การจาริกแสวงบุญ
คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส
    การจาริกแสวงบุญ หรือการเดินทางแสวงบุญเป็นคำที่เราใช้เพื่อหมายถึงกิจกรรมที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “pilgrimage” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษาลาตินว่า “peregrinatio” [per = ผ่าน + ager = ทุ่งนา รวมแล้วแปลว่า “การเดินทาง(ผ่านทุ่งนา)ไปยังที่ต่างๆนอกถิ่นที่อยู่” คำนามภาษาลาตินเรียกผู้ทำกิจกรรมนี้ว่า “peregrinus” แล้วกลายเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘peregrin, pelerin” ผ่านมาเป็นภาษาอังกฤษว่า “pilgrim”] ในปัจจุบันคำนี้มักจะมีความหมายทางศาสนา หมายถึงการเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือพิเศษ

เพราะสถานที่นั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า หรือเทพเจ้าของตน หรือมิฉะนั้นก็เกี่ยวข้องกับบุคคลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชน โดยมีเจตนาเพื่ออ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเบื้องบน หรือเพื่อขอบคุณที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นมาแล้ว นอกนั้นบางครั้งยังมีเจตนาเป็นการชดเชยความผิดที่ได้เคยทำไว้ในอดีตด้วย     เราพบการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ใช่จำเพาะในคริสตศาสนาเท่านั้น ศาสนาใหญ่ๆล้วนมีธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ด้วยกันทั้งนั้น เช่น ศาสนาฮินดูก็มีการไปแสวงบุญเช่นที่เมืองพาราณสี ชาวพุทธก็มักจะแสวงบุญไปยังสถานที่ประสูตร ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวมุสลิมก็มีการฮัจไปยังนครเมกกะ เป็นต้น ตั้งแต่สมัยพันธสัญญาเดิมแล้ว ชาวอิสราเอลมักจะแสวงบุญไปยังสักการสถานที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญในอดีต เช่นสักการสถานที่เชเคม และมัมเรซึ่งเกี่ยวข้องกับอับราฮัม.  เบธเอลซึ่งเกี่ยวข้องกับยาโคบ. กิลกัล ชิโล หรือมิสปาห์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานของเผ่าต่างๆในแผ่นดินคานาอัน เป็นต้น แต่ในที่นี้เราจะกล่าวถึงการจาริกแสวงบุญจำเพาะที่เกี่ยวข้องกับคริสตศาสนาและคริสตชนเท่านั้น
    การจาริกแสวงบุญไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
    สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคริสตชนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกมาตั้งแต่ต้นก็คือสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าอันได้แก่สถานที่ต่างๆในดินแดนปาเลสไตน์ที่พระเยซูเจ้าเคยประทับอยู่หรือทรงประกอบกิจการที่มีเล่าไว้ในพระคัมภีร์  เอวเซบีอุสนักประวัติศาสตร์เล่าว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แล้ว เมลีโตพระสังฆราชแห่งเมืองซาร์แดสได้เดินทางไปแสวงบุญในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เมื่อปี ค.ศ. 160  ในศตวรรษต่อมาพระสังฆราชอเล็กซานเดอร์แห่งกับปาโดเชียก็เดินทางแสวงบุญไปที่กรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 216 เป็นต้น เมื่อพระจักรพรรดิคอนสแตนตินให้อิสรภาพแก่คริสตศาสนาในปี ค.ศ. 313 แล้ว การจาริกแสวงบุญของคริสตชนไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ก็สะดวกขึ้นและยังได้รับการสนับสนุนจากพระจักรพรรดิและนักบุญเฮเลนาพระมารดาของพระองค์ที่ก่อสร้างอาคารถาวรตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆระหว่างปี ค.ศ. 325-330 เช่นพระวิหาร ณ เนินกัลวาริโอและพระคูหาของพระเยซูเจ้าที่เรียกว่า “Holy Sepulcher” พระวิหาร ณ สถานที่ที่ทูตสวรรค์ปรากฏองค์แก่อับราฮัมที่มัมเรใกล้เมืองเฮบโรน พระวิหาร ณ สถานที่ประสูตรของพระเยซูเจ้าที่เมืองเบธเลเฮม และที่เสด็จขึ้นสวรรค์บนเนินเขามะกอกเทศ เป็นต้น เราทราบจากข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ว่าในศตวรรษที่ 4 นี้เองคริสตชนจากยุโรปและที่ต่างๆพากันเดินทางจาริกแสวงบุญมาที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เป็นจำนวนมาก เมื่อจาริกแสวงบุญมาเยี่ยมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพระเยซูเจ้าแล้ว ผู้จาริกแสวงบุญหลายคนยังเดินทางไปเยี่ยมเยียนสถานที่อื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับบรรดานักบุญนักพรตสมัยแรกๆในบริเวณนั้นและในประเทศอียิปต์อีกด้วย บางคนก็มาพำนักอยู่ที่นั่นเป็นการถาวรเลย เช่นนักบุญเยโรม นักบุญเปาลาและเอวสโตคีอุมบุตรสาว เป็นต้น คริสตชนที่มาจาริกแสวงบุญยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้หลายคนยังบันทึกเหตุการณ์และรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับสถานที่และพิธีกรรมที่เขาเข้าร่วมในโอกาสต่างๆที่เดินทางมาแสวงบุญนั้นด้วย เช่นนางเอเธรีอาจากประเทศสเปน ซึ่งเล่าถึงพิธีกรรมที่กรุงเยรูซาเล็มที่เธอเข้าร่วมตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งเล่าถึงสถานที่ต่างๆที่เธอได้ไปเยี่ยมในซีเรียจนถึงเมืองเอเดสซา ในคาบสมุทรซีนายและประเทศอียิปต์ด้วย ดูเหมือนว่าในศตรรษที่ 4-6 บรรดาคริสตชนจากยุโรปพากันจาริกแสวงบุญไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์กันมากทีเดียว จะมาซบเซาเอาก็เมื่อชาวมุสลิมเข้ายึดครองดินแดนแถบนั้นในศตวรรษต่อมา
    การจาริกแสวงบุญตามอารามในอียิปต์
    ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 การบำเพ็ญพรตในถิ่นทุรกันดารเป็นรูปแบบของการดำเนินชีวิตคริสตชนที่มุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ขั้นสูงแบบหนึ่ง อารามต่างๆในถิ่นทุรกันดารของอียิปต์จึงเป็นจุดหมายของการจาริกแสวงบุญของคริสตชนในสมัยโบราณรองจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ “ชีวประวัติของนักบุญอันตน” ผู้นำชีวิตบำเพ็ญพรตในถิ่นทุรกันดารของอียิปต์ (ค.ศ. 251-356) ซึ่งนักบุญอาทานาสแห่งอเล็กซานเดรียเป็นผู้นิพนธ์มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมชีวิตบำเพ็ญพรตในที่ต่างๆรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยังชักชวนผู้จาริกแสวงบุญให้เดินทางไปขอคำแนะนำจากบรรดานักพรตที่ดำเนินชีวิตเคร่งครัดในถิ่นทุรกันดารเหล่านั้นด้วย บรรดาผู้จาริกแสวงบุญสามารถเดินทางไปยังอารามต่างๆในแถบแคว้นนีเตรีย ประมาณ 80 ก.ม. ทางใต้ของเมืองอเล็กซานเดรียได้โดยไม่ลำบากมากนัก  แต่การเดินทางไปยังแคว้นเทเบสทางใต้ลงไปอีกนั้นมีความยากลำบากและอันตรายมาก    ถึงกระนั้นนักบุญอาทานาสและนางเอเธรีอาก็เดินทางไปถึงและยังเล่าไว้ในบันทึกของเธอด้วย
