แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
ความหมายของกิริยาอาการบางประการในพิธีกรรม

การทำเครื่องหมายกางเขน (ทำสำคัญมหากางเขน)
  • ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 3 ในพิธีรับศีลล้างบาป  และศีลกำลังของคริสตชนในอัฟริกา  และที่กรุงโรม  มีการทำเครื่องหมายไม้กางเขนที่หน้าผากของผู้รับศีล  เป็นเครื่องหมายว่า  บุคคลผู้นั้นได้กลายเป็นของพระคริสตเจ้า  และประหนึ่งถูกประทับตราหมายไว้แล้ว คริสตชนทำเครื่องหมายไม้กางเขนให้กับตนเองบ่อยๆ นอกจากทำเครื่องหมายบนหน้าผากแล้ว  คริสตชนยังทำเครื่องหมายที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย  กลายเป็นเครื่องหมายขับไล่ปีศาจอีกอย่างหนึ่ง
  • การทำเครื่องหมายกางเขนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การยกมืออวยพร  วิธีการอวยพรจะแตกต่างกันบ้าง สุดแล้วแต่ท้องที่  และกาลสมัย  พวกตะวันออกมักจะอวยพรโดยมือถือไม้กางเขนไปด้วย
  • ส่วนการทำเครื่องหมายไม้กางเขนแบบ “มิติกว้าง” คือ ที่หน้าผากไปที่อก  และไปที่บ่าซ้าย-ขวา  ซึ่งนิยมทำกันมากในปัจจุบันนี้  เข้าใจกันว่ามีภายหลังวิธีแรกซึ่งเป็นแบบ “มิติสั้น” คือ ทำรูปกางเขนที่จุด ๆ เดียว  ตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย  วิธีนี้นำมาใช้เป็นต้นว่า  ก่อนอ่านพระวรสาร โดยผู้อ่านหมายรูปกางเขนบนหนังสือที่อ่าน  และบนหน้าผาก  ริมฝีปาก  และหน้าอกของตน
การข้อนอก หรือทุบอก
  • ระหว่างการสวดบท “ ข้าพเจ้าขอสารภาพ”  เมื่อถึงตอน  “โอ้บาปข้าพเจ้า” มีการ “ทุบอก”  เป็นเครื่องหมายของความสำนึกผิด  และความถ่อมตน  กิริยาอาการนี้เราพบได้ในพระวรสารนักบุญลูกา  “ฝ่ายคนเก็บภาษีนั้นยืนอยู่แต่ไกล  ไม่แหงนดูฟ้า  แต่ทุบอกตนเองว่า ข้าแต่พระเจ้าขอโปรดพระเมตตาแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคนบาปเถิด” (ลก 18:13)

การเงยหน้าขึ้นเบื้องบน (สวรรค์)
  • พระสงฆ์ทำกิริยาอาการนี้เพื่อบรรยายถึงการกระทำของพระเยซูเจ้า  ในบทขอบพระคุณที่ 1 ในพิธีว่าดังนี้ “พระองค์ท่านทรงหยิบปังไว้ในพระหัตถ์อันศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพ  ยกพระเนตรขึ้นหาพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ  ขอบพระคุณ  อวยพร  บิออก  แล้วยื่นให้สานุศิษย์…”
  • ความจริงพระวรสารทั้งสี่ไม่ได้กล่าวถึงกิริยาอาการนี้ของพระเยซูเจ้าในเวลารับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเลย  อย่างไรก็ดี พระวรสารได้เล่าถึงการกระทำของพระเยซูเจ้าเช่นนี้ในเวลาทรงทวีขนมปัง (มธ 14:19)

การกางมือภาวนา
  • การกางมือภาวนานี้ใช้ในกรณีที่พระสงฆ์ผู้เป็นประธานกล่าวคำภาวนาในมิสซา  หรือในการอภิเษกในภาคตอนที่สำคัญ (สำหรับประเทศไทย อนุโลมให้พนมมือภาวนาตามธรรมเนียมไทย)  กิริยาอาการนี้ สืบทอดมาจากการถือปฏิบัติของพวกยิว  แต่คริสตชนได้ให้ความหมายใหม่ตามที่แตร์ตุลเลียนเขียนไว้ว่า “เราไม่เพียงแต่ยกมือขึ้น แต่ยังกางแขนออกไปยังพระเจ้า  และขณะที่เราทำตามแบบการทนทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า  เราก็ยอมรับพระองค์ในขณะภาวนา  ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรานมัสการพระเป็นเจ้าด้วยความสำรวม  และสุภาพถ่อมตน  เราก็ทำให้ความภาวนานั้นเป็นที่สบพระทัยพระองค์  ถ้าแลว่าเราจะไม่ยกแขนแบบเลยเถิด  แต่ในระดับกลาง  และเหมาะสม และถ้าแลว่าเราไม่เงยหน้าขึ้นในลักษณะหยิ่งยโส”
  • ในพันธสัญญาเดิมมีหลายตอนที่เอ่ยถึงลักษณะเช่นนี้  เช่น  โมเสสยกและกางแขน  เพื่อให้ความมั่นใจในชัยชนะของประชากรของท่าน (อพย 17:9-14)
  • พระคริสตเจ้าก็ทรงทำกิริยาอาการเช่นเดียวกัน  โดยทรงกางพระกรบนไม้กางเขน  คริสตชนภาวนาแบบนี้เพื่อจะถือตามแบบอย่างของพระองค์  และขอร่วมมีส่วนในคำเสนอวิงวอนเพื่อได้รับชัยชนะแบบพระองค์
  • กิริยาอาการที่ใช้ในพิธีกรรม บางอย่างก็เป็นเพียงเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น การล้างมือหลังพิธีการบางอย่าง หรือหลังการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ หลังการโรยเถ้าบนศีรษะ  บางอย่างก็เป็นการทำประกอบคำพูด เพื่อเน้นความหมาย เช่น การยกมือขวา (ของผู้ร่วมในพิธีฯ ) ชี้ไปที่ปัง และเหล้าองุ่นเวลาเสกศีล การยกพระกาย  และพระโลหิตชูขึ้น  พร้อมกับกล่าวคำว่า “อาศัยพระคริสตเจ้า  พร้อมกับพระคริสตเจ้า และในพระคริสตเจ้า  ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ  พระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์  ร่วมกับพระบิดา  และพระจิตตลอดนิรันดร”
  • นอกนั้นยังมีกิริยาอาการที่แสดงถึงความเคารพหรือเทิดทูนต่อบุคคล  หรือสิ่งของที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ กิริยาอาการเหล่านี้ บางอย่างอาจได้มาจากสังคมที่แวดล้อมในสมัยนั้น เช่น การซ่อนมือไว้ใต้เสื้อหรือผืนผ้าขณะอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น อัญเชิญผอบบรรจุศีลมหาสนิท ตลอดจนถึงหมวกสูง ไม้เท้าพระสังฆราช เหล่านี้มาจากพิธีการในราชสำนักในสมัยจักรวรรดิไบซันตินยุคหลัง
  • กิริยาอาการบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากคริสตชนเอง เช่น เครื่องหมายกางเขนที่กระทำบนหน้าผาก  อก  และไหล่ทั้งสองข้าง  ในที่นี้เราจะพิจารณาถึงความหมายของกิริยาอาการบางประการ
  • ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราแสดงออกภายนอกในพิธีกรรม เป็นสิ่งที่ออกมาจากความรักที่เปี่ยมล้นในจิตใจของเรา โดยที่เราไม่ลืมว่าพิธีกรรมเป็นคำภาวนาของพระศาสนจักร และเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในพระวรกายศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า