แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

20090202-give-380x252มองโลกจากจุดยืนแห่งความเชื่อ
16    พระศาสนจักรยังคงหว่านเมล็ดพระวรสารในผืนนาของพระเป็นเจ้า  คริสตชนในหลากหลายสังคมได้มองดูโลกด้วยสายตาเช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงพิจารณาดูสังคมสมัยพระองค์  ศิษย์ของพระเยซูคริสต์ได้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งใน “ความชื่นชมและความหวัง  ความโศกเศร้าและความกังวลของมนุษย์ในสมัยนี้”  ( GS 1 ) พระศาสนจักรเพ่งดูประวัติศาสตร์ของมนุษย์และเข้ามามีส่วนร่วมด้วย  โดยมิได้อาศัยเพียงจุดยืนแห่งเหตุผลเท่านั้น  แต่มองจากจุดยืนแห่งความเชื่อด้วย  และแสงสว่างแห่งความเชื่อนี้ทำให้เราเห็นได้ทันทีว่าโลก     “ถูกสร้างขึ้นมาและบำรุงรักษาไว้ด้วยความรักของพระผู้สร้าง  อีกทั้งได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากทาสของบาปโดยพระคริสต์ผู้ถูกตรึงบนกางเขน  และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” ( GS 2 )

คริสตชนตระหนักในทัศนคติ  3 ประการต่อไปนี้เป็นอย่างดี คือ ( 1 ) ทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษยชาติ หรืออันที่จริงก็คือ ความจริงทั้งมวล  เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระเป็นเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีให้กับทุกชีวิต  ( 2 ) และอำนาจแห่งบาปจำกัดมนุษย์ไม่ให้สามารถรับรู้ถึงการกระทำของพระองค์  ( 3 ) แต่อำนาจแรงกล้าที่พุ่งออกมาจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าก็ก่อให้เกิดบรรดาผู้มีความเชื่อใหม่ซึ่งเป็นความหวังของ “การปฏิบัติภารกิจ” ที่สมบูรณ์ที่สุด ( GS 2 ) อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ไม่มีการรวมเอาทัศนคติทั้ง  3 ประการนี้เข้าด้วยกัน  ก็มิอาจเป็นคริสตชนที่แท้จริงได้  ดังนั้น ความสำคัญประการหนึ่งของการสอนคำสอน  ก็คือ  การสอนผู้ที่เตรียมตัวเป็นคริสตชนและผู้ที่จะเรียนคำสอนให้สามารถ “เข้าใจปัญหาในปัจจุบันได้ด้วยเทววิทยา” ( SRS 35 )

ผืนนาก็คือโลก
17    พระศาสนจักร ผู้เป็นมารดาของมวลมนุษยชาติมองดู “บรรดากลุ่มชนชายและหญิง  เด็ก ผู้ใหญ่  และคนชรา  และมนุษย์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ  คือต้องทนต่อความทุกข์ยาก” ( SRS 13b , cf. EN 30 )
    พระศาสนจักรจึงปรารถนาที่จะกระตุ้นจิตใจของคริสตชน “ให้มีความยุติธรรม” ( SRS 41...)     และ “ให้มีการเลือกที่พิเศษแบบคริสตชน คือการเลือกรักคนจน” ( SRS 42...)  ด้วยวิถีทางของการสอนคำสอนซึ่งเน้นเกี่ยวกับสังคม ( อ้างถึง CT 29 ) เพื่อว่า การดำรงอยู่ของพระศาสนจักรจะได้เป็นดังแสงที่ส่องสว่างและเป็นเกลือที่ช่วยรักษา

สิทธิมนุษยชน
18    พระศาสนจักรได้วิเคราะห์ผืนดินของโลกนี้ซึ่งคือ มนุษยชาติและสำนึกอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์   ทั้งยังตระหนักว่าสิทธิมนุษยชนทั้งหลายล้วนเกิดจากศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ อันเป็นจุดหมายที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงของภาระหน้าที่และความเกี่ยวพันในฐานะคริสตชน  ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงมิได้มองเพียง “เครื่องชี้นำทางสังคมและเศรษฐกิจ” ( SRS 15 a )  แต่ใส่ใจที่จะรับเอาปัจจัยทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วย  เพื่อพระศาสนจักรจะได้พัฒนามนุษยชาติได้อย่างครบถ้วนทุกด้าน ( อ้างถึง PP 14; CA 29 ) และด้วยการสังเกตอย่างชื่นชมยินดีใน “แนวโน้มที่จะทำให้มนุษยชาติดีขึ้น  คือมีการพัฒนาและช่วยให้มนุษย์มีความรู้สึกที่ดี  โดยให้เขาได้รับรู้ถึงศักดิ์ศรีของแต่ละคนมากขึ้น” ( ChL5; อ้างถึง SRS 26b )  พระศาสนจักรแสดงออกถึงความสำนึกในเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างชัดเจนโดยการยืนยันอย่างหนักแน่นในเรื่องการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และการปฏิเสธความรุนแรงใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่มนุษยชาติอย่างเด็ดขาด  ในปัจจุบันเราจะพบว่า สิทธิที่จะมีชีวิต  มีงานทำ  ได้รับการศึกษา  มีวิถีทางดำเนินชีวิตในฐานะครอบครัว  มีส่วนร่วมในสังคม  และเสรีภาพในการนับถือศาสนาล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากขึ้น

19    อย่างไรก็ตาม ในหลายๆที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ( อ้างถึง ChL 5a...)  ในรูปความขัดแย้งที่เด่นชัดของศักดิ์ศรีอันแท้จริงของบุคคลที่ได้ชื่อว่า มนุษย์   การละเมิดดังกล่าวนั้นมิได้ก่อให้เกิดการเสื่อมลงเพียงในระดับวัตถุแต่ยังส่งผลถึงความเสื่อมทางวัฒนธรรมและศาสนาซึ่งก็เท่ากับพระศาสนจักรมีความเสื่อมด้วย นั่นเอง  การลบล้างหรือการจำกัดสิทธิมนุษยชนทำให้บุคคลและชนชาติทั้งหลายเสื่อมลงอย่างน้อยก็พอกับการขาดแคลนทางด้านวัตถุ     ( อ้างถึง SRS 15e... ) กิจกรรมที่เกี่ยวกับการประกาศพระวรสาร (evangelizing activity) ของพระศาสนจักรในขอบข่ายเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้มีวัตถุประสงค์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้  เป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องเผยแสดงศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน  โดยมีความรู้สึกเชื่อมั่นว่า “งานนี้เป็นงานบริการหลักและต้องร่วมมือกัน  ซึ่งพระศาสนจักรและฆราวาสที่ซื่อสัตย์ต่อพระศาสนจักรถูกเรียกให้ปฏิบัติต่อครอบครัวมนุษย์”         ( ChL 37,อ้างถึง CA 47 )  ดังนั้น การสอนคำสอนต้องช่วยเตรียมพวกเขาให้สามารถทำภารกิจนี้ได้

วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ( Culture and cultures )
20    ผู้หว่านรู้ดีว่าเมล็ดพืชที่ตกลงบนดินที่เหมาะกับพันธุ์ของ มัน จะดูดเอาแร่ธาตุต่างๆ ที่จะช่วยให้มันเกิดผล ( AG 22a )  และแร่ธาตุบางอย่างมีผลเสียต่อการงอกของเมล็ด   ซึ่งส่งผลถึงการเก็บเกี่ยวนั่นเอง
    สังฆธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้  เน้นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ก่อให้เกิดและพัฒนาวัฒนธรรมสมัยใหม่  การทำงานของจิตในแนวทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้เองได้เปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมและวิธีการคิด” อย่างมาก ( GS 5 )  ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อมนุษย์และศาสนา  วิธีการทดลองและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้มีผลต่อมนุษย์ในทุกวันนี้อย่างลึกซึ้ง
    อย่างไรก็ดี  มนุษย์ทุกวันนี้ก็ได้ตระหนักขึ้นบ้างแล้วว่า การทำงานของจิตในแนวทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้  นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายยอมรับว่าถ้าอยากจะเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้งจริงๆ ต้องอาศัยวิธีการทดลองที่ละเอียดรอบคอบ  ทั้งยังต้องประกอบกับการหาความรู้อย่างอื่นด้วย  ทฤษฎีทางภาษาเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแนวการคิดที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจความลึกลับของมนุษย์ซึ่งยังคงเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจได้  และหลักการแบบเหตุผลนิยมก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่มนุษย์ด้วย เพราะความคิดนี้ก็มิได้แบ่งมนุษย์เป็นสองส่วน ( กายและจิต ) แต่ได้รวมเอาด้านความรู้สึกของเขาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตเขา และทำให้ชีวิตเขามีความหมายที่สมบูรณ์ขึ้น

21    ในขณะที่มี “รูปแบบวัฒนธรรมซึ่งเป็นสากลมากขึ้น” (GS 54)  พระศาสนจักรก็ยังปรารถนาอย่างยิ่งให้แต่ละท้องที่ชื่นชมในวัฒนธรรมที่พัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมพื้นเมือง  ( autochthonous  cultures )  ดังนั้นคำถามที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ให้ไว้ก็ยังใช้ได้ คือ “เราควรทำสิ่งใดเพื่อป้องกันการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้น ( ซึ่งควรนำไปสู่การสนทนาอย่างจริงใจและให้ผลดีระหว่างกลุ่มชนและชาติต่างๆ ) อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบของชีวิตของชุมชนแต่ละแห่ง  การล้มล้างคำสั่งสอนที่สืบทอดตามประเพณี  และการทำให้เกิดอันตรายต่อลักษณะที่เหมาะสมกับประชาชนในแต่ละท้องที่” ( GS 56c )
    - ในหลายท้องที่ก็มีความเข้าใจชัดเจนว่า แรงจูงใจภายนอกและการเลียนแบบการดำเนินชีวิตของต่างประเทศนั้นมีอำนาจรุกรานวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาโดยการกัดกร่อนเอกลักษณ์และคุณค่าอันแท้จริงของประชาชนทีละเล็กทีละน้อย
    - และในลักษณะที่คล้ายกัน คือ เป็นที่ยอมรับว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลกว้างขวางซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงเรื่องผลประโยชน์ในเชิงมโนคติหรือเศรษฐกิจ  แต่จะเป็นตัวกำหนดมุมมองชีวิตที่ไม่มีความเคารพในเอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมของบุคคลที่ได้รับสื่อต่างๆ
    ดังนั้น เมื่อการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมและงานประกาศพระวรสารต่างต้องเผชิญกับการท้าทายที่ยิ่งใหญ่  พระศาสนจักรจึงต้องอาศัยความรู้ที่ได้จากการไตร่ตรองพระวรสารเพื่อจะสามารถรับเอาคุณค่าเชิงบวกทั้งหมดของวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ  ( อ้างถึง EN 20 ; CT 53 )  และปฏิเสธองค์ประกอบทั้งหลายที่ขัดขวางการพัฒนาศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละบุคคลและประชาชนทั่วไป