แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

7 คำถาม 7 ข้อสังเกต 

พิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

เนื้อหา : คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร

 

1. ทำไมจึงกำหนดเวลาเป็น “บ่ายสามโมง” 

ปัจจุบัน ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ วัดแต่ละแห่งจะมีพิธีกรรมสำคัญในเวลาที่เอื้ออำนวยให้สัตบุรุษมาร่วมได้สะดวก จึงมักเป็นเวลาค่ำ ซึ่งถือเป็นเหตุผลเพื่อการอภิบาลที่เหมาะสม   อย่างไรก็ตาม ที่กรุงโรม จะมีพิธีระลึกถึงพระมหาทรมานนี้ ในเวลา "บ่ายสามโมง"  และบางวัดก็มีพิธีกรรมนี้ เวลา "บ่ายสามโมง"   เช่นกัน   มีคำอธิบายว่า ที่กำหนดเวลา "บ่ายสามโมง"   ก็เพราะเป็นเวลาที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร  ได้ระบุเวลาไว้เช่นนั้น  คือเวลาบ่ายสามโมง  (ลก 23:44)  "...ม่านในพระวิหารฉีกขาด...  พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดัง..... แล้วก็สิ้นพระชนม์"   นี่คือเรื่องราวที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์  แต่บ่อยครั้ง พระคัมภีร์ก็ใช้สัญลักษณ์   เพื่อการอธิบายสิ่งที่ลึกซึ้งกว่า  นั่นก็คือ ทำไมต้องเป็น "บ่ายสามโมง"

ในสมัยของพระเยซู  ที่พระวิหาร  ทุกเย็นจะมีการประกอบศาสนกิจ  มีการสวดและถวายเครื่องบูชายามเย็น ซึ่งมีหลายอย่าง รวมทั้งแกะ    ไม่ไกลจากพระวิหาร มีสถานที่ที่ใช้สำหรับเตรียมเครื่องบูชา คือเตรียม "ฆ่าแกะ"  และเวลาที่เขาจะฆ่าแกะ ก็คือเวลา "บ่ายสามโมง" นักบุญลูกาใช้เวลา "บ่ายสามโมง"  เป็นสัญลักษณ์เพื่อเน้นว่า  พระเยซูเจ้า คือ "ลูกแกะ" ที่ถูกฆ่า ทรงหลั่งโลหิตเพื่อไถ่บาปเรา

 

2. วันนี้ ทำไมพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีจึงกาสุลาสีแดง

วันนี้ เราระลึกถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า รวมถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ บางคนจึงเรียกกันติดปากว่า วันนี้ คือ  "วันพระตาย"  คริสตชนบางคนจึงมักสวมชุดสีดำมาร่วมพิธีกรรมในวันนี้   แต่เหตุใด ประธานและพระสงฆ์ที่ร่วมประกอบพิธีกรรมจึงสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์  "สีแดง"

หากเราย้อนกลับไปก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2 ไม่ใช่แค่สัตบุรุษที่สวมชุดสีดำในวันนี้ เพราะพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีก็สวมอาภรณ์พิธีกรรมสีดำเช่นกัน   ต่อมาภายหลังคือหลังสังคายนาวาติกันที่ 2  มีการกำหนดสีอาภรณ์พิธีกรรมวันนี้ เป็นสีแดง    ทำให้คิดถึง “ลูกแกะที่ถูกฆ่า”  คิดถึงการมอบชีวิตของบรรดาอัครสาวก และมรณสักขี ซึ่งล้วนได้รับแบบอย่างและแรงบันดาลใจจากองค์พระเยซูเจ้า ผู้ทรงยอมตายเพื่อไถ่บาปเรามนุษย์   

นอกจากนี้ ในทางพิธีกรรม สีของอาภรณ์ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของชาวโรมัน   สีแดงสำหรับชาวโรมัน เป็นสีของ "กษัตริย์"     วันอาทิตย์ใบลาน  พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าแบบที่ทรงเป็นกษัตริย์   วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน     ด้วยข้อกล่าวหาว่าทรงอ้างตนเป็นกษัตริย์ (ซึ่งพระองค์ก็ทรงเป็นกษัตริย์จริง)  ที่กางเขน จึงมีข้อความติดไว้ว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว”               

 

3. ทำไมประธานจึงนอนหมอบราบที่หน้าพระแท่น

พิธีกรรมวันนี้  ตอนเริ่มพิธี จะไม่มีเสียงเพลง   แต่จะเริ่มด้วยความเงียบ แล้วประธานจะมานอนหมอบราบที่หน้าพระแท่น (หรืออาจจะคุกเข่าแทนก็ได้) การนอนหมอบราบที่หน้าพระแท่นนี้  หมายถึง "การมอบชีวิตทั้งสิ้นแด่พระเจ้า”  และในวันนี้ พระเยซูเจ้าก็ได้ทรงมอบชีวิตแด่พระบิดาเพื่อไถ่บาปเรา เราจะเห็นการหมอบราบนี้เช่นกันในพิธีบวช ทั้งบวชสังฆานุกร พระสงฆ์   และพระสังฆราช 

 

