แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสอนคำสอนยุคอัครสาวก
B 15 resize resizeการสอนคำสอนยุคนี้เป็นแบบคำสอนประกาศข่าวดี  (Kerygmatic)  มุ่งสอนความจริงเกี่ยวกับองค์พระคริสตเจ้า  พระคริสต์เองมิได้ทรงอธิบายหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดเหมือนอย่างที่บรรดาคัมภีราจารย์ในสมัยนั้นปฏิบัติกัน แต่พระองค์ทรงอธิบายชีวิตของพระองค์เอง ทรงแจ้งให้มนุษย์ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นใคร  มาจากไหน ทรงทำอะไร ฯลฯ การสอนคำสอนของพระองค์จึงเป็นการอธิบายชีวิตตัวอย่างของบุคคลหนึ่งซึ่งได้แก่พระองค์เอง คำสอนจึงมิใช่วิชาหนึ่งสำหรับสติปัญญาเท่านั้น  แต่เป็นเรื่องของชีวิต
คณะอัครสาวกก็ได้ทำตามพระอาจารย์  มุ่งประกาศข่าวดีเกี่ยวกับองค์พระคริสต์
นักบุญเปาโล  นักแพร่ธรรมเอก ได้ยืนยันว่า ท่านไม่รู้จักอะไรอื่นหรือใครอื่นนอกจากองค์พระคริสต์   และเป็นพระคริสต์ที่ถูกตรึงตายบนกางเขน (เทียบ 1คร 3:11-15; 2คร 5:16-21)
ผู้แพร่ธรรมยุคแรกมีความห่วงใยมากที่จะไม่ให้มีการสอนนอกลู่นอกทาง  เพราะขณะนั้นยังเป็นการสอนที่ถ่ายทอดกันด้วยปากเปล่า (Oral  teaching)         นักบุญเปาโลเองได้ไปที่กรุงเยรูซาเลม   เพื่อปรึกษาและเทียบเคียงคำสอนของคณะอัครสาวกผู้เป็นประดุจ “เสาหลักของพระศาสนจักร" (เทียบ กท 2:9 ) ระยะนั้น  มีการพูดกันติดปากว่า  “คำสอนของคณะอัครสาวก”  (Doctrine of the Apostles) (กจ 2:42)      

เนื้อหาคำสอน      เกี่ยวกับพระสัจธรรมขั้นพื้นฐานที่ผู้แพร่ธรรมในยุคนั้นสอนบรรดาผู้กลับใจมาถือพระศาสนาคริสตังซึ่งขณะนั้นเป็นศาสนาใหม่  แตกต่างจากศาสนายิว        ดูเหมือนเราจะพบได้ในจดหมายถึงชาวฮีบรู (เทียบ ฮบ 6:2)   กล่าวคือ
ก.    สอนเรื่องคำสอนเกี่ยวกับศีลล้างบาป แยกแยะศีลนี้จากพิธีล้างของชาวยิว และพิธีล้างของท่านยอห์น บัปติสต์
ข.    การปกมือที่เป็นเครื่องหมายภายนอกของพระหรรษทานและการประทานพระจิต
ค.    การกลับเป็นขึ้นมาของบรรดาผู้ตาย และการพิพากษาสุดท้าย
ง.    ความจริงเกี่ยวกับการไถ่บาป และพระคริสตเจ้า (เทียบ กจ 8:37)

ข้อความเชื่อขั้นเบื้องต้นข้ออื่นๆ เช่นเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นต้น   ยังไม่มีการสอนอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนในยุคแรก  แต่เป็นที่แน่ใจว่าบรรดาคริสตังได้รู้ความจริงเรื่องนี้แล้ว  เพราะมีการโปรดศีลล้างบาป เดชะพระนามพระบิดาและพระบุตรและพระจิต (เทียบ มธ 28:19 ) เราทราบว่าได้มีการตัดสินคำสอนที่ผิดหลงเกี่ยวกับเรื่องพระตรีเอกภาพ และมีการนิยามข้อความเชื่อนี้อย่างชัดเจนในที่ประชุมพระสังคายนาแห่งเมือง นีเช (Nicea) ในปี ค.ศ. 125          และต่อมาที่เมืองคัลเชโดน (Chalcedon) ในปี ค.ศ. 451 เกี่ยวกับความจริงขององค์พระคริสต์ ยุคแรกนี้ได้มีบทภาวนาที่เป็นการสรุปหัวข้อความเชื่อคือ บท “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า” ขึ้น   ที่เราเรียกกันว่าบทสัญลักษณ์คณะอัครสาวก บทภาวนาดังกล่าวเริ่มแพร่หลายในปีราวปี ค.ศ. 170  เป็นต้นมา  การเตรียมผู้รับศีลล้างบาป     อาจมีผู้อยากทราบว่า พระศาสนจักรยุคอัครสาวกได้จัดเตรียมผู้ล้างบาปอย่างไร      ในหนังสือกิจการอัครสาวกไดัมีการเล่าเรื่องการโปรดศีลล้างบาปหลายครั้ง หากอ่านอย่างผิวเผินเราจะรู้สึกว่าการโปรดศีลล้างบาปดูเหมือนทำกันอย่างง่ายๆ ใช้เวลาสอนคำสอนนิดเดียว  เช่นในวันพระจิตเสด็จลงมา (วันเปนเตกอสเต)  ที่มีการโปรดศีลล้างบาปประมาณ 3000 คน (กจ 2:41) เราจะกล้าคิดว่าไม่มีการเตรียมตัวมากไปกว่าการฟังเทศน์สั้นๆ นั้นเชียวหรือ  พวกยิวที่รับศีลล้างบาปในวันนั้น  ล้วนเป็นพวกที่ปฏิบัติธรรมบัญญัติกันอย่างเคร่งครัดมิใช่หรือ  จุดที่เน้นการเล่าเรื่องดังกล่าวจึงอยู่ที่การเสด็จมาของพระจิตเจ้าเหนือคนเหล่านั้น   เรื่องที่สังฆานุกร ฟิลิป โปรดศีลล้างบาปให้แก่ขุนนางชาวเอธิโอเปีย (กจ 8:26-50 )         และนักบุญเปโตรที่โปรดศีลล้างบาปแก่นายร้อยชาวโรมัน คอร์เนลีอัส (กจ 10:1-11) ก็เช่นกัน ขุนนางชาวเอธิโอเปียขณะนั้นกำลังอ่านพระคัมภีร์      คอร์เนลีอัส เองก็ได้รับคำชมเชยไว้ว่าท่านเป็น “บุรุษศรัทธาและเป็นผู้ยำเกรงพระเจ้า” ฉะนั้น เราจะว่าท่านเหล่านี้มิได้มีการเตรียมตัวมาก่อนนั้นมิได้     ตามปกติพระศาสนจักรเรียกร้องให้มีผู้ประกันความเชื่อของผู้จะรับศีลล้างบาป และผู้ที่มีหน้าที่ดังกล่าวเราเรียกกันติดปากว่า “พ่อ-แม่ทูนหัว”   เราก็พบว่าผู้ล้างบาปที่พบเล่าในกิจการอัครสาวกก็มีพ่อทูนหัวด้วย “เราจะกล้าปฏิเสธไม่ยอมโปรดศีลล้างบาปให้กับคนที่ได้รับพระจิตเช่นเดียวกับเราหรือ” (กจ 10:47) ฉะนั้น นักบุญเปโตรซึ่งเป็นผู้กล่าวประโยคข้างบนนี้จึงกลายเป็นพ่อทูนหัวของ คอร์เนลีอัส ในลักษณะดังกล่าว     ลำดับการเล่าเหตุการณ์การกลับใจของนักบุญเปาโล มีสิ่งหนึ่งที่สะกิดใจเราเกี่ยวกับการเตรียมล้างบาปของท่าน กล่าวคือ ท่านตาบอด และไม่ได้กินอะไรเลยเป็นเวลา 3 วัน         การ อดอาหารนี้ได้กลายมาเป็นธรรมเนียมของผู้กลับใจและขอเรียนคำสอนเพื่อล้างบาป ภายหลังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลมหาพรต ที่เป็นระยะเวลาเตรียมตัวพิเศษสำหรับผู้กลับใจเพื่อรับศีลล้างบาปในวันปัสกา   ระยะเวลาของการขับไล่ปีศาจ “ปีศาจชนิดนี้จะขับไล่ได้ด้วยการจำศีลภาวนา” (เทียบ มธ 17:21 ) ระยะการเตรียมตัวรับศีลล้างบาปจึงเป็นช่วงของการชิงอำนาจระหว่างพระคริสตเจ้าองค์ความสว่าง กับเจ้าแห่งความมืด ถือเป็นเวลาที่ต้องมีการอบรมจิตใจอย่างเข้มข้น เป็นเวลาของการสะกดอกสะกดใจ เวลาของการจำศีลและของการภาวนา  ในหนังสือ ดีคาเค (Didache) ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือคำสอนเล่มแรกๆ เล่มหนึ่งในบทที่ 7 มีบอกให้ผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปต้องจำศีล 1-2 วันก่อนรับพิธี นอกนั้นมีการให้ชื่อใหม่แก่ผู้เกิดใหม่ด้วยน้ำและพระจิต      จะเห็นได้ว่า พระศาสนจักรตั้งแต่แรกเริ่มแล้วได้มองเห็นความสำคัญของการเตรียมผู้รับศีลล้างบาป  ได้จัดเตรียมพวกเขาอย่างเป็นขั้นตอน อย่างเอาใจใส่ พวกเขาจะต้องรู้จักข้อความเชื่อสำคัญๆ  รับรู้ประวัติความรอดที่ตนเข้าไปมีส่วน         เขาต้องมีส่วนในชีวิตใหม่นี้มิใช่ด้วยสติปัญญาอย่างเดียว  แต่จากประสบการณ์ด้วยตนเอง “เราได้ยิน ได้เห็น………” นี่คือแก่นแท้ของคำว่า “กลับใจ”  ของความหมายที่ว่าละทิ้งปีศาจและสมัครมาเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า

วิธีการสอน     

เกี่ยวกับวิธีการสอนคำสอน     เราพบว่ามีการเข้าหาผู้ฟังด้วยวิธีการแตกต่างกัน     แม้ผู้แพร่ธรรมในยุคแรกจะพะวงมากในเรื่องความสัตย์ซื่อต่อพระธรรมคำสอนเที่ยงแท้  เราก็ยังเห็นว่าพวกท่านใช้การจูงใจผู้ฟังในลักษณะต่างๆ กันตามสภาพจิตใจของพวกเขา  กับชาวยิว การสอนเน้นหนักทางประวัติความรอดที่พบในพันธสัญญาเดิม รวมทั้งคำทำนายต่างๆของบรรดาประกาศก  เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าทุกอย่างที่กล่าวถึงในพันธสัญญาเดิมนั้นล้วนสำเร็จลุล่วงไปในองค์พระคริสต์  เป็นการยืนยันว่าพระเยซูคริสตเจ้านั่นแหละคือพระเมสสิยาห์  กับชาวต่างศาสนา อาทิ ชาวกรีก พวกผู้แพร่ธรรมใช้เหตุผลในเรื่องพระผู้สร้างชี้แจงให้เห็นว่าพระเจ้าเที่ยงแท้ต้องมีพระเจ้าเดียว  เพื่อลบล้างการถือพระเท็จเทียม  และเพื่อสอนหลักศีลธรรมขั้นพื้นฐาน (เพราะมีหลายลัทธิในขณะนั้นสอนสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือสอนสิ่งที่น่าบัดสี )  ให้เทียบการสอนของนักบุญเปาโลที่สอนชาวยิวในกิจการอัครสาวก บทที่ 13:17-43      และการสอนของท่านที่กรุงเอเธนส์ต่อหน้าชาวกรีก (กจ 17:22-32)     เราพอจะสรุปย่อว่าด้วยการสอนคำสอนในยุคอัครสาวกได้ดังต่อไปนี้     บรรดาผู้แพร่ธรรมได้ตระหนักดีว่า
ก.    การสอนคำสอนเป็นหน้าที่หลักสำคัญประการแรกและเป็นสิ่งจำเป็นในการแพร่ธรรม (เทียบ มก 1:35-39; ลก 4:42-43; กจ 6:3-4; รม 1:14-17; รม 9:16-17 ฯลฯ )
ข.    คำสอนเป็นงานของพระจิตเจ้า พระพรเรื่องภาษาต่างๆ คำทำนาย และความเฉลียวฉลาด ที่พบเล่าในหนังสือกิจการอัครสาวกอย่างดาษดื่น ล้วนบอกให้ทราบถึงความจริงข้อนี้
ค.    การสอนคำสอนใช้การอ้างอิงที่เหมาะสมกับกาลเทศะ      สำหรับชาวยิวที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ และกำลังรอคอยองค์พระเมสสิยาห์ คณะอัครสาวกชี้ให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์องค์นี้แหละคือพระเมสสิยาห์ สำหรับชาวกรีกและคนต่างศาสนาที่ชอบการใช้ปรัชญา และเหตุผล  พวกสาวกอ้างอิงเรื่องพระเจ้าสร้างโลก…….ฯลฯ (เทียบ กจ 13:17-43 และ 17:23-12 )
ง.    จุดประสงค์ของการสอนมิใช่เพียงแค่เตรียมตัวล้างบาปเท่านั้น         หรือมิใช่เพื่อเสริมสร้างปัญญาแต่อย่างเดียว  แต่เพื่อให้ผู้ฟังรับทราบจิตตารมณ์และการเจริญชีพของพระคริสต์   เพื่อพวกเขาจะได้นำไปปฏิบัติตาม  เป้าหมายของการสอนอยู่ที่การยืนยันของนักบุญเปาโลที่ว่า “ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป  แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า"  (เทียบ กท 2:20 )