แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การฟังดนตรีที่ปราศจากเสียง
 ipod video red favorite    บางครั้งเราเรียกการภาวนาว่าการพูดคุยกับพระเจ้า แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงได้ยินพระเจ้าตรัสน้อยเหลือเกิน บางครั้งเรามีความมั่นใจมากขึ้นว่าเรากำลังพูดกับพระเจ้า แม้จะพูดด้วยความลังเลอยู่บ้าง แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเงียบมาก ถ้ามีใครพูดว่าเขาได้ยินเสียงของพระเจ้า เรามักสงสัยทันทีว่าเขาสติดีหรือเปล่า ถ้าเช่นนั้น “การฟัง” หมายถึงอะไรในบริบทของการภาวนา บัดนี้เราพร้อมจะเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นพยัญชนะ แม้ว่าไม่ต้องการได้ปริญญาเอกด้านการภาวนาก็ตาม การฟังพระเจ้าหมายถึงอะไรสำหรับผู้เริ่มต้นภาวนา หรือผู้กลับมาเริ่มต้นใหม่

    เนื้อแท้ของการฟัง หมายถึง การเปิดใจและให้ความสนใจกับพระเจ้า ผู้ทรงต้องการถ่ายทอดความรักของพระองค์ให้แก่เราด้วยวิธีการต่าง ๆ นอกเหนือจากด้วยคำพูด คำว่า “การฟัง” จึงอาจทำให้เข้าใจผิดได้ คำพูด หรือสมรรถภาพการได้ยิน เป็นการจัดประเภทที่แคบเกินไป
พระเจ้าทรงสื่อสารให้เรารู้ว่าพระองค์ประทับอยู่ผ่านทางทุกด้านของชีวิต แต่ทรงทำอย่างเงียบ ๆ โดยไม่พยายามทำให้เราถึงกับรับมือไม่ไหว หรือลิดรอนเสรีภาพของเรา พระเจ้าเสด็จมาหาเราเสมอในทุกห้วงเวลาและในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น หน้าที่ของเราคือต้องสนใจให้มากขึ้นกับการเสด็จมาของพระองค์ คอยฟังความนัย และเงี่ยหูฟังดนตรีที่ปราศจากเสียง
    ดังนั้น การภาวนาจึงหมายถึงการตั้งตนอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า รับรู้ว่าพระองค์ประทับอยู่กับเรา ซึ่งเราสามารถทำได้หลายวิธีระหว่างที่เรากำลังดำเนินชีวิตตามปกติ รวมถึงเมื่อเราจัดหาเวลาเพื่ออยู่กับพระองค์โดยเฉพาะ การภาวนาเป็นการอยู่กับพระเจ้าในหลากหลายวิธี และหลากหลายโอกาส เมื่อเราอยู่ที่นั่น พระเจ้าก็ประทับอยู่ที่นั่นด้วย พระองค์อาจประทับอยู่อย่างที่เรารู้สึกได้ชัดเจน หรืออย่างเงียบเชียบ เราอาจพบกับพระองค์อย่างจัง หรือไม่รู้สึกเลยว่าพระองค์อยู่กับเรา แต่พระองค์จะอยู่ที่นั่นเสมอ และทรงทำงานในส่วนลึกของชีวิตเรา เราอาจรับรู้ได้ทุกเวลา ในขณะที่เรากำลังตากผ้า เข้าคิวจ่ายเงินในซุปเปอร์    มาร์เก็ต หรือกำลังฟังเพื่อนร่วมงานพูดในที่ประชุม ดังนั้น จงใส่ใจและฟัง แล้วคุณจะรู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ลุ่มลึกกำลังรอให้คุณค้นพบ พระองค์อาจประทับอยู่อย่างซ่อนเร้น แต่พระองค์ไม่ได้ซ่อนตัว
    การภาวนาส่วนใหญ่หมายถึงการไปหาพระเจ้า และปล่อยให้พระเจ้าเป็นพระเจ้า ถ้าเรารับรู้ได้ว่าพระองค์ประทับอยู่กับเรา นั่นย่อมดีแน่ ถ้าเราไม่อาจรับรู้ได้ ก็ไม่เป็นไร พระองค์ยังคงทำงานอยู่กับเรา พระองค์ทรงมีเวลาเหลือเฟือ และทรงเป็นนักฉวยโอกาสชั้นยอด ไม่ว่าเราจะถวายอะไรแด่พระองค์ พระองค์จะตรัสเสมอว่า “เราจะใช้ของถวายชิ้นนี้อย่างไรดีนะ”
    แต่เราควรเข้าใจให้ชัดเจนว่า “การฟัง” ไม่ได้หมายถึงการได้ยินเสียง แต่เป็นการให้ความสนใจมากขึ้นกับพระเจ้าผู้เสด็จมาหาเราในทุกโอกาส พระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเริ่มสนทนาก่อนเสมอ เพราะพระองค์ทรงเอื้อมมาหาเราเสมอ แต่เราจะสังเกตว่าพระองค์ประทับอยู่ได้อย่างไร
•    บางครั้ง เราอาจรับรู้ถึง “ความคิดที่ลุ่มลึก” เป็นความคิด และความเชื่อมั่นที่ก่อตัวขึ้นเองขณะที่เราหยุดนิ่งและภาวนา จงฟังความคิดเหล่านี้เพราะสามารถแสดงตัวออกมาได้ในที่สุด และพระเจ้าอาจประทับอยู่ในความคิดเหล่านี้ ในกรณีนี้ ความคิดเหล่านี้จะเป็นความจริง และเราจะรู้ว่าเป็นความจริง
•    บางครั้ง นาทีที่เรารู้ความจริงนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อเราได้ยินผู้อื่นพูด หรือเราอ่านหรือเห็นบางสิ่ง หรือผ่านเหตุการณ์หนึ่ง และเรารู้ตัวว่าพลังของความเข้าใจลึก ๆ นั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรา เพราะทำให้เราเข้าใจและยอมรับว่าเป็นความจริง แต่ความจริงนี้อาจไม่เด่นชัดในสายตาของผู้อื่น นี่คือ “การเปิดเผย” แก่เราเป็นส่วนตัว พระเจ้าทรงกำลังติดต่อสื่อสารกับหัวใจของเรา
•    บ่อยครั้ง พระเจ้าตรัสกับมนุษย์โดยใช้ภาษาของสิ่งสร้าง โลกที่พระองค์ทรงสร้างนั้นงดงามน่าทึ่ง ตั้งแต่รายละเอียดเล็กน้อย จนถึงความยิ่งใหญ่ตระการตา แม้แต่ผู้ชายตัวโต ๆ ก็ยังถึงกับน้ำตาไหลกับความงามของดวงอาทิตย์อัสดงบนเทือกเขาหิมาลัย หรือพูดไม่ออกเมื่อเห็นสีสันสวยงามของปลาในอ่าวอากาบา ธรรมชาติทำให้เราตื่นตะลึงได้เสมอ และเชิญชวนเราให้ตอบสนอง
•    บ่อยครั้งที่พระเจ้าทรงสื่อสารกับเราผ่านพระวาจาของพระองค์ คือพระคัมภีร์ นี่คือพระปรีชาญาณของพระเจ้าที่ตามหาเราอย่าง    แข็งขัน ข้อความในพระคัมภีร์สื่อสารกับหัวใจของเราผ่านทางพระจิตเจ้า ผู้ทรงชาร์จไฟให้เรา บางครั้ง พระคัมภีร์ทำให้เราหยุดกึก บางครั้งก็ท้าทายเรา บางครั้งก็ทำให้เรารับรู้ถึงความรักที่เหลือเชื่อของพระองค์ หน้าที่ของเราคือฟังหัวใจของเรา ขณะที่เราอ่านข้อความที่แสดงความรักของพระเจ้า
•    อีกรูปแบบหนึ่งของการพบกับพระเจ้า ผู้เสด็จมาหาเราเสมอ คือ เมื่อเรามีความรู้สึกซาบซึ้งใจกับเสียงดนตรี หรือบทกวี หรือหนังสือ หรือภาพยนตร์ หรือเมื่อใครบางคนบอกเล่าเหตุการณ์ในชีวิตของเขา อารมณ์ต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง ซึ่งออกมาจากส่วนลึกของตัวเรานี้มีลายเซ็นของพระเจ้าประทับอยู่

คำถาม
    คุณพร้อมจะเปิดโอกาสให้พระเจ้า “ตรัส” กับคุณหรือไม่ คุณพร้อมหรือไม่ที่จะฝึก “เงี่ยหูฟัง” ดนตรีที่ปราศจากเสียงของพระองค์ในตัวคุณ ในตัวผู้อื่น ในธรรมชาติ และในพระคัมภีร์

ลองทำดู
•    ขณะที่คุณเตรียมตัวทำงานในตอนเช้า ให้ตั้งใจว่าคุณจะดำเนินชีวิตในวันนั้นด้วยหัวใจและความคิดที่เปิดกว้าง จงอยากรู้อยากเห็นไม่เพียงเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างผิวเผิน แต่มองให้ลึก ให้ตั้งใจว่าเมื่อคุณจะพูดกับใคร หรือไปร่วมประชุม คุณจะไม่อ่านแต่เหตุการณ์ที่มองเห็นได้ภายนอก แต่คุณจะฟังภาษาที่ดังอยู่ภายใต้พื้นผิวของเหตุการณ์นั้น จงฟังความจริง
•    เมื่อสิ้นสุดวัน ให้คิดทบทวนเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ที่คุณพบเห็นในวันนั้น ที่แตกต่าง หรือตรึงอยู่ในใจของคุณมากกว่าประสบการณ์อื่น ๆ อาจเป็นประสบการณ์ที่ดี หรืออาจทำให้คุณไม่สบายใจ หรือน่าขัน หรือจริงจังมาก บัดนี้ เมื่อคุณไตร่ตรองเหตุการณ์นั้น คุณ “ได้ยิน” อะไร คุณได้รับความเข้าใจอะไรจากเหตุการณ์นั้น สิ่งที่คุณได้ยินมีผลอย่างไรต่อความเชื่อของคุณ หรือค่านิยมของคุณ หรือวิธีที่คุณมองสิ่งต่าง ๆ และสื่อสารอะไรกับคุณ
•    ให้อ่านข้อความสั้น ๆ จากพันธสัญญาใหม่ อ่านทีละน้อย เริ่มจากพระวรสารของนักบุญมาระโก หรือจดหมายถึงชาวฟิลิปปี อ่านอย่างช้า ๆ อย่างตั้งใจ และไตร่ตรองข้อความที่อ่าน และตั้งคำถาม เช่น เกิดอะไรขึ้นที่นั่น ข้อความนี้พูดอะไรกับฉัน ฉันจะทำอะไรได้บ้าง ทำเช่นเดียวกันนี้ในวันรุ่งขึ้น และทำจนติดเป็นนิสัย