4. ทำไมจึงอ่านบทพระทรมานตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น

เมื่อวันอาทิตย์ใบลาน วันเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์  เราได้รับฟังบทพระทรมานกันแล้ว   วันนี้ เราจะมารับฟังกันอีกครั้ง  แต่จะเป็นบทพระทรมานตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น   ทั้งวันอาทิตย์ใบลาน และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ต่างเป็นวันที่ระลึกถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้า สำหรับการกำหนดให้วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ อ่านบทพระทรมานที่เฉพาะเจาะจงเป็นของนักบุญยอห์นนั้น ก็เพราะเรื่องราวในพระวรสารของผู้บันทึก 3 ท่าน คือ มัทธิว มาร์โก และลูกา จะคล้าย ๆ กัน  ส่วนของนักบุญยอห์นจะแตกต่างไป  ที่ว่าแตกต่างไปนั้น หากเราฟังอย่างตั้งใจ เราจะพบว่า นักบุญยอห์นมุ่งชี้ให้เรามองเห็นท่าทีอันโลเล หวั่นไหว เพราะตกอยู่ในการผจญทั้งของยูดาส ปิลาต เปโตร ฯลฯ ในขณะที่พระเยซูไม่ทรงหวั่นไหว  นักบุญยอห์นต้องการเน้น "ความเป็นพระเจ้า" (Divinity) ของพระเยซู      เมื่อฟังพระทรมานฯ ตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น  เราจึงทั้งรู้สึกและเข้าใจได้ว่า เรื่องราวบนไม้กางเขนจึงไม่ใช่ความพ่ายแพ้ หากแต่เป็นชัยชนะ   ไม่ใช่เพียงความโศกเศร้าอาดูร แต่เป็นความปลื้มปิติในความรัก ในความยิ่งใหญ่ของพระเยซู  ผู้เป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้.   (พระทรมานฯ ตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว, มาร์โก และลูกา จะอ่านในวันอาทิตย์ใบลาน เรียงกันไปแต่ละปี)

 

5. บทภาวนาเพื่อมวลชนมีความพิเศษอย่างไร

บทภาวนาเพื่อมวลชนในวันนี้มีความพิเศษจริง ๆ   มีหลายข้อ มีทั้งบทสวด และการบอกจุดประสงค์ของแต่ละข้อ  สลับกับการนิ่งเงียบ หรือการคุกเข่า ต้องถือว่านี่คือรูปแบบการภาวนาเพื่อมวลชนของคริสตชนแบบดั้งเดิมที่ยังเก็บรูปแบบการภาวนาแบบนี้ไว้ในวันอันแสนพิเศษ คือในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์     เนื้อหาแต่ละข้อกำหนดไว้ให้เราได้สวด ได้คิดถึงพระศาสนจักรอย่างเฉพาะเจาะจง และยังเพื่อสังคมส่วนรวม อย่างไรก็ตาม สามารถตัด และเพิ่มได้ตามที่เห็นเหมาะสม     มีการหยุดรำพึง เป็นจังหวะ เป็นข้อ ๆ  ให้ที่ชุมนุมได้มีส่วนร่วมในการภาวนานี้ ทั้งด้วยความเงียบ และการคุกเข่า

 

6. ทำไมจึงมีกางเขนเพียงหนึ่งเดียว

หัวใจสำคัญของพิธีในวันนี้ คือการนมัสการกางเขน และเป็นกางเขนที่มีพระเยซูถูกตรึงอยู่  ดังที่หนังสือคู่มือการฉลองพิธีกรรมได้แนะนำไว้ ว่าควรเป็นกางเขนที่มีขนาดใหญ่พอให้ประชาสัตบุรุษมองเห็น และควรมีรูปพระเยซูถูกตรึงอยู่ (Crucifix Cross)  เพื่อเวลาที่เข้ามานมัสการ ประชาสัตบุรุษจะได้สัมผัสพระหัตถ์และพระบาทของพระเยซูเจ้า   พิธีกรรมแนะนำอย่างแข็งขันว่าให้มีกางเขนเดียว เพื่อความเป็นหนึ่ง   :   กางเขนหนึ่งเดียวที่รวมใจสัตบุรุษเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

7.วันนี้ไม่มีมิสซาแต่ทำไมยังมีการรับศีลมหาสนิท

ต้องย้อนกลับไปเมื่อวานตอนค่ำ ที่มีมิสซาระลึกถึงการเลี้ยงของพระเยซูเจ้า ซึ่งก็คือการฉลองการตั้งศีลมหาสนิท   เหตุการณ์ที่โต๊ะอาหาร ที่พระองค์ตรัสว่า  "นี่คือกายของเรา นี่คือถ้วยโลหิตของเรา.. ที่จะมอบเพื่อท่าน.." นั้น เชื่อมโยงอย่างแนบแน่น และสมบูรณ์ ด้วยเหตุการณ์บนไม้กางเขน   พิธีกรรมสองวันนี้ จึงต่อเนื่องกันมิสซาคืนวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์

พระสงฆ์จึงเสกแผ่นปังเผื่อไว้สำหรับให้พี่น้องสัตบุรุษได้รับในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์  และการรับศีลหลังการฟังพระทรมาน หลังการนมัสการไม้กางเขนทำให้เรามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับธรรมล้ำลึกนี้ คือ  พระองค์ได้มอบชีวิตแก่เรา และเราได้รับพระองค์มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต