แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉลิมฉลองที่มีระเบียบ
    พระศาสนจักรไม่เป็นเพียงองค์การหนึ่ง พระศาสนจักรเป็นร่างทรงชีวิต เป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นร่างทรงชีวิต ชุมชนพระศาสนจักรจึงมีส่วนประกอบต่างๆที่มีหน้าที่ต่างกัน เพื่อความเป็นอยู่อย่างดีของร่างกายทั้งหมด เป็นพระจิตองค์เดียวกัน คือพระจิตของพระเยซูเจ้าที่ทรงกำหนดของประทานจากพระองค์โดยอิสระเสรี ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยว่าใครเป็นผู้ใหญ่ ใครเป็นผู้น้อยในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ “ศาสนบริการ” ทุกอย่างมีศักดิ์ศรีและบทบาทของตน แต่ละคนจึงจำเป็นต้องให้ความเคารพต่อกัน ร่วมมือกันและปฏิบัติบทบาทเฉพาะของตนเท่านั้น

    “ในพิธีกรรม แต่ละคน ทั้งศาสนบริกรและสัตบุรุษผู้มีหน้าที่ต้องทำเฉพาะหน้าที่นั้นทั้งหมดซึ่งเป็นของตน ตามลักษณะของพิธี และตามกฎของพิธีกรรม” (SC 28)
    สภาสังคายนาฯ ต้องการปฏิรูปอะไรเมื่อกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ ในพิธีกรรมสมัยก่อนสภาสังคายนาฯ พิธีกรรมของสังคายนาเมืองเตร็นท์ พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีต้องอ่านเสียงเบาๆ ทุกสิ่งที่คนอื่นอ่านหรือขับร้องระหว่างมิสซาด้วย คล้ายกับว่าทุกสิ่งจะถูกต้องและไม่เป็นโมฆะด้านพิธีกรรมก็ต่อเมื่อพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีประทับตราเห็นด้วยเท่านั้น พิธีกรรมนับได้ว่าเป็น “กิจของสงฆ์” จริงๆ ศาสนบริการต่างๆในพิธีกรรมเป็น “การผูกขาด” ของคณะสงฆ์ ฆราวาสไม่มีบทบาทแท้จริงแต่ประการใดในพิธีกรรม คำสอนเรื่อง “สมณภาพของผู้ได้รับศีลล้างบาป” เป็นเรื่องเกือบที่จะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับชาวคาทอลิกส่วนใหญ่และความหลากหลายของศาสนบริการด้านพิธีกรรมเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยในสถานที่ประกอบพิธีที่มีเพียงแบบเดียว
    พิธีกรรมคาทอลิกเป็นธุระของคณะสงฆ์เท่านั้นตั้งแต่เมื่อไรและเพราะเหตุใด?
    เรื่องนี้พัฒนาขึ้นในยุโรปในสมัยกลาง มาถูกท้าทายอย่างฉับพลันโดยการปฏิรูปทางศาสนาของลัทธิโปรเตสแตนท์ และถูกตราขึ้นเป็นกฎหมายโดยสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์เป็นการแก้ไขสถานการณ์ต่อต้านการปฏิรูปทางศาสนาดังกล่าว
    การที่พิธีกรรมเป็นธุระของคณะสงฆ์เท่านั้น เห็นได้ชัดที่สุดในประวัติสถาปัตยกรรมของโบสถ์ในยุคต่างๆที่ผ่านมา สถาปัตยกรรมคาทอลิกเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนเทววิทยาของสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี อาสนวิหารที่งดงามเหล่านั้น ซึ่งเป็นงานชิ้นเอกที่แสดงความคิดสร้างสรรค์และความคิดใหม่ๆนั้น ซึ่งมักจะถูกสร้างขึ้นโดยคนยากจนในสถานที่นั้น ทุกวันนี้ยังคงเป็นพยานของความเชื่อและความงดงามได้อย่างน่าประทับใจ แน่ทีเดียว บรรยากาศของความเงียบอย่างลึกซึ้ง แสงสว่างสลัวๆที่ส่องผ่านกระจกสีต่างๆ เสียงดนตรีจากออร์แกนลมและทำนองเพลงประสานหลายเสียง บทเพลงเกรโกเรียน ... คณะสงฆ์ที่สวมอาภรณ์อย่างสวยงามพร้อมกับบรรดาผู้ช่วยพิธี คณะนักขับร้อง ... ภาษาละติน ภาษาของคณะสงฆ์และผู้ได้รับการศึกษา... ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มบรรยากาศเหนือความเป็นจริงให้มากขึ้น
    เมื่อได้กล่าวเช่นนี้แล้ว เราอาจจะถามว่า “แล้วที่อยู่และบทบาทของประชาชนในอาสนวิหารเหล่านี้อยู่ตรงไหนกัน” คณะสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนประชาชนก็เป็นเพียง “ผู้ดู” อย่างเงียบๆ และโดยทั่วไป เขาก็มีความสุขแล้วที่เป็นอย่างนั้น เขาเหล่านั้นก็สวดบทภาวนาส่วนตัวของตน มีกิจศรัทธาเฉพาะของตน ฟังบทเทศน์ของพระสงฆ์ เขามีประสบการณ์ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระธรรมล้ำลึก และสิ่งที่เป็นโลกุตระเหนือธรรมชาติ นานๆทีเขาจึงรับศีลมหาสนิทสักครั้งหนึ่ง แต่เขาก็ได้รับเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงพอสำหรับชีวิตความศรัทธาของตน
    เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ระดับการศึกษาของประชาชนได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ การศึกษาไม่ถูกผูกขาดอยู่ในหมู่คณะสงฆ์เท่านั้น การศึกษาเป็นเรื่องทางโลกของคนทั่วไปด้วย ภาษาประจำชาติต่างๆได้เติบโตขึ้นในยุโรป ภาษาละตินไม่ได้เป็นภาษาที่ใช้พูดจาสนทนากันอีกต่อไป ตำแหน่งของคณะสงฆ์ในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บทบาทของฆราวาสถูกมองในมุมมองใหม่ ขบวนการด้านพิธีกรรมได้ปฏิบัติงานอย่างน่าพิศวงในการอบรมฆราวาส สภาสังคายนาฯ รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปพิธีกรรมเพื่อให้ประชาชนได้สำนึกถึงศักดิ์ศรี บทบาท พันธกิจ และหน้าที่ของตน
    “พิธีกรรมไม่ใช่กิจการของแต่ละคนเป็นส่วนตัว แต่เป็นการเฉลิมฉลองของพระศาสนจักร ซึ่งเป็น “เครื่องหมายแสดงเอกภาพ” กล่าวคือ ประชากรศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ใต้ปกครองของบรรดาพระสังฆราช ดังนั้น พิธีกรรมจึงเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรทั้งหมดที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์  แสดงให้เห็นและก่อให้เกิดพระกายนี้ แต่สมาชิกแต่ละคนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้โดยวิธีการ สถานภาพ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในรูปแบบต่างๆ” (SC 26)
    ถ้อยคำเหล้านี้อธิบายเทววิทยาใหม่ของพิธีกรรม พิธีกรรมของคริสตศาสนาไม่ใช่จารีตพิธีที่สมาชิกบางคนของพระศาสนจักรเป็นผู้ประกอบ แต่เป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรทั้งหมด การนี้นับว่าเป็นการปฏิวัติแท้จริงที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงจิตใจและท่าทีใหม่จากสมาชิกแต่ละคนขององค์การ เราปฏิรูปพิธีกรรม แต่พิธีกรรมก็จะปฏิรูปเราและปั้นเราให้เป็นประชากรของพระเจ้าซึ่งเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้า ทุกวันนี้เราพูดบ่อยๆว่า “พระสงฆ์หันหน้าหาประชาชน” หรือ “ประชาชนอยู่ด้านหลังหรือข้างพระสงฆ์...” หรือ ทุกคนกำลังมองไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน” ฯลฯ ข้อความเหล่านี้ไม่ได้ตอบคำถามพื้นฐานที่ว่า “ใครคือประชาชนที่ยืนอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง หรือข้างพระสงฆ์ และอะไรคือบทบาทของเขาในพิธีกรรม?”
    “ผู้ช่วยพิธี ผู้อ่าน ผู้อธิบายพิธี และคณะนักขับร้อง ต่างมีส่วนในพิธีกรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น เขาควรทำหน้าที่ของตนด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ และด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยสมกับศาสนบริการยิ่งใหญ่เช่นนี้ และสมกับที่ประชากรของพระเจ้ามีสิทธิที่จะเรียกร้องให้เขาปฏิบัติดังนั้น บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการอบรมให้มีจิตตารมณ์ของพิธีกรรมตามส่วนที่เหมาะกับตน และเขาต้องได้รับการอบรมให้ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องตามกฎและมีระเบียบ” (SC 29)
    ศาสนบริกรฆราวาสไม่ใช่คณะสงฆ์ระดับต่ำกว่าหรือเป็นผู้ช่วยของพระสงฆ์ (ในภาษาอิตาเลียน ที่หมายถึงผู้ช่วยมิสซาคือคำว่า ‘chierichetti’ ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “คณะสงฆ์เล็กๆ) เขาเหล่านี้มีบทบาทที่ต้องปฏิบัติเพื่อการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ทุกคนและการถวายพระเกียรติแด่พะเจ้า เขาปฏิบัติหน้าที่จริงๆด้านพิธีกรรม เมื่อมีการอ่านพระคัมภีร์ ความสนใจของทุกคนที่มาชุมนุมกัน รวมทั้งพระสงฆ์ มุ่งไปสู่บรรณฐาน (ambo) เมื่อนักขับร้องกำลังขับร้อง เขาก็ปฏิบัติบทบาทด้านพิธีกรรมโดยแท้จริง ... น่าสังเกตอีกครั้งหนึ่งว่า รายการของศาสนบริกรด้านพิธีกรรมที่กล่าวถึงในบทความนี้ไม่ต้องการจะเป็นรายการที่มีผลบังคับด้านกฎหมายอย่างเด็ดขาด สภาสังคายนาฯ ต้องการเปิดประตูให้มีศาสนบริการอื่นๆของฆราวาสอีกในการประกอบพิธีกรรม
    อาจเป็นการออกนอกเรื่องที่จะคิดว่า เนื่องจากบริกรแจกศีลมหาสนิทหรือบริกรอื่นที่พระศาสนจักรรับรองในภายหลังไม่ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในรายการ จึงหมายความว่า สภาสังคายนาฯไม่ได้ถือว่าคนเหล่านี้เป็นศาสนบริกรด้านพิธีกรรม คงจะมีประโยชน์มากกว่ามากสำหรับทุกคนที่จะใช้เวลาของเราทำให้การปฏิรูปนี้สำเร็จไปในมิสซาวันอาทิตย์ของเรา การอบรมด้านพิธีกรรมของผู้ช่วยพิธี ผู้อ่าน ผู้อธิบายพิธี นักขับร้อง บริกรแจกศีลมหาสนิท ฯลฯ มีจุดประสงค์เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ “ดื่มด่ำอย่างลึกซึ้งด้วยจิตตารมณ์พิธีกรรมแต่ละคนตามความสามารถ และเขาต้องได้รับการฝึกให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยถูกต้องและอย่างมีระเบียบ”
    ใครมีอำนาจกำหนดให้มีการประกอบพิธีอย่างมีระเบียบ?
    ในช่วงเวลาก่อนวาติกันที่ 2 สมแด็จพระสันตะปาปาทรงมีอำนาจเด็ดขาดเพียงพระองค์เดียวที่จะวางกฎเกณฑ์ด้านพิธีกรรมซึ่งมีผลใช้บังคับโดยแท้จริงได้ ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร ปี ค.ศ.1917 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ในพระศาสนจักรละติน ผู้มีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวที่จะกำหนดเรื่องพิธีกรรมคือสมเด็จพระสันตะปาปา บรรดาพระสังฆราชมีอำนาจเพียงแต่จัดการเรื่อง “กิจศรัทธาแบบชาวบ้าน” ของท้องถิ่นเท่านั้น พระสังฆราชไม่มีอำนาจจัดพิมพ์หนังสือพิธีกรรมจริงๆได้เลย เนื่องจากว่าตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักรฉบับเก่า ไมได้มีการแยกแยะชัดเจนระหว่างเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และเรื่องที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ กฎจารีตพิธี (rubrics) ทุกข้อจึงมีผลบังคับเท่าๆกัน และไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ขบวนการพิธีกรรมได้เน้นการศึกษาถึงอำนาจของพระสังฆราชในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพิธีกรรม ในช่วงเวลาการถกเถียงเตรียมการประชุมสำหรับสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้มีผู้สนับสนุนสองความเห็นด้วยกัน ธรรมนูญ SC จึงแสดงให้เห็นการประนีประนอมในแบบหนึ่ง   ในด้านหนึ่งธรรมนูญนี้ยืนยันว่า
    “การออกกฎข้อบังคับกี่ยวกับพิธีกรรมเป็นอำนาจของพระศาสนจักรเท่านั้น กล่าวคือ เป็นอำนาจของสันตะสำนัก และเป็นอำนาจของพระสังฆราชตามที่กฎหมายกำหนด” (SC 22.1) แต่เมื่อกำหนดว่าพระสังฆราชมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับพิธีกรรมในเรื่องใดบ้าง ธรรมนูญก็กล่าวเพียงว่า
    “กิจศรัทธาที่ประชากรคริสตชนนิยมปฏิบัตินั้น ควรได้รับการส่งเสริมอย่างมาก เพียงแต่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดของพระศาสนจักร” (SC 13)
    ในกรณีนี้ พระสังฆราชไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องพิธีกรรมโดยตรง แต่เกี่ยวกับ “กิจศรัทธาเฉพาะของพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง” เราต้องจำไว้ว่าธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมเป็นเอกสารฉบับแรกที่ได้รับการพิจารณาของบรรดาพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุม เทววิทยาที่พัฒนามากขึ้นเกี่ยวกับพระศาสนจักรท้องถิ่นจะปรากฏชัดเจนในธรรมนูญเกี่ยวกับพระศาสนจักร ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรปี ค.ศ.1983 จะสะท้อนมุมมองที่พัฒนาขึ้นแล้วนี้เมื่อกล่าวว่า
    “แนวทางของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ขึ้นต่ออำนาจปกครองของพระศาสนจักรที่มีอยู่กับสันตะสำนัก และพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลมีหน้าที่ต้องกำหนดกฎระเบียบด้านพิธีกรรมในพระศาสนจักรที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน กฎระเบียบเหล่านี้มีผลบังคับทุกคน” (มาตรา 838.1,4)