แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
เยเรมีย์ 20:7-9; โรม 12:1-2; มัทธิว 16:21-27

บทรำพึงที่ 1
มาร์ค ชากัล
ถ้าเรายกกางเขนของเราขึ้นแบก และเดินตามพระเยซูเจ้า พระองค์จะทรงนำเราไปสู่ชีวิต

    นักวิจารณ์ศิลปะบางคนบอกว่า มาร์ค ชากัล เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 เขาสร้างงานศิลปะโดยใช้สื่อแทบทุกประเภท และเราจะพบเห็นผลงานของเขาได้ในอาสนวิหาร โรงละคร และศาลาธรรม ตั้งแต่นิวยอร์กถึงกรุงปารีส

    ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา ชากัล เล่าว่าเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวชาวยิวที่ยากจนที่มีสมาชิกสิบคน ในเมืองเล็ก ๆ ในประเทศรัสเซีย

    เขาเริ่มสนใจงานศิลปะตั้งแต่วันที่เขาเฝ้ามองเพื่อนนักเรียนคัดลอกภาพจากนิตยสารฉบับหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่มารดาของเขากำลังอบขนมปัง เขาสะกิดข้อศอกที่เปื้อนแป้งสาลีของเธอ และพูดว่า “แม่ครับ ผมอยากจะเป็นศิลปินสักวันหนึ่ง”

    ความฝันของเขานำเขาไปสู่กรุงปารีส ที่ซึ่งเขาได้รับการยกย่องชื่นชมไปทั่วโลก ชากัลไม่เคยลืมความยากจนในวัยเด็ก อันที่จริง เขารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณความยากจนของเขา เขายืนยันจนถึงบั้นปลายชีวิต ว่าความยากจนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผลงานของเขามีความงามอันละเอียดอ่อน และอารมณ์อ่อนไหว

    เรื่องของมาร์ค ชากัล ช่วยอธิบายคำสั่งสอนสำคัญสามข้อในบทอ่านประจำวันนี้

    ข้อแรกคือ กางเขนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ

    สำหรับชากัล กางเขนคือการเกิดมาเป็นคนจน สำหรับเราบางคน อาจเป็นการเกิดมาเป็นคนพิการ สำหรับบางคนอาจเป็นเหตุการณ์ร้าย ๆ บางอย่าง เช่น ความตายของผู้เป็นที่รัก สำหรับบางคน กางเขนคือการถูกปฏิเสธจากผู้ที่ร่วมชีวิตกับเราเป็นเวลานาน

    ไม่ว่าเราเป็นใคร เงาของกางเขนก็ไม่เคยอยู่ห่างไกลจากเราเลย ไม่ว่าเราวางแผนไว้ดีอย่างไร ไม่ว่าเราพยายามมากเท่าไร เงาของกางเขนย่อมทาบลงบนชีวิตของเราในเวลาใดเวลาหนึ่ง

    แม้แต่พระเยซูเจ้า พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า ก็ยังไม่รอดพ้นจากกางเขนในชีวิตของพระองค์

    ดังนั้น คำสั่งสอนข้อแรกในบทอ่านวันนี้ก็คือ กางเขนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ

    ข้อที่สอง เมื่อเราพบกับกางเขนในชีวิต เรามีทางเลือกสองทาง คือ ยอมรับ หรือปฏิเสธ เราสามารถยกกางเขนของเราขึ้นแบก หรือเราอาจหันหลังให้ และปฏิเสธที่จะแบกกางเขนนั้น

    มาร์ค ชากัล ยอมแบกกางเขนแห่งความยากจนของเขา เขาไม่หันหลังให้ แต่เขาทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เราทำในพระวรสารวันนี้ พระองค์ทรงยกไม้กางเขนขึ้นแบก

