chaiya1

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี  ยอห์น 2:1-11
    (1)สามวันต่อมามีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น  (2)พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย  (3)เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว”  (4)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง”  (5)พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า  “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด”  (6)ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ เพื่อใช้ชำระตามธรรมเนียมของชาวยิว แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร  (7)พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาคนรับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ  (8)แล้วพระองค์ทรงสั่งเขาอีกว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด” เขาก็ตักไปให้  (9)ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ไม่รู้ว่าเหล้านี้มาจากไหน แต่คนรับใช้ที่ตักน้ำรู้ดี ผู้จัดงานเลี้ยงจึงเรียกเจ้าบ่าวมา  (10)พูดว่า “ใคร ๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้ว จึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้”  (11)พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ ครั้งแรกนี้ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์



    หมู่บ้านคานาอยู่ไม่ห่างจากเมืองนาซาเร็ธ  นักบุญเยโรมเล่าว่าจากเมืองนาซาเร็ธสามารถมองเห็นหมู่บ้านคานาได้ด้วยตาเปล่า
    มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาและพระนางมารีย์ทรงอยู่ในงานนั้นโดยมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษ  เป็นพระนางที่ร้อนใจเมื่อเหล้าองุ่นหมด  และเป็นพระนางอีกนั่นแหละที่มีอำนาจสั่งคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ข้อ 5)
    ในหนังสืออธิกธรรมบางเล่มดังเช่นพระวรสารของชาวอียิปต์โบราณ มีรายละเอียดระบุว่าพระนางมารีย์เป็นพี่สาวของมารดาเจ้าบ่าว  และในบางบทนำของหนังสือพระธรรมใหม่ยุคเริ่มแรกถึงกับระบุว่าเจ้าบ่าวคือยอห์นอัครสาวกเอง  และมารดาของเจ้าบ่าวคือนางซาโลเมผู้เป็นน้องสาวของพระนางมารีย์
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นใดก็ตาม  สิ่งที่เรารับรู้ได้อย่างแน่นอนคือผู้เขียนพระวรสารตอนนี้รู้รายละเอียดราวกับว่าอยู่ในเหตุการณ์จริง เพราะแม้แต่คำพูดของพระนางมารีย์และผู้จัดงานเลี้ยงก็ได้รับการบันทึกไว้
ไม่มีการเอ่ยถึงโยเซฟ  เป็นไปได้มากว่าท่านเสียชีวิตนานแล้ว  ด้วยเหตุนี้พระเยซูเจ้าจึงไม่สามารถทอดทิ้งพระมารดาและญาติพี่น้องไว้ตามลำพังได้ ต้องรอถึง 18 ปีหลังจากทรงค้นพบว่าพระองค์คือพระบุตรของพระเจ้าที่ “ต้องอยู่ในบ้านของพระบิดา” (ลก 2:49) คราวที่เสด็จไปร่วมฉลองปัสกาครั้งแรกในกรุงเยรูซาเล็มเมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา
กฎหมายยิวกำหนดให้ทำพิธีแต่งงานในวันพุธ อันอาจเป็นสาเหตุทำให้คำว่าวันพุธในภาษาอังกฤษคือ Wednesday มีคำว่า “Wed” ซึ่งแปลว่า “แต่งงาน” รวมอยู่ด้วย
การแต่งงานในปาเลสไตน์ถือเป็นงานยิ่งใหญ่สุดของหมู่บ้าน  พิธีแต่งงานมักกระทำตอนหัวค่ำ  หลังพิธีจะมีขบวนแห่คู่บ่าวสาวไปสู่เรือนหอโดยมีผู้ถือปะรำเหนือศีรษะ และผู้ร่วมขบวนแห่ทุกคนจะถือตะเกียงหรือคบไฟสว่างไสวไปตามเส้นทางที่ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ เพื่อให้ชาวบ้านมากที่สุดได้มีโอกาสอวยพรคู่บ่าวสาว
เมื่อถึงเรือนหอ คู่บ่าวสาวจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงกษัตริย์และราชินี  ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย  การเรียกขาน  หรือแม้แต่คำพูดทุกคำของคู่บ่าวสาวก็ได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นพระบรมราชโองการ  พวกเขาจะเปิดบ้านเลี้ยงฉลองเช่นนี้ประมาณ 7 วัน
สำหรับชาวยิวที่ยากจนและต้องตรากตรำทำงานหนัก นี่คือสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองที่น่ายินดีที่สุดในชีวิต !
และในโอกาสแห่งความยินดีเช่นนี้เองที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาร่วมงานด้วย !
ยอห์นเล่าว่าพระองค์ไปร่วมงาน “พร้อมกับบรรดาศิษย์” (ข้อ 2) ซึ่งขณะนั้นมี 5 คนคือ อดีตศิษย์ของยอห์นผู้ทำพิธีล้างสองคน เปโตร ฟิลิป และนาธานาเอล (ยน 1:35-51)
อาจเป็นเพราะแขกไม่ได้รับเชิญห้าท่านนี้กระมังที่ทำให้งานเลี้ยง “ล่ม” เพราะ เหล้าองุ่นหมด !
เหล้าองุ่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในงานเลี้ยงของชาวยิว  พวกรับบีถึงกับสอนว่า “ปราศจากเหล้าองุ่น ก็ปราศจากความยินดี”
    ลำพังการต้อนรับแขกทั่วไป ชาวยิวก็ถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว  ต่อให้แขกมาเวลาเที่ยงคืนยังต้องแบกหน้าไปรบเร้าเพื่อนบ้านเลยว่า “เพื่อนเอ๋ย ให้ฉันขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันเพิ่งเดินทางมาถึงบ้านของฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน” (ลก 11:5-6)
    แต่นี่เป็นงานเลี้ยงฉลองโอกาสแต่งงาน  หากเจ้าภาพไม่สามารถจัดหา “เหล้าองุ่น” ไว้ต้อนรับแขก คงไม่ต้องบรรยายว่าจะน่าอัปยศอดสูสักเพียงใด !!!
    ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายสุด ๆ นี้เอง  “พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า ‘เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว’” (ข้อ 3)
    คำตอบของพระเยซูเจ้าคงทำผู้ฟังหลายคนสะอึก !
    หากแปลต้นฉบับตามตัวอักษร เราจะได้คำตอบว่า “หญิงเอ๋ย อะไรแก่ฉันและแก่ท่าน”
คำ “หญิงเอ๋ย” ตรงกับภาษากรีก gunai (กูนาย) เป็นคำเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสจากไม้กางเขนว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือลูกของท่าน” (ยน 19:26)
Homer กวีผู้ยิ่งใหญ่ใช้คำ gunai ในบทประพันธ์กับผู้เป็น “ภรรยาสุดที่รัก”
จักรพรรดิออกัสตัสแห่งอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ทรงเรียกคลีโอพัตรา ราชินีผู้เลื่องชื่อแห่งอียิปต์ โดยใช้คำ gunai เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น “หญิงเอ๋ย” จึงไม่ใช่คำพูดที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่เป็นคำที่ใช้พูดกับผู้เป็นที่รักและเคารพสูงสุด !
ส่วนคำตอบ “อะไรแก่ฉันและแก่ท่าน” ซึ่งมีพระคัมภีร์บางฉบับแปลทำนองว่า “ฉันจะทำอะไรกับท่านดี” หรือ “เรื่องของท่าน ฉันไม่เกี่ยว” นั้น
แม้ “คำพูด” จะเป็นเช่นนี้จริง แต่ “น้ำเสียง” เป็นอีกเรื่องหนึ่ง !!!
หากพูดด้วย “น้ำเสียงโกรธ” ความหมายที่ได้คือการ “ตำหนิ” และ “ปฏิเสธ”
    แต่หากพูดด้วย “น้ำเสียงอ่อนโยน” ความหมายคือ “อย่ากังวลเลยแม่  แม่ไม่เข้าใจดอกว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น ปล่อยให้เป็นธุระของลูกเถิด ลูกจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยตามวิธีของลูก”....
    นี่คือสิ่งที่พระมารดารับรู้และทรงวางพระทัยในพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม จนกล้ากล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ข้อ 5)
    “ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ เพื่อใช้ชำระตามธรรมเนียมของชาวยิว แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร” (ข้อ 6)
    พิธีชำระตามธรรมเนียมของชาวยิวคือการล้างเท้าของผู้เดินทางก่อนเข้าบ้าน และการล้างมือทั้งก่อนและระหว่างรับประทานอาหาร
    ยอห์นอธิบายว่าบรรดาคนรับใช้ “ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ” (ข้อ 7) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับใส่สารหรือส่วนผสมอื่นเจือปนเพื่อแปลงน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น
    ต่อจากนั้น พระเยซูเจ้าตรัสสั่งว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด” (ข้อ 8)
    ผู้จัดงานเลี้ยงเทียบได้กับหัวหน้าคนรับใช้ในปัจจุบัน  มีหน้าที่รับผิดชอบจัดที่นั่งให้แขก รวมถึงการบริการอาหารและเครื่องดื่มซึ่งได้แก่เหล้าองุ่นตลอดงาน
    เมื่อ “ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว” (ข้อ 9) เขาพูดว่า “ใคร ๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้ว จึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้” (ข้อ 10)
    แสดงว่าพระองค์ไม่เพียงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นอย่างรองเท่านั้น แต่ทรงทำให้เป็นเหล้าองุ่นชั้นเลิศอีกด้วย !
    
    งานแต่งงานที่หมู่บ้านคานาให้บทเรียนแก่เราหลายประการ ขอเริ่มต้นที่พระมารดาก่อน
    1.    พระมารดาหันไปหาพระเยซูเจ้าทันทีที่เกิดปัญหา
        สามสิบปีที่เมืองนาซาเร็ธย่อมนานพอที่จะทำให้พระมารดารู้จักและคุ้นเคยกับบุตรเป็นอย่างดี จนกลายเป็นสัญชาติญาณของพระนางที่จะหันไปหาพระองค์ทันทีที่เกิดปัญหา
        เช่นเดียวกัน หากเรารู้จักและคุ้นเคยกับพระเยซูเจ้าเป็นอย่างดี สัญชาติญาณย่อมกระตุ้นให้เราหันไปพึ่งพาพระองค์ทุกครั้งที่เราประสบความยากลำบากในชีวิต !
2.    พระมารดาทรงวางพระทัยในพระเยซูเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม    
     แม้พระนางจะไม่เข้าใจว่าพระเยซูเจ้ากำลังจะทำสิ่งใด และหากฟังเผิน ๆ ดูเหมือนพระองค์จะปฏิเสธคำขอของพระนางด้วยซ้ำไป  กระนั้นก็ตามพระนางยังเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทำสิ่งที่ดีที่สุด จึงกล้าสั่งบรรดาคนรับใช้ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์
    สุดยอดคือ พระนางเชื่อและวางใจ แม้ไม่เข้าใจ !!
        เราทุกคนล้วนต้องประสบกับช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิต  ช่วงเวลาที่มองไม่เห็นทางออก  อีกทั้งไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไม....
     ผู้ที่ยังเชื่อและวางใจพระเยซูเจ้าในห้วงเวลาเช่นนี้ ย่อมเป็นสุข เหตุว่าเขาได้เจริญรอยตามพระนางมารีย์พระมารดาของพระเจ้า !

    นอกจากพระมารดาแล้ว เรายังได้บทเรียนจากพระเยซูเจ้าอีกด้วย
    1.    ประเด็นแรกเกี่ยวกับเรื่อง “เวลา”
        อัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นระหว่าง “งานแต่งงาน” ซึ่งเป็นงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรื่นเริงยินดีและความสุข
         พระองค์ทรงพอพระทัยร่วมแบ่งปันความยินดีและความสุข !
        ต่างจากพวกเคร่งศาสนาบางคนที่ชอบพกพาความเคร่งขรึมและโศกเศร้าติดตัวไปทุกแห่ง  พวกเขาคิดว่าเสียงหัวเราะเป็นบาป  ศาสนาสำหรับพวกเขาหมายถึงการแต่งชุดดำเสมือนไว้ทุกข์ให้บาปของตน  การพูดเสียงเบาราวกับสำรวมตน  การแยกตัวจากสังคมให้ดูเหมือนสละโลก ฯลฯ
        ตามมาตรฐานของชาวโลก ดูเหมือนพวกเขาเป็นคนศรัทธา...
         แต่...เราจับแมลงวันด้วยน้ำผึ้งได้มากกว่าด้วยน้ำส้มฉันใด  เราย่อมพาคนไปสวรรค์ด้วยหน้าตาที่อิ่มเอิบมากกว่าด้วยหน้าตาที่เคร่งขรึมฉันนั้น
     ที่สำคัญ พระเยซูเจ้าไม่ทรงถือว่าความสุขเป็นอาชญากรรม แล้วเราซึ่งเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ จะไม่ปฏิบัติเช่นเดียวกันหรือ ?
    2.    ประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับ “สถานที่”
         อัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นใน “บ้าน” ท่ามกลางหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง  หาได้เกิดขึ้นในสถานที่ใหญ่โตท่ามกลางฝูงชนมากมายแต่ประการใดไม่
         น่าแปลกที่เราทุกคนต่างยอมรับตรงกันว่า “บ้าน” คือสถานที่ทรงคุณค่าและน่าอยู่ที่สุดในโลก  แต่ในทางปฏิบัติเรากลับยอมปล่อยให้ความหยาบคาย  ความไม่สุภาพ  การไม่ให้เกียรติ  ความเห็นแก่ตัว  ความรุนแรง และอีกจิปาถะเกิดขึ้นใน “บ้านของเรา”…
         “บ้าน” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่เรารักและใกล้ชิดมากที่สุด !!!
     ส่วนคนแปลกหน้านอกบ้านกลับได้พบเห็นและได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุดจากเรา !!!
     ในเมื่อพระเยซูเจ้ายังทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดคือ “ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” ใน “บ้าน” เช่นนี้  แล้วเราไม่คิดจะทำสิ่งดี ๆ ใน “บ้านของเรา” บ้างดอกหรือ ? (เทียบข้อ 11)
    3.    ประเด็นที่สามเกี่ยวกับ “เหตุผล”
         เราทราบแล้วว่าการต้อนรับแขกของชาวตะวันออกถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ และการปล่อยให้งานแต่งงาน “ล่ม” เพราะไม่มีเหล้าองุ่นต้อนรับแขกนั้นน่าอัปยศอดสูสักเพียงใด
         เพราะทรงเข้าถึงจิตใจ ทรงเห็นอกเห็นใจ และทรงเมตตาผู้เดือดร้อนขัดสน  พระเยซูเจ้าทรงช่วยเหลือคู่บ่าวสาวชาวชนบทให้รอดพ้นจากความอัปยศอดสูที่สุด
        แต่น่าเสียดายที่เรากลับเดินสวนทางกับพระองค์....
        เราแทบทุกคนมักยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก และมักสนุกปากกับการวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของผู้อื่น        
        อย่างนี้ต้องถามว่า “เรายังเป็นศิษย์ของพระองค์อยู่อีกหรือ ?”
    4.    ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวข้องกับ “อำเภอใจ”
         พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เวลาของเรายังมาไม่ถึง” (ข้อ 4) ทั้งชีวิตของพระองค์มีแต่เรื่องของ “เวลา” ไม่ว่าจะเป็น....
         “เวลา” แห่งการแสดงตนเป็นพระเมสสิยาห์ (ยน 7:6, 8)
     “เวลา” แห่งการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (ยน 12:23; 17:1;  มธ 26:18, 45;  มก 14:41)
    จะเห็นว่าทุก “เวลา” ของพระองค์ล้วนเป็นการตระหนักว่า ภารกิจของพระองค์คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา ไม่ใช่การทำตาม “อำเภอใจ” ของพระองค์เอง !
    ทั้งชีวิตของพระองค์คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา !
        ในเมื่อพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นบุตรของพระเจ้ายังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา  เรายิ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้ามากเป็นร้อยเท่าพันทวี
         นั่นคือเราต้อง “คิดเหมือนพระเจ้า ปรารถนาเหมือนพระเจ้า และทำเหมือนพระเจ้า” ให้สมกับที่พระองค์ทรงสร้างเรามาตามพระฉายาของพระองค์ !!!
         
    นอกจากบทเรียนที่ได้จากพระเยซูเจ้าและพระมารดาแล้ว เรายังได้รับบทเรียนจากยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารอีกด้วย
    ยอห์นเขียนพระวรสารหลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว 70 ปี  ตลอดระยะเวลา 70 ปี ยอห์นมีโอกาสไตร่ตรองและพัฒนาความเชื่อของตนจนสามารถแฝงความหมายที่ลึกซึ้งเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ไว้ใต้ตัวอักษรที่เล่าเรื่องธรรมดา ๆ
    ประเด็นของยอห์นคือ...
    ชาวยิวถือว่า จำนวน 7 หมายถึง ความสมบูรณ์ ความครบครัน
     ในเมื่อมี “โอ่ง” เพียง 6 ใบ จึงหมายถึง ความไม่สมบูรณ์ ความไม่ครบครัน
    สำหรับยอห์น สิ่งที่ไม่ครบสมบูรณ์ได้แก่กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ชาวยิวยึดถือว่าเป็นหนทางนำมนุษย์กลับไปหาพระเจ้าได้
    หลังจากเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นชั้นเลิศ  พระเยซูเจ้าทรงแทนที่กฎระเบียบที่บกพร่องและไม่ครบสมบูรณ์ ด้วย “พระหรรษทาน” ที่ดีเลิศและสมบูรณ์ครบครัน
    นอกจากคุณภาพชั้นเลิศแล้ว ปริมาณเหล้าองุ่นยังมีเต็มโอ่งหินถึง 6 ใบ ๆ ละประมาณ 100 ลิตร  หากบรรจุใส่ขวดเบียร์ขนาดใหญ่จะได้ประมาณ 800 ขวด ซึ่งมากเกินพอสำหรับงานแต่งงานไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม
    หมายความว่ามีพระหรรษทานมากเกินพอ จนไม่มีทางที่จะมีผู้ใด “ขาดแคลนพระหรรษทาน” ของพระเยซูเจ้าได้ !
    พระองค์สามารถเปลี่ยนความบกพร่องของเราให้เป็นความดีครบครันได้ อย่างไม่จำกัด
    ....เว้นแต่เราจะไม่ยินยอมให้พระองค์เปลี่ยนแปลงเท่านั้น...