Jesus on the cross for usตลอดระยะเวลา 3 ปีที่พระเยซูเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนทั่วแผ่นดินปาเลสไตน์ (ค.ศ. 30-33) ประชาชนเคารพ และรักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสอนไม่เหมือนกับพวกผู้ใหญ่ทางศาสนาของเขา พระองค์ทรงให้ความหวังแก่คนบาปที่หมดหวังไปแล้วว่าเขาสามารถกลับเปลี่ยนชีวิตและเริ่มต้นใหม่ได้    แต่พวกเขาก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าอาณาจักรสวรรค์ที่พระองค์นำมาเป็นเช่นไร    พวกเขาพยายามหนุนให้พระองค์เป็นกษัตริย์ของพวกเขา แต่พระองค์ทรงปฏิเสธสิ่งนี้ตลอดเวลาโดยทรงค่อยๆ สอนว่า เราเป็นกษัตริย์จริงดังท่านว่า แต่อาณาจักรของเรามิใช่โลกนี้ (ยน 18 :  35-37)   

ชาวยิวหวังว่าเมื่อถึงจุดอิ่มตัว คือ เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาในกรุงเยรูซาเล็มอันเป็นเมืองหลวงในปีที่ 3 (ค.ศ. 33) แห่งการเทศน์สอนของพระองค์ประชาชนจะลุกฮือขึ้นภายใต้การนำของพระองค์เพื่อปฏิวัติพวกโรมัน    แต่ผิดหวังเพราะพระองค์มิได้ทรงต้องการเช่นนั้น    ขณะเดียวกันบรรดาพระผู้ใหญ่ทางศาสนาซึ่งอิจฉาที่ประชาชนนิยมชมชอบพระเยซูเจ้าและถูกพระองค์ทรงกล่าวตำหนิที่พวกเขาถือเคร่งครัดภายนอกแต่ภายในจิตใจห่างไกลจากพระเป็นเจ้านัก จึงวางแผนที่จะจับตัวพระเยซูเจ้าส่งไปให้กับผู้ว่าราชการชาวโรมัน ชื่อ ปิลาต เพื่อตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหาว่า “ตั้งตัวเป็นกษัตริย์” เท่าเสมอจักรพรรดิ์ซีซาร์ ผู้นำสูงสุดของจักรวรรดิโรมัน
      แม้แต่ยูดาส อิสคาริโอท ลูกศิษย์หนึ่งในสิบสองของพระเยซูเจ้าก็ไม่แตกต่างจากบรรดาประชาชนที่มั่นใจว่าสถานการณ์คับขันพระองค์จะทรงจับอาวุธเข้าสู้หรือทำอะไรสักอย่าง จะได้เริ่มการปฏิวัติพวกโรมันจึงวางแผนขายพระอาจารย์เจ้าของตน    โดยไปบอกสถานที่ที่จะพบพระเยซูเจ้าได้ ณ ที่ใดแก่พวกสมณะเพื่อจะพาทหารมาจับกุม ยูดาสได้ค่าบอกสถานที่ที่จะพบเพื่อจับกุมพระเยซูเจ้าเป็นเงิน 30 เหรียญ
    ปิลาต ผู้ว่าราชการชาวโรมันไม่รู้จักพระเยซูเจ้า ไม่รู้จักพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับพระมหาไถ่และการสถาปนาอาณาจักรของพระเป็นเจ้า ออกจะขำเสียด้วยซ้ำเมื่อเห็นพระเยซูเจ้าทรงแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายที่แสนจะธรรมดา จะทำอะไรได้เพื่อเป็นกษัตริย์ดังที่ถูกกล่าวหา มีเพียงสิ่งเดียวที่ปิลาตพบก็คือ พระองค์มีบุคลิกที่ไม่ธรรมดา    ปิลาตต้องการปล่อยพระเยซูเจ้าเพราะไม่พบความผิดที่สมควรต้องโทษถึงตาย เพื่อเอาใจชาวยิวจึงสั่งให้ทหารเฆี่ยนและปล่อยตัวไป    พวกทหารนำพระเยซูเจ้าไปเยาะเย้ยล้อเลียน โดยเอาหนามมาสานเป็นมงกุฎและสวมที่พระเศียร    เอาไม้อ้อมาฟาดลงที่พระเศียรแล้วให้ถือไม้อ้อเหมือนกษัตริย์ทรงคฑา    บ้างก็ถ่มน้ำลายรดพระพักตร์และเฆี่ยนพระองค์ตามคำสั่งของปิลาต
    ที่สุดปิลาตหาทางที่จะปล่อยตัวของพระเยซูเจ้าเพราะไม่พบว่าพระองค์มีความผิดแต่ประการใด    ขณะนั้นในกรุงเยรูซาเล็มมีเทศกาลฉลองวันปัสกาหรือวันกู้ชาติของชาวยิว มีธรรมเนียมให้ปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระได้ 1 คน โดยให้ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าจะปล่อยพระเยซูเจ้าหรือบารบัสผู้ร้ายฆ่าคน    และประชาชนต่างพากันตะโกนให้เอาพระเยซูเจ้าไปตรึงกางเขน    พระเยซูเจ้าทรงถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหา “เป็นกษัตริย์ของชาวยิว” แผ่นป้ายข้อหาของผู้ถูกประหารจะติดอยู่ที่เหนือศีรษะของผู้ถูกประหารบนไม้กางเขน