    คนที่เกิดมาพร้อมกับความพิการ หรือคนที่เคยประสบเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต มีทางเลือกเหมือนกับที่ชากัลเคยมี คนเหล่านั้นสามารถยอมรับสถานการณ์ของตน หรือจะปฏิเสธมันก็ได้ คนเหล่านั้นสามารถยกกางเขนของตนขึ้นแบก หรืออาจหันหลังให้ และปฏิเสธที่จะแบกก็ได้

    พวกเขามีทางเลือกเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงมีทางเลือกในสวนเกทเสมนี คนเหล่านั้นสามารถดื่มถ้วยแห่งความทุกข์ทรมานที่ถูกรินให้เขา หรือเขาอาจปฏิเสธที่จะดื่มก็ได้

    การเลือกนั้นไม่ง่ายแน่นอน แม้แต่พระเยซูเจ้าผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็ยังรู้สึกขยาดเมื่อคิดถึงการแบกกางเขนของพระองค์ พระองค์ทรงรู้สึกขยาดเมื่อคิดถึงการดื่มถ้วยแห่งความเจ็บปวดทรมานที่จะถูกรินให้พระองค์ดื่ม เมื่อพระองค์ตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด” (ลก 22:42) แต่พระองค์ก็ทรงเสริมทันทีว่า “แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”

    ดังนั้น คำสั่งสอนข้อที่สองในบทอ่านประจำวันนี้ก็คือ เรามีทางเลือกว่าจะยอมรับกางเขนในชีวิตของเรา หรือจะปฏิเสธ เรามีทางเลือกว่าจะยกกางเขนของเราขึ้นแบก หรือหันหลังให้ และปฏิเสธที่จะแบก

    ข้อที่สาม ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุดในพระวรสารประจำวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่าถ้าเรายกกางเขนของเราขึ้นแบก และติดตามพระองค์ พระองค์จะทรงนำเราไปสู่ชีวิต

    และชีวิตที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญานี้ไม่ได้หมายถึงชีวิตนิรันดรในโลกหน้าเท่านั้น และหมายถึงชีวิตที่เริ่มต้นตั้งแต่เวลานี้ บนโลกนี้แล้ว

    นี่คือ บทเรียนที่เราได้รับจากเรื่องราวของมาร์ค ชากัล เขายอมรับความยากจนของเขา และไม่ปล่อยให้ความยากจนนี้เป็นสาเหตุให้เขารู้สึกขมขื่น หรือทำลายชีวิตเขา ดังนั้นความยากจนนั้นจึงทำให้งานศิลปะของเขามีอารมณ์อ่อนไหว และความงามที่แตกต่างจากผลงานของผู้อื่น

    ถ้าเขาไม่เคยมีประสบการณ์กับความยากจนมาก่อน ชากัลก็คงไม่ต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ

    แทนที่จะเป็นกางเขนหรืออุปสรรคชีวิต ความยากจนกลับกลายเป็นพระพรสำหรับชากัล และเป็นบันใดนำเขาก้าวไปหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
    สำหรับเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรายกกางเขนของเราขึ้นแบก และติดตามพระเยซูเจ้าเหมือนที่ชากัลทำ กางเขนของเราก็จะกลายเป็นพระพรสำหรับเรา และเป็นบันใดนำเราก้าวไปหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

    แทนที่จะนำความตายมาให้เรา กางเขนของเราจะนำชีวิตมาให้ เหมือนกับกางเขนของพระเยซูเจ้าที่นำชีวิตมาให้แก่คนทั้งโลก

    ดังนั้น จากบทอ่านประจำวันนี้ เราจึงได้ข้อสรุปสามข้อ

    ข้อที่หนึ่ง กางเขนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ ไม่ว่าเราพยายามหลีกเลี่ยงสักเท่าไร เงาของกางเขนก็จะทาบลงบนชีวิตของเราในเวลาใดเวลาหนึ่ง

    ข้อที่สอง เมื่อพบกับกางเขน เราแต่ละคนมีทางเลือก เราสามารถหันหลังให้ และปฏิเสธที่จะแบกกางเขนนั้น หรือเราอาจยกกางเขนของเราขึ้นแบก และติดตามพระเยซูเจ้า

    ข้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงสัญญากับเราว่า ถ้าเรายกกางเขนของเราขึ้นแบก และติดตามพระองค์ พระองค์จะทรงนำเราไปพบชีวิต – มิใช่ชีวิตนิรันดรในโลกหน้าเท่านั้น แต่หมายถึงความบริบูรณ์ของชีวิตตั้งแต่ในโลกนี้ด้วย

    นี่คือคำสัญญาของพระเยซูเจ้าเอง นี่คือพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า นี่คือข่าวดีที่เรามาชุมนุมกันเพื่อเฉลิมฉลองในวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงวันนี้ด้วยคำยืนยันว่าคำสัญญาของพระเยซูเจ้าเป็นความจริง ว่าพระองค์จะประทานชีวิตให้แก่ผู้ที่ยกกางเขนของตนขึ้นแบก และติดตามพระองค์ บทภาวนานี้ถูกพบในกระเป๋าของทหารสหรัฐคนหนึ่งที่เสียชีวิต

    ข้าพเจ้าวอนขอสุขภาพ เพื่อข้าพเจ้าจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
    แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับการเจ็บป่วย เพื่อให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งที่ดียิ่งกว่า...
        ข้าพเจ้าวอนขอความร่ำรวย เพื่อข้าพเจ้าจะมีความสุข
        แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับความยากจน เพื่อให้ข้าพเจ้ามีความฉลาด...
    ข้าพเจ้าวอนขออำนาจ เพื่อข้าพเจ้าจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์
    แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับความอ่อนแอ เพื่อให้ข้าพเจ้ารู้ตัวว่าข้าพเจ้าต้องพึ่งพาพระเจ้า...
        ข้าพเจ้าวอนขอทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อข้าพเจ้าจะมีความสุขกับชีวิต
        แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับชีวิต เพื่อให้ข้าพเจ้ามีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่าง...
    ข้าพเจ้าไม่ได้รับสิ่งใดที่ข้าพเจ้าวอนขอเลย
    แต่ข้าพเจ้าได้รับทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าคาดหวัง
    คำภาวนาที่ข้าพเจ้าไม่เคยเอ่ยออกมา ได้รับการตอบสนอง
    ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ที่ได้รับพระพรมากมายที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งปวง

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 16:21-27

เปโตร ทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”

    บทอ่านจากพระวรสารสำหรับวันนี้ เป็นส่วนที่ต่อเนื่องจากคำบอกเล่าที่เริ่มต้นตั้งแต่วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา

    ในฐานะตัวแทนของอัครสาวกสิบสองคน เปโตรยอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า หรือพระเมสสิยาห์ ... หลังจากนั้น เปโตรได้ยินพระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าเขา “เป็นสุข” หรือ “ได้รับพระพร” ที่เขาได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า แล้วทรงมอบหมายพันธกิจหนึ่งแก่เขา กล่าวคือ ให้เขาเป็นศิลา ซึ่งพระเจ้าจะทรงใช้เป็นรากฐานก่อตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ ... แต่แล้ว พระองค์กลับทรงกำชับศิษย์ของพระองค์ “มิให้บอกใครว่าพระองค์คือพระคริสตเจ้า”...

    ทำไมพระองค์จึงต้องบังคับให้เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ...

    ส่วนที่สองของคำบอกเล่า ซึ่งเราจะใช้รำพึงในวันนี้ เผยว่าเปโตร และเพื่อน ๆ ของเขามีความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ – เป็นความคิดที่จำเป็นต้องถูกชำระให้บริสุทธิ์ จนไม่มีร่องรอยของความกระหายชัยชนะเหลืออยู่อีกเลย...

ตั้งแต่นั้นมา...