    การจาริกแสวงบุญที่กรุงโรมและที่อื่นๆ
    แม้ว่าใน 6 ศตวรรษแรก กรุงโรมยังไม่ใช่จุดหมายของการจาริกแสวงบุญที่มีความสำคัญเท่ากับแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีหลักฐานบอกเราว่าคริสตชนจำนวนไม่น้อยที่มาประกอบธุรกิจที่นี่ได้ไปเยี่ยมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นั่นที่เกี่ยวข้องกับนักบุญเปโตรและเปาโลและบรรดามรณสักขี ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ขีดเขียนไว้ (grafitti) ตามผนังของกาตาโคมบ์ต่างๆและในบริเวณใกล้ที่ฝังศพของนักบุญเปโตรและเปาโล เราทราบว่านักบุญโปลีการ์ปพระสังฆราชแห่งเมืองสมีนาร์ในเอเซียน้อยได้มาเยี่ยมกรุงโรมราวปี ค.ศ. 150 อาแบร์ชีอุสแห่งฮีเอราโปลิสในแคว้นฟรีเจีย (ราว ค.ศ. 216) และโอรีเจน (ราว ค.ศ. 212) ดูเหมือนจะได้จาริกแสวงบุญมาที่กรุงโรม “เพราะปรารถนาจะเห็นพระศาสนจักรโรมที่เก่าแก่ที่สุด” เช่นเดียวกับในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ อิสรภาพที่พระศาสนจักรได้รับจากพระจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นสาเหตุส่งเสริมให้คริสตชนจากที่ต่างๆนิยมจาริกแสวงบุญมาที่กรุงโรมด้วย พระสันตะปาปานักบุญดามาซัส (366-384) ได้บูรณะที่ฝังศพบรรดามรณสักขีตามคาตาโคมบ์ต่างๆ และยังสลักบทกลอนไพเราะไว้ตามที่ฝังศพเหล่านั้นเป็นการเทิดเกียรติบรรดามรณสักขีและช่วยให้คริสตชนที่มาแสวงบุญทราบเรื่องราวของบรรดามรณสักขีดีขึ้นอีกด้วย การจาริกแสวงบุญเช่นนี้มักจะมีการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีซึ่งบางทีก็เลยเถิดไปจนหลายครั้งบรรดาพระสงฆ์และผู้ปกครองทางศาสนาต้องเทศน์ปรามไว้ การจาริกแสวงบุญมาที่กรุงโรมนี้ดำเนินต่อมาอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยกลาง ตอนต้นศตวรรษที่ 6 พระสันตะปาปาซิมมาคัส (498-514) ได้สร้างที่พัก 3 แห่งไว้ในบริเวณใกล้ที่ฝังศพของนักบุญเปโตร เปาโล และลอเรนซ์ เพื่อความสะดวกของผู้จาริกแสวงบุญ ในศตวรรษเดียวกันนี้เกรโกรีแห่งเมืองตูรส์ยังกล่าวถึงกิจกรรมต่างๆของผู้จาริกแสวงบุญที่กรุงโรมจากประเทศโกล (ฝรั่งเศส) และกล่าวด้วยว่ากิจการที่สำคัญประการหนึ่งของการแสวงบุญก็คือเพื่อหาพระธาตุไปประดิษฐานไว้ตามสักการสถานในประเทศโกลด้วย
    นอกจากกรุงโรมแล้ว คริสตชนยังนิยมจาริกแสวงบุญไปยังที่ฝังศพของมรณสักขีอื่นๆซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออีกด้วย เช่นมรณสักขีกัสเซียนที่เมืองอีโมลา และเฟสิกซ์ที่เมืองโนลา ไม่ไกลจากกรุงโรม ส่วนในประเทศโกลก็มีการจาริกแสวงบุญไปยังที่ฝังศพของบรรดามรณสักขีด้วย เช่นราวกลางศตวรรษที่ 4 มีการสร้างสักการสถานใกล้สถานที่ซึ่งนักบุญโมริสถูกประหารเป็นมรณสักขีพร้อมกับบรรดาทหารแห่งกองพันเทเบสที่เมืองวาแลส์ในสวิสเซอร์แลนด์ (ราวปี 286) บรรดาผู้แสวงบุญจากประเทศโกลมักจะผ่านมาที่นี่เมื่อกลับจากกรุงโรม และยังมีผู้แสวงบุญจำนวนมากมาขอท่านนักบุญรักษาให้หายจากโรคภัยอีกด้วย ราวกลางศตวรรษที่ 5 จึงได้สร้างที่พักขนาดใหญ่ไว้ต้อนรับผู้จาริกแสวงบุญและคนเจ็บป่วย และในศตวรรษที่ 6 ยังได้สร้างอาราม Saint-Maurice d’Agaune ซึ่งยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ตอนปลายศตวรรษที่ 4 นี้เอง สถานที่จาริกแสวงบุญที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศโกลก็คือที่ฝังศพของนักบุญมาร์ตินที่เมืองตูรส์ซึ่งเกรโกรีแห่งเมืองตูรส์บอกว่าต่อมาอีก 2 ศตวรรษก็ยังมีผู้จาริกแสวงบุญมาที่นี่ไม่ขาดสาย นับตั้งแต่คนสำคัญเช่นกษัตริย์โคลตาร์ชาวฟรังส์ (ราว ค.ศ. 560) ไปจนถึงคนธรรมดาสามัญเช่นวุลไฟลกัส เด็กหนุ่มชาวแคว้นลอมบาร์เดียซึ่งภายหลังได้เป็นฤาษีเคร่งครัดอยู่ที่อาศรมใกล้เมืองอีวัวส์     ในศตวรรษที่ 5 เมืองอาร์ลส (Arles) ก็เป็นที่ที่คริสตชนนิยมจาริกแสวงบุญมายังที่ฝังศพของนักบุญเยเนซีอัส ในโอกาสหนึ่งผู้แสวงบุญมีจำนวนมากจนว่าสะพานที่ข้ามแม่น้ำไประหว่างสักการสถาน 2 แห่งของท่านนักบุญที่นี่ถึงกับพังลงเพราะทานน้ำหนักประชาชนไม่ไหว
    ยังมีสักการสถานจาริกแสวงบุญที่สำคัญในยุโรปอีกหลายแห่ง เช่น ในสเปนก็มีที่กอมปอสเตลา (Compostela จาก Campus Stellae) ซึ่งตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 830 เชื่อกันว่าเป็นที่ฝังศพของนักบุญยากอบ (บุตรของเศเบดี) อัครสาวก เมืองบารีทางใต้ของคาบสมุทรอิตาลีก็เป็นที่ที่ผู้จาริกแสวงบุญมาคารวะนักบุญนิโคลัสพระสังฆราชแห่งเมืองไมราในเอเซียน้อย (นักบุญนิโคลัสองค์นี้คือ “ซานตาคลอส” ขนานแท้) ซึ่งศพของท่านถูกย้ายมาประดิษฐานไว้ที่นี่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 นอกจากนั้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก็มีผู้จาริกแสวงบุญไปยังภูเขาการ์กาโนในแคว้นอาปูลีอา สถานที่ซึ่งเชี่อกันว่าอัครเทวดามีคาเอลได้ปรากฏองค์ให้เห็น ภายหลัง ค.ศ. 710 ผู้จาริกแสวงบุญยังพากันไปแสวงบุญที่ Mont-Saint-Michel ซึ่งอยู่ชายทะเลระหว่างรอยต่อของแคว้นนอร์มันดีและบริตันนีในฝรั่งเศสด้วยเหตุผลเดียวกัน
    การแสวงบุญถวายเกียรติแด่พระแม่มารีย์
    การจาริกแสวงบุญไปยังสักการสถานเพื่อถวายเกียรติแด่พระแม่มารีย์เริ่มมีขึ้นภายหลังการจาริกแสวงบุญไปยังที่ฝังพระศพพระเยซูเจ้าหรือที่ฝังศพของบรรดานักบุญในสมัยแรกๆ การแสวงบุญเป็นเกียรติแด่พระแม่มารีย์นี้ในยุโรปอาจนับย้อนไปได้ถึงประมาณศตวรรษที่ 7 เป็นอย่างน้อย แม้ว่าสักการสถานที่เมืองซาโวนา ใกล้เมืองเยนัว อิตาลีจะอ้างว่ามีผู้จาริกแสวงบุญมาที่นี่ตั้งแต่สมัยพระจักรพรรดิคอนสแตนตินแล้วก็ตาม ต้นตอของความศรัทธาต่อสถานที่ “ศักดิ์สิทธิ์” เหล่านี้มักจะกล่าวกันว่ามาจาก “การประจักษ์” หรือ “การเปิดเผย”พิเศษที่แม่พระแสดงให้เห็น การประจักษ์ของพระแม่มารีย์ ณ ที่ต่างๆในสมัยปัจจุบัน เช่นที่ลูร์ด (1858) หรือฟาติมา (1917) ฯลฯ
    ความนิยมมากน้อยในการจาริกแสวงบุญ
