตอบคือขึ้นอยู่กับความพอใจส่วนตัว หลายคนต้องการตั้งกางเขน หรือรูปเคารพที่เขาจะมองเห็นได้ชัด เทียนมีความหมายเดียวกันสำหรับคนทุกชาติทุกภาษา และการจุดเทียนเป็นเครื่องหมายว่าเรากำลังจะมอบเวลาให้แก่การภาวนา สิ่งสวยงามก็อาจช่วยได้ หลายคนชอบดอกไม้ อาจตั้งเครื่องเล่นซีดี หรือเทป เพื่อ
เปิดเพลงที่เหมาะสมให้เรามีสมาธิ และแน่นอนเราต้องมีพระคัมภีร์ และอาจรวมถึงหนังสือเสริมศรัทธา เพื่อสนับสนุนการภาวนาและการรำพึงของเรา สถานที่นี้ควรเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกสบายใจและคุ้นเคย

คำถาม
    คุณต้องเตรียมการอย่างไร สำหรับการภาวนาในเวลาพิเศษของคุณ

ลองทำดู
    ข้าพเจ้าขอเสนอสามวิธีในการภาวนาในเวลาพิเศษ ดังนี้ (1) เวลาเงียบสงบ (2) สวดบททำวัตร และ (3) พื้นที่เปิด
•    เวลาเงียบสงบ – ตามปกติหมายถึงการใช้เวลาอ่านพระคัมภีร์ และคำอธิบายเกี่ยวกับพระคัมภีร์ และให้บทอ่านเหล่านี้นำคุณไปสู่การภาวนา คำอธิบายพระคัมภีร์ได้มาจากหลายแหล่ง บางแหล่งระบุอยู่ในรายการแหล่งข้อมูลที่ท้ายหนังสือเล่มนี้ เราสามารถใช้เวลาของเราเป็นขั้นตอนดังนี้
    1)    ภาวนาขอให้พระเจ้าประทานความเข้าใจ และปรีชาญาณ
    2)    อ่านบทอ่านพระคัมภีร์สำหรับวันนั้น
    3)    ใคร่ครวญข้อความที่อ่าน เพื่อดูว่าบทอ่านนั้นพูดอะไรกับคุณ
    4)    อ่านคำอธิบาย และใคร่ครวญอีกครั้งหนึ่ง
    5)    นำความคิด และสิ่งที่คุณอ่านมาภาวนา
    การอยู่กับความสงบเงียบนี้เป็นธรรมประเพณีเก่าแก่ และได้รับความนิยมมานาน ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการภาวนาเช่นนี้ คือช่วยนำเราเข้าสู่การอ่านพระคัมภีร์ และนำปรีชาญาณ และความจริง
อันไร้กาลเวลา ไปประยุกต์ใช้ในวันนั้น และในชีวิตของเรา การภาวนาจะไหลออกมาจากการพบปะของเรากับพระคัมภีร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
•    สวดบททำวัตร – บททำวัตรเป็นบทภาวนาขนาดสั้น ประกอบด้วยบทสดุดี บทอ่านจากพระคัมภีร์ และบทภาวนาต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพระศาสนจักรมานานหลายศตวรรษ ไม่ว่าคุณกำลังรู้สึกอย่างไร บทภาวนานี้จะพาคุณไป และนำคุณไปวางไว้เบื้องหน้าพระเจ้าด้วยคำพูดและรูปแบบที่คุณไม่ต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ข้อเสียอย่างหนึ่งก็คือเราอาจท่องบทสวดโดยไม่คิด แต่ข้อดีคือ เราจะถูกตรึงไว้ให้อยู่ต่อหน้าพระเจ้าเสมอ และป้อนด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระเจ้าโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว ตัวอย่าง
ของบทภาวนาที่ใช้ทำวัตรได้คือ Common Worship ของพระ ศาสนจักรแองกลิกัน, Celebrating Common Prayer ของคณะ ฟรังซิสกัน และ Celtic Daily Office จากชุมชนนอร์ทธัมเบรีย
•    พื้นที่เปิด – ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่เราสามารถใช้เวลาพิเศษนี้ได้ดังนี้
1.    สำรวมจิต (Centring) รับข้อมูล (Receiving) ภาวนา (praying)
    เพื่อจะสำรวมจิต เราต้องทำสี่ขั้นตอน ขั้นที่หนึ่ง คือ นั่งให้สบาย แต่ต้องตื่นตัว ขั้นที่สอง ผ่อนคลายร่างกาย โดยเฉพาะส่วนใดในตัวเราที่กำลังตึงเครียด ขั้นที่สาม ฟังเสียงรอบตัวเรา ทั้งเสียงไกลตัวและเสียงใกล้ตัว และขั้นที่สี่ เปิดตนเองต้อนรับพระเจ้า
    เพื่อรับข้อมูล เราสามารถอ่านพระคัมภีร์ หรือหนังสือเสริมศรัทธาใด ๆ ก็ได้ที่เราเลือกไว้ พระคัมภีร์เป็นหนังสือหลัก หนังสือบทเทศน์
บทกวี หนังสือเสริมศรัทธาที่นิยมใช้กันมานาน หรือหนังสือภาวนาสมาธิ
    เพื่อจะภาวนา เราสามารถใช้วิธีภาวนาใด ๆ ก็ได้ที่แนะนำไว้ในหนังสือเล่มนี้ หรือจากแหล่งอื่น ในที่สุด เราจะหมดคำพูด และความเงียบจะเข้ามาแทนที่ นั่นไม่ใช่ปัญหาเพียงแต่อย่าลุกขึ้น จนกว่าคุณจะภาวนาจบ

2.    ดนตรี และความเงียบ
    คุณอาจตอบสนองต่อดนตรีบางประเภทเป็นพิเศษ และอยากเปิดฟังเบา ๆ เพื่อช่วยให้คุณนมัสการพระเจ้าและไตร่ตรอง จากนั้น ปล่อยให้ความเงียบเข้ามาครอบงำ และในพื้นที่เปิดนี้ คุณอาจพูด ฟัง หรือเพียงแต่มอง คุณสามารถใช้รูปภาพ หรือรูปเคารพแทนดนตรีก็ได้ ภาพวาดของแรมบรานด์ ชื่อ การกลับมาของบุตรล้างผลาญ (Return of the Prodigal Son) เป็นแหล่งบันดาลใจอันบริบูรณ์สำหรับ เฮนรี นูเวน ในการเขียนหนังสือชื่อเดียวกันนี้ และคนอื่น ๆ นับพันที่อ่านหนังสือนี้

ภาพเปรียบเทียบ
    เรากำลังทำอะไรเมื่อเราสวดภาวนาด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อนคนหนึ่งเสนอภาพลักษณ์นี้ซึ่งได้มาจากอุปมาเรื่องคนที่สร้างบ้านบนหิน (มธ 7:24-27) เมื่อเราภาวนาก็เหมือนกับเรากำลังเจาะพื้นทำเป็นรูสำหรับลงเสาเข็มฝ่ายจิต ตอนแรกเราเจาะผ่านทราย ซึ่งบ่อยครั้งการภาวนาดูเหมือนเป็นเช่นนี้ คือไม่มีอะไรมั่นคง ดูเหมือนเสียเวลา หลงอยู่กับความคิดวกวนของตนเอง แต่เมื่อเราขุด หรือภาวนาต่อไป เราจะเจาะถึงชั้นหินในที่สุด ในที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เราสร้างฐานรากของเรา คือสร้างขึ้นบนพระเจ้าเอง แต่เมื่อเรายังขุดเจาะพื้นดินต่อไปให้ลึกมากขึ้น เราอาจขุดจนถึงชั้นหินที่หลอมละลาย ซึ่งพุ่งขึ้นมาตามรูที่เราเจาะไว้ และทำให้เราแปลกใจ พระจิตเจ้าก็ทรงเป็นเช่นนี้ พระเจ้าไม่ได้ทรงหนักแน่นมั่นคงเหมือนหินเท่านั้น พระองค์ทรงอานุภาพเต็มเปี่ยมด้วยพลัง และให้ชีวิตอีกด้วย และพระองค์อาจทำให้เราประหลาดใจด้วยการแสดงพลังแห่งการประทับอยู่ของพระองค์
    ดังนั้น หน้าที่ของเราในการภาวนาก็คือเจาะลึกลงไปเรื่อย ๆ ผ่านความอ่อนแอประสามนุษย์ของเรา (ดินทราย) ลงไปถึงความเป็นจริงของพระเจ้า (หิน) และบางที ในที่สุด เราอาจเจาะลึกจนพบกับความประหลาดใจที่พระจิตประทานให้ (หินหลอมละลาย) ที่ซึ่งพระเจ้าทรงพุ่งออกมาถึงพื้นผิว และเราถูกตรึงอยู่ในห้วงเวลาหนึ่งท่ามกลางความยินดี และพิศวงใจกับชีวิตพระเจ้าของพระองค์