    มัทธิวใช้ข้อความนี้เน้นความจริงว่าการประกาศยืนยันความเชื่อที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เป็นจุดหักเหของการเดินทางของพระเยซูเจ้า...

    เช่นเดียวกับชีวิตของเราที่อาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นจุดแตกหัก ซึ่งเป็น “เสียงเรียก” ให้เราหันไปหาสิ่งอื่น ๆ ... เราพร้อมหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่พระเจ้าทรงกำลังเรียกเราไป...

    ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนทิศทางชีวิตของพระองค์อย่างสิ้นเชิง...

พระเยซูเจ้าทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่า พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม...

    ระหว่างสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา พระเยซูเจ้าทรงหลบหนีไปในต่างแดนทางภาคเหนือของปาเลสไตน์ เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปตั้งอยู่บนเนินเขาที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำจอร์แดน และเป็นปลายทางของการหลบหนีครั้งนี้ นี่คือจุดที่ไกลที่สุดจากกรุงเยรูซาเล็ม “เมืองที่ฆ่าประกาศก” (มธ 23:37) ... พระเยซูเจ้าทรงหันหลังกลับทันที และเริ่มเดินทางกลับมายังกรุงเยรูซาเล็ม...

    การตัดสินใจครั้งนี้คงต้องก่อตัวขึ้นช้า ๆ ในความคิดของพระเยซูเจ้า “พระองค์จะต้อง” เสด็จไป ประโยคนี้ชี้ให้เห็นนัยสำคัญ ... นี่คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา ตามแผนการของพระเจ้าซึ่งลึกล้ำเกินกว่าจะหยั่งถึงได้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการสลายความปรารถนาของตัวเราเอง ... แม้ว่าเหตุการณ์บางอย่างรบกวนจิตใจ และยากที่เราจะรับได้ แต่เราต้องยอมรับเหมือนพระเยซูเจ้า และในพระเยซูเจ้า ว่าเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้า เมื่อเราย้ำกับตนเองว่า “เราต้อง” ทำบางสิ่งบางอย่าง เรากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาท่ามกลางความมืดแห่ง “ความนบนอบด้วยความเชื่อ” ... และเรายืนยันว่าพระเจ้า – และมิใช่เหตุการณ์เลวร้ายที่กำลังทำร้ายเราอยู่ในเวลานี้ – จะทรงเป็นผู้ชี้ขาด

... เพื่อรับการทรมานอย่างมากจากบรรดาผู้อาวุโส หัวหน้าสมณะ และธรรมาจารย์ จะถูกประหารชีวิต และจะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม

    นับแต่วันนั้น พระเยซูเจ้าทรงประกาศเรื่องพระทรมานของพระองค์สามครั้ง (มธ 16:21, 17:22-23, 30:18-19) ... เราจึงเห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงคิดถึงความตายของพระองค์อยู่นานหลายสัปดาห์...

    พระองค์ทรงมีพระชนมายุประมาณ 30 ปี พันธกิจสำคัญของพระองค์จะจบลงด้วยความรุนแรงในไม่ช้า ถ้าพูดตามประสามนุษย์ พันธกิจนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่าง ... เราไม่ต้องเป็นโหรก็สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง พระเยซูเจ้าทรงสังเกตในเวลาเดียวกันว่าผู้นำชาวยิวเกลียดชังพระองค์มากขึ้น และประชาชนก็เลิกสนใจ พระองค์ทรงวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ต่อต้านพระองค์มากขึ้น และทำให้คนทั่วกรุงเยรูซาเล็มคล้อยตามได้ ก็คือ “บรรดาผู้อาวุโส หัวหน้าสมณะ และธรรมาจารย์” กล่าวคือปัญญาชน และผู้นำทั้งหลายในเมืองหลวง ... แต่พระองค์ก็ยังเสด็จไปที่นั่นโดยสมัครใจ...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดประทานความกล้าหาญของพระองค์ให้เราเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันยากลำบากของเราเถิด...

เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทานว่า “ขอเถิด พระเจ้าข้า เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” แต่พระองค์ทรงหันมาตรัสแก่เปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา”

    เปโตรถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ประจญ” พระเยซูเจ้า ... “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง”

    คำตำหนิของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายบอกเราว่า พระองค์ต้องรู้สึกรังเกียจเหมือนกับที่เรารู้สึกเมื่อพบเห็นสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ หรือขัดใจเรา ... เปโตรชักชวนให้พระองค์หลีกเลี่ยงกางเขน – และพระเยซูเจ้าก็อาจรู้สึกเช่นเดียวกัน “ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด” … “เพราะเหตุว่าเรามิได้มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป ... พระองค์ทรงอธิษฐานทูลขอคร่ำครวญ และร่ำไห้ต่อพระเจ้า ผู้ทรงช่วยชีวิตพระองค์ให้พ้นความตายได้ ... ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตร ก็ยังทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน” (ฮบ 4:15-5:7-8)...

“เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”

    เราค้นพบแหล่งกำเนิดของความเข้มแข็งที่ช่วยให้พระเยซูเจ้าทรงเอาชนะการทดลองทั้งปวงของพระองค์ นั่นคือ พระหฤทัยของพระองค์ยึดมั่นในพระเจ้าเสมอ ... ดังนั้น พระองค์จึงทรงมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านพระเนตรของพระบิดาของพระองค์...

    ความคิดของพระเจ้าต่างจากของเรา ... เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องฝืนใจ เราควรมองสถานการณ์นั้นมิใช่จาก “มุมมองของมนุษย์” แต่จาก “มุมมองของพระเจ้า”...

    มนุษย์สมัยใหม่พยายามลดคุณค่าของความเชื่อ และไม่ยอมรับสิ่งใดที่อธิบายตามหลักเหตุผลของมนุษย์ไม่ได้ ... มนุษย์สมัยใหม่ถึงกับอยากห้ามพระเจ้าไม่ให้เป็นพระเจ้า ... ขอให้พระองค์คิดและทำเหมือนเราเถิด – ให้พระเจ้าปรับเปลี่ยนพระองค์ให้เป็นเหมือนอย่างที่เราคิดเถิด...

    แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะมีพระเจ้าที่เหมือนกับเรา เป็นพระเจ้าที่เราสร้างขึ้นมาเอง...

พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา” ...

    เราไม่ควรอ่านข้อความนี้แบบผ่าน ๆ ความคิดของคนยุคใหม่มีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาของเรา และเสนอให้เราเห็นแก่ความสำเร็จ ความสนุกสนาน เสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความพึงพอใจ “ฉันต้องการใช้ชีวิตของฉันอย่างที่ฉันต้องการ”

    แต่พระเยซูเจ้าทรงเสนอวิถีชีวิตที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง คือ วิถีชีวิตแห่งกางเขนและความรัก พระองค์ทรงเสนอแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดของโลก พระองค์ทรงบอกเราว่า “ท่านต้องสละตนเอง” ไม่มีความรักแท้ที่ปราศจากการเสียสละ...

    เพื่อจะเข้าใจว่าความรักราคาแพงอย่างไร เราเพียงต้องนึกถึงบางสถานการณ์ที่เจ็บปวด ที่มีความรักเป็นเดิมพัน เช่น การให้อภัยศัตรู ... การมีความกล้าที่จะยืนหยัดเคียงข้างพระเยซูเจ้า เมื่อคนรอบตัวเราไม่เชื่อในพระองค์ ... การรักคู่สมรสอย่างซื่อสัตย์ ... การรับใช้บุตรต่อไปทั้งที่ดูเหมือนว่าเขากำลังเย้ยหยันเรา ... การส่งเสริมการแบ่งปัน ทั้งที่คนรอบตัวเรายุยงให้สะสมทรัพย์สมบัติ และใช้ทรัพย์ของเราอย่างเห็นแก่ตัว ... การทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริตท่ามกลางบุคคลที่ยึดหลักว่าคนเข้มแข็งต้องกดขี่คนอ่อนแอทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการเมือง...

