แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระแท่นบูชา บรรณฐาน ตู้ศีล และสถานที่ประกอบพิธีศีลล้างบาป
    บทที่ 7 ของธรรมนูญ SC มีข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายและข้อบังคับของพระศาสนจักรว่าดังนี้ “พร้อมกับการปรับปรุงแก้ไขหนังสือพิธีกรรมต่างๆ ตามกฎในข้อ 25 ควรปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายและข้อบังคับของพระศาสนจักรเกี่ยวกับสิ่งของทั้งหลายที่ใช้ในคารวกิจ โดยเฉพาะกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับการสร้างอาคารศักดิ์สิทธิ์อย่างมีเกียรติและเหมาะสม  รูปแบบและการสร้างพระแท่นบูชา ความสง่างาม ที่ตั้ง และความปลอดภัยของตู้เก็บศีลมหาสนิท สถานที่ตั้งเหมาะสมและมีศักดิ์ศรีของที่ประกอบพิธีศีลล้างบาป ตลอดจนตำแหน่งตั้งรูปศักดิ์สิทธิ์ เครื่องตกแต่งและของประดับให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎระเบียบใดที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปพิธีกรรมก็ให้ปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิก กฎใดที่ส่งเสริมการปฏิรูปพิธีกรรม ก็ให้รักษาไว้หรือนำมาใช้ในที่ที่ยังไม่มี” (SC 128)

    ข้าพเจ้าอยากให้คำอธิบายบางประการเกี่ยวกับพระแท่นบูชา บรรณฐาน และสถานที่ประกอบพิธีศีลล้างบาปพร้อมกับอ่างล้างบาป และสถานที่สำหรับเก็บรักษาศีลมหาสนิท เพราะเรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
    (i) ในการอธิบายและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของสภาสังคายนาฯ คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันกล่าวถึงพระแท่นบูชาไว้ดังนี้
    “ควรสร้างพระแท่นบูชาใหญ่ให้แยกจากฝาผนัง เพื่อจะเดินรอบและประกอบพิธีกรรมโดยหันหน้าหาสัตบุรุษได้ การประกอบพิธีกรรมโดยหันหน้าหาสัตบุรุษเช่นนี้ควรปฏิบัติทั่วทุกแห่งถ้าทำได้ พระแท่นบูชาต้องอยู่ในที่ที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้สัตบุรุษทุกคนที่มาชุมนุม หันความสนใจมารวมกันได้จริงๆ โดยปกติแล้ว พระแท่นจะต้องติดอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้และต้องรับการเสกอย่างสง่าด้วย” (RM 299)
    มีแต่ชาวคาทอลิกรุ่นเก่าที่ยังจะระลึกได้ว่า พระแท่นบูชาในสมัยก่อนนั้นตั้งอยู่ตรงไหน ตลอดเวลา 400 ปี ชาวคาทอลิกคุ้นเคยกับพระแท่นบูชาที่ติดอยู่กับกำแพง ถูกแล้ว นี่ไม่ใช่กฎทั่วไป ดังที่จะเห็นได้จากมหาวิหารสำคัญๆที่กรุงโรม(รวมทั้งมหาวิหารนักบุญเปโตร) สภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ไม่ได้ให้ข้อแนะนำเจาะจงชัดเจนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและเครื่องใช้ในโบสถ์ กระนั้นก็ดี เมื่อประกาศยืนยันข้อความเชื่อคาทอลิกตามธรรมประเพณีเกี่ยวกับศีลมหาสนิทที่การปฏิรูปศาสนาของชาวโปรเตสแตนท์ปฏิเสธไม่ยอมรับ เช่น คำสอนว่าศีลมหาสนิทมีลักษณะเป็นการถวายบูชาและคำสอนเรื่องการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระเยซูเจ้าภายใต้รูปปรากฏ(ของขนมปังและเหล้าองุ่น) ในศีลมหาสนิทหลังจากพิธีกรรมจบแล้ว สภาสังคายนาครั้งนั้นจึงให้คำอธิบายทางเทววิทยาอย่างชัดเจนที่จะช่วยกำหนดรูปแบบของการสร้างโบสถ์ใหม่และการปรับปรุงโบสถ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยปกติแล้ว หนังสือเกี่ยวกับศิลปะแบบคริสตชนเรียกช่วงเวลาหลังสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ว่า “ยุคบาโร้ค” (‘Baroque’) ลักษณะเฉพาะของศิลปะแบบนี้พบได้ในสถาปัตยกรรม อุปกรณ์เครื่องใช้ในโบสถ์ ภาพวาด รูปปั้น พระราชวังและอาคารใหญ่ๆ รวมทั้งดนตรีในสมัยนั้นด้วย ศิลปะแบบบาโร้คมีแนวโน้มที่จะทำให้รู้สึกถึงความแน่ใจ ความกลมกลืนภายใต้อำนาจสูงสุด และมีแนวโน้มที่จะสัมผัสกับจิตใจและจินตนาการของผู้มองผ่านภาพวาดทางศาสนา ศิลปะบาโร้คนี้ได้หล่อเลี้ยงความศรัทธาแบบชาวบ้านและกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปด้านศาสนาของชาวคาทอลิกที่อยู่ตรงข้าม (กับการปฏิรูปทางศาสนาของชาวโปรเตสแตนท์ The Catholic counter – reformation) อำนาจชาวยุโรปที่แสวงหาอาณานิคม (เช่น สเปน ฝรั่งเศส ฯลฯ) เป็นผู้นำศิลปะแบบบาโร้คนี้ไปยังอาณานิคมของตน