    มีสาเหตุหลายประการเป็นตัวกำหนดความนิยมมากน้อยในการจาริกแสวงบุญ ความยากลำบากของการเดินทางในสมัยก่อนนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจาริกแสวงบุญ ซึ่งยังขึ้นอยู่กับความเชื่อและความเลื่อมใสของคริสตชนด้วย การเดินทางในสมัยก่อนต้องใช้เวลาและทุนทรัพย์ไม่น้อย และยังต้องเสี่ยงภัยอันตรายต่างๆระหว่างทางอีกด้วย หลังจากที่ชาวมุสลิมเข้ายึดครองดินแดนทางตะวันออกกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของปาเลสไตน์ การเดินทางแสวงบุญไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์มีความลำบากมากขึ้น ผู้ที่จะเดินทางแสวงบุญจึงต้องมีความเชื่อและความมุ่งมั่นตั้งใจจริงเป็นพิเศษ การจาริกแสวงบุญตามสักการสถานต่างๆในยุโรปจึงได้รับความนิยมมากขึ้น และผู้จาริกแสวงบุญมักจะร่วมเดินทางไปเป็นกลุ่มเพื่อความปลอดภัย ประหยัดรายจ่ายและยังเป็นการช่วยเสริมความศรัทธาของกันและกันด้วย นอกจากนั้นผู้ปกครองบ้านเมืองและพระศาสนจักรยังพยายามดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ คอยปราบปรามโจรผู้ร้าย มีการสร้างที่พักสำหรับผู้จาริกแสวงบุญตามเส้นทางที่สำคัญๆ หรือใกล้เคียงกับสักการสถานจุดหมายของการจาริกแสวงบุญ มีการตั้งคณะนักบวชขึ้นมาหลายคณะเพื่อช่วยเหลือผู้จาริกแสวงบุญโดยเฉพาะด้วย เช่น อัศวินนักบุญยากอบ (The Knights of St. James) ในประเทศสเปน อัศวินแห่งพระวิหาร (The Knights Templars) อัศวินแห่งมอลต้า (The Knights of Malta) เพื่อช่วยป้องกันอันตรายของผู้จาริกแสวงบุญในการเดินทาง หรือเพื่อดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย
    แต่ถึงอย่างไรการเดินทางในสมัยนั้นก็ยังเป็นภาระหนักไม่ใช่น้อย การจาริกแสวงบุญจึงนับว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะชดเชยความผิดที่ได้กระทำลงไปด้วย กฎหมายของพระศาสนจักรและหลายครั้งกฎหมายทางบ้านเมืองด้วยกำหนดให้ผู้ทำผิดหนักต้องชดเชยความผิดที่ได้ทำโดยจาริกแสวงบุญไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์หรือสักการสถานต่างๆ การจาริกแสวงบุญจึงเป็นโอกาสที่คริสตชนจะได้รับการอภัยโทษอันเนื่องมาจากบาปที่ได้กระทำ ในสมัยก่อนเมื่อจะออกเดินทางแสวงบุญ ผู้แสวงบุญจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม มีเสื้อผ้าทนทานเท่าที่จำเป็นและมีลักษณะชี้ให้เห็นด้วยว่าเขามีความสำนึกในบาปและความผิดของตน สวมหมวกปีกกว้าง ถือไม้เท้า มีย่ามใส่สิ่งของที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง ทางพระศาสนจักรยังจัดให้มีพิธีกรรมพิเศษเพื่ออวยพรผู้จาริกแสวงบุญก่อนออกเดินทาง และพระสังฆราชมักจะออกหนังสือรับรองอีกด้วยว่าเขาเป็นผู้จาริกแสวงบุญจริงๆไม่ใช่เพื่อหลอกลวงหรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนั้นโดยปรกติมักจะเรียกร้องให้ผู้จาริกแสวงบุญจัดการเรื่องราวเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวให้เรียบร้อย ใช้หนี้สินหรือชดเชยความเสียหายที่เคยกระทำต่อผู้อื่น จัดการให้สมาชิกในครอบครัวมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างดีระหว่างที่เขาไม่อยู่บ้าน ส่วนเงินทองส่วนที่เหลือก็จะทำทานและนำติดตัวไปใช้จ่ายระหว่างเดินทางซึ่งไม่แน่ว่าเขาจะกลับมาโดยปลอดภัยหรือไม่
    กิจกรรมของผู้จาริกแสวงบุญ
