แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระคุณการุณย์ (Indulgence)
คุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ


พระคุณการุณย์หมายถึงการอภัยโทษ อันพึงต้องรับเนื่องจากการทำบาป หรือความผิด ซึ่งได้รับการอภัยบาปแล้ว และที่เรียกว่าพระคุณการุณย์ เพราะเป็นพระคุณของพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา โดยความยุติธรรม เมื่อทำบาปหรือทำความผิดก็มีโทษตามมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยบาปหรือความผิดที่ได้ทำไป คริสตชนที่สำนึกว่าตนเป็นคนบาป จึงทำอะไรบางอย่างที่เรียกว่า “ทำพลีกรรม” ประหนึ่งเป็นการยอมรับ “โทษ” เพื่อชดเชยบาปของตน และถ้าหากเขาชดเชยบาปได้หมดด้วยการทำพลีกรรมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เขาก็จะได้รางวัลในสวรรค์ทันทีเมื่อเขาตายไป แต่ถ้าหากยังชดเชยไม่หมดก็จะต้องไปชดเชยในไฟชำระ
ตามปกติ พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปจะกำหนดว่า “โทษ” อันเนื่องมาจากบาปอะไร และแค่ไหน “โทษ” นี้หมายถึง “กิจใช้โทษบาป” นั่นเอง แต่ว่าในปัจจุบันพระสงฆ์ไม่ได้กำหนด “โทษ” ที่คู่ควรกับบาปหรือความผิด เพราะเห็นว่าผู้ที่ทำบาปหรือความผิดควรมีความสำนึกและพยายามทำพลีกรรมตามความสมัครใจเพื่อชดเชยบาป หรือความผิดพลาดของตนเองอยู่เสมอแล้ว
อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรมีสิทธิ์ประกาศพระคุณการุณย์ หรือการอภัยโทษแก่คริสตชน เพราะว่าพระศาสนจักรมีอำนาจหน้าที่แจกจ่ายพระหรรษทานและพระคุณต่างๆ ของพระเจ้า พระศาสนจักรประกาศพระคุณการุณย์ได้ 2 อย่าง คือ พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ และพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์
พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ (Plenary Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษบาปอย่างหมดสิ้น ผู้ที่ได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์จะพ้น “โทษ” ที่พึงต้องรับทั้งหมด
พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ (Partial Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษให้บางส่วน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถทราบอย่างชัดเจนว่าแค่ไหน ไม่เหมือนกับในอดีตที่ทราบแน่ชัดว่า พระคุณการุณย์นี้สำหรับระยะเวลานานเท่าใด ทั้งนี้ เพราะว่าในสมัยนั้น พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปมีธรรมเนียมกำหนด “โทษ” ให้คู่ควรกับบาปหรือความผิดที่ทำไป พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาทำกิจใช้โทษบาปนั้นด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการประกาศพระคุณการุณย์จึงมีการระบุจำนวนวันสำหรับพระคุณด้วย เช่น พระคุณการุณย์ 100 วัน เพื่อหมายถึงการอภัยโทษที่มีระยะเวลา 100 วัน อันพึงต้องรับเพื่อชดเชยบาป หรือความผิดที่ได้ทำไป แต่ปัจจุบันนี้พระศาสนจักรไม่ประกาศพระคุณการุณย์ที่ระบุจำนวนวันอีกต่อไป เพราะว่าไม่มีธรรมเนียมให้พระสงฆ์ฟังแก้บาปกำหนด “โทษ” อย่างหนักๆ เช่นในอดีตอีกแล้ว คริสตชนพึงสำเนียกที่จะทำกิจใช้โทษบาปด้วยความสำนึกของตนเองมากกว่า พระศาสนจักรจึงประกาศเพียงกว้างๆ ในลักษณะที่เป็นพระคุณการุณย์ที่ไม่ครบบริบูรณ์เท่านั้น
พระคุณการุณย์ คือ การอภัยโทษชั่วคราวที่สมควรได้รับเนื่องจากบาปจากความผิดที่ได้รับการยกโทษให้แล้วในสายพระเนตรของพระเจ้า สัตบุรุษจะต้องเตรียมตัวอย่างเหมาะสม และจะต้องทำตามเงื่อนไขเฉพาะที่ระบุไว้ให้สำเร็จไป ก็จะได้รับพระคุณโดยการช่วยเหลือของพระศาสนจักร ซึ่งในฐานะเป็นศาสนบริกรของการไถ่บาป มีอำนาจยกเว้นให้ได้และทำการประยุกต์ใช้ทรัพย์สมบัติของฤทธิ์กุศลของพระคริสต์และบรรดานักบุญ (ม.992) ดังนั้น พระคุณการุณย์ คือ ความกรุณาที่พระศาสนจักรประทานให้เพื่อยกโทษบาปทั้งหมดหรือบางส่วนแก่ผู้ที่ได้รับการอภัยบาปแล้ว และทำกิจกรรมบางอย่างตามที่กำหนดไว้ คำสอนเรื่องพระคุณการุณย์เป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับคำสอน 2 เรื่องคือ