    ตามโบสถ์แบบบาโร้ค พระแท่นบูชาอยู่ติดกับผนังกำแพง โดยปกติมักจะเป็นกำแพงด้านตะวันออกของโบสถ์ พระแท่นได้รับการประดับด้วยแผงกั้นใหญ่โตทางด้านหลังของพระแท่น และมีที่กั้นหรือขั้นซึ่งเป็นที่ตั้งเชิงเทียน กล่องบรรจุพระธาตุ และต่อมายังมีตู้ศีลใหญ่โตตั้งอยู่จนไม่อาจเรียกได้ว่า (พระแท่น) เป็นจุดศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรม เมื่อมองแต่ไกลจากที่สัตบุรุษนั่งอยู่ตามที่นั่ง พระแท่นบูชาที่พระแท่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งนั้น ปรากฏเด่นออกมาเป็นเสมือนงานศิลปะน่าชมชิ้นหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนโต๊ะของพระแท่นบูชาซึ่งเป็นที่วางถ้วยกาลิกษ์บรรจุเหล้าองุ่นและแผ่นศีลนั้นแคบมากทีเดียว จำเป็นต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้นี่จะเป็นวิธีปกติและเป็นที่ยอมรับทั่วไปของการติดตั้งพระแท่นบูชา แต่ก็ยังมีความแตกต่างที่เห็นได้อีกด้วย ที่กรุงโรมเอง มีโบสถ์หลายแห่งที่พระแท่นบูชาตั้งอยู่ทางกำแพงด้านตะวันตกของโบสถ์ และไม่ติดกับกำแพง พระสงฆ์ประกอบพิธีหันหน้ามาทางสัตบุรุษ โบสถ์ในแอฟริกาและซีเรียมีตำแหน่งที่ตั้งพระแท่นบูชาแตกต่างออกไปอีก
    ขบวนการพิธีกรรมได้เริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังและกว้างขวางถึงสาระสำคัญของพระแท่นบูชาของชาวคริสต์ ยังมีการถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ เทววิทยาด้านพิธีกรรมเสนอมุมมองที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เกี่ยวกับความหมายของพระแท่นบูชาของชาวคริสต์ ถ้าจะพูดจริงๆแล้ว พระแท่นบูชาที่เป็นวัตถุไม่ใช่สาระสำคัญของคารวกิจของคริสต์ศาสนา และอาคารของโบสถ์ทั้งหมดก็ไม่ใช่สาระสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน พระแท่นบูชาเป็นสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น และได้พัฒนาขึ้นอย่างมากตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาอัครสาวกในการเลี้ยงมื้อค่ำครั้งสุดท้ายว่า “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเรา” นั้น ที่นั่นไม่มีพระแท่นบูชา มีแต่โต๊ะตัวหนึ่งเท่านั้น นักบุญเปาโล ในจดหมายของท่านถึงชาวโครินทร์ เรียกพระแท่นบูชาที่ใช้ประกอบพิธี “เลี้ยงอาหารมื้อค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ว่า “โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้า” “ท่านจะดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าและจากถ้วยขอองปีศาจไม่ได้ จะร่วมโต๊ะทั้งกับองค์พระผู้เป็นเจ้าและร่วมโต๊ะกับพวกปีศาจไม่ได้” ( 1 คร 10 : 21)
    เปาโลเรียกโต๊ะที่ใช้ประกอบพิธี “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ว่า “โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้า” แต่ไม่เรียกว่า “พระแท่นบูชา” อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งแต่เริ่มแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 1 คริสตชนเข้าใจว่า “การเลี้ยงมื้อค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นการระลึกถึงการถวายบูชาของพระเยซูเจ้า โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ใช้ประกอบพิธีถวายบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าบนนั้นจึงถูกเรียกว่า “พระแท่นบูชา” ขององค์พระผู้เป็นเจ้า โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้าถูกเรียกว่า “พระแท่นบูชา” ก็เพราะบทบาทที่มีในพิธีบูชาขอบพระคุณ สำหรับคริสตชน “โต๊ะ” ก็คือ “พระแท่นบูชา” และ “พระแท่นบูชา” ก็คือ “โต๊ะ” โต๊ะและพระแท่นบูชาเป็นสองวิธีที่ใช้เรียกอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีกรรม “โต๊ะ” และ “พระแท่นบูชา” เป็นคำสองคำที่มีความหมายเสริมกันเพื่อหมายถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีกรรมสิ่งเดียวกัน “โต๊ะ” หมายถึงรูปร่างของสิ่งของ ส่วน “พระแท่นบูชา”หมายถึง ความหมายทางเทววิทยาของสิ่งเดียวกัน คำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันแสดงความคิดนี้ด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนมากว่า “พระแท่นบูชา ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนเกิดขึ้น ภายใต้เครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็น “โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่ประชากรของพระเจ้าได้รับเรียกมาร่วมงานเลี้ยงในพิธีบูชามิสซา และยังเป็นศูนย์กลางการขอบพระคุณพระเจ้าที่สำเร็จไปในพิธีบูชาขอบพระคุณ” (RM 296)
    นี่คือเหตุผลที่ทำไมพระแท่นบูชาของคริสตชน เพราะเป็น “โต๊ะ” จึงอาจมีได้หลายแบบ เช่น เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส กลม ฯลฯ พระแท่นบูชาของคริสตชนไม่มีความศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจทางจิตของตนเอง พระแท่นบูชาของคริสตชนไม่อาจเทียบได้กับพระแท่นบูชาของศาสนาอื่น หรือกับพระแท่นบูชาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม พระแท่นบูชาเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง เพราะใช้สำหรับเผาเครื่องบูชาเท่านั้น ส่วนบรรดาคริสตชนแลเห็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าบนพระแท่นบูชาในฐานะสมณะ เครื่องบูชา และพระแท่นบูชาในหมู่พวกเขา (ฮบ 13:10-16) ในการประกอบพิธีกรรม เมื่อมาที่พระแท่นบูชาพร้อมกับการขับร้องเพลงเริ่มพิธีแล้ว พระสงฆ์จะแสดงคารวะต่อพระแท่นโดยก้มตัวลงคำนับหรือกราบพระแท่น แล้วจึงถวายกำยานแด่พระแท่นด้วยก็ได้ คำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันเน้นว่าการที่พระแท่นบูชาต้องติดอยู่กับที่เคลื่อนย้ายไม่ได้นั้นเป็นสัญลักษณ์ด้านคริสตวิทยา ในโบสถ์ทุกแห่ง ควรมีพระแท่นบูชาติดพื้นเคลื่อนย้ายไม่ได้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายชัดเจนและถาวรถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “ศิลาทรงชีวิต” (1 ปต 2:4 ; เทียบ อฟ 2: 20) ส่วนสถานที่อื่นที่สงวนไว้สำหรับการถวายบูชา อาจมีแท่น “ย้ายได้” ซึ่งนำไปตั้งตามที่ต่างๆได้” (RM 298) และยังกล่าวอีกว่า “ในโบสถ์ที่สร้างใหม่ ควรสร้างพระแท่นบูชาเพียงพระแท่นเดียว ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าในการชุมนุมของสัตบุรุษนั้นมีพระคริสตเจ้าเพียงพระองค์เดียว และการถวายบูชาขอบพระคุณของพระศาสนจักรมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
    ส่วนในโบสถ์ที่สร้างมานานแล้ว ถ้าหากพระแท่นเก่าสร้างขึ้นไว้ในลักษณะที่ทำให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมพิธีได้ยากและถ้าโยกย้ายจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางศิลปะก็อาจสร้างพระแท่นติดกับที่ขึ้นใหม่อีกแท่นหนึ่งอย่างมีศิลปะ ทำพิธีเสกอย่างสง่า และประกอบพิธีกรรมต่างๆบนพระแท่นใหม่นี้เท่านั้น ส่วนพระแท่นเดิมอย่าตกแต่งเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ความสนใจของสัตบุรุษถูกดึงดูดไปจากพระแท่นใหม่” (RM 303)
    จำเป็นมากที่ต้องให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องเรื่องความหมายของพระแท่นบูชาของคริสตชน (ทั้งแก่ชาวคาทอลิกทั่วไปและแก่ผู้กำลังเรียนคำสอนเตรียมตัวเป็นคริสตชน) พระแท่นบูชาไม่เป็นเพียงอุปกรณ์ตกแต่งชิ้นหนึ่งในจำนวนหลายสิ่งในโบสถ์ พระแท่นบูชาเป็นเครื่องหมายถาวรของพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นทั้งพระสมณะ เครื่องบูชา และพระแท่นบูชา ที่ประทับอยู่ในการประกอบพิธีกรรม ลักษณะประการหนึ่งของพระแท่นบูชาของคริสตชน ที่แตกต่างจากแท่นบูชาของศาสนาอื่นๆ และยังแตกต่างจากพระแท่นบูชาของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มด้วยก็คือ พระแท่นบูชาของคริสตชนตั้งอยู่ตรงกลางของประชาชน การออกแบบและกำหนดตำแหน่งพื้นที่และสิ่งของสำคัญอื่นๆทุกอย่างสำหรับพิธีกรรมต้องเริ่มจากพระแท่นบูชาเสมอ รูปแบบของบรรณฐาน ที่นั่งของพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน สถานที่ประกอบพิธีศีลล้างบาป ฯลฯ ต้องกลมกลืนและมีความสัมพันธ์กับรูปแบบของพระแท่นบูชา น่าสังเกตที่ตรงนี้ว่าพระสงฆ์และสัตบุรุษส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับ “พระแท่นบูชาที่หันหน้าหาสัตบุรุษ” ดังที่ปฏิบัติกันหลังวาติกันที่ 2 ธรรมนูญ SC ไม่มีข้อกำหนดเจาะจงใดๆ เกี่ยวกับที่ตั้งของพระแท่นบูชา แต่เรื่องนี้ก็ได้เป็น และยังเป็นความสอดคล้องกับเจตนาของธรรมนูญ SC จนว่าเรื่องนี้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็วทั่วทุกแห่งในโลก สภาพระสังฆราชต่างๆยอมรับการปฏิบัติเช่นนี้ และทุกวันนี้เรื่องนี้ก็เป็นลักษณะที่ปรากฏทั่วไปในโบสถ์คาทอลิกทุกแห่ง ชาวคาทอลิกรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในโลกส่วนที่เราอยู่ แทบจะไม่เข้าใจเสียด้วยว่าทำไมเราจึงต้องถกเถียงกันในเรื่องนี้ ข้อความในคำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันฉบับใหม่สะท้อนความกระตือรือร้นของประชาชนในเรื่องนี้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “เสียงของประชาชน” ดังนี้ว่า “ควรสร้างพระแท่นบูชาใหญ่ให้แยกห่างจากฝาผนัง เพื่อจะเดินรอบและประกอบพิธีกรรมโดยหันหน้าหาสัตบุรุษได้ การประกอบพิธีกรรมโดยหันหน้าหาสัตบุรุษเช่นนี้ควรปฏิบัติทั่วทุกแห่งถ้าทำได้” (RM 299)
    เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้เกิดมีการถกเถียงขึ้นมาอีกเกี่ยวกับพระแท่นบูชาที่หันหน้าหาประชาชน เรื่องนี้สำหรับข้าพเจ้าเป็นเหมือนกับความเห็นฝ่ายค้านในรัฐสภาสมัยใหม่ที่มีหลายพรรคซึ่งมีความคิดแตกต่างกันมากๆอาจมารวมตัวกันเป็นฝ่ายค้าน  แต่เมื่อเขาได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่แล้ว เขาก็แตกแยกกันอีกเพราะความเห็นและจุดยืนที่แตกต่างกันที่มีอยู่ พวกที่ต่อต้านพระแท่นบูชาหันหน้าหาประชาชนมีคำอธิบายด้านเทววิทยาที่แตกต่างกันมาก คือ  ฝ่ายที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “พรรคสุดโต่ง” อ้างว่าพิธีกรรมตามแบบของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ควรจะคงอยู่อย่างที่เคยเป็น บางคนอ้างว่าในการประกอบพิธีโดยหันหน้าหาประชาชน พระสงฆ์ดูเหมือนจะเป็นประธานในงานเลี้ยงอาหารมากกว่าประธานการถวายบูชา บางคนยังเพิ่มอีกว่า การประกอบพิธีกรรมเช่นนี้ (คือ โดยหันหน้าหาประชาชน) นับว่าเป็นการให้ความสำคัญแก่คณะสงฆ์แบบสุดๆ เพราะประชาชนถูกบังคับให้มองดูพระสงฆ์อยู่ตลอดเวลา อีกพวกหนึ่งอ้างว่าการที่ทุกคนหันหน้าเข้าหากันเป็นการเน้น “มิติแนวนอน” ของคริสต์ศาสนา และลืม “มิติแนวตั้ง” ที่แสดงออกโดยที่ผู้ร่วมพิธีทุกคน (ประชาชนและพระสงฆ์) หันหน้าไปทางเดียวกัน (คือหันไปหาพระเจ้า) อีกบางคนต้องการจะรักษาธรรมประเพณีของการอธิษฐานภาวนาระหว่างประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (Versus Orientem) เพราะ พระคัมภีร์กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างสวนเอเดนไว้ทางทิศตะวันออก (ปฐก 2:8) และพระเยซูเจ้ายังตรัสถึงการเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์เมื่อสิ้นโลกว่าจะเสด็จมาจากทิศตะวันออก (มธ 24:27) เขาให้เหตุผลว่าการวางตัวของทุกคน (รวมทั้งพระสงฆ์ที่เป็นประธาน) หันหน้าไปทางเดียวกัน (นั่นคือไปทางทิศตะวันออก) โดยเฉพาะระหว่างบทภาวนาขอบพระคุณ (the Eucharistic prayer) จะช่วยเตือนประชาชนให้คิดถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าได้ตลอดเวลา ในที่สุด เรายังต้องกล่าวด้วยถึงผู้ที่ยอมรับการประกอบพิธีโดยหันหน้าหาประชาชน แต่ก็ยังคิดว่าในบางโอกาส ควรให้ประชาชนมีประสบการณ์การหันหน้าไปทางทิศตะวันออกพร้อมกันด้วย
    ข้าพเจ้าไม่กล้าวิเคราะห์เหตุผลต่างๆทางเทววิทยา (หรือตามอารมณ์ความรู้สึก)ที่อยู่เบื้องหลังแต่ละความเห็นเหล่านี้ ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าใคร่จะเสนอแนะมุมมองสำคัญด้านงานอภิบาลที่เราต้องพิจารณาในเรื่องนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้ยอมรับ (และยังยอมรับ) พระแท่นบูชาที่หันหน้าหาประชาชนได้อย่างไรกัน? เขาเคยชินกับพิธีกรรมของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ มาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็ต้องสารภาพตามที่เป็นจริงว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่นี่ในฮ่องกงรู้สึกดีใจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อพระสงฆ์กล่าวบทขอบพระคุณเป็นเสียงดังได้ พวกเขาเข้าใจบทภาวนาเหล่านั้นได้ทันทีและมีส่วนร่วมบทภาวนาที่พระสงฆ์กล่าวแด่พระบิดาในนามของทุกคน ข้าพเจ้ารู้สึกถึงช่วงเวลาแห่งความกระตือรือร้นและความยินดีที่ทุกคนมี ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ ความกระตือรือร้นและความยินดีที่มีมาตั้งแต่ต้นก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น วาติกันที่ 2 ไม่เพียงแต่ปฏิรูปพิธีกรรมของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์เพื่อให้ประชาชนทุกวันนี้ได้มีส่วนร่วมพิธีและได้รับผลประโยชน์จากพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังได้วางแผนเรื่องที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ชีวิตจิตของการมีส่วนร่วม” พิธีกรรมของบรรดาผู้มีความเชื่อที่การประกอบพิธีกรรมเรียกร้องด้วยตัวอย่าง เช่น เรื่องพิธีมิสซา ธรรมนูญ SC ไม่กล่าวแม้แต่น้อยถึงการวางตัวของผู้ร่วมพิธีว่าจะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันก็ไม่กล่าวถึงเรื่องนี้เลยในคำแนะนำที่เกี่ยวกับ “ท่าทางและการวางตัวระหว่างมิสซา” ด้วยคำแนะนำฯ กล่าวเพียงแต่ว่าบรรดาผู้มีความเชื่อต้องยืนตลอดเวลาของบทภาวนาขอบพระคุณ (the Eucharistic prayer) (RM 43) แล้วจึงอธิบายว่า
    “พระสงฆ์ สังฆานุกร และผู้ช่วยพิธี รวมทั้งสัตบุรุษที่ร่วมพิธี ต้องพยายามแสดงท่าทางและวางตัวให้การประกอบพิธีทั้งหมดมีความสง่างามน่าเคารพและไม่ซับซ้อน ให้ทุกคนเข้าใจความหมายแท้จริงขององค์ประกอบต่างๆของพิธี เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมพิธีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงต้องเอาใจใส่ต่อรายละเอียดที่กฎของพิธีกรรมและธรรมประเพณีของจารีตโรมันที่เคยปฏิบัติมากำหนดไว้ และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ด้านจิตใจเป็นส่วนรวมแก่ประชากรของพระเจ้า มากกว่าจะทำตามวามโน้มเอียงและตามใจตนเอง ทุกคนที่มาร่วมพิธี ควรวางตัวให้เป็นแบบเดียวกัน เป็นเครื่องหมายแห่งเอกภาพของสมาชิกชุมชน คริสตชนที่มารวมกันเพื่อประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ แสดงให้เห็นและส่งเสริมความเข้าใจและความรู้สึกในจิตใจของทุกคน” (RM 42)
    ข้าพเจ้าคิดว่าเราจะพบเหตุผลที่เหมาะสมเกี่ยวกับการจัดตั้งพระแท่นบูชาหันหน้าหาประชาชนได้โดยคำนึงถึง “ชีวิตจิตของการมีส่วนร่วม” (ในพิธีกรรม)ของสัตบุรุษ เราต้องระลึกถึงเสมอถึงเรื่องที่ธรรมนูญ SC ย้ำเป็นอย่างมากว่า เป็นพระเยซูเจ้า (และพระเยซูเจ้าเท่านั้น) เองที่ทรงนำเราไปหาพระบิดาได้ พระเยซูเจ้าทรงนำเราทุกคน (ทั้งประชาชนและพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน) ให้มีความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์ดับพระตรีเอกภาพทีละเล็กทีละน้อย ในแต่ละขณะของการประกอบพิธี เราต้องสำนึกถึงเครื่องหมายที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะทรงใช้เพื่อประทับอยู่ร่วมกับเรา ได้แก่การที่ทุกคนมาชุมนุมกันในพระนามของพระเยซูเจ้า สวดภาวนาและขับร้องพร้อมกัน และให้อภัยกัน พระวาจาของพระเยซูเจ้า ศาสนบริกรซึ่งได้รับศีลบวชที่ประกอบพิธีในพระนามของพระเยซูเจ้า การที่พระเยซูเจ้าทรงถวายองค์เป็นบูชาบนไม้กางเขนที่เป็นปัจจุบันบนพระแท่นบูชา และเครื่องหมายความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์กับพระตรีเอกภาพและกับเพื่อนพี่น้องทุกคนโดยรับส่วนแบ่งจากปังก้อนเดียวกันและถ้วย(พระโลหิต) เดียวกัน ดังที่ธรรมนูญ SC ยืนยันว่า “ในพิธีกรรม มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยเครื่องหมายที่ประสาทรับรู้แลเห็นได้ และบังเกิดผลตามความหมายเฉพาะของเครื่องหมายแต่ละประการ” (SC 7)
    ชีวิตจิตของการมีส่วนร่วมพิธีกรรมจะเสริมความสำนึกและความปรารถนาของเราที่จะติดตามพระเยซูเจ้า ซึ่งในการประกอบพิธีกรรมทรงนำพวกเราในการเดินทางไปพบพระบิดา ธรรมนูญ SC กล่าวถึงชีวิตจิตของการมีส่วนร่วมพิธีกรรมไว้ดังนี้ว่า “ผู้มีความเชื่อจำเป็นต้องเตรียมจิตใจอย่างเหมาะสมเมื่อมาร่วมพิธีกรรม เพื่อจะได้รับผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ จิตใจของเขาจะต้องสอดคล้องกับคำพูด เขาจะต้องร่วมมือกับพระหรรษทานจากเบื้องบน เพื่อจะไม่รับพระหรรษทานนั้นโดยไม่บังเกิดผล” (SC 11)
    เราจะมีประสบการณ์ว่าพระเยซูเจ้าทรงอยู่กับเราเสมอในการประกอบพิธีกรรม พระองค์ทรงเป็นองค์ “อิมมานูเอล” (พระเจ้าทรงสถิตกับเรา) และเราจะเดินไปกับพระองค์ในพระจิตเจ้าไปหาพระบิดา จุดหมายของการเดินทางนี้ไม่เกี่ยวกับทิศทางใด ทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก “โลกุตรภาพ” (‘transcendence’) ของพระเจ้า เป็นปัจจุบันในหมู่เราในพระบุคคลของพระเยซูเจ้า
