แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมเราจึงต้องการเครื่องหมายที่แลเห็นได้
    เทววิทยาด้านพิธีกรรมวิเคราะห์เรื่อง “เครื่องหมาย” ในพิธีกรรมและมาถึงจุดที่กล่าวถึง “ปัญหาพิธีกรรม”ที่เป็นพื้นฐานว่า “ทำไมเราจึงต้องการเครื่องหมายที่แลเห็นและประสาทสัมผัสได้ เพื่อจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์และถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า?
    เหตุผลมักจะได้มาจากสามแหล่งด้วยกัน
    ก่อนอื่นหมดก็คือเหตุผลทางมนุษยวิทยา มนุษย์เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยร่างกายและจิต จิตต้องการร่างกายเพื่อจะสัมผัสกับสภาพแวดล้อมได้ และไม่มีอะไรเข้าถึงจิตได้นอกจากผ่านประสาททั้งห้า

    สำหรับเราคริสตชน ยังมีเหตุผลทางคริสตวิทยาด้วย เราเชื่อว่าพระเจ้าที่เราแลเห็นไม่ได้ทรงแสดงพระองค์ให้เราแลเห็นในมนุษย์ที่ชื่อว่า “เยซู” พระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้งมนุษย์และพระเจ้า พระเยซูจ้าทรงเป็นเครื่องหมายยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้าที่เราแลไม่เห็นในโลกนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงเป็น “ศีล (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ศักดิ์สิทธิ์” พื้นฐาน แบะยังทรงปฏิบัติพระภารกิจเป็น“ศีลศักดิ์สิทธิ์” ในพระศาสนจักรอาศัยเครื่องหมายที่เรามองเห็นได้
    เหตุผลสุดท้ายเป็นเหตุผลด้านพระศาสนจักร พระศาสนจักรเป็นพระกาย(ทิพย์) ของพระเยซูเจ้า “พระศาสนจักรของเราเป็นเครื่องหมายที่ตั้งไว้ให้นานาชาติได้แลเห็นภายใต้เครื่องหมายนี้ บรรดาบุตรของพระเจ้าซึ่งกระจัดกระจายอยู่จะได้มารวมกัน” (SC 2)
    ถ้าไม่มีเครื่องหมายที่แลเห็นได้ พิธีกรรมก็ไม่ใช่กิจกรรมแบบมนุษย์ แบบคริสตชน หรือแบบพระศาสนจักร
    คำพูดก็เป็นเครื่องหมายที่ได้ยินได้ด้วย และมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรม พระวาจาของพระเจ้าได้รับการประกาศในพิธีกรรม  และถ้อยคำของบทภาวนาและคำอธิบายยังช่วยอธิบายความหมายของเครื่องหมายที่แลเห็นได้ให้ชัดเจนขึ้นด้วย เครื่องหมายการจุ่มตัวลงในน้ำได้รับคำอธิบายและคำจำกัดความหมายโดยคำว่า “ข้าพเจ้าล้างท่าน...” ในทำนองเดียวกัน ขนมปังและเหล้าองุ่นที่เป็นเครื่องหมายก็รับคำอธิบายและจำกัดความโดยคำว่า “นี่เป็นกายของเราที่มอบเพื่อท่าน” “นี่เป็นโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สภาสังคายนาฯต้องการปฏิรูปพิธีกรรม “เพื่อให้ข้อความและจารีตพิธีปรากฏชัดว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด” ( SC 35) และ “เมื่อสัตบุรุษเข้าใจจารีตพิธีและบทภาวนาเป็นอย่างดี จะได้ร่วมกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างรู้สำนึก” (SC 48)
    เราจงสังเกตว่าสภาสังคายนาฯเอาใจใส่นำ “คำพูดและจารีตพิธี” และ “จารีตพิธีและคำภาวนา” มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อจะเน้นความสำคัญของ “คำพูด” (รวมทั้ง “พระวาจา”) ในพิธีกรรม ผู้ร่วมพิธีต้องเข้าใจคำพูดเหล่านี้ ถ้าเราอยากจะให้พิธีกรรมมีความหมาย  ถ้าพิธีกรรมยังคงเป็นจารีตพิธีและคำพูดที่เข้าใจไม่ได้ต่อเนื่องกัน  พิธีกรรมก็อาจเป็นเหมือนกับคาถาหรือมายากล นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมสภาสังคายนาฯ จึงตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะนำภาษาของประชาชนท้องถิ่นเข้ามาในพิธีกรรม ประตูใหม่ถูกเปิดแล้ว เป็นเวลาหลายศตวรรษ ภาษาละตินเป็นภาษาของพิธีกรรมจารีตโรมัน เหตุผลที่สภาฯให้ในการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเหตุผลด้านการอภิบาล
    “ให้รักษาการใช้ภาษาละตินไว้ในจารีตละติน เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับสิทธิพิเศษเป็นอย่างอื่น ถึงกระนั้น ทั้งในมิสซา ในการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์ และในส่วนอื่นของพิธีกรรม หลายครั้งการใช้ภาษาท้องถิ่นอาจมีประโยชน์มากแก่ประชาชน ดังนั้น จึงอนุญาตให้ใช้ภาษาท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบทอ่านและคำตักเตือน ในบทภาวนาและบทขับร้องบางบท ทั้งนี้ โดยปฏิบัติตามกฎซึ่งจะบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทต่อไปเป็นเรื่องๆ (SC 36 :1,2)
    ในเวลาเดียวกัน สภาฯก็ยังสำนึกว่าการอธิฐานภาวนาต้องการความเงียบด้วย บทอ่านและคำอธิบายจำนวนมากเกินไป (โดยเฉพาะในโบสถ์สมัยปัจจุบันที่ระบบเสียงอาจขยายเสียงได้จนบางครั้งอยู่ในระดับสูงหรือมีรูปแบบของเสียงเพี้ยนไปจนไม่น่าฟัง) อาจก่อให้เกิดบรรยากาศที่อึดอัดขึ้นได้ นี่จึงเป็นคำแนะนำของสภาฯ
    “เพื่อส่งเสริมการมีร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน ควรเอาใจใส่ให้สัตบุรุษมีส่วนในการร้องรับ การตอบ การขับร้องบทเพลงสดุดี บทสร้อย บทเพลงสรรเสริญต่างๆ รวมทั้งกิจการ อากัปกิริยา และอิริยาบถของร่างกาย ให้ทุกคนเงียบสงบด้วยความเครารพในเวลาที่เหมาะสมด้วย” (SC 30)
    เมื่อกล่าวว่า “เงียบสงบด้วยความเคารพ” สภาสังคายนาฯ หมายถึง ความเงียบร่วมกันในพิธีกรรม เป็นความเงียบที่ทุกคนต้องรักษา (รวมทั้งพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน) เป็นเหมือนการหยุดพักในดนตรีบทหนึ่ง เมื่อนักขับร้องเงียบอยู่ช่วงเวลาหนึ่งงก่อนจะขับร้องต่อไป ความเงียบต้องเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม และเป็นเครื่องหมายว่า พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในหมู่ผู้ร่วมพิธี ความเงียบนี้ไม่เหมือนกับความเงียบที่ผู้ร่วมพิธีต้องมีในมิสซาของสภาสังคายนาแห่งเมืองเตร็นท์ ที่ผู้ร่วมพิธีต้องเงียบขณะที่พระสงฆ์สวดบทขอบพระคุณเสียงต่ำๆในนามของสัตบุรุษ “ความเงียบด้วยความเคารพ” ที่สภาสังคายนาฯกล่าวถึงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาระหว่างพระเจ้ากับบรรดาบุตรของพระองค์
    “ในพิธีกรรม  พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์ พระคริสตเจ้ายังทรงประกาศข่าวดี ประชากรก็ยังตอบพระเจ้าด้วยการขับร้องและอธิษฐานภาวนา” (SC 33)
    ความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ต่อไปนี้คือข้อความที่ “คำแนะนำทั่วไป” ของหนังสือมิสซาจารีตโรมันอธิบายความหมายของความเงียบที่ต้องมีในช่วงเวลาของวจนพิธีกรรม
    “ภาควจนพิธีกรรมต้องจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการรำพึงภาวนา ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงรูปแบบความรีบร้อนทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการสำรวมจิตใจ ในวจนพิธีกรรมจึงควรมี ช่วงเวลาสั้นๆ ให้ทุกคนเงียบสงบหลายๆครั้ง เหมาะกับกลุ่มชนที่มาชุมนุม ในช่วงเวลาเช่นนี้ พระจิตเจ้าจะทรงช่วยเหลือเขาให้รับพระวาจาเข้ามาในใจและเตรียมคำตอบด้วยการภาวนา ช่วงเวลาเงียบสงบนี้อาจจัดให้มีหลังบทอ่านบทแรกและบทอ่านที่สอง และหลังการเทศน์ด้วย” (RM 56)