แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนแต่งงาน 10 ประการ


ภรรยา    “มันไม่ยุติธรรมเลย!  ทำงานทั้งวัน  ตั้งแปดชั่วโมง  พอๆกับคุณ  กลับบ้านแล้วยังต้องทำอาหาเย็น  ล้างจาน  ซักผ้า  ทำความสะอาดบ้าน  และยังต้องฝืนยิ้มแม้กระทั่งเวลาจะนอนอีก”
สามี    “ผมไม่เข้าใจคุณจริงๆ  คุณพูดเองว่าคุณต้องการทำงานนอกบ้านเหมือนเดิมหลังจากเราแต่งงานกันแล้ว”

5 things happy marriage    สามีภรรยาคู่นี้มั่นใจว่า เขาได้พูดคุยเรื่องการทำงานนอกบ้านของฝ่ายหญิงแล้ว  แต่เห็นได้ว่า การพูดคุยกันในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนพอ  ภรรยานึกไว้ว่าถ้าเธอยังทำงานนอกบ้าน  สามีคงจะช่วยเธอจัดการงานเล็กน้อยในบ้านบ้าง  แต่สำหรับสามีแล้วเขาเห็นว่าภรรยาก็จะต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านเสมอ  ไม่ว่าเธอจะต้องทำงานอื่นหรือไม่
    คู่แต่งงานใหม่ส่วนหนึ่งหลีกเลี่ยงการขัดแย้งในประเภทนี้  เขาอาจจะไม่ทะเลาะกันเรื่องการดูแลบ้าน  แต่อาจจะเถียงกันเรื่องลูก เช่น“ใช่ ฉันเคยพูดว่า ฉันต้องการมีลูก   แต่ฉันต้องการเพียง  2 คน ไม่ใช่  10 คน”   เรื่องความยุติธรรม เช่น “เมื่อไหร่เราจะได้ไปเยี่ยมครอบครัวฉันบ้าง  ถ้าพวกเราเอาแต่ไปทานอาหารเย็นทุกวันอาทิตย์ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ของคุณ”  หรืออาจจะเป็นปัญหาเรื่องเงิน  เช่น “ฉันอยากรู้ว่า การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกับงบประมาณของเรานั้นหมายความว่า  ฉันสามารถซื้อเสื้อผ้าได้เพียงปีละ  1 ชุดใช่ไหม”

    “ฉันอยากรู้ว่า...”แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้ที่คู่แต่งงานหรือบุคคลใดจะรู้จักกันและกันหมดทุกๆ เรื่อง  ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของสองชีวิตที่ไม่เคยใกล้ชิดกันเป็นเวลา 20-30 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น  จึงมักมีความขัดแย้งและการตัดสินเกิดขึ้นเสมอ  ไม่ว่าทั้งคู่จะคิดว่าตนเองจะรู้จักอีกฝ่ายมากขนาดไหน
    แต่คู่แต่งงานมักไม่ค่อยเห็นความจริงของสิ่งที่อาจจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งหลังการแต่งงาน เช่น  ความจริงที่ว่า  ฝ่ายหญิงใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยราวกับว่าสามารถผลิตธนบัตรได้เอง  ฝ่ายชายก็จะไม่ทานอะไรนอกจากไก่ทอด  มองดูเป็นเรื่องสนุกและยอมรับได้โดยมารยาท  แต่การมองความจริงเหล่านี้ในแง่ดีอย่างมีความสุขในเวลาต่อมานั้นก็ค่อยๆ หมดไป  ดังนั้น แม้จะเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายหญิงสั่งจ่ายเช็ค หรือฝ่ายชายบอกว่าไก่ทอดของเธอรสชาติแย่มากก็อาจทำให้ชีวิตคู่ในช่วงแรกของการแต่งงานต้องจบสิ้นลงก็ได้
    อันที่จริงแล้ว ในความสัมพันธ์ระหว่างคู่แต่งงานมักจะมีช่วงที่เกิดความขัดแย้งอย่างมากเสมอ  ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ไม่รู้สึกตัว  หรือมองข้ามบ้าง  หรือไม่เอาใจใส่  ในช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นก่อนพิธีแต่งงาน  คู่บ่าวสาวมักจะสนใจแต่เรื่องสถานที่จัดงาน  โบสถ์  เครื่องใช้ในงานที่หรูหรา  ชุดแต่งงาน และสิ่งจำเป็นสำหรับรับรองแขก  ซึ่งดูสำคัญกว่าเรื่องเงิน  ลูก  และการดูแลบ้าน อันเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องจัดการในภายหลัง   และหากทั้งคู่คิดอย่างหวานชื่นว่า ความรักจะสามารถเอาชนะได้ทุกอุปสรรคแล้ว  เขากำลังคิดผิดถนัด  ต่อจากนี้เป็นหัวข้อที่ได้รวบรวมและกลั่นกรองมาจากแผนอบรมคู่แต่งงานหลายแบบด้วยกัน  ระบุถึงเรื่องที่คู่แต่งงานจำเป็นต้องพูดคุยและวางแผนอนาคตร่วมกันก่อนแต่งงาน  10 เรื่อง  เพื่อจะได้ช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการแต่งงาน

1. การแต่งงานคืออะไร  กับใคร  และทำไม
    มันเป็นเรื่องยากที่ใครจะหมั้นหมายกันโดยที่ไม่เคยคุยเรื่องการแต่งงานมาก่อนแต่การพูดคุยก็ไม่ควรจบลงด้วยคำถามเพียงว่า “คุณจะแต่งงานกับฉันไหม”
    คู่แต่งงานควรจะถามตนเองและอีกฝ่ายด้วยว่า  ทำไมเขาจึงต้องการแต่งงานกัน  ซึ่งบางทีอาจจะมีคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว  แต่ก็มีคำตอบผิดอีกมากมาย  เช่น เพื่อจะหนีจากสถานการณ์ทางบ้านที่ไม่ดี  เพื่อความมั่นคงทางการเงิน  หรืออาจเป็นเพราะกลัวว่าจะไม่มีใครมาขอแต่งงานอีก  และแม้แต่เรื่องการตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอสำหรับการเข้าพิธีแต่งงานในโบสถ์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคู่แต่งงานยังเด็กมากหรือความสัมพันธ์ของเขายังไม่มั่นคงเพียงพอ
    ทัศนคติต่อการแต่งงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญด้วย  โดยเฉพาะในภาวะที่สังคมมีความสับสนทางความคิดว่า การแต่งงานควรเป็นอย่างไร การแต่งงานเป็นข้อผูกมัดถาวรหรือไม่  หรือเป็นสิ่งที่สามารถยกเลิกได้อย่างง่ายๆ  หากมีบางสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้  และอาจเพราะอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการใช้ชีวิตคู่อีกต่อไป  หรือเป็นเพียงหุ้นส่วนกันหรือเปล่า  และฝ่ายหนึ่งหวังเพียงให้อีกฝ่ายดูแลใช่ไหม 
    ลองมาดูเรื่องความซื่อสัตย์  คู่หมั้นของหญิงคนหนึ่งพูดกับเธอตรงๆ ว่า เขาคิดว่าเขาจะไม่สามารถซื่อสัตย์ต่อเธอหลังจากแต่งงานกันได้  แต่ด้วยความเชื่อมั่นของฝ่ายหญิงว่า  ฝ่ายชายจะเปลี่ยนแปลงความคิดนี้  เธอจึงตัดสินใจแต่งงานกับเขา  สุดท้ายเขาทั้งสองต้องหย่าร้างกันแน่นอนว่าการทดลองใจเกิดขึ้นแล้ว  และไม่มีใครเดาได้ว่าทั้งคู่จะทำอย่างไรต่อไป  แต่ความต้องการคืนดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญทีเดียว

2. คุณเป็นคนประเภทไหน
    คุณมองตนเองว่าเป็นคนอย่างไร  และมองอีกฝ่ายว่าเป็นอย่างไร  บางครั้งคู่แต่งงานหลีกเลี่ยงการพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้  เพราะว่า ความจริงที่พบสามารถสร้างความเจ็บปวดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  เช่น  คู่ของคุณคิดว่าคุณทำตัวน่ารังเกียจในงานเลี้ยง  และคุยฟุ้งอยู่คนเดียว  ในขณะที่คุณมักจะคิดว่าความฟุ้งซ่านของคุณทำให้คุณดูรื่นเริงน่าคบ
    แต่การพูดอย่างตรงไปตรงมาถึงความรู้สึกที่มีต่อตนเองและอีกฝ่ายมักทำให้เห็นสิ่งที่ดีมากมาย  ซึ่งคุณอาจจะไม่เคยคิดว่ามีอยู่ในตัวคุณ  และเป็นที่น่ายินดีว่าใครบางคนยังรักคุณแม้เขาจะคิดว่าคุณทำตัวน่ารังเกียจในงานเลี้ยงก็ตาม
    สิ่งที่ฝ่ายหนึ่งชอบหรือไม่ชอบอีกฝ่ายหนึ่งคืออะไร  ผู้ที่กล่าวว่าไม่มีสิ่งใดแม้เพียงสิ่งเดียวในคู่ของเขาที่เขารู้สึกไม่ชอบนั้นก็คือ ผู้ที่ไม่รู้จักกันดีพอ  หรือยังไม่มองอีกฝ่ายตามความเป็นจริง  หรือไม่ยอมพูดความจริง   ในช่วงที่มีนัดกัน ฝ่ายหญิงอาจจะปกปิดความรู้สึกต่อรสนิยมการแต่งตัวของฝ่ายชายที่ดูเชยๆและฝ่ายชายอาจจะเก็บความรู้สึกไม่ชอบใจที่ฝ่ายหญิงมาช้าเสมอ  จนกระทั่งทั้งคู่ได้อยู่ร่วมกันและเห็นกันเกือบตลอด  24 ชม.  ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันก็เริ่มปรากฏออกมา
    ในทางกลับกัน  ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักจะตำหนิอีกฝ่ายในส่วนที่เขาไม่ชอบเสมอ  และเรียกร้องให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงตนเองเรื่อยๆก็เป็นการจู้จี้  ทำให้คู่ของตนลำบากใจได้  การจู้จี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะบอกใครบางคนให้รู้ว่า “ฉันดีกว่าคุณมากนะ” หรือ “ฉันไม่ชอบในสิ่งที่คุณเป็นอยู่จริงๆ”
    คู่สมรสต้องการสิ่งใดในชีวิต บางทีคนสองคนที่มีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วอาจจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  โอกาสน้อยมากที่ผู้ชายคนหนึ่งซึ่งต้องการภรรยาแบบแม่ศรีเรือนคอยเลี้ยงดูลูกๆ  6 คน  ทำอาหารแสนอร่อยและคอยดูแลบ้านช่องอย่างไม่ขาดตกบกพร่องจะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขหลังจากแต่งงานกับนักเขียนที่มีความมุ่งมั่น  ผู้ซึ่งหมกมุ่นแต่เรื่องการเขียน   กินแต่ขนมปังแซนด์วิชและนม

3. ใครจะล้างจาน
    30 ปีมาแล้ว ที่ภรรยามีหน้าที่เข้าครัวทำอาหาร  ทำความสะอาด  ดูแลบ้านและลูกๆ  ส่วนสามีมีหน้าที่หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ควบคุมให้เป็นไปตามระเบียบของบ้าน และเป็นผู้ตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง  แต่ในปัจจุบัน สามีและภรรยามิได้ทำดังที่กล่าวมา  ทั้งยังได้พิจารณาและกำหนดบทบาทของเขากันใหม่
    ลองมาดูตัวอย่างต่อไปนี้  บางคู่มีการสับเปลี่ยนหน้าที่กัน คือผลัดกันทำอาหารและทำความสะอาด  คนที่ทำอาหารก็ไม่ต้องเก็บกวาดครัว  หรือภรรยาอาจจะช่วยรีดเสื้อผ้าให้สามีเป็นการตอบแทนที่สามีล้างรถให้ในแต่ละสัปดาห์  ส่วนงานอื่นๆ เช่น  การจัดที่นอนและการซักผ้า อาจจะเป็นงานที่ทั้งคู่ผลัดกันทำก็ได้ และภรรยาบางคนอาจจะทำงานนอกบ้านในขณะที่สามีอยู่กับบ้านเช่น ภรรยาเป็นกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญ  ส่วนสามีเป็นพ่อครัวฝีมือดีประจำบ้าน  แต่บางคู่ก็ตกลงกันชัดเจนว่า ใครทำหน้าที่อะไร 
    อันที่จริงแล้ว  ใครจะทำอะไรนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังพอใจ  ดังนั้นการพูดคุยของคู่หมั้นในเรื่องการทำงานนอกบ้าน และการแบ่งหน้าที่ดูแลบ้านหลังการแต่งงานจึงเป็นสิ่งที่ดี  และทั้งสองควรที่จะช่วยกันตัดสินด้วยว่า การตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ เช่น การลงทุน  การประกันชีวิต  การย้ายบ้าน  หรือซื้อรถใหม่ นั้นควรจะให้คนใดคนหนึ่งรับผิดชอบ หรือต้องรับผิดชอบร่วมกัน

4. ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับครอบครัวเป็นอย่างไร
    ครอบครัวของเรามีอิทธิพลต่อสิ่งที่คาดหมายไว้ในชีวิตแต่งงานและชีวิตครอบครัว  เช่น ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่รับผิดชอบค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ จนเธอจบการศึกษา เธออาจจะพบว่าฝ่ายชายอาจจะไม่ทำเหมือนกับพ่อแม่ของเธอก็ได้  หรือถ้าพ่อของฝ่ายชายไม่เคยจูบหรือแสดงความรักต่อแม่ของเขาให้เขาเห็น   เขาก็อาจจะรู้สึกขัดเขินที่จะแสดงความรักต่อภรรยา
    บางคู่มีโอกาสเข้าไปสัมพันธ์กับครอบครัวของอีกฝ่ายอย่างใกล้ชิด  ฝ่ายหญิงรู้ว่าพ่อของฝ่ายชายเป็นคนเจ้าระเบียบ  ส่วนแม่เป็นคนอ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจคนอื่น  และทั้งคู่สนับสนุนให้ลูกๆ มีความสามารถด้านกีฬา  และฝ่ายชายก็รู้ว่าครอบครัวของฝ่ายหญิงให้ความสำคัญกับการเรียนและการเลือกอาชีพของลูก  และใช้การพูดคุยอบรมมากกว่าการลงโทษเมื่อลูกไม่เชื่อฟัง  นอกจากนี้ครอบครัวของเธอยังให้ความสำคัญกับการใช้เวลาพักผ่อนประจำปีที่น่าสนใจและมักต้องเสียค่าใช้จ่ายมากด้วย 
    การแลกเปลี่ยนความรู้ในความสัมพันธ์เหล่านี้จะทำให้คู่แต่งงานเข้าใจพฤติกรรมของกันและกันมากขึ้น  และยังช่วยให้เขาเห็นสิ่งที่เขาทั้งสองชอบรวมถึงสิ่งที่อยากปรับเปลี่ยนในชีวิตครอบครัวของเขา
    การพูดคุยของคู่หมั้นในเรื่อง “กฎพื้นฐาน”สำหรับความสัมพันธ์กับครอบครัวของแต่ละฝ่ายหลังการแต่งงานก็เป็นสิ่งที่ดี  เขาควรจะตัดสินใจร่วมกันว่าควรจะให้ญาติๆ ของเขามาเยี่ยมได้ทุกเวลาหรือรอให้เขาเชิญมา  รวมถึงกำหนดเวลาที่เขาไม่ต้องการให้มารบกวน  อีกทั้งควรกำหนดการไปเยี่ยม และใช้วันหยุดกับครอบครัวของแต่ละฝ่ายอย่างยุติธรรมด้วย

5. คุณสามารถสื่อสารได้ดีเพียงใด
    การสื่อสารอย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์ต่อกัน รวมทั้งการแบ่งปันความรู้สึกกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น  แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ได้หมั้นหมายกัน  เขาทั้งสองอาจกลัวว่า “ถ้าเขาหรือเธอรู้ความจริงว่าฉันเป็นคนอย่างไร  เขาหรือเธออาจจะเลิกรักฉันก็ได้”
    เนื่องจากการเปิดเผยตัวเองอาจจะทำให้เกิดการปฏิเสธ  ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว  แต่หากพิจารณาอีกทางหนึ่งจะเห็นว่า  ตลอดเวลาแห่งการสนทนานั้น  เราไม่สามารถพูดเพียงว่า “วันนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง” หรือ “เราจะทานอะไรกันดีตอนเย็นนี้”   ดังนั้น การที่คนสองคนจะใช้ชีวิตร่วมกัน  โดยที่เขาจะไม่มีโอกาสรู้ความจริงของกันและกันเลยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้  อีกทั้งยังน่ากลัวยิ่งกว่า   การที่จะรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งและให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้จักอย่างลึกซึ้งก่อนแต่งงานจึงคุ้มค่าแก่การเสี่ยงถูกปฏิเสธ
    ผู้ที่กำลังจะใช้ชีวิตร่วมกันควรจะพิจารณาถึงคุณภาพของการสื่อสารของเขา  เขามีความสุขในการพูดคุยกันหรือเปล่า  ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าการพูดคุยกันง่ายหรือไม่  หรือยิ่งไม่สบายใจที่ต้องคุยในเรื่องที่ลึกซึ้ง  เขาสามารถแบ่งปันความคิด  ความรู้สึกอย่างซื่อสัตย์ต่อกันโดยไม่กลัวการหัวเราะเยาะหรือการปฏิเสธ  ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามที่จะควบคุมอีกฝ่ายโดยอาศัยการร้องไห้หรือบุ้ยปากหรือไม่  ทั้งคู่รู้จักวิธีจัดการกับความขัดแย้งและการแสดงความไม่ชอบใจในทางที่มีประโยชน์หรือไม่

6. คุณมีอิสระหรือข้อจำกัดเพียงใด
    คู่แต่งงานบางคู่ยอมรับคำกล่าวที่ว่า  “และเขาทั้งสองจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน”(ปฐก 2:24)ทำให้ทั้งสองคนไปไหนมาไหนและทำทุกอย่างร่วมกันเสมอ   แม้แต่เวลาไปงานเลี้ยงก็ต้องเดินคู่กันไป กลุ่มเพื่อนและงานอดิเรกที่ต่างฝ่ายต่างชื่นชอบก่อนที่ทั้งคู่จะแต่งงานกันถูกละทิ้งไปกลายเป็นกิจกรรมที่ทั้งคู่สามารถไปด้วยกันตลอด  จนทำให้ความคิดที่ฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องการสนุกสนานกับคนอื่นบ้างกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความอิจฉาและเจ็บปวดในอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น  “คุณอยากไปดูหนังกับหน่อยและไปโยนโบว์ลิ่งกับจิ๊บมากกว่าอยู่กับฉันใช่มั๊ย!”
    คู่แต่งงานบางคู่ทำกลับกันคือ ทำเหมือนกับไม่ได้แต่งงาน  เจอกันบางครั้งช่วงทานอาหารและตอนเข้านอน  หรืออาจจะไม่เจอหน้ากันเลยเป็นเวลาหลายๆ วัน  กล่าวได้ว่า เขาใช้นามสกุลเดียวกันและอยู่บ้านเดียวกัน  แต่ไม่เคยใช้ชีวิตร่วมกัน
    บางที ณ ตำแหน่งหนึ่งระหว่าง  2 ขั้วนี้ จะทำให้เกิดความเป็นกลางในความสุข  โดยที่ต้องมีการจัดการที่ทำให้ทั้งคู่มีเวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ  และมีเวลาทำในสิ่งที่แต่ละคนสนใจได้อย่างอิสระ และตำแหน่งแห่งความสมดุลสำหรับแต่ละคู่ก็ไม่เหมือนกัน  ผู้ที่จะแต่งงานกันต้องซื่อสัตย์ต่อการใช้เวลาอยู่ตามลำพังหลังการแต่งงาน
    ดังนั้น  การพูดคุยกันเรื่องอิสระในการคบหาเพศตรงข้ามของคู่หมั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น  เช่นถ้าฝ่ายหญิงยังจะไปทานอาหารกับเพื่อนชายอย่างที่เคย  แล้วฝ่ายชายจะยอมรับได้ไหม  ส่วนฝ่ายหญิงจะรู้สึกหงุดหงิดหรือไม่  หากฝ่ายชายจะใช้เวลาตลอดเย็นพูดคุยกับผู้หญิงสวยๆ ในร้านอาหารหรืองานเลี้ยงต่างๆ   ความอิจฉาเป็นแรงทำลายความสัมพันธ์และมักพร้อมที่จะเกิดขึ้นหากคู่แต่งงานไม่ตกลงเรื่องขอบเขตที่ต่างฝ่ายจะยอมรับได้

7. เรื่องการเงิน
    เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนคนหนึ่งสารภาพให้ฟังว่า “ก่อนที่เราจะแต่งงานกัน   อ๊อดกับฉันแน่ใจว่าเราจะไม่มีปัญหาหรือทะเลาะกันเรื่องเงิน  ณ เวลานั้นดูเหมือนจะราบรื่นดี  เราไม่ต้องรำคาญใจเรื่องการทำงบรายรับรายจ่าย”  แต่เธอยอมรับว่า “ฉันคิดว่าเราสองคนไม่รู้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆจริงๆ  ตอนนี้เราเป็นหนี้  ค่าเช่าบ้านก็กำลังจะขึ้น  และฉันก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหาเงินมาใช้หนี้ได้”
    เราต้องใช้เงินในชีวิตครอบครัวสักเท่าไรคู่แต่งงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้  เพราะเขามักจะอยู่ในบ้านหรือชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน มีประสบการณ์น้อยในเรื่องการเช่า  การทำประกัน  ของกินของใช้  ค่าน้ำค่าไฟ  และค่ารักษาพยาบาล  แม้บางคนเคยมีประสบการณ์การดูแลตนเองมาหลายปีก็ยังเจอปัญหาการปรับนิสัยใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของสองคน
    ทางที่ดีที่สุดสำหรับคู่แต่งงานที่จะทำความเข้าใจสภาพการเงินของเขาได้ถูกต้องคือ การทำงบรายรับรายจ่าย  ก่อนที่จะสามารถร่างรายรับรายจ่ายได้  เขาต้องรู้ว่าเขาจะต้องใช้จ่ายเรื่องต่างๆ เท่าไร  เช่น บ้าน  อาหาร  เสื้อผ้า  น้ำประปาและไฟฟ้า  การประกัน  การรักษาพยาบาล  และอื่นๆ   จากนั้นเขาจึงจะรู้ว่าเขามีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือไม่  แล้วจึงจะพูดถึงเรื่องการแก้ไขต่างๆ  เช่นฝ่ายหนึ่งอาจจะหางานที่ได้รายได้ดีขึ้น  เพื่อให้พอกับค่าใช้จ่าย
    แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสุดท้ายที่จะต้องพูดคุยเกี่ยวกับเงิน  อาจจะมีเรื่องผู้ดูแลการเงิน  ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ตรงเวลา   จะใช้บัญชีธนาคารร่วมกันหรือแยกกัน  ทั้งคู่จะใช้บัตรเครดิตหรือไม่  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้เงินหรือซื้อของโดยไม่ต้องปรึกษาอีกฝ่ายได้มากขนาดไหน  รวมถึงการพิจารณาการพักร้อน  การดูภาพยนตร์ในแต่ละสัปดาห์  และการทานอาหารเย็นนอกบ้านว่าเป็นสิ่งจำเป็นหรือฟุ่มเฟือยไหม  เป้าหมายเรื่องการเงินของคู่แต่งงานคืออะไร  ( สร้างบ้านหนึ่งหลังภายใน 5 ปี  รถใหม่หนึ่งคัน  หรือการเดินทางท่องเที่ยว )  เงิน – โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เงิน – เป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่มากมายหลายเรื่อง

8.การมีเพศสัมพันธ์ด้วยความรัก
    ตั้มแต่งงานมาแล้ว  8 ปี  กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มๆ หลังจากย้อนระลึกถึงสิ่งที่เขาคิดไว้ในคืนวันแต่งงานว่า “ฉันมั่นใจว่าฉันจะต้องร่วมรักกับอุ๋ย สัก 11 – 12 ครั้ง”  เขาพูด “ฉันวางแผนไว้แล้วว่าหลังจากที่ฉันร่วมรักกับเธอแต่ละครั้ง  ฉันจะทำสัญลักษณ์ไว้บนผนังเหนือเตียงนอนเพื่อแสดงหลักฐานความเป็นลูกผู้ชายของฉัน”
    แต่ตอนเช้าหลังวันแต่งงาน ตั้มยอมรับว่าไม่มีเครื่องหมายใดๆ เลยบนผนัง  “เราทั้งสองเหนื่อยมากหลังเสร็จพิธีแต่งงานและงานเลี้ยงรับรอง  เราทั้งสองต้องการเพียงสิ่งเดียวคือ  การนอน”  เขาพูด “แต่ที่สุดผมก็ดีใจที่เรารอคอย  เพราะว่าเราจะได้เครียดน้อยลง หลังจากที่เราได้พักผ่อนและผ่อนคลาย”
    ประสบการณ์ของตั้มและอุ๋ยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  สามีภรรยาหลายคู่พบว่า คืนวันแต่งงานของเขาไม่ได้มีการแสดงความรักที่โลดโผนหรือร้อนแรงเลย  แต่เป็นคืนที่เหนื่อยที่สุดในชีวิตของเขา  ทั้งยังไม่ใช่คืนที่มีบรรยากาศที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ด้วย  และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกล้มเหลวและผิดหวัง  ผู้ที่กำลังจะแต่งงานควรจะเตรียมใจกับความเป็นไปได้ที่จะไม่เกิดสิ่งใดขึ้นเลย  และจำไว้ว่า  คุณสองคนจะพยายามรักษาอารมณ์ให้ดีเสมอ  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
    คืนวันแต่งงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งทั้งสองคนควรจะแบ่งปันความรู้สึกในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาถึงลักษณะความสัมพันธ์ที่เขาต้องการ แต่ละฝ่ายต้องการจะมีเพศสัมพันธ์บ่อยขนาดไหน  การมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่น่าอายและผิดศีลธรรมในสายตาของพวกเขาหรือไม่  ทั้งสองฝ่ายพบสิ่งดึงดูดกันและกันและคิดว่าเขาจะมีความสุขด้วยกันโดยไม่สวมเสื้อผ้าหรือไม่  เขากล้าที่จะพูดถึงสิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบ  เสนอแนะสิ่งดีๆ  และลองทำสิ่งใหม่หรือไม่  โดยเฉพาะทั้งคู่รู้สึกสบายใจกับความคิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกหรือไม่

9. เรื่องลูก
    คู่แต่งงานต้องการมีลูกกี่คน  หากฝ่ายหญิงต้องการ  2 คน  และฝ่ายชายต้องการ  10 คน  แล้วทั้งคู่จะประนีประนอมกันได้ไหม  และในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีเหตุผลทางร่างกายหรืออารมณ์ที่สำคัญมาก  และตัดสินใจที่จะไม่มีลูก  อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกอย่างไร  ถ้าเขาไม่สามารถมีลูกด้วยกันได้   ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาเรื่องการรับเด็กเป็นลูกบุญธรรมหรือไม่
    คู่แต่งงานต้องการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของเขาอย่างไร  ถ้าเขาต้องยืดระยะเวลาการมีลูกออกไปด้วยเหตุผลทางการเงิน  หรือเหตุผลอื่นๆ แล้ว  เขาควรจะวางแผนครอบครัวอย่างไร  ทั้งสองฝ่ายต้องรู้สึกสบายกับวิธีการวางแผนนี้  ในกรณีที่ใช้วิธีวางแผนครอบครัวแบบธรรมชาติ  ทั้งสองฝ่ายต้องมีการเตรียมตัว เพราะการกำหนดแผนการก่อนการแต่งงานอย่างดีเป็นสิ่งสำคัญ  และหากวิธีที่เลือกไว้ผิดพลาด  ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ทั้งคู่จะรู้สึกอย่างไร
    แต่การมีลูกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น  ใครจะดูแลถ้าเขาคลอดแล้ว  ถ้าทั้งคู่ยังต้องทำงานอยู่  จะมีใครลาออกมาอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกได้ไหม  หรืออยากจะหาพี่เลี้ยง  หรือญาติมาช่วยดูแลแทน
    คู่แต่งงานรู้สึกพอใจกับระเบียบวินัยแบบใด  ถ้าฝ่ายชายมาจากครอบครัวที่มักจะใช้วิธีการตีที่รุนแรง  แม้กระทำผิดในเรื่องเล็กน้อย  แต่ฝ่ายหญิงไม่เคยถูกตีเลยตั้งแต่เด็กจนโต  เขาทั้งสองต้องพูดคุยกันเกี่ยวกับความคิดเรื่องระเบียบวินัยก่อนที่จะลงโทษลูกครั้งแรก  อีกทั้งควรจะตกลงกันด้วยว่า  ทั้งคู่ควรร่วมกันรับผิดชอบในการอบรมระเบียบวินัยของลูก  หรือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบ

10. คุณจะจัดการกับจิตวิญญาณอย่างไรในชีวิตการแต่งงาน
    สำหรับชาวคาทอลิก  การแต่งงานเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ประการหนึ่งของชีวิตแห่งความศรัทธา  ดังนั้น การแต่งงานในโบสถ์ที่มีการวางแผนของคู่แต่งงานควรจะมีการตรวจสอบเหตุผลของการแต่งงาน  ความเชื่อนั้นสำคัญต่อเขาอย่างไร  เขาตั้งใจที่จะรักษาการมีส่วนร่วมในโบสถ์อย่างแข็งขันหลังจากการแต่งงานกันหรือไม่   หรือเขามาทำพิธีในโบสถ์เพียงเพื่อหลบหลีกความผิด และให้พ่อแม่ของเขารู้สึกยินดี
    คู่แต่งงานเคยถกกันเรื่องศาสนา  จินตนาการถึงพระเจ้า  ความเชื่อและความสงสัย  ความรู้สึกที่มีต่อการสวดภาวนาหรือไม่  และเขาคิดว่าศาสนามีส่วนในการดำเนินชีวิตของเขาอย่างไร 
    คู่แต่งงานที่นับถือคนละนิกาย  จำเป็นต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุดที่แต่ละคนจะสามารถปฏิบัติตามความเชื่อของตน  ขณะเดียวกันก็ยังคงแบ่งปันชีวิตที่มีความเชื่อแก่กันได้  ในส่วนของลูก  ฝ่ายคาทอลิกที่เข้าพิธีแต่งงานมีสัญญาที่จะให้ลูกๆ เติบโตเป็นคาทอลิก  และสัญญานี้ได้รับความยินยอมจากฝ่ายที่ไม่ใช่คาทอลิกหรือไม่  และลูกจะได้รับการอบรมให้เคารพและเห็นคุณค่าในความเชื่อทั้งของพ่อและแม่ได้อย่างไร
    คู่แต่งงานที่ช่วยกันพิจารณาเรื่องต่างๆ ทั้ง 10 หัวข้อนี้  ก็อาจจะมีการเตรียมการแต่งงานที่ดี  แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีรายการคำถามที่ละเอียดไว้ให้  และสิ่งที่น่าแปลกใจก็มักจะเกิดขึ้นได้เสมอในการเปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดรที่เรียกว่า  การแต่งงาน  ทั้งสองต้องมีการผ่อนปรนกัน  ปรารถนาที่จะเติบโตและมีอารมณ์ดี  ซึ่งคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้  รวมถึงความสมบูรณ์ในรักเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่คู่แต่งงานควรมีให้สำหรับการแต่งงาน