แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสอนคำสอนเยาวชน (อ้างถึง GCD(1971) 82-91; EN 72; CT 38-42)
เด็กก่อนวัยรุ่น  วัยรุ่น  และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อ้างถึง GCD(1971) 83)
181    เป็นที่สังเกตได้โดยทั่วไปว่า ผู้เคราะห์ร้ายอันดับแรกทั้งหลายของวิกฤติการณ์ด้านจิตใจและด้านวัฒนธรรมที่กำลังทำลายโลกอยู่  (อ้างถึง บทนำทั่วไป ข้อ 23-24)  คือเยาวชนคนหนุ่มสาว   ทั้งยังเป็นจริงด้วยว่าการทุ่มเทใดๆ ในการช่วยสังคมให้ดีขึ้นนั้นก็ได้ค้นพบความหวังในบรรดาเยาวชนด้วย  สิ่งนี้ควรกระตุ้นให้พระศาสนจักรประกาศ พระวรสารแก่โลกของเยาวชนด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว  และด้วยความคิดสร้างสรรค์   ในความรู้ที่ได้จากประสบการณ์นี้แนะว่า หากมีการแยกแยะเยาวชนผู้เรียนคำสอนเป็นกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น  วัยรุ่น  และวัยผู้ใหญ่ตอนต้นด้วยความใส่ใจในผลของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆในหลายประเทศก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสอนคำสอน   

ในภูมิภาคต่างๆที่พัฒนาแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับวัยรุ่นตอนต้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คือ  ไม่ได้มีการพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาต่างๆ  และของความต้องการต่างๆ  รวมถึงคุณภาพทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กก่อนวัยรุ่นทั้งหลายมากพอที่จะกำหนดได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มวัยที่ไร้ความสามารถ    บ่อยครั้งในเวลาที่เด็กก่อนวัยรุ่นได้รับศีลกำลังก็ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนอย่างเป็นทางการ  แต่จากเวลานั้นเองเขาก็ได้ละทิ้งการปฏิบัติตามความเชื่ออย่างสิ้นเชิง  นี้คือสาระแห่งความเกี่ยวพันที่สำคัญซึ่งต้องการการอภิบาลเป็นพิเศษ  โดยใช้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติกระบวนการของการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน  ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาชีวิตอย่างมากนั้นเองเป็นพื้นฐาน  การคำนึงถึงลำดับชั้นของเยาวชนอีก 2 ลำดับทำให้เห็นว่าการแยกการอบรมระหว่างวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นนั้นจะเป็นประโยชน์กว่าการอบรมรวมกัน แม้ว่าจะมีความลำบากบ้างในการแบ่งแยกลำดับชั้นอย่างแน่นอน   ทั้งสองวัยต่างเป็นช่วงเวลาแห่งชีวิตที่มาก่อนการลงมือรับผิดชอบต่างๆที่เหมาะกับผู้ใหญ่  ดังนั้นการสอนคำสอนเยาวชนจึงต้องได้รับการปรับปรุงใหม่และทำให้มีกำลังใหม่เหมาะกับทุกลำดับชั้นของเยาวชน

ความสำคัญของเยาวชนต่อสังคมและพระศาสนจักร (อ้างถึง GCD (1971) 82; EN 72; MDP 3; CT 38-39: ChL 46; TMA 58)
182    ในขณะที่พระศาสนจักรถือว่าเยาวชนเป็นดั่ง “ความหวัง” ก็ยังมองพวกเขาในฐานะที่เป็น “สิ่งที่ท้าทายความสามารถชิ้นสำคัญสำหรับอนาคตของพระศาสนจักร” (GE 2 ,ChL 46)   การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมอันรวดเร็วและวุ่นวาย  ได้เพิ่มปริมาณสภาวะต่างๆ คือ การยืนยันด้วยสังคมเองถึงช่วงเวลาก่อนการมีความรับผิดชอบในฐานะผู้ใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การตกงาน  สภาพต่างๆของการด้อยพัฒนาอย่างถาวรในบางประเทศ  แรงกดดันจากสังคมผู้บริโภค  ทั้งหมดนี้ล้วนสนับสนุนให้เห็นว่าเยาวชนเป็นเหมือนกลุ่มคนที่กำลังรอคอย   บ่อยๆทีเดียวที่เป็นเหมือนกลุ่มคนที่ถูกทำให้ด้อยคุณค่า  ความรู้สึกเหินห่างจากพระศาสนจักร  หรืออย่างน้อยที่สุดความไม่มั่นใจในตนเองในเรื่องความเอาใจใส่ของพระศาสนจักรซุกซ่อนอยู่มากมายในลักษณะที่เป็นท่าทางพื้นฐานของเยาวชน  บ่อยครั้งที่ท่าทางนี้สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของการสนับสนุนทางด้านจิตใจและด้านศีลธรรมภายในครอบครัว  และจุดอ่อนต่างๆในการสอนคำสอนที่พวกเขาได้รับมา  ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนมากมายได้รับแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งให้ค้นหาเป้าหมายของชีวิต  ความสามัคคี  การทุ่มเทให้กับสังคม  และแม้แต่ประสบการณ์ทางด้านศาสนา

183    ผลที่ตามมาบางประการเกี่ยวกับการสอนคำสอนมาจาก ท่าทางที่เกิดขึ้นนี้ งานบริการในเรื่องความเชื่อให้ความสนใจอย่างมากถึงความผิดแผกกันของสภาพเยาวชนที่ได้พบเห็นอย่างชัดเจนในภูมิภาคและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย   หัวใจของการสอนคำสอนคือ ข้อเสนออันชัดแจ้งของพระคริสตเจ้าที่ให้แก่ชายหนุ่มในพระวรสาร (อ้างถึง มธ 19:16-22)  ทั้งยังเป็นข้อเสนอโดยตรงแก่เยาวชนทุกคนในเงื่อนไขต่างๆอันเหมาะสมกับเยาวชน  และด้วยความเข้าใจที่ได้จากการไตร่ตรองถึงปัญหาของพวกเขาอย่างรอบคอบแล้ว  อันที่จริงในพระวรสารคนหนุ่มสาวได้พูดอย่างไม่อ้อมค้อมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเปิดเผย  “สิ่งที่น่าเอาใจใส่อันสำคัญมาก” ของพวกเขา  และทรงเรียกพวกเขาเข้ามาร่วมโครงการที่ทำให้ตนเองและชุมชนเจริญเติบโต  และโครงการที่สร้างคุณค่าอันสำคัญสำหรับชะตากรรมของสังคมและพระศาสนจักร  ดังนั้น กลุ่มเยาวชนจึงมิได้เป็นเพียงเป้าหมายของการสอนคำสอนเท่านั้น  แต่ยังเป็นบุคคลที่มีความกระตือรือร้นเองและผู้สนับสนุนคนสำคัญในการประกาศพระวรสาร  และช่างผู้ชำนาญในการฟื้นฟูสังคม  (ChL 46; GCD (1971) 89)

ลักษณะต่างๆ ของการสอนคำสอนเยาวชน (GCD (1971) 84-89; CT 38-40)
184    ในการพิจารณาถึงขอบเขตของการสอนคำสอนเยาวชน  คู่มือแนะแนวการสอนคำสอนของพระศาสนจักรเฉพาะถิ่นต่างๆ  ทั้งของสภาพระสังฆราชระดับชาติและระดับภูมิภาคต่างๆ ต้องกำหนดการดำเนินการอันเหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นสำหรับท้องถิ่นเหล่านี้  โดยการพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการชี้แนะแนวทางทั่วไปไว้บางประการดังนี้
    - ความหลากหลายของสถานการณ์ด้านศาสนา เป็นสิ่งที่ควรจดจำคือ มีเยาวชนบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป  บางกลุ่มยังไม่ผ่านกระบวนการเพื่อการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนอย่างสมบูรณ์ บาง กลุ่มต้องอยู่ในวิกฤติกาลต่างๆที่สำคัญในเรื่องความเชื่อ บางกลุ่มกำลังมุ่งสู่การตัดสินในประการหนึ่งตามความเชื่อ บางกลุ่มได้ตัดสินใจไปเช่นนั้นแล้ว และร้องขอความช่วยเหลือ
    - ควรจำไว้ด้วยว่า การสอนคำสอนที่จะประสบผลสำเร็จมากที่สุดคือ การสอนคำสอนที่ถูกจัดให้ภายในข้อมูลเกี่ยวกับการอภิบาลเยาวชนที่กว้างขวางกว่า  โดยเฉพาะเมื่อการสอนคำสอนมุ่งไปที่ปัญหาต่างๆซึ่งมีผลต่อชีวิตของพวกเขา  ดังนั้นการสอนคำสอนควรได้รับการรวมเข้ากับกระบวนการบางอย่าง เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ  การพิจารณาถึงศาสตร์ต่างๆเกี่ยวกับมนุษย์และการให้ความรู้  การร่วมมือกันของฆราวาสและของกลุ่มเยาวชนเอง
    - การกระทำของกลุ่มที่เป็นระบบอย่างดี  การเป็นสมาชิกของชมรมเยาวชนที่ชอบด้วยกฎหมาย (GCD (1971) 87)   และสิ่งที่เสริมความเป็นตัวเองจากกลุ่มเยาวชน  ซึ่งน่าจะรวมถึงการแนะแนวทางด้านจิตวิญญาณด้วยในฐานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ  ทั้งหมดนี้คือวิธีการต่างๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับเยาวชนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสอนคำสอนที่มีประสิทธิภาพ

185        ในบรรดารูปแบบที่หลากหลายของการสอนคำสอนเยาวชน ควรจะมีการเตรียมการสำหรับช่วงเตรียมตัวเป็นคริสตชนของเยาวชนในระหว่างปีการศึกษา การสอนคำสอนเพื่อการเริ่มต้นชีวิต คริสตชน การสอนคำสอนในหัวข้อเรื่องเฉพาะ รวมถึงการประชุมในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นแบบเฉพาะกาลและแบบไม่เป็นทางการ   เท่าที่สถานการณ์ต่างๆ จะเอื้ออำนวย
    โดยทั่วๆ ไป การสอนคำสอนเยาวชนควรจะเป็นการสอนในแนวทางใหม่ๆ ที่เต็มใจพิจารณาและรับฟังความรู้สึกและปัญหาใหม่ๆ ของกลุ่มวัยนี้   แนวทางเหล่านี้ควรประกอบด้วยลักษณะทางด้านเทววิทยา  ด้านจริยธรรม  ด้านประวัติศาสตร์  และด้านสังคม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการเน้นหนักด้านการศึกษาเรื่องความจริงและเสรีภาพตามที่พระวรสารยอมรับ  ด้านการฝึกอบรมเกี่ยวกับมโนธรรม  และด้านการศึกษาในเรื่องความรัก  นอกจากนั้นยังควรเน้นถึงความสามารถในการเข้าใจเกี่ยวกับกระแสเรียก  บทบาทของคริสตชนในสังคม และความรับผิดชอบงานเผยแผ่ธรรมในโลก (หัวข้อเรื่องที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับเหตุผล   การประทับอยู่และจุดประสงค์ของพระเป็นเจ้า ปัญหาเกี่ยวกับความชั่ว  พระศาสนจักร  แบบแผนทางศีลธรรมที่เป็นเป้าหมายอันสัมพันธ์กับจิตวิสัยส่วนบุคคล การพบกันระหว่างชายหญิง คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร)  อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเน้นบ่อยๆ ว่า การประกาศพระวรสารให้กับเยาวชนยุคปัจจุบันต้องใช้ลักษณะของงานธรรมทูตมากกว่าลักษณะของการเตรียมตัวเป็นคริสตชนแบบเคร่งครัด  อันที่จริง มีบ่อยครั้งที่สถานการณ์เรียกร้องให้มีการเผยแผ่ธรรม (apostolate) ท่ามกลางกลุ่มเยาวชน เป็นภาวะที่มีชีวิตชีวาของลักษณะธรรมทูตหรือลักษณะผู้ใจบุญ ในฐานะที่เป็นขั้นแรกที่จำเป็น   เพื่อจะนำไปสู่การบรรลุวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ต่างๆ ซึ่งอำนวยประโยชน์แก่ชั่วขณะของการสอนคำสอนที่เข้มงวด ตามความเป็นจริง บ่อยครั้งทีเดียวที่การจัดกิจกรรมช่วงก่อนการเตรียมตัวเป็นคริสตชนให้เข้มข้นขึ้นภายในกระบวนการทางการศึกษาทั่วไปจะเป็นประโยชน์ต่อการสอนคำสอน  หนึ่งในความยุ่งยากทั้งหลายที่จะต้องมีการกล่าวถึงอย่างเป็นทางการและมีการตัดสินใจคือ ปัญหาเรื่อง “ภาษา” (ซึ่งเกี่ยวข้องกับมโนธรรม  ความอ่อนไหว  รสนิยม  ท่าทาง   คำศัพท์)  ระหว่างกลุ่มเยาวชนกับพระศาสนจักร (การสอนคำสอน ครูคำสอน) “การประยุกต์ใช้การสอนคำสอนแก่เยาวชน “ที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นเพื่อถ่ายทอดสารของพระเยซูเจ้าด้วยความพากเพียร และความรอบคอบ โดยปราศจากความผิดเพี้ยน” (CT 40) ไปสู่สถานการณ์ต่างๆของพวกเขา