แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ในพิธีกรรม มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยเครื่องหมายที่ประสาทรับรู้แลเห็นได้ และบังเกิดผลตามความหมายเฉพาะของเครื่องหมายแต่ละประการ
    การประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และการทรงปฏิบัติพระพันธกิจสมณะในพิธีกรรม ซึ่งเป็นสาระสำคัญของพิธีกรรมของคริสต์ศาสนา มีจุดหมายเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้มีความเชื่อและเพื่อถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้า บรรดาผู้มีความเชื่อจะรับรู้พระธรรมล้ำลึกที่ซ่อนเร้นอยู่นี้และรับของขวัญที่พระเยซูเจ้าประทานให้นี้ได้อย่างไร?

สภาสังคายนาฯบอกว่า โดยผ่านทางเครื่องหมายที่ประสาทสัมผัสได้ พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติงานผ่านทางเครื่องหมายเหล่านี้แต่ละอย่างและทรงบันดาลให้เกิดผลที่เครื่องหมายนี้หมายถึง และโดยวิธีนี้ จึงทรงทำให้การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่เราและการถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าสำเร็จไป
    น้ำ หมายถึงทั้งความตายและการทำลาย หรือยังหมายถึงชีวิตและการเจริญเติบโตอีกด้วย ผ่านทางน้ำศีลล้างบาป พระเยซูเจ้าทรงส่งพระจิตของพระองค์เพื่อนำเราเข้าสู่พระธรรมล้ำลึกปัสกา การสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ในน้ำเราจึงมีประสบการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าและความตายต่อบาปของเรา ในเวลาเดียวกัน เราก็รับชีวิตใหม่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ชีวิตของบุตรพระเจ้า ด้วยวิธีนี้เราจึงรับความศักดิ์สิทธิ์และพระเจ้าก็ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์
    ขนมปังและเหล้าองุ่นของงานเลี้ยงปัสกาหมายถึงอิสรภาพจากการเป็นทาสและหมายถึงพันธสัญญากับพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงทำให้ขนมปังและเหล้าองุ่นบรรลุถึงความหมายอย่างสมบูรณ์ – พระเยซูเจ้าทรงเสกขนมปังกับเหล้าองุ่น และทรงเปลี่ยนให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ผู้ที่กินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นนี้ ก็มีส่วนในการถวายบูชาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน  เขาทั้งหลายกลับเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาใหม่นิรันดรด้วย ทั้งยังได้รับอาหารหล่อเลี้ยงสำหรับการเดินทางในโลกนี้ไปสู่สวรรค์ ทั้งการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่เราและการถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าจึงสำเร็จอย่างสมบูรณ์ เราอาจกล่าวเช่นเดียวกันด้วยสำหรับเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละศีล
    ที่ตรงนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวถึงเหตุผลที่สภาสังคายนาฯให้ไว้ในการปฏิรูปเครื่องหมายบางประการ ดังนี้
    “สภาสังคายนาส่งเสริมอย่างยิ่งให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในมิสซาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรับพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้เสกในมิสซาเดียวกันเมื่อพระสงฆ์รับศีลแล้ว” (SC 55)
    ที่ตรงนี้ สภาสังคายนาฯกำลังมองดูสภาพน่าเศร้าก่อนวาติกันที่ 2 เมื่อชาวคาทอลิกจำนวนมากที่มาร่วมมิสซาเพียงโดยมาอยู่ที่นั่นเท่านั้น ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมมิสซาของเขามีอยู่น้อยนิดเดียว พวกเราหลายคนที่มีอายุสักหน่อยยังระลึกถึงวันเหล่านั้นได้ ในจำนวนผู้ที่มาร่วมมิสซา มีคนจำนวนน้อยมากรับศีลมหาสนิท และผู้ที่รับศีลมหาสนิทก็รับเมื่อไรก็ได้ เช่น ก่อนมิสซา (จากศีลที่เสกในมิสซาอื่นและเก็บไว้ในตู้ศีล) หรือแม้กระทั่งในเวลาที่ไม่มีการถวายมิสซาใดๆเลย สำหรับเขาเหล่านี้ มิสซาเป็นเวลาที่เขาจะสวดบทภาวนากิจศรัทธาต่างๆของตน การรับศีลมหาสนิทไม่ได้ถูกมองว่าเป็นวิธีการสมบูรณ์ที่สุดของการมีส่วนร่วมพิธีบูชาของพระเยซูเจ้า บิดามารดาของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าก็คิดว่าก็คิดว่าท่านมีความเชื่อและความศรัทธาสูงมาก ข้าพเจ้ากำลังไม่กล่าวคำพิพากษาตัดสินผู้ใด ข้าพเจ้าเพียงแต่พยายามเข้าใจให้ดีขึ้นถึงการปฏิรูปพิธีกรรมของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2
    ขบวนการพิธีกรรมได้ปฏิบัติงานวิเศษสุดในการให้การอบรมผู้มีความเชื่อและบรรดาบรรพชิต (clergy) ถ้อยคำของสภาฯสะท้อนความเชื่อเก่าแก่ของพระศาสนจักรไว้อย่างชัดเจน ธรรมนูญข้อ 55 ให้ตัวอย่างที่สองแก่เราดังนี้
    “ข้อกำหนดทางคำสอนของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ยังมีผลบังคับในกรณีที่สันตะสำนักกำหนดไว้ และตามคำตัดสินของพระสังฆราช อาจอนุญาตให้บรรพชิต นักบวช ตลอดจนฆราวาสรับศีลมหาสนิทในรูปปรากฏทั้งสองได้ เช่น ผู้บวชใหม่ในมิสซาที่เขารับศีลบวช ผู้ปฏิญาณถวายตนในมิสซาที่เขาปฏิญาณตน และผู้รับศีลล้างบาปในมิสซาที่ต่อจากพิธีล้างบาป” (sc55)
    ข้อความนี้ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงวิธีการที่บ่อยๆ เราถกเถียงหรือกระทั่งทะเลาะกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ บ่อยๆ เรากล่าวถึงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะว่า เป็นภาชนะบรรจุพระหรรษทาน เหมือนกับถ้วยที่พระเจ้าทรงเทพระหรรษทานไว้ในถ้วยนั้น ไม่ว่าเราจะถ้วยใบไหน เราก็รับพระหรรษทานของพระเจ้าเสมอ เกี่ยวกับศีลมหาสนิท เรามักจะพูดว่า “ถ้าพระเยซูเจ้าทั้งองค์ประทับอยู่ในรูปปรากฏของขนมปังและเหล้าองุ่น (ซึ่งก็เป็นความจริงและเป็นสัจธรรมคาทอลิก) ทำไมจึงต้องวุ่นวายที่จะรับศีลในรูปปรากฏทั้งสอง ในเมื่อรูปปรากฏเดียวก็เพียงพอแล้ว?” แต่ตรรกะเช่นนี้มีจุดอ่อนอย่างมาก ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้าเป็นเครื่องหมาย และเครื่องหมายหมายถึงพระหรรษทานที่ซ่อนอยู่ในเครื่องหมายนั้น ถ้าเครื่องหมาย (ศีลศักดิ์สิทธิ์) ให้ความหมายดีกว่าหรือมากกว่า ชุมชนก็จะมีส่วนร่วมในศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นดีขึ้นและรับพระหรรษทานได้มากขึ้น ตามคำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมัน (ที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงประกาศใช้ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2002) เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำแนะนำนี้ เน้นความหมายของศีลมหาสนิทที่ช่วยให้บรรดาผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้ข้อสรุปทางปฏิบัติดังนี้
    “การรับศีลมหาสนิทย่อมมีรูปแบบเป็นเครื่องหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้ารับภายใต้รูปปรากฏทั้งของปังและเหล้าองุ่น เพราะในการรับศีลมหาสนิทแบบนี้ เราเห็นเครื่องหมายว่าการรับศีลมหาสนิทเป็นงานเลี้ยงได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และยังแสดงให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าพระเจ้าทรงปรารถนารับรองพันธสัญญาใหม่นิรันดรในโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า และเห็นด้วยว่างานเลี้ยงศีลมหาสนิทมีความสัมพันธ์กับงานเลี้ยงในวาระสุดท้ายในพระอาณาจักรของพระบิดา” ( RM 281)
    ตามเหตุผลจากหลักการทางเทววิทยานี้ สภาสังคายนาฯได้เปิดประตูให้ฆราวาสรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสองได้ด้วย อาจเป็นการไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้แนวคิดทางกฎหมายเท่านั้น เพื่ออธิบายความหมายของธรรมนูญ SC และกำหนดโอกาสที่อาจให้ฆราวาสรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสองได้ ธรรมนูญ SC มักจะเพิ่มวลีว่า “ตัวอย่างเช่น” (SC 55) ไว้ด้วยเสมอ รายการกรณีที่อาจปฏิบัติได้จึงได้เพิ่มขึ้นยาวกว่ามากใน “คำแนะนำทั่วไป” ของหนังสือมิสซาจารีตโรมัน
    “พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลอาจกำหนดระเบียบสำหรับสังฆมณฑล เกี่ยวกับการรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสอง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามแม้ในวัดของนักพรตและกลุ่มชนเล็กๆที่มาชุมนุมกันด้วย พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลยังมีอำนาจอนุญาตให้รับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสองทุกครั้งที่พระสงฆ์ผู้ถวายบูชาเห็นสมควร โดยมีเงื่อนไขว่าสัตบุรุษได้รับการสอนดีแล้ว และไม่มีอันตรายที่จะมีการดูหมิ่นศีลศักดิ์สิทธิ์ หรือที่การรับศีลเช่นนี้ปฏิบัติได้ลำบากเพราะมีผู้รับศีลจำนวนมากหรือเพราะเหตุผลอื่น (RM 283)