    โดยปรกติเมื่อผู้จาริกแสวงบุญมาถึงสักการสถานที่ต้องการแล้วก็มักจะสวดภาวนาและทำกิจใช้โทษบาปตามที่ได้บนบานสัญญาไว้ ผู้แสวงบุญมักจะคุกเข่าสวดภาวนา บางทีก็เดินเท้าเปล่า หรือคุกเข่าเดินในระยะทางที่กำหนด กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้แสวงบุญก็คือการรับศีลศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาปเพื่อแสดงการกลับใจอย่างแท้จริง จะได้สนิทสนมกับพระคริสตเจ้าและบรรดานักบุญให้มากยิ่งขึ้น ตามสักการสถานต่างๆที่มีผู้นิยมไปแสวงบุญจึงมักจะมีพระสงฆ์จำนวนมาก คอยให้บริการศีลอภัยบาปและถวายมิสซาสำหรับผู้แสวงบุญ ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ยังถวายเงินหรือสิ่งของที่นำมาให้แก่สักการสถานอีกด้วย โดยเฉพาะถ้าได้รับการรักษาให้หายจากโรคหรือได้รับพระคุณพิเศษ ผู้แสวงบุญมักจะถวายสิ่งของเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นพระคุณที่ได้รับ เช่น ถวายรูปหัวใจ หรือรูปอวัยวะที่หายจากโรค ถวายเทียนหรือน้ำมันสำหรับจุดตะเกียงที่สักการสถานฯลฯ
    เรากล่าวมาข้างต้นแล้วว่าผู้จาริกแสวงบุญบางคนยังคงสมัครใจพำนักอยู่ต่อไป ณ สักการสถานนั้นเพื่อบริการผู้อื่น หรืออาจเดินทางแสวงบุญต่อไปยังสักการสถานอื่นๆ แม้กระทั่งในสมัยปัจจุบันก็ยังมีบางคนที่จาริกแสวงบุญไปตามสักการสถานต่างๆตลอดชีวิต (“peregrinantes” ไม่ใช่เพียง “peregrini”) นักบุญเบเนดิ๊ก โยเซฟ ลาเบรอ (ศตวรรษที่ 18) เป็นผู้ที่ “ทำตนเป็นคนบ้าของพระคริสตเจ้า” แสวงบุญไปตามสักการสถานต่างๆตลอดชีวิต
    ความหมายแท้จริงของการจาริกแสวงบุญ
    ในปัจจุบันนี้การเดินทาง “แสวงบุญ” ไม่ยากลำบากเหมือนในสมัยก่อน ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในการเดินทางและที่พักทำให้การจาริกแสวงบุญในปัจจุบันไม่เป็นการเสี่ยงชีวิตเพื่อแสดงความเชื่ออย่างแต่ก่อน นอกจากนั้นยังมีการท่องเที่ยวเยียมเยียนสถานที่ต่างๆเป็นของแถมด้วย หลายคนที่ไป “แสวงบุญ” จึงอาจลืมจุดประสงค์เอกของการจาริกแสวงบุญไปได้ง่ายๆ
    อย่างไรก็ตาม แม้ในสมัยก่อนเมื่อการจาริกแสวงบุญมีความยากลำบากไม่น้อย บรรดาปิตาจารย์และนักเขียนหลายท่านยังเขียนเตือนให้คริสตชนสำนึกว่า สิ่งสำคัญจริงๆในชีวิตคริสตชนคือการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามฐานะและหน้าที่ของตน นักบุญเยโรมเขียนไว้ว่า “ระยะทางไปสวรรค์นั้นเท่ากันเสมอไม่ว่าจะไปจากเกาะบริเทนหรือจากกรุงเยรูซาเล็ม” ท่านยังบอกอีกว่าถึงแม้การไปจาริกแสวงบุญอย่างดีและศรัทธาจะเป็นวิธีการสำคัญประการหนึ่งเพื่อบรรลุถึงความรอดพ้น แต่ก็มิใช่วิธีที่จำเป็น จึงไม่เป็นการถูกต้องที่ผู้หนึ่งจะละทิ้งหน้าที่จำเป็นของตนเพื่อไปจาริกแสวงบุญ โดยเฉพาะถ้าเขาเป็นนักพรต ถึงกระนั้นการจาริกแสวงบุญก็ยังเป็นกิจกรรมที่มีผู้นิยมปฏิบัติกันตลอดมา
    สรุปแล้วในทางปฏิบัติก็น่าจะกล่าวว่าถ้าใครสามารถไปจาริกแสวงบุญยังสถานที่ที่ตนมีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นพิเศษได้โดยไม่ละเลยหน้าที่จำเป็นของตนและไม่เป็นผลเสียหายแก่ผู้ใด ก็น่าจะทำได้อย่างอิสระแม้จะมีจุดประสงค์รองอื่นแทรกเข้ามาด้วยก็ตาม แต่ถ้าเพื่อทำเช่นนี้เขาจะต้องละทิ้งหน้าที่จำเป็นของตนหรือทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน การจาริกแสวงบุญก็คงไม่น่าสนับสนุนเท่าไรนัก