แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ศีลสมรสและศีลมหาสนิท
57. การที่ครอบครัวคริสตชนมีหน้าที่ที่ต้องแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์นั้นมีรากฐานมาจากศีลล้างบาป และบรรลุความหมายที่สูงสุดในศีลมหาสนิท ซึ่งศีลสมรสมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง สังคายนาวาติกันครั้งที่  2  ได้เน้นพันธะพิเศษระหว่างศีลมหาสนิทกับศีลสมรส  โดยกำหนดไว้ว่า  “ตามปกติควรจะประกอบพิธีศีลสมรสในระหว่างพิธีบูชาขอบพระคุณ”     ฉะนั้น  ใครๆ ที่ปรารถนาจะเข้าใจพระคุณและความรับผิดชอบของการสมรสและของครอบครัวคริสตชนเพื่อจะนำมาปฏิบัติในชีวิตจริงนั้น  เขาก็จำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องแสวงหาพันธะระหว่างศีลศักดิ์สิทธิ์สองประการที่กล่าวแล้ว  พร้อมกับศึกษาพันธะนั้นอย่างละเอียดพอสมควร
    ศีลมหาสนิทเป็นบ่อเกิดของศีลสมรสนั่นเอง  ที่จริง  ศีลมหาสนิททำให้พันธสัญญาแห่งความรักระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักรเป็นจริงขึ้นมาใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธสัญญาซึ่งได้รับการประทับตราด้วยพระโลหิตของพระองค์บนไม้กางเขน   ยัญบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยงนี้  สำหรับสามีภรรยาคริสตชนเป็นบ่อเกิด  เป็นแม่แบบ  และเป็นพลังทรงชีวิตอันมิรู้สิ้นสุดของคำสัญญาในการสมรสของเขา  ในส่วนที่เป็นการแสดงยัญบูชาอันเกิดจากความรักซึ่งพระคริสตเจ้าทรงมีต่อพระศาสนจักร  ศีลมหาสนิทก็เป็นบ่อเกิดแห่งเมตตาธรรมครอบครัวคริสตชนสำนึกว่า  พระคุณแห่งเมตตาธรรมในศีลมหาสนิทนี้เป็นหลักพื้นฐานหรือเป็นเสมือน  “วิญญาณ”  ของ  “ความสัมพันธ์”  และ  “ภารกิจ”  ของตนเอง  ปังแห่งศีลมหาสนิทบันดาลให้สมาชิกต่างๆ ของกลุ่มครอบครัวรวมกันเป็นกายเดียวกันซึ่งเป็นการแสดงออกและเป็นการมีส่วนร่วมในความเป็นหนึ่งเดียวที่แผ่กว้างออกไปของพระศาสนจักร  การรับพระกายที่  “ถูกมอบ”  และพระโลหิตที่ “หลั่งไหล”  ของพระคริสตเจ้านี้  ก็ยังเป็นบ่อเกิดอันไม่รู้สิ้นสุดแห่งความเร่าร้อนในการเผยแผ่พระวรสาร  และแห่งจิตตารมณ์ของธรรมทูตสำหรับครอบครัวคริสตชน