    เราจึงเห็นได้ว่า การประทับอยู่และการกระทำของพระเยซูคริสตเจ้าตลอดเวลาประกอบพิธีมิสซาทำให้มิสซามีเอกภาพ “สองภาคที่ประกอบเป็นมิสซา คือ ภาควจนพิธีกรรมและภาคพิธีขอบพระคุณ มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นจนทำให้ทั้งสองภาครวมเป็นการถวายคารวกิจเดียวกัน” (SC 56)
    โต๊ะพระวาจา (บรรณฐาน) และโต๊ะศีลมหาสนิท (พระแท่นบูชา) มีบทบาทต่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง เพราะ พระเยซูเจ้าพระองค์เดียวกันทรงใช้โต๊ะทั้งสองนี้ เพื่อปฏิบัติพระภารกิจของพระองค์ ดังนั้น การออกแบบพระแท่นบูชาและบรรณฐานจึงต้องสะท้อนความคิดเรื่องบทบาทในการประกอบพิธีที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย
    อุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีกรรมที่จัดไว้ในพื้นที่ประกอบพิธี (the sanctuary) ได้แก่ พระแท่นบูชา บรรณฐาน ที่นั่งของประธาน และตู้ศีล (ถ้าอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย)ล้วนหันหาประชาชน หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาชนอยู่รอบพื้นที่ประกอบพิธี ตามวิสัยทัศน์ของการปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 ซึ่งได้ค้นพบธรรมประเพณีคาทอลิกที่เป็นประดุจขุมทรัพย์ล้ำค่าแท้จริง การวางพระแท่นบูชาหันหน้าหาประชาชนเป็นผลตามมาที่สมเหตุสมผลจากคำสอนของสภาฯ เจตนาที่ต้องการให้ชุมชนทั้งหมดหันหน้าสู่ทิศตะวันออกนั้นมีเจตนาเพื่อสั่งสอนแต่ไม่อาจเป็นธรรมประเพณีที่เป็นสาระสำคัญได้ และธรรมประเพณีนี้ก็ปฏิบัติกันในพระศาสนจักรตะวันออกมากกว่าในพระศาสนจักรตะวันตก ที่การปฏิบัติเช่นนี้ไม่เคยเป็นกฎทั่วไปเลยเกี่ยวกับการนำธรรมเนียมการหันหาไปทางทิศตะวันออกไปสัมพันธ์กับการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเมื่อสิ้นพิภพนั้น ข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่าพิธีกรรมแบบใหม่ตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งได้นำธรรมเนียมให้ประชาชนกล่าวหรือขับร้องข้อความโห่ร้องถวายพรหลังเสกศีลว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทั้งหลายรับประทานปังและดื่มจากถ้วยนี้ ก็เป็นการประกาศว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ จนกว่าจะเสด็จกลับมาอีก” นั้น  ได้ปลูกฝังความคิดไว้ในใจของบรรดาผู้มีความเชื่อให้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ศีลมหาสนิทมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าจริงๆ ตลอดเวลา 400 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้ร่วมมิสซาโดยมองไปในทางเดียวกันกับพระสงฆ์ แต่ความเชื่อถึงการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าในฐานะที่ทำให้งานกอบกู้ของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์ (ไม่เพียงแต่เป็นการเสด็จมาพิพากษา) นั้นอยู่ห่างไกลทั้งจากความศรัทธาทั่วไปของสัตบุรุษและจากเทววิทยาที่พวกเราได้เรียนรู้ในสามเณราลัย
    (II) เกี่ยวกับบรรณฐาน ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวเสริมที่ตรงนี้ว่า คำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันกล่าวไว้ดังนี้ว่า
    “ศักดิ์ศรีแห่งพระวาจาของพระเจ้าเรียกร้องให้มีสถานที่เหมาะสมในโบสถ์ เพื่อประกาศพระวาจาและให้ความสนใจของสัตบุรุษมุ่งไปยังที่นั้นในช่วงเวลาของภาควจนพิธีกรรม โดยปกติควรให้สถานที่นี้เป็น “บรรณฐาน” ติดกับที่ ไม่ใช่เป็นเพียง “ที่อ่านหนังสือ” ที่เคลื่อนย้ายได้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของโบสถ์แล้ว บรรณฐานต้องจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่สัตบุรุษอาจแลเห็นศาสนบริกรผู้ช่วยพิธี และผู้อ่านพระคัมภีร์ได้ชัดเจน” (RM 309)
    (iii) เกี่ยวกับสสถานที่เก็บรักษาศีลมหาสนิท ชาวคาทอลิกบางคนบ่นว่าการปฏิรูปของวาติกันที่ 2 ไม่ได้ให้เกียรติแก่ตู้ศีลตามสมควร ในพิธีกรรมของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ ตู้ศีลตั้งยู่ที่บนยอดของพระแท่นบูชา บ่อยครั้งตู้สีลมีลักษณะเป็นสิ่งสร้างใหญ่โตและมีศิลปะตั้งอยู่ตรงกลางของพระแท่นบูชาทีเดียว ขอให้เราถามคำถามพื้นฐานข้อหนึ่งว่า “ทำไมจึงต้องแยกตู้ศีลออกจากพระแท่นบูชา?” “มีเหตุผลอะไรที่ต้องทำเช่นนี้?” “การตัดสินใจแยกพระแท่นบูชาจากตู้ศีลหมายถึงการขาดความเคารพหรือความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทหรือ?” คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันอธิบายไว้ดังนี้