1. พระคริสตเจ้าทรงเป็นศรีษะของพระศาสนจักร ได้ทรงสร้างสมบุญบารมีอย่างไร้ขอบเขตเพื่อเรา
2. คริสตชนรวมอยู่ในสหพันธ์นักบุญ
           การยกโทษบาปมี 2 วิธีคือ วิธีทางศีลอภัยบาป และวิธีทางพระคุณการุณย์
1. วิธีทางศีลอภัยบาป ในศตวรรษที่ 9 สันตะปาปาและสังฆราชมักจะลงท้ายจดหมายอภิบาลด้วยการวอนขอพระเจ้า โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของพระเยซูคริสตเจ้าและนักบุญทั้งหลายได้ทรงพระมหากรุณายกโทษบาปแก่คริสตชนคนบาป ในสูตรโปรดบาปแบบเก่าก่อนมีการปรับปรุงพิธีกรรมศีลอภัยบาปครั้งสุดท้าย (2 ธ.ค. 1973) พระสงฆ์ ก็สวดวอนขอการยกโทษบาปแก่ผู้แก้บาปทุกคนเช่นกัน
2. วิธีทางพระคุณการุณย์ เริ่มในศตวรรษที่ 11 กิจใช้โทษบาปที่พระสงฆ์กำหนดให้ได้รับการลดหรือยกเลิก เช่น คนที่พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปกำหนดให้อดอาหาร 3 วันในระหว่างเทศกาลมหาพรต ได้รับความกรุณาลดลงเหลือ 2 วัน หรือคนที่ต้องทำบุญช่วยอารามฤษีเป็นกิจใช้โทษบาป ก็ได้รับความกรุณาลดหย่อนให้เบาลงหรือยกเลิก ต่อมาสิ่งที่เคยเป็นกิจใช้โทษบาปเหล่านี้กลายเป็นเงื่อนไขสำหรับรับพระคุณการุณย์ เช่น การทำบุญบำรุงอาราม โรงเรียน โรงพยาบาล การจาริกแสวงบุญไปยังโบสถ์วิหาร เป็นต้นมหาวิหารนักบุญเปโตรที่กรุงโรม พระคุณการุณย์ที่โด่งดังมากที่สุดคือพระคุณการุณย์ครูเสด ผู้สมัครไปรบในสงครามครูเสดได้รับการอภัยโทษบาปและได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง พระคุณการุณย์อุทิศแก่ผู้ตายเริ่มมีเป็นครั้งแรกในปี 1476
-    พรพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาสามารถประทานพรเพื่อให้พระคุณการุณย์ได้ หรือเสกศาสนภัณฑ์ให้พระคุณการุณย์แก่ผู้ที่ใช้ศาสนภัณฑ์เหล่านั้นได้ กฎหมายพระศาสนจักรให้สิทธิแก่พระคาร์ดินัล พระสังฆราชเสกศาสนภัณฑ์ด้วยพรพระสันตะปาปาได้ ถ้าพระสงฆ์องค์ใดต้องการสิทธิพิเศษนี้ก็สามารถขอได้จากสมณกระทรวงคารวกิจ สิ่งที่จะให้เสกเพื่อรับพรพระสันตะปาปานั้นต้องทำด้วยวัสดุเนื้อแข็ง ไม่แตกง่าย พระคุณการุณย์ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว เพราะฉะนั้นใครจะใช้ศาสนภัณฑ์นั้นก็ได้รับพระคุณการุณย์เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องนำติดตัวเสมอ เพียงแต่เก็บไว้ในที่ควรเคารพก็พอ การติดสายประคำกับตัวเฉย ๆ ไม่ได้รับพระคุณอันใด ต้องสวดด้วยจึงจะได้รับ
-    พระคุณการุณย์ไม่บริบูรณ์หรือบริบูรณ์ ขึ้นอยู่กับว่าพระคุณนั้นจะปลดปล่อยบุคคลให้เป็นอิสระจากการลงโทษชั่วคราวที่สมควรกับบาป แต่ส่วนหนึ่งหรือทั้งครบ (ม.993)
-    คริสตชนทุกคนจะได้รับพระคุณการุณย์ไม่บริบูรณ์หรือบริบูรณ์สำหรับตัวของเขาเอง หรือเขาอาจประยุกต์ให้กับผู้ตายโดยการอธิษฐาน (ม.994)
-    นอกจากผู้มีอำนาจสูงสุดในพระศาสนจักร พวกที่จะสามารถให้พระคุณการุณย์ได้ คือพวกที่ได้รับอำนาจนี้โดยการรับรู้จากตัวบทกฎหมายเอง หรือถูกให้โดยพระสันตะปาปา (ม.995.1)
-    ไม่มีผู้มีอำนาจใดภายใต้พระสันตะปาปาจะสามารถให้อำนาจในการให้พระคุณการุณย์แก่คนอื่นๆ เว้นแต่ว่าอำนาจนี้ได้ถูกให้อย่างชัดเจนกับบุคคลนั้นโดยสันตะสำนัก (ม.995)
-    บุคคลที่จะมีความสามารถได้รับพระคุณการุณย์ ต้องได้รับศีลล้างบาปแล้ว ไม่ถูกตัดออกจากพระศาสนจักร และอยู่ในสถานะพระหรรษทาน อย่างน้อยที่สุดเมื่อได้ทำงานที่กำหนดไว้ครบถ้วน (ม.996.1)
-    การจะได้รับพระคุณการุณย์นั้น บุคคลที่จะรับได้อย่างน้อยต้องมีความตั้งใจที่จะรับพระคุณนั้น และต้องทำงานตามเวลา และวิธีการที่กำหนดไว้ (ม.996)