    แต่การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้ามิใช่เป็นเหตุการณ์ธรรมดา มิเช่นนั้นเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงสำหรับการพยายามจะสถาปนาอาณาจักรของพระเป็นเจ้าไม่ล้มเหลวไปกับการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าหรือ...? คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะว่าการบังเกิดมาและยอมรับการทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า เป็นหนทางสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ พระเยซูเจ้าเสด็จกลับคืนชีพหลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้วสามวัน         เช้าวันอาทิตย์ปัสกาตามเทศกาลฉลองของชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จกลับคืนชีพเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่จะมีได้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั่นคือ พระเยซูเจ้าทรงชนะความตายเป็นบุคคลแรก และต่อมาก็ชาวเราทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์    เมื่อเราจบชีวิตจากโลกนี้ เราจะกลับคืนชีพอีกครั้งหนึ่งแบบพระเยซูเจ้าเพื่อกลับไปอยู่กับพระเป็นเจ้า
    เมื่อเริ่มบทความเราได้พบว่า มนุษย์ได้ทำบาป เลือกที่จะไม่รักพระเป็นเจ้าและปฏิเสธที่จะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์เรื่องราวของอาดัมและเอวามนุษย์คู่แรกที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างในหนังสือพระคัมภีร์สะท้อนความจริงที่ว่า เมื่อแรกที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์มา มนุษย์เองเลือกที่จะละทิ้งพระเป็นเจ้า ปฏิเสธและตัดสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้า ผลร้ายในชีวิตก็ตามมา การเกิด แก่ เจ็บและที่สุด ต้องตาย (ปฐก 3 : 19) ความตายเป็นผลร้ายของบาปที่เจ็บปวดที่สุด มนุษย์ต้องตาย เราไม่เห็นความร้ายกาจของความตายจนกว่าจะพบว่าใครสักคนในครอบครัวของเราตายจากเราไป คนรักหรือพ่อแม่ พระเป็นเจ้ารักเราเหมือนลูก และพระองค์ปรารถนาจะให้เราได้มีชีวิตกับพระองค์ตลอดไปเช่นกัน
    พระเยซูเจ้าต้องสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและเสด็จคืนพระชนม์ชีพ    เป็นผลแรกแห่งการไถ่บาปกอบกู้ของมนุษยชาติทั้งมวลประวัติศาสตร์แห่งความรอดเริ่มต้นที่อับราฮัม และดำเนินเรื่อยมาทางเชื้อสายของท่าน คือ ชนชาติอิสราเอล หรือ ชาวยิว จนกระทั่งมาสำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระเยซูเจ้า
    พระวาจาของพระเป็นเจ้าที่ตรัสสัญญากับอับราฮัมว่ามนุษยชาติจะได้รับพระพรผ่านทางเชื้อสายของเขา    บัดนี้ พระเยซูเจ้า พระบุตรพระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพทรงทำให้สำเร็จไปด้วยการสิ้นพระชนม์และเสด็จคืนพระชนม์ชีพ และทรงกอบกู้มนุษยชาติทั้งมวลกลับคืนมาสู่พระเป็นเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
    การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าจึงมิใช่เหตุบังเอิญ ที่สถานการณ์บ้านเมืองของชาวยิวในสมัยนั้นส่งให้พระองค์ต้องถูกตรึงกางเขน แต่เป็นแผนการอันลึกลับยากที่จะเขาใจดังที่คริสตชนเรียกว่า “พระธรรมล้ำลึก” (MYSTERY)  เป็นแผนการความรอดที่พระเป็นเจ้าทรงจัดเตรียมไว้แล้วแต่วินาที่แรกที่มนุษย์ทำบาปและถอยห่างออกไปจากพระองค์ ธรรมล้ำลึกนี้ก็คือ พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเป็นเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์เหมือนเราทุกอย่าง เว้นแต่บาป    ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์โดยถูกตรึงไว้กับกางเขน ทรงถูกฝังไว้ในพระคูหา 3 วัน เสด็จกลับคืนชีพและเสด็จสู่สวรรค์เพื่อทรงส่งพระจิตลงมาในโลกคอยช่วยเหลือเราในการพยายามดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ในโลกนี้จนกว่าเราจะสิ้นใจและกลับเป็นขึ้นมาอีกครั้งเช่นเดียวกับพระองค์    ธรรมล้ำลึกนี้บรรดาอัครสาวกเริ่มเข้าใจมากขึ้นเมื่อเขากลับไปศึกษาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม (THE OLD TESTATMENT) โดยเฉพาะหนังสือของบรรดาประกาศกที่พูดถึงองค์พระมหาไถ่ที่จะเสด็จมาไว้ก่อนแล้ว โดยเฉพาะประกาศกอิสยาห์ ว่าผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าจะมีลักษณะต้องรับทรมานเหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับ (อสย 42/49/50 : 13-53 : 12)