    “จากเหตุผลเรื่องเครื่องหมาย เป็นการเหมาะว่าถ้าตู้ศีลสำหรับเก็บรักษาศีลมหาสนิทไม่อยู่บนพระแท่นที่มีการถวายบูชามิสซา
    เพราะฉะนั้น ตามวินิจฉัยของพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลตู้ศีลควรตั้งอยู่
    1) หรือภายในสถานประกอบพิธีกรรม (Presbyterium) นอกพระแท่นที่มีการถวายบูชามิสซา มีรูปร่างและอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม อาจอยู่บนพระแท่นเก่าที่ไม่ใช้ถวายบูชามิสซาแล้วก็ได้ (ดูข้อ 306)
    2) หรือในห้องศักดิ์สิทธิ์เล็กๆ ซึ่งอยู่ติดกันและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวโบสถ์แลเห็นได้เด่นชัดเหมาะให้สัตบุรุษมานมัสการและภาวนาเป็นการส่วนตัว” (RM 315)
    เพื่อจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจหลักการด้านพิธีกรรมซึ่งอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ คำที่เป็นสาระสำคัญในข้อความที่ยกมาข้างบนนี้คือ “จากเหตุผลเรื่องเครื่องหมาย” คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันอ้างถึงที่มาของข้อความดังกล่าว คือคำแนะนำเรื่องการแสดงคารวะต่อศีลมหาสนิท ‘Eucharisticum Mysterium’ ที่สมณกระทรวงจารีตพิธีได้ออกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ.1967 ที่กล่าวว่า “วิธีการถวายคารวะแบบต่างๆที่สำคัญซึ่งแสดงว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่กับพระศาสนจักรนั้นค่อยๆเปิดเผยออกในการประกอบพิธีมิสซา ก่อนอื่นหมดเราเห็นว่า พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในหมู่ผู้มีความเชื่อที่มาชุมนุมกันในพระนามของพระองค์ ต่อจากนั้น พระองค์ประทับในพระวาจาเมื่อมีการอ่านและอธิบายพระคัมภีร์ พระองค์ยังประทับอยู่ในบุคคลของศาสนบริกร และในที่สุด พระองค์ประทับในแบบพิเศษหนึ่งเดียวภายใต้รูปปรากฏของ(ปังและเหล้าองุ่นใน) ศีลมหาสนิท ดังนั้น จากเหตุผลของเครื่องหมาย จึงเป็นการสอดคล้องกับลักษณะของการประกอบพิธีที่เราควรจะเห็นการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทอย่างที่เป็น การประทับแบบนี้เป็นผลจากการเสกศีล จึงไม่ควรปรากฎอยู่บนพระแท่นตั้งแต่เริ่มมิสซาโดยเก็บรักษาแผ่นศีลที่เสกแล้วไว้ในตู้ศีล” (EM 55) นี่เป็นคำสอนของธรรมนูญ SC และได้รับการกล่าวย้ำอีกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ในพระสมณสาสน์ ‘Mysterium Fidei’ (ค.ศ.1965) เมื่อตรัสถึงการประทับอยู่แท้จริงของพระเยซูเจ้าภายใต้รูปปรากฎของศีลมหาสนิท พระสันตะปาปาทรงสรุปว่า “เราเรียกการประทับอยู่เช่นนี้ว่าเป็น “การประทับอยู่จริง” (real presence) – การกล่าวเช่นนี้มิได้ตั้งใจที่จะปฏิเสธว่า การประทับอยู่แบบอื่นไม่ใช่การประทับอยู่ “แท้จริง” ด้วย แต่เพราะการประทับอยู่ (ในศีลมหาสนิท)เช่นนี้  เป็นการประทับอยู่ “แท้จริง” ในความหมายสมบูรณ์ที่สุด นั่นคือเป็นการประทับอยู่อย่างสมบูรณ์ที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ประทับอยู่อย่างสมบูรณ์ในทั้งสองสภาวะ” นี่เป็นคำสอนคาทอลิกถูกต้องแท้จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 40 ปีแล้ว คำสอนนี้ก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตของการที่บรรดาผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมพิธีกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าหลายครั้งการถกเถียงกันเกี่ยวกับการจัดวางตู้ศีลไม่ได้เริ่มจากหลักการพื้นฐานด้านพิธีกรรมประการนี้ และบ่อยๆ มักจะจบลงเป็นการกล่าวหากันโดยไร้ประโยชน์
    คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันยังกล่าวเสริมอีกว่า
    “ศีลมหาสนิทต้องเก็บรักษาไว้ในตู้ศีลซึ่งอยู่ภายในโบสถ์ ตรงตำแหน่งมีเกียรติ แลเห็นได้เด่นชัด ตกแต่งงดงาม  เหมาะที่จะสวดภาวนาโดยพิจารณาถึงโครงสร้างของโบสถ์แต่ละแห่งและคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นด้วย ตามปกติต้องมีตู้ศีลเพียงตู้เดียว อยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ทำด้วยวัสดุแข็งแรงทนทาน ไม่โปร่งใส และปิดกุญแจได้จนไม่มีอันตรายที่จะถูกทุราจาร นอกจากนั้น ก่อนจะใช้ในพิธีกรรม ตู้ศีลควรได้รับการเสกตามพิธีที่กำหนดไว้ในหนังสือพิธีเสกจารีตโรมัน (Rituale Romanum)” (RM 314)
