การประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉลิมฉลองร่วมกัน
    ‘ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าและในพระเยซูเจ้า แต่ไม่เชื่อในพระศาสนจักร’
    ‘ข้าพเจ้าชอบมากกว่าที่จะสวดภาวนาคนเดียวในห้องหรือในโบสถ์ว่างเปล่า ที่นั่นข้าพเจ้ามีความรู้สึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเงียบ’
    ‘มิสซาวันอาทิตย์ อึกทึกมากเกินไป มีผู้คนมากเกินไป มีจารีตพิธีมากเกินไป’
    รายการข้อความเหล่านี้ที่พบได้บ่อยๆ ในหมู่ชาวคาทอลิกบางกลุ่ม และอาจเพิ่มต่อไปได้เรื่อยๆ ข้อความเหล่านี้สะท้อนความรู้สึกไม่สบายใจ และความไม่อยากประกาศแสดงความเชื่อและสวดภาวนาในชุมชนของพระศาสนจักร

    ในช่วงเวลาก่อนการประชุมสภาสังคายนาฯ ธรรมเนียมที่จะถวายมิสซาเกือบเป็นการส่วนตัวพบได้ทั่วไป เมื่อมีพระสงฆ์หลายองค์สังกัดอยู่กับวัดหนึ่ง พระสงฆ์เหล่านี้ก็ถวายมิสซาของตนตามพระแท่นข้างๆที่สร้างไว้เพื่อการนี้ คุณอาจเห็นมิสซาหนึ่งกำลังถวายอยู่ที่พระแท่นใหญ่ มีพิธีโปรดศีลล้างบาปที่พระแท่นด้านข้างพระแท่นหนึ่ง มีมิสซาสำหรับผู้ตายที่อีกพระแท่นหนึ่ง ... ทั้งหมดนี้ในเวลาเดียวกัน ตามบ้านนักบวช ปรากฏการณ์การถวายมิสซาพร้อมกันตามพระแท่นข้างต่างๆเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบได้ทั่วไป สภาสังคายนาฯจะรื้อฟื้นธรรมเนียมโบราณการถวายสหบูชามิสซา ซึ่งแสดงให้เห็นเอกภาพของสมณภาพอย่างชัดเจน และยังเน้นให้เห็นธรรมชาติของการเฉลิมฉลองร่วมกันด้วย (SC 57)
    การปฏิรูปของสภาสังคายนาฯ ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้องของพิธีกรรมของคริสต์ศาสนา เน้นลักษณะชุมชนของการประกอบพิธีกรรมทุกอย่างด้วยถ้อยคำต่อไปนี้
    “พิธีกรรมไม่ใช่กิจการของแต่ละคนเป็นส่วนตัว แต่เป็นการเฉลิมฉลองของพระศาสนจักร ซึ่งเป็น “เครื่องหมายแสดงเอกภาพ” กล่าวคือ ประชากรศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ใต้ปกครองของบรรดาพระสังฆราช ดังนั้น พิธีกรรมจึงเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรทั้งหมดที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ แสดงให้เห็นและก่อให้เกิดพระกายนี้ แต่สมาชิกแต่ละคนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้โดยวิธีการ สถานภาพ หน้าที่และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในรูปแบบต่างๆ (SC 26)
    การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้ง เป็นการเฉลิมฉลองของพระศาสนจักรที่ปรากฏอยู่ในแต่ชุมชนของผู้มีความเชื่อ ไม่ว่าเป็นชุมชนเล็กน้อยหรือยากจนเท่าใดก็ตาม ดังที่ธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักรกล่าวไว้ว่า
    “พระศาสนจักรนี้ของพระคริสตเจ้าอยู่เป็นปัจจุบันจริงๆ ในทุกชุมชนท้องถิ่นของผู้มีความเชื่อ ซึ่งได้ชื่อในพันธสัญญาใหม่ว่า “พระศาสนจักร” ร่วมกับผู้อภิบาลของตน... พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในชุมชนเหล่านี้ แม้บ่อยๆจะเป็นชุมชนเล็กๆและยากจน หรือดำเนินชีวิตกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ และเดชะการประทับอยู่ของพระองค์ พระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ คาทอลิก และสืบเนื่องจากอัครสาวก ก็ถูกนำมารวมกันอยู่ที่นั่น” (LG 26)
    ความเชื่อสำคัญมากๆ ที่ว่าพระศาสนจักรเป็นอยู่จริงๆ ในแต่ละชุมชนท้องถิ่นของผู้มีความเชื่อนี้ มีหลักฐานมั่นคงอยู่ในพระคัมภีร์หนังสือหลายเล่มในพันธสัญญาใหม่ใช้คำว่า “พระศาสนจักร” (ekklesia)ในสถานการณ์ต่างๆ บางครั้งคำนี้หมายถึงพระศาสนจักรสากล พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรดังนี้ “เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ.16:18) ในโอกาสอื่น คำว่า “พระศาสนจักร” หมายถึง กลุ่มคริสตชนหลายกลุ่มที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณหนึ่ง “ขณะนั้น พระศาสนจักรมีสันติภาพทั่วแคว้นยูเดีย กาลิลี และสะมาเรีย พระศาสนจักรเติบโตขึ้น มีความเคารพยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า และได้รับกำลังใจจากพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม” (กจ 9:31) หรือหมายถึงชุมชนผู้มีความเชื่อในสถานที่หนึ่ง “เปาโล” ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้เป็นอัครสาวกของพระคริสตเยซูตามพระประสงค์ของพระองค์ และจากโสสเธเนสพี่น้องของเรา ถึงพระศาสนจักรของพระเจ้า ที่อยู่ ณ เมืองโครินทร์” (1 คร 1:1-2) บ่อยมาก คำว่า “พระศาสนจักร” หมายถึงชุมชนเล็กๆของผู้มีความเชื่อ ในจดหมายถึงชาวโรม เปาโลส่งความคิดถึงมายังเพื่อนสนิทและผู้ร่วมงานของท่าน กล่าวว่า “ขอฝากความคิดถึงปริสสิลลา และ อาควิลลา  ผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในพระคริสตเยซู และขอฝากความคิดถึงกลุ่มคริสตชน (หรือ “พระศาสนจักร”) ที่ชุมนุมกันในบ้านของเขาด้วย” (รม 16: 3,5) แม้กระทั่งชุมชนเล็กๆ ในบ้านของเพื่อนคนหนึ่งก็เป็นพระศาสนจักรในบ้านที่แสดงให้เห็นพระศาสนจักรทั้งหมด
    ในความเป็นจริง ชุมชนที่กำลังประกอบพิธีกรรมไม่อาจเป็นพระศาสนจักรสากลทั้งหมด หรือพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งหมดได้ แต่เราก็เชื่อว่า การประกอบพิธีกรรมใดๆ ไม่ว่าที่ชุมชนหนึ่งกำลังปฏิบัติอยู่ก็เป็นการประกอบพิธีของทุกคนในพระศาสนจักรท้องถิ่นนั้นและของพระศาสนจักรสากลทั้งหมดด้วย “พิธีกรรมจึงเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรทั้งหมดที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ แสดงให้เห็นและก่อให้เกิดพระกายนี้”  (SC 26)
    ธรรมนูญข้อนี้ยังขยายความสอนเราเรื่องนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยบอกเพิ่มอีกว่า ชุมชนที่กำลังประกอบพิธีกรรมเป็น “ประชากรศักดิ์สิทธิ์ ที่รวมกันอย่างมีระเบียบใต้ปกครองของพระสังฆราช”
    พระสังฆราชแต่ละองค์มีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชอื่นๆทั่วโลก และทุกองค์ล้วนมีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งกรุงโรม คือ พระสันตะปาปา และรวมกันเป็นชุมชนสากล คือคณะพระสังฆราช นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมพระสงฆ์จึงกล่าวในบทขอบพระคุณว่า “(ข้าแต่พระบิดาเจ้า) โปรดทรงระลึกถึงพระศาสนจกรที่แผ่ขยายไปทั่วโลก...เป็นหนึ่งเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปา... พระสังฆราช(ของข้าพเจ้าทั้งหลาย)...” พระศาสนจักรยังถูกเรียกว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพ” ซึ่งเป็นคำที่จะถูกใช้และพัฒนาขึ้นในเอกสารอีกหลายฉบับของสภาสังคายนาฯ พระศาสนจักรในฐานะที่เป็นพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้าซึ่งทรงเป็น “เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์” (Sacrament) ของพระเจ้าที่มนุษย์มองไม่เห็น ก็เป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ด้วย คือเป็นเครื่องหมายของการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในคำอธิษฐานภาวนา และการกระทำของตน ธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักรกล่าวถึงพันธกิจของพระศาสนจักรไว้ดังนี้ว่า
    “เพื่อนำแสงสว่างของพระคริสตเจ้ามาสู่มนุษย์ทุกคน เป็นแสงสว่างเจิดจ้าที่ฉายให้เห็นบนใบหน้าของพระศาสนจักร” เพราะ “พระศาสนจักรในองค์พระคริสตเจ้าเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” หรือ “เครื่องหมายและเครื่องมือ” ทั้งของความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า และของเอกภาพของมนุษยชาติทั้งมวล” (LG 1)
    พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระศาสนจักรมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระธรรมล้ำลึกเรื่องศีลมหาสนิท เมื่อรับประทานพระกายของพระคริสตเจ้า เราก็กลับเป็นพระกายของพระคริสตเจ้าด้วย
    “เพราะการรับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าไม่ทำอะไร นอกจากทำให้เราเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เรารับประทานเป็นอาหาร” (LG 26)
    โดยการมีส่วนร่วมในศีลมหาสนิท ชุมชน (คริสตชน) กลายเป็นพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระเยซูเจ้า ธรรมนูญ SC อธิบายคำสอนนี้โดยเพิ่มข้อความว่า
    “ทุกครั้งที่พิธีต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพิธี เรียกร้องให้มีการเฉลิมฉลองส่วนรวม โดยที่สัตบุรุษทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน จึงต้องย้ำเท่าที่ทำได้ว่า การฉลองแบบนี้ดีกว่าการเฉลิมฉลองเป็นเอกเทศซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนตัว ควรปฏิบัติเช่นนี้โดยเฉพาะเมื่อประกอบพิธีมิสซา แม้ว่าทุกมิสซาในตัวเองมีลักษณะเป็นส่วนรวมของสังคมอยู่แล้วก็ตาม และควรปฏิบัติเช่นนี้เมื่อประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย” (SC 27)
    กลุ่มคริสตชนที่มาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีกรรมเป็น “พระศาสนจักร” ในความหมายสมบูรณ์ของคำนี้ ทุกสิ่งที่เราอาจกล่าวถึงพระศาสนจักร เราก็อาจกล่าวได้ถึงชุมชนที่กำลังประกอบพิธีกรรมด้วย ชุมชนนี้เป็นประชากรของพระเจ้า เป็นพระกายของพระคริสตเจ้า เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า เป็นภาพของพระศาสนจักรทั้งในโลกนี้และในสวรรค์ พระศาสนจักรได้รับเรียกมาเพื่ออธิษฐานภาวนาและประกาศข่าวดี เพื่อพิศเพ่งและปฏิบัติงาน เมื่อเราสวดบท “ข้าพเจ้าเชื่อ” ในมิสซาและกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนี่องจากอัครสาวก” เราอาจหันไปรอบๆและบอกด้วยว่า “ซึ่งอยู่ที่นี่และเวลานี้ ในชุมชนนี้”
    การอบรมบรรดาผู้มีความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง พระเจ้าทรงมอบขุมทรัพย์ให้แก่เรา บรรดาผู้อภิบาล เพื่อช่วยบรรดาผู้มีความเชื่อให้สำนึกถึงกระแสเรียกและพันธกิจของเขา เขามีความกระหายอาหารบำรุงกำลังนี้ที่จะเพิ่มพูนความเข้าใจ ความเชื่อของเขา และทำให้เขาพร้อมยิ่งขึ้นที่จะรับพระหรรษทานขอองพระเจ้า