อาณาจักรของพระเป็นเจ้าบนโลกนี้ในความหมายของพระเยซูเจ้ามาถึงแล้ว พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยชีวิตของพระองค์ นั่นคือ ความรัก แต่อาณาจักรนี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่กำลังดำเนินไปโดยมีจุดมุ่งหมายมุ่งสู่ความสมบูรณ์ในวันสิ้นพิภพ
    ใครเข้าใจเรื่องความรักและลงมือปฏิบัติ อาณาจักรของพระเป็นเจ้าได้มาตั้งอยู่ในจิตใจของเขาแล้ว พระอาณาจักรนี้เป็นจริงได้ในโลกเมื่อเราศึกษาคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าและปฏิบัติ เราจะพบว่าพระเป็นเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางเราจริงๆ และจะสมบูรณ์ในวันที่เรากลับคืนชีพพร้อมกันทุกคนในวันสิ้นพิภพ    วันนั้นเราจะอยู่ในอาณาจักรสวรรค์ที่แท้จริงกับพระเป็นเจ้า ได้พบพระองค์หน้าต่อหน้า มีร่างกายที่กลับคืนชีพใหม่ร่วมกับวิญญาณอย่างสมบูรณ์ (1 คร 15 : 51-57)
การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า จึงเป็นการกอบกู้มนุษยชาติอันยิ่งใหญ่และเตือนเราทุกคนว่า หนทางแห่งการกลับเป็นลูกแห่งพระเป็นเจ้า มีชีวิตนิรันดรกับพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ต้องผ่านหนทางแห่งการเสียสละด้วยความรักในชีวิตจริงของเรา แบบเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงผ่านหนทางแห่งการทรมานและกางเขนเพื่อเข้าสู่เกียรติมงคล
เคยมีคนที่ไม่ใช่คริสตชนกล่าวกับผู้เขียนว่า    พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนไม่เห็นสวยเลย ไม่มีเสื้อผ้าใส่ มีผ้าผืนเดียวพันกาย มีเลือดไหลน่ากลัวมีหนามแหลมแทงศีรษะ    ทำไมคริสตชนต้องไหว้รูปพระเยซูบนกางเขนแบบนี้ด้วย?    หลังจากที่เราได้อ่านและพิจารณาเรื่องราวตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ ว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงถูกตรึงกางเขน จึงรู้ว่า เครื่องหมายกางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก เมื่อคริสตชนเห็นรูปกางเขนก็จำได้ว่า ถ้าหากโลกนี้ไม่มีใครรักเราเลย ก็ยังคงมีองค์พระเยซูเจ้าผู้เป็นพระเป็นเจ้าของเรา รักเราอยู่คนหนึ่งอย่างที่สุด เพราะทรงมอบพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปบนไม้กางเขนให้แก่มนุษย์ทุกคนจนหมดสิ้น ไม่เหลืออะไรอีก    เราแลดูสะอาดบริสุทธิ์และสวยงามก็เพราะบาปและความน่าเกลียดของเราไปตกอยู่กับพระองค์จนหมดสิ้น พระองค์ทรงรับมันเอาไว้แทนเรา (อสย 53 : 1-12)
    และเพราะกางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรักอันหาขอบเขตไม่ได้ คริสตชนจึงทำเครื่องหมาย “สำคัญมหากางเขน” ลงบนตัวเราพร้อมกับกล่าวว่า “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน” ก็เพื่อขอพระทรงรักเราและทรงอวยพรลงบนชีวิตเราเลยทีเดียว ก่อนจะทำกิจการสำคัญอันใด คริสตชนจึงทำเครื่องหมายกางเขนลงบนตัวดังที่เราได้เห็นอยู่เสมอ    เมื่อคริสตชนจะเริ่มสวด รับประทานอาหาร ตื่นนอน ก่อนเข้านอน เดินทาง เริ่มเรียนหนังสือ ฯลฯ การทำ “สำคัญมหากางเขน” ก็เป็นหนึ่งในกิจศรัทธาที่ต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั้งพิธีกรรมอื่นๆ ดังจะได้กล่าวในหัวข้อเรื่อง “ศาสนกิจในชีวิตประจำวัน”