    “ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา ควรให้มีตะเกียงใช้น้ำมัน หรือขี้ผึ้งหล่อเลี้ยงจุดอยู่ใกล้ตู้ศีลตลอดเวลาเพื่อแสดงถึงและให้เกียรติแก่การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” (RM 316)
    อีกครั้งหนึ่งที่เรามาพบกับเทววิทยาและวิธีพูดของวาติกันที่ 2 ซึ่งเป็นกุญแจเพื่อจะเข้าใจการปฏิรูปของสภาสังคายนาฯนี้ วลี “ความหมายของเครื่องหมาย” เป็นคำอธิบายด้านเทววิทยาเรื่องการจัดวางตู้ศีล เรื่องการรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสอง เรื่องการรับศีลล้างบาปโดยการจุ่มตัวลงในน้ำ และเรื่องการเปลี่ยนแปลงอื่นๆอีกหลายอย่าง เครื่องหมายแสดงถึงรูปแบบต่างๆของการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในการประกอบพิธีกรรม และแสดงถึงวิธีการปฏิบัติของพระเยซูเจ้าแบบต่างๆในการประกอบพิธีกรรมเหล่านี้ คำแนะนำของหนังสือมิสซากล่าวข้อความนี้อยู่บ่อยๆ คือ “การรับศีลมหาสนิทย่อมมีรูปแบบเป็นเครื่องหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้ารับภายใต้รูปปรากฏทั้งของปังและเหล้าองุ่น” (RM 281)
    “เหตุผลเรื่องเครื่องหมายเรียกร้องให้วัสดุที่ใช้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ  ปรากฏเป็นอาหารจริงๆ เพราะฉะนั้นแผ่นปังที่จะเสกเป็นศีลมหาสนิท แม้จะเป็นขนมปังไร้เชื้อและมีรูปอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา จึงควรจะทำขึ้นอย่างที่พระสงฆ์ซึงถวายบูชามิสซาพร้อมกับสัตบุรุษจะบิเป็นชิ้นๆ สำหรับแจกให้สัตบุรุษบางคนได้ ไม่มีข้อห้ามที่จะทำแผ่นศีลแผ่นเล็กสำหรับสัตบุรุษโดยเฉพาะ ถ้าจำนวนผู้รับศีลมหาสนิทหรือเหตุผลอื่นๆด้านอภิบาลเรียกร้อง ถึงกระนั้นกิริยาการบิขนมปัง ซึ่งใช้เป็นชื่อเรียกพิธีบูชาขอบพระคุณในสมัยอัครสาวกจะแสดงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นถึงความหมายและความสำคัญของเครื่องหมายแห่งเอกภาพของทุกคนในขนมปังก้อนเดียวกัน และเป็นเครื่องหมายแห่งความรักจากการที่มีการแจกขนมปังก้อนเดียวในหมู่พี่น้อง” (RM 321)
    “พระศาสนจักรปรารถนาอย่างยิ่งให้บรรดาสัตบุรุษรับพระกายของพระคริสตเจ้าด้วยแผ่นศีลที่เสกในมิสซานั้นหลังจากที่พระสงฆ์รับศีลแล้ว เพื่อให้การรับศีลมหาสนิทปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นเครื่องหมายแสดงการมีส่วนร่วมพิธีบูชาที่ถวายนั้น” (RM 85)
    (iv) เกี่ยวกับการประกอบพิธีศีลล้างบาป หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกกล่าวอีกครั้งหนึ่งถึงพิธีล้างบาป “ที่มีความหมายมากที่สุด” ว่าดังนี้
    “พิธีศีลล้างบาปประกอบอย่างมีความหมายมากที่สุดโดยการจุ่มตัวลงไปในน้ำล้างบาปสามครั้ง ถึงกระนั้น ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ยังประกอบพิธีศีลล้างบาปได้อีกโดยเทน้ำสามครั้งบนศีรษะของผู้สมัครรับศีลล้างบาป” (CCC1239)
    อ่างศีลล้างบาปที่ทำให้ประกอบพิธีศีลล้างบาปได้โดยการจุ่มตัวนับเป็นสิ่งของเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมในโบสถ์ประจำตำบลใหม่ทุกแห่ง และถ้าทำได้ ในโบสถ์(ประจำตำบล)ทุกแห่งที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ วาติกันที่ 2 ได้รื้อฟื้นพิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้นตอนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนนี้ของโลก ผู้ใหญ่ที่สมัครเป็นคริสตชนคือความหวังของอนาคตของพระศาสนจักร และบทบาทของเขาในชีวิตและพิธีกรรมของวัดจึงต้องได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก
    “ให้รื้อฟื้นกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้นตอน และจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสมณะประมุขท้องถิ่น โดยวิธีนี้ ควรกำหนดช่วงเวลาเรียนคำสอนและอบรมอย่างเหมาะสม ให้มีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เป็นขั้นตอน เพื่อจะเป็นเวลาที่ค่อยๆนำความศักดิ์สิทธิ์มาให้” (SC64)