    เพื่อจะรักอย่างแท้จริง เราต้องเสียสละ...

    เราก็ไม่ต่างจากเปโตรในวันนั้น ทุกวันนี้ เราถูกประจญให้เจือจางพระวรสาร คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชน รู้สึกติดใจกับบุคลิกภาพของพระเยซูเจ้า คนเหล่านี้ใฝ่ฝันว่าพระองค์จะนำภราดรภาพ ความยุติธรรม และความรักมาให้ แต่ในความเป็นจริง พระเยซูเจ้าทรงขอให้เรายอมสละตนเองเพื่อติดตามพระองค์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเดินขึ้นเขาตามเส้นทางที่สวยงามเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ผู้นำของเราเชิญชวนเราให้เดินตามพระองค์ พระองค์เสด็จล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ด้วยการสละพระองค์อย่างสิ้นเชิง ... ระหว่างพิธีบูชาขอบพระคุณแต่ละครั้ง พระองค์ทรงย้ำกับเราว่าเราต้อง “มอบร่างกายของเรา และหลั่งโลหิตของเรา” ... แต่เราก็ติดตามพระองค์ถึงขนาดนั้นไม่ได้...

“ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้นก็จะสูญเสียชีวิตนิรันดร แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา ก็จะพบชีวิตนิรันดร มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่ได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต มนุษย์จะต้องให้สิ่งใดเพื่อแลกกับชีวิตที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา”

    นี่คือคำสั่งสอนที่ดูเหมือนขัดแย้งกันในตัว เราต้องยอมขาดทุนเพื่อให้ได้กำไร ... เป็นหลักการที่ดูเหมือนไม่มีเหตุผล การกลับคืนพระชนมชีพเท่านั้นจะช่วยให้เราเข้าใจคำสั่งสอนนี้ได้...

    นี่ไม่ใช่ทัศนคติของบุคคลที่มีความสุขเมื่อเขาทำร้ายตนเอง พระเยซูเจ้าไม่ทรงขอให้เรารักความเจ็บปวดทรมาน หรือการสละความสุขส่วนตน ... แต่ทรงกระตุ้นให้เรารักจนถึงที่สุด ให้เรามีชีวิตอย่างสมบูรณ์ ให้เราได้รับสิ่งที่จำเป็น ... และนี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เกินกำลังมนุษย์ แม้ว่าดูเหมือนเป็นเช่นนั้น “ท่านรักเรามากพอที่จะยอมสละความสุขส่วนตนของท่านได้หรือไม่ ... ถ้าทำไม่ได้ ก็อย่าพูดถึงความรัก – ไม่ว่าจะเป็นความรักเพื่อนมนุษย์ หรือรักพระเจ้า”...

    คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าไม่ได้ล้าสมัยเลย ข้อความที่พระองค์ตรัสย้ำแก่โลก เป็นข้อความที่โลกจำเป็นต้องได้ยินมากที่สุด...

“บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จกลับมาในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ เมื่อนั้น พระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามความประพฤติของเขา”

    ถูกแล้ว เรากำลังพูดถึงความสำเร็จ – ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ และเด็ดขาด...

    พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อทนรับความเจ็บปวดทรมาน และสิ้นพระชนม์ ... และกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม ... ชัยชนะรออยู่ที่สุดเส้นทางอันแสนเหนื่อยยากนี้...

    เมื่อเราติดตามพระเยซูเจ้าพร้อมกับแบกกางเขนของเรา ขอให้เราคิดถึงสิริรุ่งโรจน์ และความชื่นชมยินดีที่กำลังใกล้เข้ามาเถิด...