แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

กฎบัตรว่าด้วยสิทธิของครอบครัว
46. การที่ครอบครัวและสังคมจะประสานงานกันเพื่อจะอุดหนุนและพัฒนาซึ่งกันและกันนั้น  เป็นอุดมคติซึ่งบ่อยครั้งขัดกับสภาพความเป็นจริงอย่างมาก  นั่นคือ  ทั้งสองฝ่ายแบ่งแยกกันและบางทีก็ขัดแย้งกันเสียด้วย
    ที่จริง  สถานการณ์ที่ครอบครัวต่างๆ ต้องเผชิญในหลายต่อหลายประเทศนั้น  บางทีก็เต็มไปด้วยปัญหา  หรือยิ่งกว่านั้นก็เลวร้ายโดยสิ้นเชิง  ดังที่สมัชชาพระสังฆราชได้ให้ข้อสังเกตครั้งแล้วครั้งเล่า  กฎหมายและสถาบันต่างๆ นั้นมองข้ามสิทธิอันละเมิดมิได้ของครอบครัวและของบุคคลอย่างไม่ชอบธรรม  และสังคมเองไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนครอบครัวเท่านั่นแต่ยังโจมตีค่านิยมและหลักพื้นฐานเฉพาะของครอบครัวด้วย  ตามแผนการของพระเจ้า  ครอบครัวเปรียบเสมือนมูลฐานของสังคม  และเป็นเจ้าของสิทธิและหน้าที่ซึ่งมีมาก่อนสิทธิและหน้าที่ของรัฐหรือของชุมชนใดก็ตาม  แต่ที่สุด ครอบครัวก็ตกเป็นเหยื่อของสังคมที่ดำเนินการอย่างล่าช้าและเฉื่อยชา หรือยิ่งกว่านั้น ก็มีความอยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด
    ด้วยเหตุนี้เอง  พระศาสนจักรจึงป้องกันสิทธิของครอบครัวอย่างเปิดเผยและเข้มงวด  มิให้สังคมหรือรัฐบาลละเมิดสิทธินั้นเลยแม้แต่น้อย  บรรดาสมาชิกสมัชชาพระสังฆราชได้กล่าวถึงสิทธิของครอบครัวดังต่อไปนี้  เป็นต้นว่า
•    สิทธิที่จะดำรงอยู่และมีความเบิกบานในฐานะครอบครัว  กล่าวคือสิทธิของมนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะอยางยิ่งคนจนที่จะสร้างครอบครัวได้และที่จะบำรุงเลี้ยงครอบครัวด้วยปัจจัยที่พอเหมาะ
•    สิทธิที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในเรื่องการสืบทอดชีวิตและการเลี้ยงดูลูก
•    สิทธิที่จะดำเนินชีวิตสมรสและครอบครัวอย่างเป็นอิสระ
•    สิทธิที่จะรักษาเสถียรภาพของพันธะและสถาบันการสมรส
•    สิทธิที่จะเชื่อ  ยืนยัน  และเผยแผ่ความเชื่อของตน
•    สิทธิที่จะอบรมดูแลลูกๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของตน  ตามค่านิยมทางศาสนาและวัฒนธรรม  โดยอาศัยเครื่องมือ  วิธีการ  และสถาบันที่ควร
•    สิทธิที่จะได้รับสวัสดิภาพทางร่างกาย  สังคม  การเมือง  และเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนยากจนและคนป่วย
•    สิทธิที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างสมควร
•    สิทธิที่จะแสดงความคิดของตนหรือเป็นตัวแทนของคนอื่นต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ทางเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรมแม้กระทั่งต่อองค์การที่อยู่ในอำนาจหน้าที่นั้นไม่ว่าจะแสดงความคิดด้วยตนเองหรือผ่านสมาคมใดๆ ก็ตาม
•    สิทธิที่จะสร้างสมาคมครอบครัวหรือสถาบันอื่นๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและชำนาญ
•    สิทธิที่จะปกป้องผู้เยาว์จากยาเสพติด  ความลามก  การติดเหล้า  ฯลฯ  โดยอาศัยสถาบันและกฎหมายที่เหมาะสม
•    สิทธิที่จะมีโอกาสพักผ่อนหย่อนใจอย่างชอบธรรมและส่งเสริมค่านิยมของครอบครัว
•    สิทธิที่จะอพยพครอบครัวเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า  

    สันตะสำนักยินดีรับคำขอร้องที่ชัดเจนของสมัชชาพระสังฆราช  และจะพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ด้วยความเอาใจใส่อย่างถี่ถ้วน  พร้อมกับจะเรียบเรียง  “กฎบัตรว่าด้วยสิทธิของครอบครัว”  เพื่อที่จะเสนอต่อสถาบันที่เกี่ยวข้องและองค์การที่รับผิดชอบต่อไป